เปิดผลโพลคณาจารย์ มช. ส่วนใหญ่ 75% ค้านการตัดเงินตอบแทนขาสองของมหาวิทยาลัย

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5655 ครั้ง

เปิดผลโพลคณาจารย์ มช. ส่วนใหญ่ 75% ค้านการตัดเงินตอบแทนขาสองของมหาวิทยาลัย

เปิดผลโพลคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ส่วนใหญ่ 75% ค้านการตัดเงินตอบแทนขาสองของมหาวิทยาลัย

สืบเนื่องจากการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกร่างประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการ (ขาสอง) โดยมีเงื่อนไขการตัดเงินค่าตอบแทนหากไม่สามารถผลิตผลงานได้ตามเกณฑ์ใหม่ ซึ่งได้นำมาซึ่งการคัดค้านของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยยังคงเดินหน้านโยบายต่อไปโดยไม่เสียงการคัดค้านนั้น

กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งมีผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามเป็นจำนวนมากกว่า 200 คน แทบทุกคณะ ทั้งอาจารย์ในสายแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิจิตรศิลป์ ฯลฯ

ผลสำรวจปรากฏว่า คณาจารย์กว่า 75% ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการตัดเงินค่าตอบแทนขาสอง โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และเป็นนโยบายที่ไม่เปิดรับฟังเสียงของคณาจารย์ โดยมีเพียง 12.5% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับนโยบาย และ 14% ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 เรียกร้องให้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ยับยั้งร่างประกาศที่สร้างปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้

จดหมายเปิดผนึก ฉบับที่สอง ถึงนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ หรือที่เรียกกันว่าค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสอง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้คณาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการ ต้องยื่นผลงานวิชาการทุกปี ซึ่งเพิ่มจากภาระงานเดิมที่ทำอยู่ และหากไม่สามารถยื่นผลงานวิชาการตามจำนวนและเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะถูกหักค่าตอบแทนทางวิชาการในอัตราต่างๆต่อเนื่องกัน จนอาจถึงขั้นไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสองเลยนั้น

กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ได้มีความกังวลต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว และได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านช่องทางต่างๆมาโดยตลอด เช่น การทำจดหมายเปิดผนึกต่อนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 การจัดให้มีเวทีสาธารณะว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่งขาสอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้นสอง อาคารสาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยมีคณาจารย์จากคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมนำเสนอข้อคิดเห็น ตลอดจนการยื่นจดหมายถึงอธิการบดี และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อรองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล ในวันที่ 16 กันยายน 2567 เพื่อนำข้อเสนอของคณาจารย์มหาวิทยาลัย ประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎว่าได้มีการนำข้อเสนอของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ยื่นต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพิจารณาแต่อย่างใด

ดังนั้น เพื่อให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนมหาวิทยาลัย ต่อนโยบายที่จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตการทำงานของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทางกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดให้มีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการ (ขาที่ 2)ขึ้น และกระจายไปยังคณาจารย์ในทุกส่วนงาน ในระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีคณาจารย์จาก 21 คณะ/วิทยาลัยและ 1 ส่วนงาน จำนวน 203 คนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยคณะที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่คณะมนุษยศาสตร์ (29 คน) และคณะวิทยาศาสตร์ (28 คน) รองลงมาได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ (25 คน) และคณะสังคมศาสตร์ (22 คน) ตลอดจนคณะอื่นๆทั้งหมดในมหาวิทยาลัยในจำนวนที่ลดหลั่นกันไป ผลการสำรวจพบว่า จำนวนคณาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างประกาศของมหาวิทยาลัยเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนขาสองนั้น สูงถึง 150 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของคณาจารย์ที่ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยนั้น มีจำนวน 25 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ส่วนผู้ที่มีความคิดเห็นอื่นๆ ซึ่งได้แก่ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น มีจำนวน 28 หรือคิดเป็นร้อยละ 14 และมีคณาจารย์เสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆเป็นจำนวนถึง 203 คน อีกด้วย

คณาจารย์ส่วนใหญ่ มีความเห็นร่วมกันว่า กระบวนการร่างประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการที่ออกมานี้ ขาดความโปร่งใส ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาลของการบริหารงานมหาวิทยาลัย เป็นแนวนโยบายที่มุ่งเน้นการลงโทษ มากกว่าการสร้างแรงจูงใจ ซ้ำซ้อนกับเกณฑ์การจ้างงานและการขอตำแหน่งวิชาการที่มีอยู่แล้ว สร้างภาระงานที่หนักมากขึ้นให้กับคณาจารย์สายพนักงาน เพียงเพื่อตอบโจทย์การแข่งขันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างอาจารย์สายพนักงานกับอาจารย์สายข้าราชการ ตลอดจนเกณฑ์ที่ออกมานั้นก็มีลักษณะ one size fits all ซึ่งไม่สอดคล้องกับงานในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์

เสียงจากคณาจารย์ส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย เห็นว่าฝ่ายบริหารควรยกเลิกหลักเกณ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการที่ออกมาใหม่ หรือมิเช่นนั้น ก็ขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมคณาจารย์ และนำความคิดเห็นจากคณาจารย์ไปปรับปรุงแนวนโยบายที่เหมาะสมต่อไป

ในฐานะที่สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มีความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของคณาจารย์ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาเชียงใหม่ จึงใคร่ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยับยั้งการออกประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาคมคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เปิดให้มีการสื่อสารโดยตรงระหว่างฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ เพื่อให้นโยบายที่ออกมาซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางนั้น สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัย ในการสร้างสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทางวิชาการ ที่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: