เสียงเล่าอันเปราะบางจากพื้นที่ห่างไกล แก้ไขปัญหาสุขภาพ ด้วยระบบ ‘Telemedicine’

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 13407 ครั้ง


รายงานพิเศษจาก The Coverage เมื่อ Telemedicine เป็นความหวังของคนห่างไกล - ระบบการแพทย์ทางไกลช่วยผู้ป่วยเปราะบางในพื้นที่ทุรกันดารเข้าถึงการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิต

บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 600 เมตร ในพื้นที่ซึ่งโอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน ประชากรกว่า 1,820 คน ทั้งชนพื้นเมืองเดิมและพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่าปกาเกอะญอกว่าร้อยละ 23 อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ของ ต.หัวเมือง อ.เมืองปาน จ.ลำปาง

สุขภาพของผู้คน ณ ที่นี่ อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านขาม (รพ.สต.บ้านขาม) ที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำอยู่เพียง 4 ชีวิต

สมาชิกในชุมชนสังคมเกษตรกรรมเล็กๆ แห่งนี้ จำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงอายุซึ่งป่วยติดบ้านติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น ถูกจัดให้เป็นกลุ่มคนเปราะบางทางสังคม ซึ่งควบรวมถึงผู้ที่มีรายได้น้อย พิการ และเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

ในบางกรณี พบผู้ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวคนเดียว 

จากประสบการณ์การทำงานกว่า 17 ปีของ จารุพักตร์ คันธา ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านขาม เธอเข้าใจและคุ้นเคยบริบทและสภาพของพื้นที่เป็นอย่างดี แม้ในอดีตเคยมีความคิดที่จะย้ายไปทำงานในตัวเมือง แต่ก็ด้วยความรักความผูกพันที่มีต่อชาวบ้านที่นี่ที่ยังยึดเหนี่ยวเธอไม่ให้ไปไหน จนกระทั่งมาถึงวันนี้

ในพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.สต.บ้านขาม เป็นพื้นที่ทุรกันดาร และจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่ระบุว่า ประชากรในพื้นที่มีรายได้ต่อครัวเรือนต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้ป่วยหลายรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุขาดนัดกับแพทย์ เพราะมีปัญหาเรื่องการเดินทางไปโรงพยาบาล ที่สำคัญคือพื้นที่แห่งนี้ไม่มีรถสาธารณะ

จารุพักตร์ บอกว่า หากคนไข้จะไปโรงพยาบาลก็จะต้องเหมารถ มีค่าใช้จ่าย 600-1,200 บาท ตามระยะทาง ยังไม่รวมปัญหาจากการขาดรายได้ เนื่องจากคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่จะออกไปทำงานข้างนอก ส่วนผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้านเฝ้าเรือน เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วยจึงค่อนข้างมีปัญหา

และนั่นคือเหตุผล ที่ทำให้ “จารุพักตร์” รู้สึกยินดีที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การปรับใช้นวัตกรรมผสมผสานระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง” ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ดำเนินการร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

88

รพ.สต.บ้านขาม ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเธอ เป็น 1 ใน 10 รพ.สต. สังกัด อบจ.ลำปาง ที่เข้ามามีส่วนร่วมเป็นพื้นที่ทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Sandbox) ในงานวิจัยชิ้นสำคัญนี้

หากมองแต่เพียงภายนอก อาจดูเหมือนว่า คุณยายคำมี กาสันต์ ในวัย 69 ปี จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ยังคงเดินได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เรียกให้คุณยายมานั่งประจำที่ เพื่อรอเวลาเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.บ้านขาม วิดีโอคอลเข้ามาเพื่อไถ่ถามอาการและตรวจทานการรับประทานยาของคุณยาย เธอดูมีท่าทีตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะนี่คือครั้งแรกในการคุยกับคุณหมอผ่านหน้าจอแท็บเล็ต (Tablet) หรือที่ อสม. เคยบอกให้เธอฟังว่ามันคือ ‘ระบบ Telemedicine’

คุณยายป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) อีกทั้งยังมีโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) และภาวะไขมันในเลือดสูงคอยรุมเร้า ลูกสาวของเธอเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า น่าจะเป็นเพราะฝุ่นที่เกิดจากการทอผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นอาชีพและรายได้หลักที่คุณยายยึดถือมาช้านาน การทอผ้าฝ้ายให้ได้ 1-2 ผืน ต้องใช้เวลาแรมเดือน มันเป็นกระบวนที่ต่อเนื่องและยาวนาน สำหรับเงินที่หักจากต้นทุนแล้วกลายเป็นกำไรเพียง 7,000-8,000 บาทต่อเดือน ผลจากการไม่สวมหน้ากากอนามัย และไม่เปิดพัดลมเพื่อปัดเป่าฝุ่นละออง อาจเป็นที่มาของโรคที่เธอกำลังเผชิญ

จนถึงทุกวันนี้ เธอยังคงทอผ้าฝ้ายเช่นเดิม เพื่อรายได้เลี้ยงดูตัวเองและจุนเจือครอบครัว กระบวนการอาจชะงักงันไปบ้าง ในวันที่เธอต้องหยุดงานและไปโรงพยาบาลเมืองปาน เพื่อรับยา เจาะเลือด รวมถึงรับการตรวจอาการจากแพทย์เจ้าของไข้ คุณยายตื่นตั้งแต่ตี 4 โดยมีลูกเขย (ซึ่งต้องหยุดงานเช่นกัน) รับอาสาในการเป็นพลขับพาคุณยายไปโรงพยาบาล กว่าที่คุณยายจะได้พบแพทย์ ก็ล่วงเลยไปถึงช่วงสายๆ ในเวลา 09.00–10.00 น.

ทั้งนี้ทั้งนั้น แบบแผนของเวลาไม่เคยแน่นอน ในวันที่โชคดีอาจเพียงแค่ครึ่งวันเท่านั้น เธอและลูกเขยก็จะได้กลับบ้าน หรือโชคร้ายอาจหมายถึงเวลาเกือบทั้งวัน หมดไปกับการใช้ชีวิตในโรงพยาบาล

ค่าน้ำมัน 500 บาท บวกกับค่าอาหารการกินในระหว่างวันของเธอกับลูกเขยอีกราว 200 บาท เป็นเงินเกือบ 1,000 บาท สำหรับเวลาและต้นทุนที่คุณยายต้องเสียไป ฉากตอนของชีวิตเช่นนี้ ดำเนินไปซ้ำๆ ในทุกๆ 3 เดือน ที่แพทย์นัดหมาย

“ถ้าได้คุยกับหมอ และไปรับยาที่อนามัย (รพ.สต.) ได้ก็ดี ไม่ต้องลำบากหาคนไปส่ง มันช้า ใช้เวลาเป็นวันๆ เปลืองค่าใช้จ่าย เวลาไปก็ไปรับยาเดิมมา ถ้ามีแบบที่ทำอยู่นี่ได้ก็ถือว่าดี เกรงใจลูกหลานทำงาน ไปครั้งหนึ่งก็ 5 – 6 ชั่วโมง ลูกหลานต้องคอยไปเฝ้า แต่ถ้าไปที่อนามัยนี่ใกล้ๆ แปบเดียวก็ถึง แต่ไปโรงบาลมันไกล” คุณยายคำมีให้ภาพ

แรกเริ่มเดิมที คุณยายคำน้อย ไชยวงค์ วัย 67 ปี ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงเท่านั้น วินัยจากการทานยาอย่างต่อเนื่อง การดูแลสุขภาพที่ได้รับคำชมจากหมอขนม (ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านขาม) อยู่บ่อยครั้งว่าเธอเป็นผู้ป่วยตัวอย่าง ด้วยเชื่อฟัง และปฏิบัติคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ทำให้สุขภาพของเธออยู่ในภาวะคงที่เสมอมา

4

จนเมื่อกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ร่างกายของเธอก็มีสภาวะสั่นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มือและเท้าสั่น ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากมากขึ้นทุกที เธอจึงตัดสินใจเข้าไปปรึกษาหมอขนม และคุณหมอแนะนำให้เธอได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โรงพยาบาลเมืองปาน และผลจากการวินิจฉัยยืนยันชัดเจนว่า เธอป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน (Parkinson disease) เสียงเหล่านั้นจากแพทย์ตอกย้ำว่า นี่คือสภาวะที่จะต้องอยู่กับเธอไปตลอดทั้งชีวิต

เพื่อที่คุณยายคำน้อย จะไม่ต้องประสบกับความยากลำบากในการเดินทางไปโรงพยาบาล แพทย์เจ้าของไข้จึงได้ส่งต่อการรักษา ไปยัง รพ.สต.บ้านขาม ให้เธอได้รับยาอย่างต่อเนื่อง แต่ระยะเวลาผ่านไปราว 6 – 7 เดือน อาการของเธอดูจะยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น

เป็นจำนวนถึง 3 ครั้ง ที่คุณยายขาดการนัดหมายในการเดินทางมารับยาและตรวจการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดความคาดหมายเป็นอย่างยิ่ง ผู้ป่วยตัวอย่างที่น่ารักของหมอขนม และเจ้าหน้าที่ของ รพ.สต.บ้านขาม ผิดนัดเช่นนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดปกติวิสัย

จึงทำให้บุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ ต้องเดินทางไปยังบ้านของคุณยายคำน้อย ก่อนจะพบกับความจริงอันน่าเศร้าว่า มิใช่เพราะการขาดวินัย หรือการจงใจละเลย แต่เป็นเพราะอาการสั่นจากโรคพาร์กินสันของเธอลุกลาม จนไม่อาจซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ร่วมกับสามีไปยัง รพ.สต. ได้อีกแล้ว

สภาพพื้นที่ลาดชัน ขรุขระ ประกอบกับอาการจับสั่นอย่างหนักของเธอ จึงยากที่จะจินตนาการว่า เธอจะเดินทางไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยได้เช่นไร

สอดรับกับการเข้ามาของระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) คุณยายคำน้อย คือกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่ระบบเทคโนโลยีทางสุขภาพเหล่านี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาที่เธอและสามีกำลังพบเจอ และหลังจากที่เจ้าหน้าที่ ได้เข้าใจถึงสาเหตุและที่มา จึงทำให้การนัดครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนี้ คุณยายคำน้อยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยัง รพ.สต. อีกแล้ว โดยมี อสม. ได้เข้าไปรับเธอถึงที่บ้าน แม้จะเป็นการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ก็เช่นกัน แต่ระยะทางจากบ้านของเธอไปยังศาลาประชาคมหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการจัดตั้งให้เป็น สถานีสุขภาพ (Health Station) ใกล้กัน โดยไม่ต้องจินตนาการก็แน่ชัดว่า เธอจะไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

5

6

อีกทั้ง สถานีสุขภาพมีอุปกรณ์สำหรับการใช้งานระบบการแพทย์ทางไกล ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว Dextrostix (DTX )  เครื่องชั่งน้ำหนักบุคคล สายวัดรอบเอว และแท็บเล็ต 

อุปกรณ์เหล่านี้นอกจากการใช้บริการในกรณีของเธอแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์กับผู้ป่วยคนอื่นๆ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชุมชนของเธออีกด้วย ทั้งนี้ การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จาก รพ.สต.ผ่านการวิดีโอคอล โดยมี อสม. เป็นผู้ดูแล และให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ ทำให้เธอรู้สึกอุ่นใจกับการใช้ระบบ Telemedicine

กนกวรรณ กาสัน ประธาน อสม. หมู่ที่ 6 ตำบลหัวเมือง ยอมรับว่า การเริ่มต้นฝึกหัดใช้เทคโนโลยีผ่านระบบ Telemedicine อาจเป็นเรื่องยากบ้างสำหรับเธอ เนื่องจากเป็นช่วงการเริ่มต้นของการเรียนรู้  ทั้งนี้มี สุธัญญา สุรจิต นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านขาม คอยเป็นพี่เลี้ยงในการอบรมการใช้งานต่างๆ 

“บางคนก็หัวไว บางคนก็ช้า ตามไม่ทัน อสม. ที่อายุยังน้อยๆ เขาก็จะเรียนรู้เร็ว แต่ก็ค่อยเป็นค่อยไป จะให้ทุกคนเข้าใจพร้อมกันหมด ทันกันหมด คงยาก ให้คนที่เข้าใจแล้ว คอยสอนคนที่ยังยังไม่เป็นต่อไป” ประธาน อสม. หมู่ที่ 6 กล่าว

1

ปรานอม โอสาร หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ สช. ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ภายหลังจากการได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ รพ.สต. บ้านขาม พร้อมเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ว่า จากการลงพื้นที่ได้รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนหลายคน ที่สะท้อนถึงปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบทางทางเศรษฐกิจ และสังคมตามมา คนจนรายได้น้อย ทำให้ไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลได้ จึงรู้สึกดีใจที่มีการนำระบบ Telemedicine เข้ามาใช้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีมากที่เขาจะได้มีโอกาสในการเข้าถึงการรักษา สามารถรับการตรวจแบบเห็นหน้ากันผ่านทางหน้ากล้องได้

ปรานอม อธิบายว่า ศูนย์วิชาการฯ นี้ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายจากฐานทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการทางการสังคม (Social Lab) หรือปฏิบัติการทดลองเชิงปฏิบัติการ (Sandbox)  เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการวางระบบเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน มีส่วนร่วม มีระบบเสริมสร้างสุขภาพและระวังป้องกันอย่างสมบูรณ์ ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2550 ที่ให้บุคคลทุกเพศและทุกกลุ่มวัย คนพิการ คนสูงอายุ คนด้อยโอกาสในสังคมและกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพได้รับการสร้างเสริมสุขภาพและคุ้มครอง เข้าถึงสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ เพื่อให้บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

7

การดำเนินโครงการดังกล่าวได้ร่วมมือกับนักวิจัยที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หน่วยงานระดับจังหวัด ทำงานกับ อบจ.ลำปาง เพื่อนำ Telemedicine มาทดลองใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ด้วยการออกแบบเครื่องมือ Telemedicine ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เน้นการมีส่วนร่วม ที่ไม่ได้มุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีซับซ้อน แต่เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมการใช้งานในพื้นที่ห่างไกลที่ยังพอมีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่ เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่มีความยากลำบากในการเดินทางสามารถเข้ามาใช้งานได้ 

“ระบบนี้ให้ความสำคัญคำว่า “สร้างนำซ่อม” มากกว่า “ซ่อมนำสร้าง” สร้างระบบสุขภาพชุมชน เน้นให้ประชาชน tele หา อสม. ที่เป็นหมอคนที่ 1 หรือ รพ.สต. หมอคนที่ 2 เพื่อลดภาระหมอคนที่ 3 โรงพยาบาลชุมชน และระบบนี้สามารถทำให้ทุกส่วนเจอกันได้พร้อมกัน งานนี้อยากจะสร้างความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันในสังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะฯ ระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: