สรุปจากงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 19 'วารสารศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่าน'

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 4608 ครั้ง


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์ครั้งที่ 19 เพื่ออนาคตของวารสารศาสตร์ ในหัวข้อ "วารสารศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่าน" โดยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและสื่อมวลชนจากหลากหลายสำนักมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ และพูดคุยเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อมวลชนไทยในยุคของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

(22 พ.ย. 2567) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  และ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 19 ในหัวข้อ “วารสารศาสตร์ยุคเปลี่ยนผ่าน” หรือ Journalism Transition ณ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

น.รินี  เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิชาการ และนักคึกษา ในโลกดิจิทัลที่เข้ามาเต็มรูปแบบ เราอยู่ในยุคเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อาจรู้ไม่เท่าทันในการทำงาน ในเวทีสัมมนานี้ ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนมุมมอง หาจุดร่วมในการทำงานร่วมกันในอนาคต เพื่อนำพาไปสู่การทำงานที่ถูกต้อง ดำรงไว้ซึ่งอาชีพสื่อสารมวลชนที่ถูกต้องและยั่งยืนต่อไป

คนที่1ด้านซ้าย ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คนที่2ตรงกลาง น.รินี  เรืองหนู นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คนที่3 ด้านขวารศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะนิเทศศาสตร์กำลังเข้าสู่ปีที่ 60 ของการสถาปนาคณะ เราใช้สโลแกนว่า Communicate Metaverse for All เราเชื่อว่า การสื่อสารเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยกันสร้างโลกให้ดีขึ้น  เราต้องการสร้าง Better Society ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ เราเชื่อว่า เสรีภาพสื่อสะท้อนถึงเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันคุณภาพของสื่อก็สะท้อนคุณภาพของสังคม เราต้องการเห็นสังคมแบบไหน งานข่าวต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก 

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่กองทุนสื่อ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายระหว่างสมาคมนักข่าว สภาวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน  ซึ่งกองทุนสื่อ ได้ร่วมมือกับสมาคมนักข่าวมาหลายปี สิ่งสำคัญที่สังคมขาดไม่ได้ คือ การมีนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ หรือ นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่จะเป็นเสาหลัก เล่าความจริง รวมพลังสร้างสรรค์สังคม แม้สังคมปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมเทคโนโลยี แต่เราจะสร้างสังคมอย่างไรให้ดีขึ้น บทบาทของสื่อปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น สื่อมีเทคโนโลยีต่างๆที่เปลี่ยนไป และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภค ทั้งที่อาจเป็นคนดี หรือ คนไม่ดี เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้ามาผลิตสื่อ ยิ่งสร้างความจำเป็นในการรู้เท่าทันสื่อ และรู้เท่าทันดิจิทัล และเสริมสร้างจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อ 

“บางคนถามว่าจริยธรรม และ จรรยาบรรณในยุคที่สื่อมีหลายคอนเท้นท์ยังใช้ได้อีกหรือ แต่ผมบอกได้ว่า คนที่รับชม ยังต้องการเนื้อหาที่เป็นธรรม เป็นกลาง คิดวิเคราะห์  และมีข้อเท็จจริง ฉะนั้น ความจริงอยู่คู่กับมวลมนุษยชาติเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องคิดวิเคราะห์หาแนวทางปรับตัว เมื่อช่องทางรับสื่อเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่คนไทยใช้อินเตอร์เน็ต 12-13 ชั่วโมง ติดอันดับต้นๆ ของโลก เราจะใช้เทคโนโลยี หรือ เอไอ อย่างไรเพื่อส่งเสริมให้ความจริง ความเป็นกลาง หรือ จรรยาบรรณของสื่อ ให้สามารถเผยแพร่ไปยังประชาชนได้ กองทุนสื่อ เป็นเพื่อน พี่ เป็นพันธมิตรที่ดีกับองค์กรวิชาชีพ และคณะนิเทศ คณะวารสารศาสตร์ เวทีนี้จึงมีความสำคัญที่จะเราจะหาทางพัฒนาแวดวงวิชาชีพให้ก้าวหน้าต่อไป ” ดร.ชำนาญ กล่าว  

สำหรับการเสวนาครั้งนี้มีด้วยกัน 4 เวที ประกอบด้วย เวทีแรก “รูปแบบและโอกาสใหม่ของธุรกิจข่าว The Changing Journalism Business Model”   โดย คุณณัฏฐา โกมลวาทิน  ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD, คุณอศินา พรวศิน บรรณาธิการบริหาร  THE STORY THAILAND และคุณวุฒิ นนทฤทธิ์  บรรณาธิการบริหาร The Better 

ณัฎฐา กล่าวว่า  ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอน  ข่าวมีการแข่งขันกันหลากหลาย การจะทำให้ข่าวเป็นที่สนใจได้อย่างไรนั้นอยู่ที่การพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้เท่าทันโลก ทั้งเนื้อหาข่าว ทักษะการนำเสนอ บุคลากรต้องเก่งมากขึ้น ต้องจับเมกกะเทรนด์ กระแสโลกให้ได้ เพื่อเขียนข่าวเชิงลึก ทำคอนเท้นท์ที่เกี่ยวข้องกับคนอ่าน ที่ไม่ใช่ไกลตัว แต่ทำอย่างไรให้คนอ่านรู้สึกว่า อ่านแล้วเขาเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น 

ขณะที่ เวทีเสวนาทางวิชาการ  “The Possible Solution: จะพัฒนา “คนข่าว” ให้ทำงานใน New  Journalism Business Ecosystem อย่างไร” โดย คุณวีระศักดิ์ พงศ์อักษร บรรณาธิการอำนวยการ  เครือเนชั่น ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม  รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  

โดย วีระศักดิ์ กล่าวว่า จากที่ทำงานสื่อมาเกือบ 40 ปี ปัจจุบัน เรากำลังแข่งกับสิ่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่สื่อ แต่คือ อินฟลูเอนเซอร์ และ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซึ่งอันตรายมาก เพราะเขามีชุมชนของตัวเอง โดยเฉพาะสปอนเซอร์ สินค้าต่างๆ ที่เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์มากกว่าสื่อมวลชน หลายเรื่องการทำหน้าที่อินฟลูเอนเซอร์ล้ำเกินเส้นจริยธรรม ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าสิ่งนั้นคือ สื่อ เพราะประชาชนแยกแยะไม่ออก 

ต่อด้วย หัวข้อ   “The Changing Platforms, The Changing Practices” โดย 
คุณนันทสิทธิ์  นิตยเมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ , คุณสรวิชญ์ บุญจันทร์คง ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ , คุณกฤษฎาพงษ์ แววคล้ายหงษ์  บรรณาธิการ สำนักข่าวตราดออนไลน์    


คุณสรวิชญ์  ระบุว่า การทำข่าวยุคใหม่ต้องมีมัลติสกิล ต้องทำอะไรที่มากกว่าที่เคยทำอยู่โดยเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งแบ่งหัวที่จะต้องพัฒนาเป็น 3 เรื่องคือ 
1. ทักษะนักข่าวทั้งการเขียน ถ่ายภาพ  
2. ช่องทางการสื่อสารที่มีความแตกต่างเช่น X  IG Facebook  ที่แต่ละแพลตฟอร์มมีลักษณะที่แตกต่าง จำเป็นต้องรู้จักวิธีการสื่อสารในช่องทางนั้น 
3. รูปแบบการสื่อสาร เช่น คลิปสั้น อินโฟกราฟิก


เวทีสุดท้าย “คนข่าวกับจริยธรรมและคุณค่าต่อสังคม”  (The Changing Mindset of Ethical Standard and Journalism Value) โดย คุณบรรยงค์ สุวรรณผ่อง     กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ , คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว PPTVHD36  และ คุณจิราพร  คำภาพันธ์      ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  

โดยพูดถึงการสร้างแบรนด์ของนักข่าว เพื่อสร้างตัวตนให้กับสำนักข่าว คุณบรรยงค์ มองว่า หากไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะมีผู้ดำเนินรายการเป็นใคร แต่คำถามคือเขามีของหรือไม่ หรือถ้าหากคนดูไม่ได้ประโยชน์แต่ได้ความบันเทิงมาแทนก็ต้องทำใจ เพราะจะมีคนที่มีความสนใจตรงกัน แต่ก็คงไม่ใช่ทุกคน ด้านคุณเสถียร ระบุว่า ใน PPTV ถือเป็นความท้าทายในการสร้างนักข่าวให้มีของ แต่ต้องมีการตรวจสอบและกลั่นกรองเนื้อหา เพราะต้องแข่งกับทุกอย่างในโลกออนไลน์ จึงต้องทำให้คนทำงานหรือธุรกิจสื่อแต่ละแห่งต้องแย่งชิงคนดูอย่างบ้าคลั่ง แต่เส้นแบ่งของความดราม่าและการมีของก็ต้องทำให้คนดูมีความหวังได้ และต้องยืนให้ชัดว่า กำลังยืนบนแก่นที่ทำให้กับสังคมด้วย 

ในช่วงท้าย มีการสรุปประเด็นเวทีเสวนาทั้ง 4 เวที  โดย ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล  ที่ปรึกษา อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการเสวนาทั้งวัน หากเราเลือกดู Business Model จากคนที่มาจาก ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อแท้ จะเห็นว่า  มีความแน่นในเชิงฐานคิดในการทำสื่อว่า จะถ่ายทอดอะไรในเชิงองค์ความรู้ ให้ประโยชน์กับประชาชน  สิ่งที่ตามต่อมา คือ  ต้องมี trust กับ credibility เช่น กรณีของ The Better ต้องการนำเสนอ ลดความเหลื่อมล้ำ จึงตามด้วยการสร้างคอนเท้นท์ให้เข้าถึงประชาชน  หรือ อย่าง  THE STORY THAILAND จะพูดถึงคอนเท้นท์ที่มาจากสายเทคโลยี และ ธุรกิจ เพราะเขาเติบโตจากฐานของตัวเอง จึงมาต่อยอด และคิดกลุ่มเป้าหมายที่ชัด เป็น Business Model โดยพบว่า ทุกแพลตฟอร์มที่เป็นออนไลน์จะมีคำว่า พาร์ทเนอร์ชิพเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือก็คือ  สปอนเซอร์ แหล่งข่าว ตัวเดียวกัน เป็นสามเหลี่ยมสร้างรายได้ ทำอีเว้นท์ เวิร์คช็อป เขียนหนังสือขาย และสร้างแฟนคลับ และมาทำเป็นอีเว้นท์ต่อ  ส่วนประเด็นที่นำเสนอว่า อินฟลูเอนเซอร์เป็นสื่อหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า วงการวิชาชีพสื่อควรเอาเขาเข้ามาร่วม ไม่ควรแยกออกไป แต่ต้องทำให้เป็นมาตรฐานวิชาชีพเดียวกัน ถ้าสื่อต้องการความแตกต่างก็ต้องสร้างความแตกต่างให้ชัดระหว่าง สื่อ กับ อินฟลูเอนเซอร์ เช่น ความรอบด้าน ความถูกต้อง ข่าวสืบสวน ที่ยังจำเป็นกับสื่อสารมวลชน 

คุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์  อนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสริมว่า ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงในเวที คือ อินฟลูเอนเซอร์ เป็นสื่อหรือไม่ ตรงนี้ อาจต้องมีการถกเถียงและจัดระเบียบต่อไปในอนาคต โดยองค์กรวิชาชีพควรพูดคุยเรื่องนี้จริงจัง หาจุดลงตัว เพราะก็ต้องยอมรับว่า อินฟลูเอนเซอร์ก็มีคนติดตามจำนวนมาก ขณะที่องค์กรสื่อยังต้องพัฒนาเรื่องความน่าเชื่อถือ ดังนั้น ต้องหาจุดลงตัวเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม

 


ที่มา: เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: