นักนโยบายสาธารณะ ผู้ประกอบการพลังงาน และผู้บริหารแพลตฟอร์ม Crowdfunding ร่วมวงถกปัญหาและทางออก ทำอย่างไรให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในไทยเติบโต
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ในการเสวนาหัวข้อ “ปลดพันธนาการโซลาร์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานแถลงผลการวิจัยของเครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand: CFNT) ที่โรงแรมแมริออท กรุงเทพฯ สุขุมวิท
ไขข้อสงสัย: โซลาร์รูฟท็อปทำให้ค่าไฟแพงขึ้นจริงหรือ?
ดร. อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงประเด็นที่หลายคนกังวลกันว่าหากยิ่งติดโซลาร์มากขึ้นจะยิ่งทำให้ค่าไฟของคนที่ไม่ได้ติดโซลาร์แพงขึ้นว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าการติดโซลาร์มากขึ้นอาจจะทำให้ค่าไฟทั้งระบบถูกลงอีกด้วย
ดร. อารีพร อธิบายว่า ต้นทุนค่าไฟแบ่งออกเป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ คือค่า G คือ Generation คือต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2.85 บาทต่อหน่วย ก้อนที่ 2 คือค่า T คือ Transmission ต้นทุนระบบสายส่ง อยู่ที่ 0.25 บาท D คือ Distribution ระบบสายจำหน่ายอยู่ที่ 0.55 บาท
“เวลาเราคิดค่าไฟเราจะใช้หลักการหารยาว คิดง่ายๆ ก็คือต้นทุนทั้งหมดหารด้วยจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ผ่านระบบไฟฟ้าหรือคิดง่ายๆ เป็นจำนวนคนที่ใช้ไฟฟ้าผ่านระบบการไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อมีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น นั่นหมายความว่าก็จะมีประชาชนที่ใช้ไฟตรงจากราคาบ้านใหม่ ไม่ผ่านระบบสายส่งของภาครัฐ ดังนั้นแล้วต้นทุนที่จะได้รับผลกระทบก็คือต้นทุนค่าสายส่งสายจำหน่าย T กับ D เนื่องจากว่าภาครัฐมีการลงทุนไปเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อมีคนมาหารยาวน้อยลง นั่นแปลว่าคนที่ยังต้องร่วมกันหารยาวอยู่ หรือคนที่ไม่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ก็ต้องรับผิดชอบส่วนนั้นที่สูงขึ้น นั่นคือส่วนที่มีความเป็นจริงอยู่ แต่ตัวเลขไม่ได้เยอะ
“แต่อย่าลืมว่าการที่เราติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากขึ้น นั่นหมายความว่า ถ้าภาครัฐบริหารจัดการดีๆ จะสามารถนำเข้า LNG ในปริมาณที่น้อยลง นั่นคือช่วยลดส่วนที่เป็นตัว G ที่ใหญ่ที่สุดคือ 2.85 บาทต่อหน่วย และเมื่อหักลบกลบหนี้กันเรียบร้อยแล้ว ต้นทุนค่าไฟสุทธิก็จะไม่ได้สูงขึ้นอย่างที่กังวลกัน นั่นคือประโยชน์ของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป”
ดร. อารีพร กล่าวว่า อยากให้มองภาพกว้างกว่านี้ว่า นอกจากหลังคาบ้านเรือนประชาชน เราก็มีทั้งอาคารของหน่วยงานภาครัฐ อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปด้วย ในช่วงกลางวันจะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ได้มากกว่าความต้องการใช้ ถ้าหน่วยงานเหล่านั้นไม่มีการติดตั้งระบบการกักเก็บพลังงาน หรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนได้ ไฟที่เหลือจากตรงนี้ต้องปล่อยทิ้งไป ซึ่งน่าเสียดายมาก ในปี 2566 มีปริมาณไฟที่เหลือทิ้งประมาณ 2,187 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี
นักวิชาการ TDRI ชี้ว่า หากภาครัฐเอาไฟส่วนนี้กลับมาทำอย่างอื่นต่อจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมาก เช่น นำมาให้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบางฟรี นอกจากจะช่วยในเรื่องของภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ภาครัฐก็สามารถลดการนำเข้า LNG ลงได้อีก ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ และสามารถนำมาเป็นส่วนลดค่าไฟให้กับประชาชนคนไทยทุกคนได้ถึงประมาณ 0.02 บาทต่อหน่วย
“จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปประโยชน์ 3 ด้านด้วยกัน ด้านแรกก็คือทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพิงการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ช่วยในเรื่องของความมั่นคงทางด้านราคาและความมั่นคงทางด้านพลังงาน สองคือการลดค่าไฟประชาชน และสาม เป็นการช่วยให้ประเทศไทยของเราสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น
ธีระพงศ์ แสงลาภเจริญกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ RE Generation Thailand สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประะเทศไทยจะมีแดดและมีศักยภาพมากในผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ แต่การติดโซลาร์ในภาคครัวเรือนนั้นยังเต็มไปด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคจำนวนมาก
“ผมรู้สึกว่าข้อจำกัดหรืออุปสรรคของการติดตั้งโซลาร์ของภาคครัวเรือน น่าจะมีประมาณ 4 ด้านใหญ่ๆ คือด้านความรู้ ข้อจำกัดของสถานที่ติดตั้ง เงินทุนตั้งต้นและความคุ้มทุนตามรูปแบบการใช้ไฟฟ้า และสุดท้าย การขาดมาตรการสนับสนุน”
อุปสรรคการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ในบ้านเรือน
ธีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ในประเด็นเรื่องความรู้ คือข้อมูลทั่วไป เช่น มีเทคโนโลยีแบบไหนบ้าง ทำงานอย่างไร ผลิตไฟฟ้าอย่างไร เป็นเรื่องความไว้วางใจในเทคโนโลยี และเรื่องความไว้วางใจในช่างผู้ติดตั้ง ต่อมาคือการขาดเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณความคุ้มค่าโซลาร์ ปัจจุบันยังไม่ค่อยเห็นเครื่องมือในการคำนวณสำหรับครัวเรือนแบบชัดเจนสักเท่าไร ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน
“อีกอย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าเป็นอุปสรรคค่อนข้างใหญ่เลยก็คือเรื่องความซับซ้อนของการขออนุญาตติดตั้งโซลาร์ บ้านเรือนหลังหนึ่ง สมมติต้องการติดโซลาร์แค่ 3 กิโลวัตต์ จะต้องขออนุญาตถึง 3 หน่วยงานด้วยกัน ขั้นแรกต้องขออนุญาตหน่วยงานท้องถิ่นเรื่องโครงสร้างว่า โครงสร้างบ้านแข็งแรงพอจะติดตั้งโซลาร์ไหมทั้งที่ติดปริมาณน้อยมาก จริงๆ 3 กิโลวัตต์ถ้าช่างสามารถปีนขึ้นไปบนหลังคาเพื่อติดโซลาร์ได้ก็แปลว่าหลังคาสามารถรับน้ำหนักโซลาร์ได้อยู่แล้ว แต่ก็กลายเป็นว่าจะต้องมีวิศวกรเขียนแบบ แล้วถ้าเป็นบ้านเก่าที่ตอนสร้างไม่มีการเขียนแบบ ตรงนี้ก็จะเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นมาอีกเพราะต้องมีการเขียนแบบต้องมีการเซ็นแบบ
“พอจบจากการขออนุญาตส่วนท้องถิ่นแล้วก็จะต้องมาขออนุญาต กกพ. ตรงนี้อาจจะขออนุญาตง่ายหน่อยเพราะ กกพ. มีให้ขออนุญาตออนไลน์ได้แล้ว สุดท้ายก็คือการขออนุญาตการไฟฟ้า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าบ้านอยู่ที่พื้นที่ในการดูแลของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในส่วนนี้ก็จะต้องมีการเขียนแบบไฟฟ้า มีการเซ็นแบบโดยวิศวกร แล้วก็มีการมีเจ้าหน้าที่มาตรวจที่บ้าน ทั้งหมดนี้ในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำการติดโซลาร์ก็จะมองว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างมาก”
ธีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ข้อจำกัดสุดท้ายคือ การที่ยังไม่มีนโยบายสนับสนุน เพื่อทำให้สามารถเก็บไฟไว้ใช้กลางคืนได้อย่างเช่น Net Metering หรือนโยบายอื่นๆ ที่จะสร้างแรงจูงใจหรือทำให้การติดตั้งโซลาร์ง่ายกว่านี้
“ผมคิดว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องแรกน่าจะเป็นมาตรการการเปิดให้ไฟจากบ้านเรือนเข้าสู่กิจการไฟฟ้า จะเป็น Net Metering หรือ Net Billing ก็ได้ เรื่องที่สองก็คือเรื่องเวลาการขออนุญาต บางทีเป็นปีกว่าจะได้ขายไฟจริง และอยากให้แก้ปัญหาทุนตั้งต้นด้วยทางเลือกทางการเงินต่างๆ ซึ่งควรจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือนวัตกรรมทางการเงินที่จะมาแก้ปัญหาทุนตั้งต้นไม่พอนี้ได้ Crowdfunding ก็อาจเป็นตัวเลือกทางการเงินที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้”
ขณะที่ ธนัย โพธิสัตย์ ผู้ก่อตั้ง เกาะจิกรีชาร์จ กล่าวถึงโซลาร์ในมุมของพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงว่า การใช้โซลาร์นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกลที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการต้องใช้ไฟจากการซื้อน้ำมันดีเซลราคาแพงมาปั่นไฟอีกด้วย
ธนัย ฉายภาพว่า เกาะจิกเป็นเกาะที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ก่อนที่เกาะจิกจะใช้ไฟจากโซลาร์ มีการใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นเครื่องปั่นไฟ แล้วก็จ่ายไฟทั้งชุมชนมาก่อน เกาะจิกเป็นชุมชนแบบชาวประมง เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มีเยอะ มีเพียงไฟส่องสว่าง ตู้เย็น พัดลม ไม่มีแอร์ เพราะเป็นเหมือนธรรมนูญหมู่บ้านของที่นี่ว่าจะไม่ใช้แอร์ตั้งแต่ต้น
“สิ่งที่เราทำคือเราเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนเข้าไป เมื่อก่อนใช้ดีเซล 100% พอมีแผงโซลาร์เข้ามาส่วนหนึ่งก็ลดจาก 100% เหลือ 50% ส่วนตอนนี้ก็คือ 97% ของการใช้ไฟในเกาะจิกทั้งปีมาจากโซลาร์ และอีก 3% ยังต้องใช้น้ำมันดีเซลอยู่เพราะในฤดูฝน ฝนตกติดต่อกัน 3- 4 วัน ไม่มีแดดเลยเราก็ยังต้องหันไปใช้น้ำมันดีเซลบ้าง แต่ก็ต้องมีการใช้แบตเตอรี่ เพราะที่นี่เป็น off-grid (ระบบโซลาร์เซลล์ที่ไม่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า) ค่าไฟเมื่อก่อน 30 บาทต่อหน่วยใช่ไหมครับ ก็ตอนนี้ลงมาเหลือ 10 บาทแล้ว แม้จะยังแพงกว่าบนฝั่งอยู่บ้าง เพราะเมื่อต้องใช้แบตเตอรี่ร่วมด้วยก็จะมีต้นทุนเพิ่มเข้ามา แต่ก็ยังถูกกว่าการใช้น้ำมันดีเซลมาปั่นไฟอยู่ดี
ธนัยเล่าถึงเกาะอีกแห่งที่รีชาร์จก็กำลังทำเรื่อง off-grid อยู่ก็คือเกาะบุโหลนดอน จังหวัดสตูล ซึ่งแต่ก่อนก็ใช้เครื่องปั่นไฟจากน้ำมันดีเซลเพื่อจ่ายไฟทั้งเกาะเช่นกัน
“บ้านหลังหนึ่งในเกาะที่ไฟเข้าไม่ถึงจ่ายค่าไฟ 3,000 บาทต่อเดือนซื้อน้ำมันมาปั่นไฟ อาจจะฟังดูไม่เยอะแต่ได้ใช้ไฟแค่ประมาณ 2- 3 ชั่วโมง มีแค่หลอดไฟส่องสว่าง อาจจะมีเครื่องซักผ้านิดหน่อย แต่พอมีโซลาร์มาเป็นทางเลือก เขาสามารถผลิตไฟด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องนำเข้าน้ำมันไม่ต้องไปซื้อเครื่องปั่นไฟมันก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าและถูกกว่าด้วย ตอนนี้เขาสามารถใช้โซลาร์อัปเกรดคุณภาพชีวิตของเขาได้ และเมื่อมันเป็นระบบ off-grid ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องค่า ft จะขึ้นอีกด้วย”
ระบบ Crowdfunding กับการสนับสนุนโซลาร์ภาคครัวเรือน
ณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด ให้ภาพถึงระบบ Crowdfunding ที่เป็นอยู่ของประเทศไทยในตอนนี้ และความเป็นไปได้ที่ระบบ Crowdfunding จะช่วยเหลือโครงการโซลาร์ภาคครัวเรือนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบ Crowdfunding ได้
ณัทสุดา อธิบายว่า Crowdfunding ในเมืองไทย เป็นตัวกลางในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเอสเอ็มอีเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุน ซึ่งเอสเอ็มอีที่มาขอบริการแพลตฟอร์ม Crowdfunding คือ เอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดย Crowdfunding สามารถซัพพอร์ตได้เพียงนิติบุคคลเท่านั้น หากถามว่า Crowdfunding จะซัพพอร์ตเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมโซลาร์รูฟท็อปได้อย่างไร มองว่า สิ่งนี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในตัว เพราะฉะนั้น หน้าที่ของแพลตฟอร์มคือต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง และจัดระดับความเสี่ยง ความเป็นไปได้ของโปรเจ็กต์ที่จะมาใช้ระบบ Crowdfunding และเมื่อเป็นการระดมทุน นักลงทุนก็ต้องการผลกำไร
“แต่ถามว่าระบบ Crowdfunding จะช่วยในโปรเจ็กต์เพื่อชุมชน หรือมีจุดประสงค์ที่ไม่ได้ค้ากำไร เช่น การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อให้มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้นได้ไหม คิดว่าตัวแพลตฟอร์มเองทำให้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะหานักลงทุนยากขึ้น เพราะเขาจะดูว่าผลตอบแทนคุ้มหรือเปล่า แต่ก็มีความเป็นไปได้
“แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง สมมติว่าเราต้องระดมทุนในโครงการโซลาร์ที่มันไม่ใช่ธุรกิจจ๋าที่ผู้ลงทุนมองเห็นถึงผลกำไร เราก็ต้องมีโอกาสไปโฆษณาว่าการออกระดมทุนในโปรเจ็กต์แบบนี้มันดีอย่างไร มันมีความเป็นไปได้อย่างไร ทั้งในแง่คุณประโยชน์ของโปรเจ็กต์และในแง่ผลตอบแทนการลงทุน แต่ถึงอย่างนั้น ก.ล.ต. เองก็ต้องอนุญาตให้เราโฆษณาได้ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ณัทสุดา กล่าวว่า ปัจจุบันนั้นห้ามโฆษณา จะโฆษณาให้กับนักลงทุนที่เป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มได้เท่านั้น แต่นักลงทุนที่เป็นสมาชิกของแพลตฟอร์มก็จะเป็นนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทน ในขณะที่โปรเจ็กต์ลักษณะนี้อาจจะต้องการนักลงทุนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ก็จะต้องโฆษณาไปให้ถึงนักลงทุนเหล่านั้นให้ได้ แต่เมื่อโฆษณาไม่ได้ เขาไม่เห็นสินค้าเรา ใครจะกล้ามาลงสมัครเพื่อลงทุน ก็ยากนิดหนึ่ง
“ปัจจุบันทั้งตลาด Crowdfunding มีแค่ 5 ราย ถ้ารวมกันทั้งตลาดถือว่าเงินยังน้อยมากๆ แต่ด้วยความที่มันเป็นอะไรที่ใหม่ ผู้ที่กำกับดูแลก็อาจจะมีความกล้าๆ กลัวๆ อยู่ เขาอาจจะกลัวๆ ว่าให้ใบอนุญาตเธอไปแล้ว เธอเป็นโจร เธอไม่เก่ง เธออาจจะโฆษณาชวนเชื่อ อาจจะหลอกคนมาลงทุน ฯลฯ ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้
“แต่ถามว่าระบบ Crowdfunding สามารถช่วยได้ไหม ปัจจุบันเราก็มีเอสเอ็มอีที่มาใช้บริการเราประมาณ 100 กว่าบริษัท นักลงทุนเราประมาณ 800 คน แอคทีฟจริงๆ ประมาณ 200 คนเท่านั้น แต่เราช่วยไปแล้วกว่า 100 บริษัทมีการออกหุ้นกู้ไปแล้วเกือบ 2,000 ใบ จำนวนเงินที่เราช่วยระดมทุนได้ตั้งแต่ได้ใบอนุญาตก็ประมาณ 3 – 4 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 11.6% เพราะฉะนั้นมันมีความเป็นไปได้ เพียงแค่กฎเกณฑ์บางอย่างอาจจะต้องเอื้อมากกว่านี้”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ