เสียง(ดัง)มัสยิด: ความท้าทายในสังคมที่เปลี่ยนไป

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 28 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 17757 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวหมู่บ้านจัดสรรหรู ร้องมัสยิดเรียกละหมาดเสียงดัง กำลังเป็นเรื่องความท้าทายใหญ่สำหรับสังคมมุสลิมไทยอันเนื่องมาจากสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนอดีต อีกทั้งปัจจุบันในสังคมที่การสื่อสารไร้พรมแดน อาจทำให้ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งในสังคมไทยเพิ่มขึ้นและจะยิ่งเพิ่มโรคอิสลาโมโมโฟเบีย Islamophobia หรือโรคหวาดกลัวอิสลาม อย่างไร เป็นที่น่ายินดีว่า บัดนี้ มัสยิดดังกล่าวทำการแก้ไข ลดระดับ ปรับทิศลำโพง ให้แล้ว เพียงแต่สื่อนำเสนอเรื่องนี้น้อยไปหน่อย

ผศ.ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัดให้ทัศนะว่า “การทำความเข้าใจร่วมกันและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกที่แตกต่าง จะจัดการอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจาก 60 ปีก่อนโดยสิ้นเชิงอันเป็นโจทย์ท้าทายมุสลิมไทยร่วมสมัย”

อย่างไรก็แล้วแต่เพื่อการแก้ปัญหาที่ถาวร ยั่งยืน มี ผู้นำมุสลิม นักวิชาการอิสลาม และนักสื่อสารมวลชนมุสลิม ได้ออกมาเสนอแนะทางออกที่สร้างสรรค์หลายท่านต่อเรื่องนี้ เช่น

ผศ. ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สะท้อนว่า “แม้การอาซาน (การเรียกละหมาด) เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิม แต่สำหรับกรณีที่มัสยิดที่ชุมชนรอบข้างมีคนต่างศาสนิกก็สามารถปรับระดับเสียงลง หรือหันลำโพงเข้ามาได้ ไม่หันออก หรือเดินระบบเสียงตามสายที่มุ่งไปชุมชนมุสลิมเท่านั้นจริงๆเรื่องนี้ไม่มีอะไรเลยแค่คุยกันบนพื้นฐานของสิทธิ และการเคารพในความเชื่อที่แตกต่าง ถ้อยทีถ้อยอาศัย”

อับดุลกอเดร มัสแหละ ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า “สังคมมุสลิมต้องยอมรับกันก่อนว่า เราอยู่ร่วมกันทุกความเชื่อตั้งแต่ยังไม่มีเครื่องขยายเสียง ในอดีตเรื่องเสียงไม่ใช่ปัญหา มัสยิดก็ไม่มีเครื่องขยายเสียง ปัญหานี้จึงไม่เกิด...ต่อมามัสยิดติดลำโพงที่มัสยิด แต่ต้องการให้เสียงดังไปถึงท้ายบ้าน จึงเปิดเสียงดัง ปรากฎว่ามุสลิมที่อยู่ใกล้ๆ บอกว่าดังไป ในขณะที่อยู่ไกลๆบอกไม่ได้ยิน เราจึงแก้ปัญหาด้วยการทำเสียงตามสาย....

แต่ในชุมชนแบบผสม ที่มีการอยู่รวมกัน เสียงตามสาย ไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหา เมื่อทางมัสยิดเปิดเสียงดังเกินไป มันจึงแก้ปัญหาด้วยการย้ายลำโพงในจุดที่ไม่มีบ้านมุสลิมออกไป แต่ท่านเชื่อไหม มุสลิมเองก็บอกดังไป หากมาติดใกล้บ้าน...ความพอดี เป็นเรื่องที่สังคมมุสลิมต้องคิด อย่าเถียงประเด็นว่าใครมาก่อน เสียเวลา หากคุณจะ "ดะอฺวะฮ์" หรือเชิญชวนให้คนมาเข้าใจอิสลาม เรื่องแค่นี้ หากแก้ไม่ได้ ก็อย่าคิดเรื่องอื่น...ผมเคยได้ยินบ่อย มุสลิมบางคนพูดว่าเรื่องอาซานคือของดี เรียกร้องไปสู่การทำความดี หากคุยกับมุสลิมไม่มีใครเถียง แต่มันมีคำถามต่อว่า ทุกครั้งที่มัสยิดอาซาน คนที่ได้ยินไปมัสยิดทุกคนไหม หรือไปกันส่วนมากไหม ทุกมัสยิด วันไหนที่เครื่องเสียงเสีย คนที่ไปมัสยิดก็คนชุดเก่าๆเดิมๆ...หากจะบอกว่าเป็นการบอกเวลาละหมาด ก็ไม่ต้องให้ดังมากก็ได้ ดังพอรู้เรื่องว่ามันคืออาซาน....แต่หากชุมชนนั้นเป็นมุสลิมล้วนๆ ท่านจะเปิดดังขนาดไหนก็ตามสบาย...ยุคสมัยนี้การทำเสียงให้ดังพอดี ฟังสบายหู ไม่รบกวนกัน มันสามารถทำได้ มีบางชุมชนติดลำโพงภายในทุกบ้าน และมี "วอลลุ่ม" ที่สามารถเร่ง-เบาเสียงได้ ชุมชนก็ต้องแก้ไข โดยเฉพาะชุมชนมุสลิม ที่ต้องใช้เสียงอย่างน้อยๆวันละห้าเวลา บางมัสยิดก็ดันเปิดเสียงละหมาดลั่นหมู่บ้านอีก ...จริงๆเสียงละหมาดควรเป็นเสียงภายใน ไม่ต้องโชว์ภายนอกก็ได้...มีอีกหลายชุมชน ที่เกิดหมู่บ้านประชิดติดกับชุมชนมุสลิม หากผู้บริหารสังคมมุสลิม ไม่เตรียมคิดแก้ปัญหา ผมเชื่อว่าปัญหาจะเกิดขึ้นอีกหลายชุมชน ...พอเถอะคำพูดที่ว่า มันเป็นเรื่องดี คนจะได้เข้าใจอิสลาม...คำถามคือที่เกิดความขัดแย้งกันนี้ มันคือการเข้าใจอิสลามตรงไหน และวิธีให้คนเข้าใจอิสลาม ไม่ใช่วิธีนี้...

สังคมที่เอื้ออาทร แบ่งปัน เข้าใจกัน โดยมุสลิม ตรงนี้ต่างหาก ที่เป็นการสร้างความเข้าใจกัน...หากผู้บริหารมัสยิด หรือชุมชนมุสลิม บอกว่ามันรำคาญแบบไหนกัน ผมเสนอให้เอาลำโพงติดหน้าบ้าน ผู้บริหารมัสยิดทุกบ้าน คำตอบจะออกมาเองว่า ที่บอกว่ารำคาญมันคืออะไร...ไม่ใช่รำคาญเสียงอาซาน หากคนอาซานเสียงดี ที่รำคาญคือดังเกินพอดี...อย่าลืม และจำให้ขึ้นใจ ในยุคที่ไม่มีเครื่องขยายเสียง การอยู่ร่วมกันก็ไม่มีปัญหาใดๆ”....

ใช้แอพพลิเคชั่นเชิญชวนละหมาด

เราและมุสลิมอยู่ในยุคที่มี “แอพพลิเคชั่น” จากสมาร์ทโฟนช่วย อำนวยความสะดวกสบายให้กับทุกสิ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว ซึ่งปัจจุบันแอพพลิเคชั่นที่ถูกสร้างขึ้นมาให้กับ “ชาวมุสลิม” โดยเฉพาะ ก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเยอะแยะมากมาย เพื่อตอบสนองความต้องการของมุสลิมเราได้ด้านต่างๆ

นายอติรุต เจริญจิต เจ้าหน้าที่สำนักจุฬาราชมนตรี เสนอ ว่า “ต้องมาทบทวนการใช้เสียงจากศาสนสถานในเขตชุมชน มุสลิมที่เก่งๆสายเทคโนโลยี ทำแอพเลยครับ เดินทางไปไหน มัสยิดอยู่ใกล้ที่สุด แอพกระพริบแจ้งเตือนตอนเข้าเวลาละหมาด พร้อมกับแสดงโลเคชั่นนำทางไปยังมัสยิดที่ใกล้ที่สุด ไม่ต้องอ้างว่า ไม่ได้ยินเสียงอาซาน ไม่รู้ว่ามัสยิดอยู่ตรงไหน”

ปัจจุบัน เรา มีหลายแอพที่เชิญชวนไม่เฉพาะละหมาด แต่ทั้งศาสนกิจและวิถีชีวิตมุสลิมด้านต่าง เช่น

1. Halalize แอพพลิเคชั่นสำหรับสั่งอาหารจากร้านอาหารชื่อดังมากมาย และบริการส่งถึงที่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

2. HalalGuide เป็นแอปพลิเคชั่นของบริษัทมุสลิมจากประเทศรัสเซีย ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาร้านอาหารมากมายหลายพันร้าน มีบริการส่งเดลิเวรอ์รี่ถึงที่ และสามารถสะสมแต้มเพื่อใช้เป็นส่วนลดในการสั่งครั้งต่อไป ฟังก์ชั่นของ Halal Guide ยังไม่หมดแค่นี้ แต่แอพฯ นี้การค้นหาสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมได้ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิด โรงแรมฮาลาล หรือสถานที่สำคัญต่างๆ ในเส้นทางที่คุณจะไป มีการบอกเวลาละหมาด รวมไปถึงหะดีษและอัลกุรอาน ครบหมดในแอพฯเดียว

3. Muslim Mate บอกเวลาละหมาด พร้อมเสียงเตือนแจ้งเวลาละหมาดและทิศกิบลัต มีการรายงานสภาพอากาศ มีอัลกุรอานที่สามารถค้นหาอายะห์ได้ (พร้อมคำอ่านทับศัพท์ คำแปล และเสียงอ่านจากหลายภาษา) มี 99 พระนามของอัลลอฮฺที่มาพร้อมเสียงอ่านสุดไพเราะ มีปฏิทินและบอกเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของอิสลาม รวมไปถึงการ์ดอวยพรในวันสำคัญต่างๆ ของอิสลาม ยังไม่หมดเท่านี้ แอพพลิเคชั่นสุดล้ำนี้ยังบอกมีการแจ้งตำแหน่งสถานทีสำคัญทางศาสนาที่อยู่ใกล้เคียงกับคุณ เช่น มัสยิด ร้านอาหารฮาลาล โรงเรียน ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ประชุม และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าโหลดแอพฯนี้แอพฯเดียวใช้คุ้มแน่นอน

4. Muslim Pro น่าจะแอพลิเคชั่นมุสลิมยอดนิยมที่ไม่ว่ากันไปทางไหนก็มักจะมีคนใช้ Muslim Pro กันทั้งนั้น แอพฯนี้พัฒนาโดยบริษัทในประเทศสิงคโปร เป็นอีกหนึ่งแอพฯที่มีความสามรถหลากหลายครบตามความต้องการที่แอพฯ มุสลิมจำเป็นต้องมี เช่น เวลาละหมาดพร้อมเลือกเสียงอะซานได้ หาทิศกิบลัต มีอัลกุรอานพร้อมคำแปลกว่า 40 ภาษา และอีกมากมายหลายความสามารถที่ต้องลองโหลดมาใช้ดู แล้วจะรู้ว่า Muslim Pro แอพเดียวเอาอยู่จริงๆ

(อ้างอิงเกี่ยวกับแอพมุสลิมจาก https://www.halallifemag.com/5-app-muslim-must-have/)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: