ม.มหิดล วิจัย 'งีบหลับฟื้นสมรรถภาพนักกีฬา'

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5642 ครั้ง

ม.มหิดล วิจัย 'งีบหลับฟื้นสมรรถภาพนักกีฬา'

ม.มหิดล ผนึกกำลังกายภาพบำบัด-สรีรวิทยา-ประสาทวิทยาศาสตร์ วิจัย 'งีบหลับฟื้นสมรรถภาพนักกีฬา' หวังเสริมสมรรถภาพนักกีฬาไทยสู่ความเป็นเลิศ

28 มิ.ย. 2567 งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่าในโลกยุคที่ต้องวิ่งให้ทันความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเช่นปัจจุบัน การพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยเพื่อมุ่งชิงชัยในระดับโลก เพียงการทุ่มเทฝึกฝนอย่างสม่ำเสมออย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอ

รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.อมรพันธ์ อัจฉิมาพร อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยเพื่อศึกษาศักยภาพนักกีฬาฟุตบอลหลังได้งีบหลับ 20 นาที จากการแบ่งกลุ่มนักกีฬาฟุตบอลมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ภายใต้ 3 สภาพเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

กลุ่มที่ 1 ให้นักกีฬาฟุตบอลได้นอนปกติ เป็นเวลา 7 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 ให้นักกีฬาฟุตบอลอดนอน และกลุ่มที่ 3 ให้นักกีฬาฟุตบอลอดนอน แต่อนุญาตให้พักงีบหลังมื้อเที่ยงในวันรุ่งขึ้นได้เป็นเวลา 20 นาที จากนั้นได้วัดคลื่นสมองไฟฟ้านักกีฬาฟุตบอลด้วยเครื่อง EEG (Electroencephalography) เปรียบเทียบกันทั้ง 3 กลุ่ม

ซึ่งคลื่นสมองไฟฟ้าโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ “เบต้า” (Beta) เกิดขึ้นระหว่างขบคิดพิจารณา “อัลฟ่า” (Alpha) เกิดขึ้นระหว่างเข้าสู่สมาธิ “ธีต้า” (Theta) เกิดขึ้นระหว่างเคลิ้มหลับ และ “เดลต้า” (Delta) เกิดขึ้นระหว่างหลับลึก

จากการวัดคลื่นสมองไฟฟ้านักกีฬาฟุตบอลทั้ง 3 กลุ่มพบว่า กลุ่มที่อดนอน มีคลื่นเดลต้าเพิ่มขึ้น แต่คลื่นอัลฟ่าลดลง เมื่อเทียบกับนักกีฬาฟุตบอลที่ได้นอนปกติ

ในขณะที่นักกีฬาฟุตบอลอดนอนแต่ได้พักงีบ 20 นาที แม้จะได้รับผลกระทบจากการอดนอน โดยขาดความกระฉับกระเฉงอยู่บ้าง แต่พบปัจจัยที่เหนือกว่ากลุ่มที่อดนอนอย่างเดียว จากที่ได้ทดสอบแล้วคือ “พลังกล้ามเนื้อขา” (Leg Muscle Strength) ที่ฟื้นตัวได้ดีกว่า

จากการวิจัยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนอนที่เพียงพอ คือ “หัวใจสำคัญของนักกีฬา” เนื่องจากส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมอง และสมรรถภาพในการเล่นกีฬา

อย่างไรก็ดีแม้การงีบหลับจะจำเป็นสำหรับการช่วยนักกีฬาให้ได้ฟื้นตัวจากความอ่อนล้า แต่หากงีบหลับเกินครึ่งชั่วโมงอาจยิ่งส่งผลให้ง่วงซึมได้

นอกจากนี้ จากงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.อมรพันธ์ อัจฉิมาพร ยังแนะนำว่าก่อนเข้านอนไม่ควรเล่นโซเชียล ดูหนัง หรือเล่นเกมจากคอมพิวเตอร์ เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ ทำให้นอนไม่หลับได้ โดยได้ใช้เป็นองค์ประกอบเสริมร่วมกับการกำหนดอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในการดูแลนักกีฬาระหว่างการทำวิจัยด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.กภ.อมรพันธ์ อัจฉิมาพร นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากผลงานสร้างชื่อจากการวิจัยเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาฟุตบอลด้วยการงีบหลับ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ International Journal of Sports Medicine แล้ว ยังมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นและหลากหลาย ทั้งทางด้านกายภาพบำบัด สรีรวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กีฬาที่เป็นเลิศ จำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์การกีฬา เสริมพลังด้วยศาสตร์อื่นๆ ร่วมด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: