วิกฤตคนทำงานสื่อ แค่ครึ่งปี 2567 ถูกเลิกจ้างแล้วกว่า 300 คน

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 8836 ครั้ง

รายงานพิเศษจาก 'เบนาร์นิวส์' แค่ครึ่งปี 2567 บริษัทสื่อเอกชนในไทย ได้ปลดพนักงานไปแล้วประมาณ 300 คน 'นักวิชาการ-สื่อมวลชน' ห่วงกระทบสิทธิเสรีภาพ

เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2567 เบนาร์นิวส์ รายงานว่า หลังถูกเลิกจ้างจากสำนักข่าวยักษ์ใหญ่หลายปีก่อน สมานฉันท์ พุทธจักร ก็ได้ตัดสินใจออกเดินในหนทางสื่อมวลชนของตนเอง โดยเขาได้เปิดเว็บไซต์ข่าวอิสระที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยได้รับทุนสนับสนุนหลักจากทั้งองค์กรไทยและต่างชาติ แต่หลังจากเปิดเว็บไซต์ไม่ถึง 3 ปี เขาก็จำเป็นต้องปิดเว็บไซต์ลงในเดือนธันวาคม

“ทำสื่อคนเดียวผมหยุดไม่ค่อยได้ ต้องทำตลอดไม่มีงบประมาณไปจ้างใครช่วย พอคุณแม่ป่วยต้องไปดูแล ต้องปล่อยทิ้งไปนานพอจะกลับมาทำอีกครั้งก็ต่อไม่ติดแล้ว ทำยังไงยอด Engagement ก็ไม่เหมือนเดิม ถ้าไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่คนสนใจก็ยิ่งยาก” สมานฉันท์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ปัจจุบัน สมานฉันท์ เป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ เขารับเขียนบทความทุกประเภท ตั้งแต่ฟุตบอลไปจนถึงข่าวการเมือง โดยไม่ว่าค่าตอบแทนจะน้อยแค่ไหน เขาก็รับทำ

ประสบการณ์ของเขาสะท้อนให้เห็นถึงสภาพแวดวงสื่อของไทยที่เปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ และความยากลำบากที่นักข่าวหลายคนเผชิญในการหาอาชีพที่มั่นคง รายงานระบุว่า ภาคสื่อกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้จากโฆษณาและสปอนเซอร์ที่ไม่สม่ำเสมอ รวมถึงการแบ่งรายได้จากแพลตฟอร์มโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม

แม้ผลกระทบของอินเตอร์เน็ตต่อรูปแบบธุรกิจสื่อแบบเดิมจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ปีนี้ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับสื่อไทยเป็นพิเศษ ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทสื่อเอกชนในเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ปลดพนักงานไปแล้วประมาณ 300 คน

TH-media-landscape-02.jpg
สมานฉันท์ พุทธจักร สื่อมวลชนอิสระ ในระหว่างทำงานประจำวันที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าจ้าง ที่ Co-working space แห่งหนึ่ง (เบนาร์นิวส์)

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการรับสื่อ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อไทยเป็นอย่างมาก จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังจากที่ไทยเคยมีฟรีทีวี 6 ช่อง มาอย่างยาวนาน ได้เพิ่มเป็น 36 ช่อง ในรูปแบบของ ‘ทีวีดิจิทัล’ เมื่อปี 2558 ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อมีการแข่งขันกันสูงกว่าเดิม 

จากสถานการณ์ที่สื่อทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ ต่างแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน จนทำให้สื่อหลายแห่งประสบภาวะขาดทุนจนถึงขั้นปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่าระหว่างปี 2558-2562 มีการเลิกจ้างคนทำงานในวงการสื่อมากกว่า 3,472 คน 

จนกระทั่งปัจจุบัน อุตสาหกรรมสื่อก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ ทั้ง Bangkok Post, อสมท. (MCOT), MONO NEXT, Nation Group และ JKN Global Group ต่างประสบปัญหาขาดทุนและเลื่อนส่งงบการเงินให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งยังพบว่า ในไตรมาส 1/2567 ขณะที่หลายบริษัทมีกำไรลดลง 

“สื่อบางสำนักอาจอยู่รอดได้ แม้ยอดผู้ชมไม่มาก แต่มีรายได้จากสปอนเซอร์เพียงพอ สื่อแบบนี้มีจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบบางประการ เช่น มีกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง หรือมีบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นดาราชูโรง ซึ่งส่วนมากมักมีสายสัมพันธ์อุปถัมภ์กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่” ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ผู้ดำเนินรายการ VOICE TV และอดีตบรรณาธิการบริหาร ประชาไท หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ครึ่งปีแรกของปี 2567 สำนักข่าวได้ประกาศเลิกจากพนักงานไปแล้วกว่า 300 คน เช่น Voice TV ประกาศเลิกกิจการ หลังจากช่วง 5 ปีหลังสุดขาดทุนสะสมกว่า 800 ล้านบาท ทำให้พนักงานกว่า 200 คนถูกเลิกจ้างทั้งหมด 

กลุ่มยามเฝ้าจอที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวงการสื่อมวลชนระบุว่า PPTV ที่บริษัทขาดทุนร่วม 1,072 ล้านบาท จากปี 2566 มีการเลิกจ้างพนักงาน 90 คน ขณะที่ บริษัทที่รับจ้างผลิตรายการให้กับช่อง 7 (CH7) ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 12 คน บริษัท MONO NEXT ประกาศปรับโครงสร้าง และลดขนาดองค์กร มีการปลดพนักงานจำนวนหนึ่ง 

ชูวัส ระบุว่า แม้สื่อเก่า เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์พยายามปรับตัวสู่ออนไลน์ แต่จำนวนหนึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก ภาคธุรกิจหันไปใช้ Social Media ในการโฆษณาสินค้า หรือใช้ Influencers แทนการลงโฆษณาผ่านบริษัทสื่อ ทำให้เม็ดเงินในการสนับสนุนบริษัทสื่อลดลงอย่างมาก

สื่อออนไลน์แข่งขันสูง

เมื่อสื่อไทยก้าวสู่ออนไลน์มากขึ้น การแข่งขันก็สูงขึ้นตาม ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (Thai Civil Rights and Investigative Journalism - TCIJ) ศึกษาพบว่า ในช่วงปี 2558-2562 หลังการเลิกจ้างครั้งใหญ่ในวงการสื่อ ทำให้เกิดสื่อออนไลน์กว่า 100 แห่ง 

จากการศึกษาของ TCIJ พบว่า ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ด้วยตนเอง แม้มีประสบการณ์ทำสื่อ แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจสื่อ หลายปีที่ผ่านมาสื่อออนไลน์จึงล้มหายตายจากไปจำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ปัญหาสังคม เช่น ประเด็นสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน หรือเสียงคนชายขอบ ที่หาเอกชนสนับสนุนยาก

“สื่อออนไลน์แข่งขันกันสูงมาก ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เป็นตัวเร่ง เพราะเจ้าของสินค้าควักเงินจ่ายน้อยลง กับอีกสภาวะคือ ผู้เล่นหน้าเก่า หน้าใหม่จำนวนมากกระโจนเข้าใส่สนามแห่งนี้ เพราะมองว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของการยืนอยู่ได้ด้วยการทำสื่อ” ณรรธราวุธ เมืองสุข สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (Thai Media for Democracy Alliance - DemAll) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

การเกิดขึ้นของ Influencers, YouTuber, Tiktoker และอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนในการกำหนดทิศทางความนิยม ทำให้บริษัทสื่อต้องปรับตัวอีกครั้ง เช่น ต้องนำเสนอคลิปสั้น ข่าวรีแคปต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อสร้างยอด Follower ที่นำไปสู่ Engagement ซึ่งสร้างรายได้จาก Platform นั้น ๆ 

TH-media-landscape-04.jpg
ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข สื่อมวลชนอาวุโส ถ่ายภาพกับป้ายมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ที่สำนักข่าวประชาไท กรุงเทพฯ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 (คชรักษ์ แก้วสุราช/เบนาร์นิวส์)

“สิ่งที่น่าห่วงในระยะอันใกล้ คือ ภาวะฟองสบู่ของวงการสื่อออนไลน์ เพราะปริมาณมันมากเกินตลาด และเกมนี้ไม่ได้ถูกกำหนดโดยผู้ผลิตเนื้อหาอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว” ณรรธราวุธ กล่าว

ด้าน ชูวัสยังมองว่า แหล่งทุนยังเป็นอุปสรรคหลักในการนำเสนอเนื้อหาของสื่อออนไลน์

“การได้รับผลตอบรับและมีช่องทางที่จะได้รับยอดผู้ชมได้ง่าย เป็นทั้งข้อได้เปรียบและอุปสรรค ข้อเสียสำคัญก็คือ ไม่มีแรงจูงใจพอให้ผู้ผลิตเนื้อหามุ่งสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เพราะคุณภาพในทัศนะเดิม ไม่ได้เป็นหลักประกันเรื่องยอดผู้ชม แต่การนำเสนอที่ฉาบฉวยแทบไม่ต้องใช้ต้นทุน อย่างการพาดหัวปั่นหรือ Clickbait กลับมียอดผู้ชมที่แน่นอนกว่า” ชูวัส กล่าว

ผลกระทบต่อคนทำงานสื่อมวลชน

นอกจากการเลิกจ้างแล้ว การปรับลดขนาดองค์กรก็ทำให้คนทำงานที่ไม่ถูกเลิกจ้างทำงานหนักขึ้น รวมทั้งธุรกิจสื่อก็นิยมจ้างงานยืดหยุ่นในลักษณะของ ‘ฟรีแลนซ์’ มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบหลายด้านให้กับคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้

“ปัญหาค่าตอบแทน หลายที่ไม่ได้เพิ่มมา 10 ปี ทำงานโอเวอร์โหลด วันนึงวิ่งข่าว 5 หมาย ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ ออนไลน์ เพราะบุคลากร ลดน้อย แต่กอง บก.ต้องการข่าวมากขึ้นตามกระแส แล้วนักข่าวจะวิ่งข่าวทันได้อย่างไร” สุเมธ สมคะเน  เลขาธิการสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ระบุ

สุเมธ เปิดเผยบนเว็บไซต์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า การนําเสนอข่าวในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ภายใต้การการรัดเข็มขัด ขณะที่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

“การเลิกจ้างนักข่าวและช่างภาพภาคสนามจำนวนมาก นักข่าวที่เหลือต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่ต้นสังกัดไม่ให้โอทีไม่ได้ ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ไม่มีวันหยุด ไม่มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวเพื่อเรียกร้องต่อรองสภาพการจ้างงานได้” สุเมธ ระบุ 

ด้าน กนกพร จันทร์พลอย มูลนิธิสื่อประชาธรรม ชี้ว่า การจ้างฟรีแลนซ์ทำให้บริษัทไม่ต้องจ้างพนักงานประจำ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ฟรีแลนซ์ถูกเอาเปรียบ

“ฟรีแลนซ์นอกจากไม่มีสัญญาจ้างและขาดความมั่นคงแล้ว ค่าตอบแทนของฟรีแลนซ์ก็ไม่แน่นอน ต้องแบกต้นทุนการผลิตเนื้อหาเองหมด เช่น ค่าเดินทาง ค่าประสานงาน ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกรวมไปกับค่างานเขียนหนึ่งชิ้น หลายครั้งก็ไม่คุ้มค่า แต่ฟรีแลนซ์ก็ไม่กล้าต่อรองเพราะกลัวที่จะไม่ได้ทำงานชิ้นต่อไป” กนกพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

หวั่นกระทบ ‘สิทธิเสรีภาพสื่อ’

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาประเด็นสื่อใหม่ชี้ว่า การปิดตัวของบริษัทสื่อจะส่งผลกระทบต่อเนื้อหาด้วยเช่นกัน 

“เมื่อ Ecosystem ของสื่อมีผู้เล่นน้อยราย มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า สื่อที่อยู่รอดโดยมากเป็นสื่อใหญ่ที่พึ่งพิงการโฆษณา ซึ่งมักเสนอเนื้อหาที่ให้คุณกับคนจ่ายค่าโฆษณา ทำให้สื่อขนาดใหญ่เหล่านี้ไม่อยากลงเนื้อหาที่มันกระทบต่อธุรกิจ ไม่กล้าแตะเรื่องเชิงโครงสร้าง เช่น ไม่นำเสนอเรื่องราวจากมุมมองของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ” อรรคณัฐ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

งานศึกษา 'การปรับตัวขององค์กรข่าวเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจและบทบาทหน้าที่ต่อสังคม: กรณีศึกษาองค์กรสื่อกระแสหลัก' โดย ผศ.อริน เจียจันทร์พงษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าทั้งธุรกิจและการเมืองที่เปลี่ยนแปลงมีผลต่อเสรีภาพสื่อ 

“ตลาดสื่อที่แข่งขันสูงเนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการมีมากขึ้น ระบบการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้จากโฆษณาของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่ไม่เป็นธรรม และระบอบการเมืองไม่เสรี ทั้งหมดนี้ส่งผลให้องค์กรข่าว ไม่ได้แสดงบทบาทสถาบันทางสังคมตามพันธกิจสื่อวารสารศาสตร์ในระบอบประชาธิปไตยมากนัก” ส่วนหนึ่งของงานศึกษา ระบุ 

ปี 2565 กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารมีลูกจ้างในระบบ 22,408 คน 

เช่นเดียวกับ ณรรธราวุธ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่ม DemAll ก็ได้ย้ำว่า การเลิกจ้างสื่อโดยเฉพาะฝั่งเอกชน ส่งผลกับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพสื่อไทยเป็นอย่างมาก 

“สิ่งที่จะตามมาคือความหลากหลายของเนื้อหาสื่อจะลดน้อยลง เพราะสื่อรัฐจะพีอาร์แต่ฝ่ายรัฐ สื่อเอกชนต้องรัดเข็มขัด จึงตัดเนื้อหาที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เลิกทำข่าวเจาะที่มีประโยชน์กับประชาชน เพราะถือเป็นการลดต้นทุนในการส่งนักข่าวออกไปทำงาน” ณรรธราวุธ กล่าว

ปี 2567 นักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ให้คะแนนเสรีภาพสื่อในประเทศไทยที่ 58.12 ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 87 จาก 180 ประเทศ 

“ทุกวันนี้เลยมีแค่ข่าวการเมืองจากทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือพรรคการเมือง ข่าวอาชญากรรมและข่าวกีฬา โดยตัดข่าวสิ่งแวดล้อม ความเคลื่อนไหวภาคประชาชน กระทั่ง การชุมนุมประท้วงด้านสิทธิมนุษยชนแทบไม่ถูกนำเสนอ" ตัวแทน DemAll ระบุ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: