หลากทัศนะประชาชน ทำไมต้องแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558

กองบรรณาธิการ TCIJ 28 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8882 ครั้ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ “Protest for Tomorrow” #แก้ไขพรบชุมนุม #ไม่ควบคุมประชาชน เพื่อนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจจากโครงการ Mob Data และจัดเวทีเสวนา เพื่อหาคำตอบไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ในช่วง พ.ศ. 2563 - 2565 การชุมนุมทางการเมืองเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย ภายใต้หัวข้อการชุมนุมและรูปแบบการชุมนุมที่หลากหลายและสร้างสรรค์ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสิทธิและเสรีภาพ เรียกได้ว่าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแบ่งบานที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

อย่างไรก็ตาม จากการชุมนุมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในเวลานั้น ส่งผลให้นักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดี ในขณะที่ประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมบางส่วนบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ และเสียชีวิต โดยหนึ่งในปัจจัยที่สกัดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย คือกฎหมายอย่าง “พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558” ซึ่งมีการประกาศใช้หลังจากการรัฐประหาร 2557 โดยรัฐบาล คสช.

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ระบุว่า “การชุมนุมสาธารณะ หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่” และ “การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ”

ทว่าในความเป็นจริง แม้การชุมนุมของประชาชนจะสงบและปราศจากอาวุธ แต่หลายครั้งเรากลับพบว่า มีการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกดำเนินคดีจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้เปิดตัวแคมเปญ “Protest for Tomorrow” #แก้ไขพรบชุมนุม #ไม่ควบคุมประชาชน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2567 เพื่อนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจจากโครงการ Mob Data และจัดเวทีเสวนา เพื่อหาคำตอบไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อไป

Mob Data: รายงานการชุมนุมผ่านสายตาประชาชน

ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมที่ร้อนแรงใน พ.ศ. 2563 - 2565 โครงการ Mob Data ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในขณะนั้น

บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ของ iLaw หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Mob Data กล่าวว่า เธอได้ติดตามการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2559 และพบว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมมักจะกระจัดกระจายอยู่ในองค์กรต่างๆ ตามประเภทเนื้อหาของการชุมนุม ประกอบกับบุศรินทร์สังเกตว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะนั้นค่อนข้างมีปัญหา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2563 เริ่มมีการชุมนุมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จึงนำไปสู่การก่อตั้งโครงการ Mob Data

“Mob Data เกิดขึ้นมาเพื่อจะแก้ปัญหา พ.ร.บ.ชุมนุม ดังนั้น วิธีการทำงานของเราก็จะดูว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ชุมนุม ตั้งแต่การแจ้ง ผู้จัดการชุมนุมแจ้งไป ตำรวจตอบกลับมาอย่างไร เปลี่ยนสถานที่ไหม ก็เป็นสิ่งที่เราเก็บข้อมูลเป็นหลัก ตำรวจทำอย่างไร ตำรวจมีมาตรการกับเด็กอย่างไร เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และเยาวชน” บุศรินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม บุศรินทร์เล่าว่า ข้อค้นพบที่น่าสนใจก็คือ วิธีการปฏิบัติของตำรวจนั้นมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาของการชุมนุม และมีลำดับขั้น หากเป็นการชุมนุมเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ หรือการชุมนุมที่สามารถคาดเดาจุดหมายปลายทางได้ เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการรับมือแบบหนึ่ง แต่หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีข้อเรียกร้องสูง เช่น การปฏิรูปสถาบัน การขับไล่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ก็จะมีวิธีการปราบปรามอีกแบบหนึ่ง และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง

นอกจากนี้ ข้อมูลของ Mob Data ยังระบุถึงปัญหาของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรัศมีการชุมนุม ความซับซ้อนและซ้ำซ้อนของการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า รวมทั้งปัญหาเรื่องความรับผิดรับชอบของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม

เฝาซี ล่าเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในอาสาสมัคร Mob Data ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่การชุมนุมหลายครั้ง เล่าว่า สถานที่ชุมนุมถือเป็นปัญหาสำคัญมาก เนื่องจากตามหลักสากล การชุมนุมต้องอยู่บนหลัก Site & Sound คือการอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถสื่อสารประเด็นไปยังเป้าหมาย ทว่าเจ้าหน้าที่กลับสร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับรัศมีการชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถสื่อสารประเด็นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังใช้ข้ออ้างเรื่องรัศมีการชุมนุมเพื่อการสลายการชุมนุม โดยระบุว่าการชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ยังไม่ได้ระบุนิยามอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม นั่นหมายความว่า อาสาสมัครของ Mob Data จะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายร่างกายทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงสลายการชุมนุมและบุคคลที่สาม รวมทั้งอาจจะถูกดำเนินคดี เนื่องจากถูกนับรวมเป็นผู้ชุมนุม

แม้ว่าการทำงานของ Mob Data จะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ระหว่างทางในการเก็บข้อมูลเพื่อเป้าหมายสูงสุดอย่างการแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ผู้ปฏิบัติงานในโครงการ Mob Data กลับพบว่าโครงการนี้มีความสำเร็จเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยบุศรินทร์เล่าว่า

“ช่วงปี 2563 - 2564 เป็นต้นมา เริ่มมีความรุนแรง การที่เรารายงานสดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ณ เวลานั้นเลย มันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยชะลอการใช้ความรุนแรง ถ้าสังคมสนใจอยู่ว่ามีการใช้ความรุนแรง นักข่าวไปจ่อถามว่าทำไมถึงใช้ความรุนแรง เราคิดว่ามันทำให้เจ้าหน้าที่คิดมากขึ้นในการใช้กำลังแต่ละครั้ง ซึ่งเราคิดว่านี่ก็เป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญของ Mob Data”

“เราสามารถหยุดการผูกขาดเรื่องเล่าของรัฐได้ คือเราไม่คิดว่าเราตัวใหญ่ขนาดนั้น แต่ว่าเรารู้สึกภูมิใจที่เราสามารถเก็บข้อมูลว่ามีประชาชนบาดเจ็บ ถ้าเราเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย แล้วไปย้อนอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 49 เราก็จะรู้สึกว่าทำไมคนประเทศนี้รุนแรงกับตำรวจ ทหารเหลือเกิน ทั้งๆ ที่มันไม่จริง แล้วก็เจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรของรัฐ เช่น ศูนย์เอราวัณ เขาไม่ได้เก็บข้อมูลในทุกการชุมนุม บางการชุมนุมเราเห็นแล้วว่ามันเจ็บเยอะจริงๆ มันก็ไม่ได้มีรายงาน เรารู้สึกว่าอันนี้ก็เป็นเป้าหมายระหว่างทางที่สำเร็จ”

นอกจากนี้ บุศรินทร์ยังกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า Mob Data ได้สร้างบุคลากรที่มีความสามารถมากมายในการทำงานด้านเสรีภาพการชุมนุม โครงการนี้ได้เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเอง และส่งเสริมระบบนิเวศของเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย

อำนวยความสะดวกแบบใด? ปัญหาใหญ่ของเจ้าหน้าที่ใน พ.ร.บ.ชุมนุม

อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในการชุมนุมทางการเมือง คือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งที่ผ่านมาในสื่อต่างๆ เรามักพบเห็นเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหลายครั้ง พร้อมกับความพยายามอ้างว่าผู้ชุมนุมเริ่มก่อความไม่สงบก่อน ในเวทีเสวนา “การชุมนุมไม่ใช่การก่อสงคราม แต่เป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” จึงได้วิเคราะห์ประเด็นนี้ ก่อนจะนำไปสู่ข้อเสนอในการแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ว่า บทบาทดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) การคุ้มครองความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของผู้ที่ชุมนุมสาธารณะ และ (2) การจัดสมดุลของผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หมายความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ให้แก่ผู้ชุมนุม และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น

“รัฐธรรมนูญ มาตรา 44 รับรองการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เสรีภาพในการชุมนุมจะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อมันสงบและปราศจากอาวุธ ตำรวจมีหน้าที่โดยตรงในการทำให้การชุมนุมสงบ ฉะนั้น เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปจัดการ หรือเล็งเห็นว่ามันอาจจะเกิดความไม่สะดวก เช่น รถอาจจะติดเกินส่วน มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น ตำรวจก็มาตั้งแบริเออร์ มาจัดการจราจรโดยรอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกขึ้น” พัชร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม พัชร์ระบุว่า การชุมนุมมีทั้งการสนับสนุนและการคัดค้าน โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า หากเป็นการชุมนุมเพื่อสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มักจะไม่มีปัญหาตามมา ทว่าหากเป็นการชุมนุมเพื่อประท้วงหรือคัดค้าน เจ้าหน้าที่กลับใช้ความรุนแรงหรือดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเหล่านี้

ด้านคุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ผู้แทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งช่วยเหลือด้านคดีความให้กับผู้ชุมนุมหลายคดี ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุม ยังไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง

“ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการชุมนุม คือการแจ้งการชุมนุม กฎหมายก็บอกว่าเรื่องการแจ้งการชุมนุมเป็นเพียงแค่การแจ้ง แต่เราก็พบว่าเจ้าหน้าที่ต้องอนุญาต ถ้าไม่อนุญาตก็ไม่สามารถจัดการชุมนุมได้ อันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิดในหน้าที่ของตัวเอง กระดุมเม็ดแรกก็ผิดแล้ว พอผู้ชุมนุมแจ้งการชุมนุมไปแล้ว หนังสือสรุปสาระสำคัญที่ส่งกลับมาก็เหมือนครูที่สั่งสอน เปลี่ยนได้ไหม การชุมนุมนี้ ชุมนุมแค่ในมหาวิทยาลัยก็พอแล้ว ไม่ให้เคลื่อนย้ายได้ไหม อันนี้ไม่ใช่การสรุปสาระสำคัญแล้ว แต่เป็นการไปแก้ไขเนื้อหาการชุมนุมของผู้ชุมนุม ซึ่งมันเป็นการไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง หรืออาจจะเกินเลยไป จนถึงขัดขวางการใช้เสรีภาพของประชาชน”

สำหรับประเด็นสำคัญอย่างการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม พัชร์มองว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาในเรื่องแนวปฏิบัติและการปฏิบัติ มากกว่าจะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายได้ “ล็อก” ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในการใช้กำลังและอาวุธหลายชั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐธรรมนูญรับรองการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถพกอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมได้ ประกอบกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 21 ให้หลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น และการใช้กำลังต้องอยู่ภายใต้หลักแห่งความจำเป็นและหลักแห่งความได้สัดส่วน

“แต่สิ่งหนึ่งที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หรือแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญของเรามองข้ามไป ก็คือว่า เราไม่มีสมมติฐานว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นมันจะเกิดขึ้นโดยสงบ ข้อนี้พลาดอย่างยิ่ง ถ้าเราไปดูความเห็นทั่วไปของสหประชาชาติ เราก็จะเจอว่าการชุมนุมสาธารณะ เราต้องสันนิษฐานไว้ก่อนนะว่ามันจะเกิดขึ้นโดยสงบ และถ้าเจ้าหน้าที่เห็นว่ามันจะไม่สงบ เจ้าหน้าที่ต้องบอกให้ได้ว่าแล้วมันจะไม่สงบอย่างไร โดยใคร อันนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐ ประชาชนไม่จำเป็นต้องอธิบายว่าฉันจะชุมนุมให้สงบอย่างไร เวลามันมีความรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐนี่แหละที่มีหน้าที่เข้าไปปราบปราม”

เมื่อการปฏิบัติงานจริงขัดแย้งกับหลักกฎหมาย ผลกระทบส่วนใหญ่จึงตกอยู่ที่ประชาชนที่เป็นผู้ชุมนุม หนึ่งในนั้นคือ “พายุ” นักเคลื่อนไหวผู้สูญเสียความสามารถในการมองเห็น จากการสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุด APEC” เมื่อ พ.ศ. 2565

“ตอนนั้นผมอยู่ข้างหน้า เห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังวิ่งไปใช้ความรุนแรงกับพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง รวมทั้งรถเครื่องเสียง แล้วก็มีการยิงกระสุนยางมาเป็นระยะ รถเครื่องเสียงโดนกระสุนยางยิง แล้วเขาตกใจ กลัวกระจกหน้ารถแตก แล้วเขาจะถอยหลังไปเพื่อจะแอบ แต่ข้างหลังคือชาวบ้านนั่งกินข้าวกันอยู่ ผมก็เลยเดินไปบอกว่าพี่ไม่ต้องถอย แล้วผมหันกลับมาก็โดนยิงแล้ว”

“หลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้น สิ่งที่ได้รับมาก็คือคดีความ ผมโดนยิงด้วย ได้คดีด้วย พี่น้องที่ไปโดนคดี รวมทั้งหมด ถ้าจำไม่ผิด ประมาณเกือบ 30 คนได้ นอกจากโดนคดีแล้ว เราเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียหลายอย่าง” พายุเล่า

นอกจากนี้ พายุมองว่า การสลายการชุมนุมครั้งนั้นเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อย่างผิดกฎหมาย จึงตัดสินใจฟ้องกลับ ทว่าคดีกลับไม่คืบหน้า และยังถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องกลับด้วย

“เราพยายามที่จะเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐ ก็ไม่ได้รับการตอบรับทั้งการเยียวยาเรื่องสภาพจิตใจ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป รวมถึงของผมที่สูญเสียดวงตา กระบวนการยุติธรรมก็ไม่คืบหน้า ค่าชดเชยเยียวยาก็ไม่พูดถึง หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาก็ไม่ได้ถูกพูดถึงขึ้นมาว่าเกิดการกระทำที่รุนแรงอะไรของเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง” พายุกล่าว

นอกจากการสูญเสียของพายุแล้ว อีกหนึ่งกรณีสำคัญคือการเสียชีวิตในที่ชุมนุมของ “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนที่เสียชีวิตจากกระสุนปริศนาหน้า สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งอภิรักษ์ นันทเสรี ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน หนึ่งในทนายความของวาฤทธิ์ ได้เล่าว่า ในวันนั้นมีการชุมนุมหลายจุด และมีการสลายการชุมนุมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งจุดสุดท้าย คือหน้า สน.ดินแดง โดยตำรวจใน สน. ได้ให้การในชั้นศาลว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย จึงตัดไฟใน สน.ดินแดง และตัดไฟถนนหน้า สน. ทั้งหมด ให้กลุ่มผู้ชุมนุมมองไม่เห็นเจ้าหน้าที่

“ปัญหาคือ การชุมนุมมันแยกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐในรั้ว กับฝั่งผู้ชุมนุมที่อยู่นอกรั้ว แล้วมันมีปัญหาที่ต้องพิสูจน์กันว่า ผู้ชุมนุมถูกยิงออกมาจากรั้วสถานีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดไฟเพื่อป้องกันเหตุ แต่สุดท้ายแล้ว ในคดีที่เราต้องตามหาพยานหลักฐาน ที่ต้องใช้แสงสว่างในการพิสูจน์ กลายเป็นว่าพยานหลักฐานในวันนั้นเราไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย” อภิรักษ์กล่าว

นอกจากวาฤทธิ์ ยังมีผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ คุ้มเกล้าอธิบายถึงการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซว่า

“เข้าใจว่าช่วงแรกการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซก็เป็นเพียงการตอบโต้เพื่อจะยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงว่าการชุมนุมที่หน้าบ้านพลเอกประยุทธ์ทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จะมาชุมนุมกันตรงนี้แหละ แรกๆ ก็จะเริ่มจากการเป็นแก๊งมอเตอร์ไซค์ จุดพลุควัน พลุสี เพื่อแสดงความไม่พอใจ แล้วก็มาทุกเย็น แล้วก็จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตอบโต้โดยใช้ความรุนแรงตั้งแต่ต้นเลย ก็คือกลุ่มนี้มาก็ไม่ต้องหรอก หลักความจำเป็นและได้สัดส่วน หรือเบาไปหาหนัก เอาเป็นว่าถ้าเคลียร์คน เคลียร์พื้นที่ได้ กลุ่มนี้มาก็ดำเนินการเลย”

คุ้มเกล้ากล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นภาพจากสื่อในพื้นที่ ที่เจ้าหน้าที่ถีบรถมอเตอร์ไซค์ของผู้ชุมนุมให้ล้ม แล้วตีซ้ำ และจากการทำงานของเธอเอง คุ้มเกล้าพบว่าหลายครั้ง ตำรวจควบคุมตัวเยาวชนที่เป็นผู้ชุมนุม และนำตัวไปไว้ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งทนายและผู้ปกครองต้องใช้เวลานานมากกว่าจะหาตัวเยาวชนพบ หลายคนบาดเจ็บ แต่ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด

“บางทีจะไปพบเด็กที่ถูกดำเนินคดี ก็หาตัวไม่เจอ ทำให้ทนายกับผู้ปกครองไม่สามารถเจอตัวเด็กได้เลยง่ายๆ พอเราไปเจอตัว ปรากฏว่าบางคนเสื้อเต็มไปด้วยเลือด หน้าบวมปูด หรือว่ามีแผล ก็ยังต้องอยู่ใน สน. กลายเป็นว่าเราก็ต้องบอกตำรวจว่า จริงๆ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนะ ถ้าเห็นว่าผู้ถูกจับบาดเจ็บ ก็ต้องส่งเขาไปที่โรงพยาบาลก่อน เพื่อรักษาอาการก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถ้าน้องๆ ไม่เจอทนาย สิทธิเบื้องต้นในฐานะผู้ถูกจับและต้องรักษาโดยเร่งด่วนก็ไม่เกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นความรุนแรงทั้งในเชิงกายภาพ แล้วก็ไม่ปฏิบัติตามสิทธิเบื้องต้นของผู้ถูกจับด้วย” คุ้มเกล้าเล่า

ผู้ชุมนุม = อาชญากร?

นอกจากปฏิบัติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ชุมนุมแล้ว ยังมีการสื่อสารสาธารณะจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างภาพของผู้ชุมนุมว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ใช้ความรุนแรง และก่ออาชญากรรม ซึ่งอภิรักษ์เล่าว่า การชุมนุมในพื้นที่ดินแดงของกลุ่มทะลุแก๊ซ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเบื่อหน่าย และมีกระแสข่าวว่าเกิดกลุ่มต่อต้านม็อบขึ้น

“พอมันมีการปิดถนน มีการไล่ยิงกันทุกวัน จุดประทัดทุกวัน มันก็สะสมความรุนแรง ฝั่งรัฐก็บอกว่ากลุ่มทะลุแก๊ซเป็นกลุ่มที่สร้างความรุนแรง ไม่ได้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตยหรอก ก็ทำให้เขาถูกกีดกันส่วนหนึ่งแล้ว แล้วก็พอใช้ความรุนแรงบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในส่วนชุมชนแถวนั้น ก่อนหน้านั้นก็มีการไล่ทำร้ายกันระหว่างฝั่งคนที่อยู่แถวนั้น ฝั่งผู้ชุมนุม แล้วก็ฝั่งตำรวจด้วย มันก็เป็นสามฝั่งมาสักพักแล้ว” อภิรักษ์กล่าว

ด้านพายุก็เสริมว่า เมื่อภาพลักษณ์ของผู้ชุมนุมเป็นเช่นนี้ ก็ส่งผลต่อภาพรวมการชุมนุมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมในประเด็นใดก็ตาม เช่นเดียวกับในสมัยก่อน ที่มีการชุมนุมของประชาชนในต่างจังหวัด เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากร ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกขัดขวางการพัฒนา ที่หนักกว่านั้น คือการที่รัฐพยายามสร้างภาพให้ผู้ชุมนุมมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง เช่น กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง มีพรรคการเมืองหนุนหลัง เป็นม็อบรับจ้าง หรือว่าเป็นพวกที่มาจากทุนต่างประเทศ สร้างความวุ่นวายภายในประเทศ และรัฐก็จะอ้างเรื่องความมั่นคงในการใช้อำนาจมายุติการชุมนุมหรือสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม

“รัฐบ้านเรา เมื่อประชาชนมาเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ หรือว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐ การทำให้ผู้เรียกร้องหรือผู้ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐ ‘เป็นอื่น’ เนี่ยแหละ เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่เขาต้องทำให้ประชาชนที่สนับสนุนเขาเชื่อว่าเราเป็นตัวปัญหา แล้วก็ต้องเน้นย้ำว่าประเทศเราไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แล้วกลุ่มคนที่ออกมาเป็นตัวปัญหา”

“การทำให้เป็นอื่น ทำให้คนแยกจากกัน และมันเป็นเหมือนใบเบิกทางให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิหรืออยู่ตรงข้ามกับรัฐได้ อันนี้ก็เป็นเครื่องมือที่มันมีอยู่จริง และรัฐใช้มาโดยตลอดอยู่แล้ว” คุ้มเกล้าอธิบายเสริม

ไปต่ออย่างไร กับการแก้ไข พ.ร.บ.ชุมนุม

สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 พัชร์มองว่า การมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะไว้ ดีกว่าไม่มี เนื่องจากเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐใช้กฎหมายอื่นที่รุนแรงกว่า ในการจัดการกับประชาชน พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการสากล ดังนี้

  • นิยามการชุมนุมสาธารณะให้กระชับและชัดเจนมากขึ้น อาจจะกำหนดจำนวนผู้ชุมนุมขั้นต่ำ หรือการกำหนดหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจน
  • เพิ่มสมมติฐานว่าการชุมนุมที่สงบสามารถเกิดขึ้นได้ และใช้หลักการสากลว่าด้วยการตรวจสอบ 3 ชั้น ได้แก่ 1. การเข้ามาจำกัดอำนาจ ต้องมีกฎหมายกำหนดว่าเจ้าหน้าที่สามารถมาจำกัดได้ 2. จุดประสงค์ในการเข้ามาใช้ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ และ 3. หลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน และผู้ที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ถึงศาล ต้องได้รับการตรวจสอบ
  • การชุมนุมไม่จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
  • การอุทธรณ์คดีเมื่อโดนคำสั่งหรือมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ควรมีระบบการอุทธรณ์ที่เป็นมิตรต่อประชาชนและมีประสิทธิภาพ
  • ควรมีผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและผู้สังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่
  • ขั้นตอนการสลายการชุมนุมตามมาตรา 21 ต้องสมดุลและมีขั้นตอนที่รวดเร็วกว่านี้
  • ควรจัดความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะกับ พ.ร.บ. หรือกฎหมายเฉพาะอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน
  • การแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต้องมองในมิติเกี่ยวกับผู้รักษากฎหมายด้วย หากมีการสร้างเงื่อนไขให้กับตำรวจมากเกินไป เจ้าหน้าที่อาจจะเพิกเฉยและไม่ยอมใช้ดุลยพินิจ ควรทำในสมมติฐานว่าจะแก้กฎหมายให้เจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพ ดูแลประชาชน อำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้มากที่สุด

สำหรับเรื่องการเยียวยา พัชร์มองว่า สามารถใช้ตัวอย่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ได้ เนื่องจากพ.ร.บ.โรคติดต่อมีมาตรการเรื่องการเยียวยาโดยเฉพาะ และลัดขั้นตอนเรื่องของการเยียวยา แทนที่จะวิ่งไปหา ครม. อย่างเดียว โดยให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นผู้กำหนดเรื่องการเยียวยาได้

นอกจากนี้ พัชร์เสนอว่า ควรจะมี “หลักความรับผิดโดยปราศจากความผิด” ซึ่งเป็นเรื่องของการที่รัฐแบกรับต้นทุนเรื่องการชุมนุมสาธารณะไว้

“เจ้าหน้าที่อาจจะปฏิบัติตามกฎหมายแหละ แต่มันกระทบชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้น เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำการนอกกรอบกฎหมายเลย แต่มันทำให้เกิดความรับผิดได้ และรัฐบาลต้องแบกต้นทุนตรงนั้น เช่น เจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในที่ชุมนุม แก๊สน้ำตาพัดเข้าบ้านชาวบ้าน ถ้าไปดูมาตรา 420 ยังไงก็ไม่เข้า เพราะเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย ทำตามคู่มือทุกอย่าง แต่เรื่องอย่างนี้รัฐต้องเข้าไปเยียวยา” พัชร์สรุป

เดินหน้าอย่างไรในวันที่การชุมนุมไม่ “ป็อป” อีกต่อไปแล้ว

ถึงแม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองจะได้รับความนิยมน้อยลงตั้งแต่ปี 2563 แต่ความท้าทายในการแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะและการทำแคมเปญ Protect for Tomorrow ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในมุมมองของมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประเด็นนี้ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า

“สิ่งที่สำคัญคือการทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจว่ากฎหมายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกลไกการคุ้มครองที่เป็นธรรมและโปร่งใสสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน กฎหมายที่ได้รับการแก้ไขจะช่วยสร้างความชัดเจนในบทบาทและความรับผิดชอบของทุกฝ่าย รวมถึงการปกป้องสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี”

“เพื่อให้ประชาชนหันมาสนใจและจับตามองประเด็นนี้ต่อไป เราจำเป็นต้องใช้แนวทางการสื่อสารที่เน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับสากล การทำงานร่วมกับสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาสังคมในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและการสร้างความเข้าใจในกฎหมายจะช่วยให้ประเด็นนี้ได้รับความสนใจและการติดตามอย่างต่อเนื่องในระยะยาว”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล และเราจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่ากฎหมายในประเทศไทยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศเหล่านี้ เพื่อสร้างสังคมที่เคารพและปกป้องสิทธิของทุกคน”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: