“ถ้าประชาคมธรรมศาสตร์เห็นว่าผมมีความเหมาะสมที่จะให้ผมทำงานให้ ผมจะตอบรับการเสนอชื่อครับ”
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีมิตรสหายและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือกันหลายท่านถามผมว่า ผมจะเสนอตัวลงเป็นอธิการบดีคนต่อไปหรือไม่ ผมก็ตอบว่า นับแต่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาจนเป็นอาจารย์ ทุกครั้งเมื่อธรรมศาสตร์ให้ผมทำอะไร ผมไม่เคยปฏิเสธเลย เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน แล้วผมก็จะถูกแย้งเสมอว่า ถ้าไม่ประกาศตัวว่าจะลง คนในประชาคมธรรมศาสตร์จะรู้ได้อย่างไรว่าจะตอบรับการสรรหาหรือไม่ นโยบายคืออะไร จะพาธรรมศาสตร์ไปทางไหน คนจะรู้ได้อย่างไร
เมื่อผมใคร่ครวญแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าจะประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัย เพราะช่วงเวลาในการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาธรรมศาสตร์ซึ่งสามปีมีหนึ่งครั้ง ควรจะเป็นช่วงเวลาของการสร้างนโยบายสาธารณะของประชาคมธรรมศาสตร์ ในการร่วมกันกำหนดว่าในอนาคตข้างหน้าอย่างน้อยสามปี ธรรมศาสตร์ควรจะเดินไปในทิศทางใด
ผมจึงขอใช้ช่วงเวลานี้จนถึงวันเสนอชื่ออธิการบดีในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ในการเชิญชวนประชาคมธรรมศาสตร์ร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะของมหาวิทยาลัย โดยสร้างขึ้นมาจากจุดแข็งและการลงมือปฏิบัติที่เป็นเลิศของคณะและหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ของนักศึกษา รวมไปถึงแนวทางของท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เสนอตัวต่อประชาคมธรรมศาสตร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น
ในส่วนของผมนั้น นอกจากเรื่องคุณภาพชีวิตและการปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไปสู่อนาคต ผมเห็นว่าทิศทางหลักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ควรต้องเดินหน้าไป คือทิศทางที่เราเริ่มต้นตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ.2477 คือการเป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร และการเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนหนึ่งในความทุกข์ร้อนของประชาชน เป็นมหาวิทยาลัยที่ทำเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวธรรมศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาล้วนแต่ภาคภูมิใจเมื่อเราได้พูดว่า เรารักมหาวิทยาลัยของเราไม่ใช่เพราะเราเรียนที่นี่ เราจบการศึกษาจากที่นี่ หรือเพราะทำงานที่นี่ แต่เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนเราให้รักประชาชน
“ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรือง ก็เพราะการเมืองดี” ที่อยู่ในเพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว เป็นสิ่งที่ผมเชื่อเสมอมาว่า การเมืองดีเป็นสิ่งที่เราทำได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งขึ้นมาก็เพื่อสิ่งนั้น ดังที่พวกเราชาวธรรมศาสตร์จะได้แสดงให้สังคมได้เห็นในช่วงเวลานี้ ที่การเมืองไม่ใช่การแย่งชิงตำแหน่ง หรือนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยก แต่คือการกำหนดอนาคตร่วมกัน ส่วนใครจะเป็นผู้ทำเป็นเรื่องของประชาคมที่จะกำหนดต่อไปครับ
เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุ๊คของปริญญา เทวานฤมิตรกุล 29 ม.ค. 2567
อ่านทั้งหมด
ธรรมศาสตร์จะไปทางไหนและใครจะเป็นอธิการบดีคนต่อไป (1)
ธรรมศาสตร์จะไปทางไหนและใครจะเป็นอธิการบดีคนต่อไป (2)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ