แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เผยแพร่ผลประเมินธนาคารไทยประจำปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ 6 แล้ว ชี้ธนาคารไทยให้ความสำคัญกับการประเมินมากขึ้น โดยมีธนาคารเข้าร่วมหารือในช่วงรับฟังความเห็นครบทั้ง 11 แห่ง 7 ก.พ.นี้เตรียมเปิดวงคุยเรื่องธนาคารกับสิทธิมนุษยชน ชี้ถึงแม้คะแนนหมวดนี้จะยังค่อนข้างน้อย แต่เห็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องของธนาคารไทย
เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2567 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดทำการประเมินนโยบายของธนาคารไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) เพื่อผลักดันให้ภาคการเงินการธนาคารของไทยก้าวสู่แนวคิดและวิถีปฏิบัติของ ‘การธนาคารที่ยั่งยืน’ (sustainable banking) อย่างแท้จริง
สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 แล้ว และเป็นโครงการที่ประเมินผลประกอบการด้าน ESG ที่เฉพาะเจาะจง รอบด้าน และละเอียดที่สุดในประเทศไทย โดยการประเมินธนาคารในปีที่ 6 นี้เป็นปีแรกที่แนวร่วมฯ สามารถเข้าพบธนาคารไทยเพื่อหารือในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ครบทั้ง 11 แห่ง ซึ่งก็คือ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารทิสโก้ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
สฤณีประเมินว่า ความสำเร็จนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ หนึ่ง การทำงานมาอย่างต่อเนื่องของแนวร่วมฯ ทำให้ธนาคารหลายแห่งเริ่มคุ้นเคยกับการประเมินของแนวร่วมฯ และมองว่าเป็นประโยชน์กับพวกเขา โดยมีบางแห่งให้ข้อมูลว่า เกณฑ์ที่แนวร่วมฯ ใช้นั้นช่วยในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของธนาคาร สอง การประเมินนี้สะท้อนสิ่งที่เรียกว่า Race to the Top หรือการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ โดยมีข้อสังเกตว่า ในการหารือ ธนาคารหลายแห่งจะถามถึงคู่แข่งของตัวเอง แสดงว่าธนาคารพยายามจะ benchmark หรือเปรียบเทียบการทำงานของตัวเองกับธนาคารที่เขามองว่าเป็นคู่แข่ง จึงเป็นสาเหตุในการเข้าร่วมมากขึ้น และสาม กระแสของ ESG (การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน)
“นโยบายหรือเกณฑ์ที่แนวร่วมฯ นำมาใช้ประเมินคะแนนไม่ได้คิดมาลอยๆ แต่คิดบนพื้นฐานของประเด็น ESG ที่สำคัญในระดับโลกและประชาคมโลกจับตา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นเหล่านี้มีพัฒนาการในแต่ละปี และเริ่มเป็นประเด็นที่สำคัญในไทย ภาคธุรกิจหรือลูกค้าธนาคารก็ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ภาครัฐก็มีแนวทางให้การสนับสนุนมากขึ้น กระแส ESG ที่เข้มข้นนี้จึงอาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธนาคารหลายแห่งให้ความสำคัญกับการประเมินคะแนนมากขึ้น”
สำหรับผลการประเมินธนาคาร ปี 2566 ธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (39.20%) ธนาคารกสิกรไทย (33.14%) ธนาคารกรุงไทย (30.79%) ธนาคารไทยพาณิชย์ (29.85%) และ ธนาคารกรุงเทพ (29.49%) โดยธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุด 4 อันดับแรก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากผลการประเมินปี 2565 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพขยับจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 5 แทนที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (27.64%)
โดยในปีนี้ คณะวิจัยฯ ได้พิจารณามอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย รางวัลคะแนนสูงสุด หมวดธนาคารพาณิชย์ แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต และรางวัลคะแนนสูงสุด หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก่ ธนาคารออมสิน
สำหรับนโยบายเด่นของธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1– 5 และมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในปี พ.ศ. 2566 รายหมวด อาทิ
หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ มีนโยบายไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนกับบริษัทที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเหมืองถ่านหินชนิดให้ความร้อน (thermal coal) แห่งใหม่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ รวมถึงไม่ให้การสนับสนุนทางการเงิน และไม่ลงทุนกับบริษัทที่มีธุรกิจการสกัดน้ำมันจากทรายน้ำมัน (tar sands)
หมวดการทุจริตคอร์รัปชัน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย รายงานว่าไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้ ทำให้ได้คะแนนข้อนี้เป็นปีแรก
หมวดสิทธิมนุษยชน ธนาคารไทยพาณิชย์มีนโยบายไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (zero-tolerance policy) ในกระบวนการจ้างงานและในการปฏิบัติงาน ทั้งบนฐานของ เพศสภาวะ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ รสนิยมทางเพศ และสมรรถภาพทางกาย ทำให้ได้คะแนนข้อนี้เป็นปีแรก
หมวดสิทธิแรงงาน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ได้คะแนนเต็มจากการประกาศนโยบายคุ้มครองความเป็นมารดา เนื่องจากมีนโยบายสอดคล้องกับเกณฑ์การประเมินครบทุกเงื่อนไข ได้แก่ การให้สิทธิพนักงานหญิงที่ลาคลอดได้รับค่าจ้างเต็มจำนวนในช่วงก่อนและหลังคลอดรวมกันสูงสุด 98 วัน โดยได้สิทธิในการกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม และการจัดให้มีพื้นที่หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานที่เป็นคุณแม่สำหรับปั๊มน้ำนม
สฤณี กล่าวถึงข้อสังเกตจากการประเมิน 6 ปีที่ผ่านมาว่า ปีนี้เริ่มเห็นความชัดเจนในแง่กระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น โดยยกตัวอย่าง หมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีนี้ธนาคารหลายแห่งเริ่มใช้มาตรฐาน เช่น Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) ที่พูดถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ climate chage พอธนาคารเริ่มประกาศรับมาตรฐานเหล่านี้ ถัดมา ธนาคารก็ต้องคิดว่าแล้วจะแปลงมาตรฐานมาเป็นแผนปฏิบัติการของธนาคารได้อย่างไร ธนาคารหลายแห่งจึงเริ่มพัฒนารายการสินเชื่อต้องห้าม (exclusion list) ที่ระบุว่า ธุรกิจประเภทใดที่มองว่ามีความเสี่ยงสูงหรือร้ายแรงที่จะไม่สนับสนุนแล้ว เช่น เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือประกาศเกณฑ์ที่เข้มข้นมากขึ้นในโครงการที่เข้าข่ายมีความเสี่ยงเรื่อง ESG สูงว่าลูกค้าของธนาคารจะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ในการแถลงผลการประเมินในปีนี้ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ นอกจากจะมีพิธีมอบรางวัลให้กับธนาคารที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละหมวดธนาคารแล้ว จะมีการเสวนาในหัวข้อ ธนาคารไทยกับสิทธิมนุษยชน : จากคำมั่นสัญญาสู่การลงมือทำ ด้วย โดยสฤณี อธิบายว่า
“หมวดสิทธิมนุษยชนเป็นหมวดหนึ่งที่สังเกตเห็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องของธนาคารไทย ถึงแม้คะแนนจะยังค่อนข้างน้อยอยู่ก็ตาม แต่มองว่าภาคธนาคารเองให้ความสำคัญกันมากขึ้น หากดูจากปีแรกๆ ที่ประเมินแทบไม่มีธนาคารไหนที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนเลย แต่มาวันนี้ธนาคารขนาดใหญ่ทุกแห่งประกาศรับหลักการชี้แนะของ UN (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) เป็นหลักการสำคัญในการทำงานเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
“สอง ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนในบริบทการทำธุรกิจเป็นประเด็นร้อนและความเสี่ยง ESG ในสังคมไทย เราเห็นการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นในหลายบริบท เช่น ชาวบ้านถูกฟ้องไล่ที่ทำกิน แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ ถูกกดขี่ หรือตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมถูกฟ้องปิดปาก เมื่อหลายกรณีเหล่านี้เกิดในบริบทการทำธุรกิจ ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้หรือผู้สนับสนุนทางการเงินก็ต้องมีบทบาทว่าจะกำกับหรือดูแลอย่างไรไม่ให้ลูกค้าของธนาคารมีส่วนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“นอกจากนี้ การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น บางกรณีเกิดในต่างประเทศ โดยการลงทุนจากบริษัทไทยและที่ใช้เงินกู้จากธนาคารไทย ธนาคารจึงปฏิเสธความรับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ ดังนั้น ความเสี่ยงด้านสิทธิ ไม่ใช่แค่ปัญหาของประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่ธุรกิจไทยและเจ้าหนี้ไทยมีส่วนในการสร้างปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตราบใดที่เรื่องนี้ยังเป็นปัญหา จึงอยากเห็นการพูดคุยเรื่องนี้มากขึ้น
“แม้ว่าจะเป็นเรื่องดีที่ธนาคารเองทยอยประกาศรับหลักการชี้แนะและเริ่มคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แต่ก็อยากเห็นการแปลงหลักการไปเป็นกระบวนการทำงานของธนาคารที่มากขึ้น ในเกณฑ์ของแนวร่วมฯ หมวดสิทธิมนุษยชนก็มีเรื่องที่ทำตามได้ เช่น เมื่อธนาคารประกาศรับหลักการชี้แนะก็จะได้คะแนนพื้นฐาน แต่ถ้ามีการกำชับให้ลูกค้าธนาคารรับหลักการชี้แนะด้วย ก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น และถ้าธนาคารทำช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เปิดกว้างสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของลูกค้าของธนาคารที่อาจได้รับผลกระทบ ไม่ใช่รับเรื่องร้องเรียนเฉพาะจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับธนาคารเท่านั้น ก็จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นอีก จึงคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้คุยกันเรื่องนี้”
อนึ่ง เวทีสาธารณะ เรื่อง “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 6 : โอกาสและความท้าทายสำคัญ” จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ก.พ. เวลา 13:30 – 16:30 น. ณ ห้อง Chamber1 ชั้น B โรงแรม S31 สุขุมวิท เพื่อแถลงผลการประเมินธนาคาร ประจำปี 2566 โดยจะมีพิธีมอบรางวัลแก่ธนาคารที่ได้รับรางวัล และมีการเสวนาในหัวข้อ ธนาคารไทยกับสิทธิมนุษยชน : จากคำมั่นสัญญาสู่การลงมือทำ
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ https://forms.gle/cwEsa3Jh3DcT7nns8
ดูไฮไลต์คะแนนแต่ละหมวดที่ http://tinyurl.com/FFT6post1
เกณฑ์มาตรฐานของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) คือ ดัชนีและเครื่องมือสำหรับผู้บริโภคและภาคประชาสังคมในการเจรจาต่อรอง รณรงค์ ส่งเสริม และมีส่วนร่วมกับภาครัฐและสถาบันการเงิน เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน โดยประเมินจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงิน ที่เปิดเผยต่อสาธารณะของแต่ละธนาคาร เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง
หมวดที่ใช้ในการประเมิน มีด้วยกัน 13 หมวด ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การทุจริตคอร์รัปชัน 3. ความเท่าเทียมทางเพศ 4. สุขภาพ 5. สิทธิมนุษยชน 6. สิทธิแรงงาน 7. ธรรมชาติ 8. ภาษี 9. อาวุธ 10. การคุ้มครองผู้บริโภค 11. การขยายบริการทางการเงิน 12. การตอบแทน และ 13. ความโปร่งใสและความรับผิด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ