ม.มหิดล ตรวจมะเร็งช่องปากสุนัขด้วยน้ำลายได้ครั้งแรก

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6336 ครั้ง

ม.มหิดล ตรวจมะเร็งช่องปากสุนัขด้วยน้ำลายได้ครั้งแรก

ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบการตรวจ “โรคมะเร็งช่องปากสุนัข” ด้วยวิธี “โปรตีโอมิกส์” (Proteomics) และ “เมแทบอโลมิกส์” (Metabolomics) จากน้ำลายของสุนัขและแมว เพื่อค้นหา “สารชีวภาพ” (Biomarker) ที่บ่งชี้ “โรคมะเร็งช่องปากสุนัข” ได้เป็นครั้งแรก

29 ส.ค. 2567 งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานว่าการให้ขนมขัดฟันเป็นรางวัลแก่สุนัข อาจไม่ได้เป็นการแสดงความรักและใส่ใจต่อการดูแลช่องปากของสุนัขได้มากเท่าการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดช่องปากของสุนัขด้วย “การแปรงฟัน” เพื่อให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี และเพื่อสังเกตความผิดปกติ หรือโรคที่อาจมาเยือนและทำให้จากไปอย่างรวดเร็ว เช่น “โรคมะเร็งช่องปาก” ซึ่งอาจก่อให้เกิด “ความสูญเสีย” เพราะเซลล์มะเร็งของโรคมะเร็งช่องปากนั้น มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันยังคงไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด

อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์เศกรินทร์ พลอยเพ็ชร์ อาจารย์สัตวแพทย์ประจำกลุ่มวิชาศัลยศาสตร์สัตว์เล็ก ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ค้นพบการตรวจ “โรคมะเร็งช่องปากสุนัข” ด้วยวิธี “โปรตีโอมิกส์” (Proteomics) และ “เมแทบอโลมิกส์” (Metabolomics) จากน้ำลายของสุนัขและแมว เพื่อค้นหา “สารชีวภาพ” (Biomarker) ที่บ่งชี้ “โรคมะเร็งช่องปากสุนัข” ได้เป็นครั้งแรก

โดยเป็นผลงานที่ได้ร่วมวิจัยกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า (University of Alberta) สหพันธรัฐแคนาดา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Veterinary Internal Medicine” เมื่อเร็ว ๆ นี้

โดยเป็นวิธีการตรวจมะเร็งช่องปากสุนัขจากตัวอย่างน้ำลายที่สามารถทำได้ครั้งแรก ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อยอดมาจากงานวิจัยระหว่างศึกษาปริญญาเอก โดยผู้วิจัยหวังช่วยให้การวินิจฉัยโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมักเกิดกับสุนัขที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ดังนั้นงานวิจัยอาจจะช่วยให้สามารถตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งช่องปากจากสุนัขกลุ่มนี้ได้

จุดเด่นของนวัตกรรมฯ อยู่ที่ “การเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว” จากเดิมที่ต้อง “ตัดเนื้องอกส่งตรวจ” แต่ด้วยวิธีการตรวจจากน้ำลายสุนัข ทำให้เจ้าของสามารถเก็บส่งตรวจได้ด้วยตัวเองจากที่บ้าน ด้วยการใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดน้ำลายที่กระพุ้งแก้มของสุนัข และนำเอา “ตัวอย่างน้ำลายสุนัข” ไปแช่ในตู้เก็บความเย็น โดย “ตัวอย่างน้ำลายสุนัข” สามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส

การรักษาสุนัขที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องปาก แม้การผ่าตัดจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงหากตรวจพบมะเร็งในระยะที่มีขนาดใหญ่แล้ว ดังนั้นการตรวจพบโรคมะเร็งช่องปากสุนัขตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่ายลงได้เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นหากสุนัขได้รับการดูแลช่องปากด้วยการหมั่นแปรงฟันตั้งแต่อายุยังน้อย จะช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติ หรือโรคมะเร็งช่องปากสุนัขได้อย่างรวดเร็ว โอกาสที่เจอโรคมะเร็งในระยะรุนแรงก็จะลดน้อยลง

จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า สุนัขสายพันธุ์ “ค็อกเกอร์ สแปเนียล” (Cocker Spaniel) “โกลเด้นรีทรีฟเวอร์” (Golden Retriever) “ปอมเมอเรเนียน” (Pomeranian) และ “พุดเดิล” (Poodle) รวมทั้งสุนัขพันธุ์เล็กแบบผสม (Mixed Breed) มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งช่องปากได้มากกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น ดังนั้นสุนัขเหล่านี้จึงควรได้รับการดูแล และใส่ใจเรื่องสุขภาพช่องปากเป็นพิเศษ

ในฐานะสัตวแพทย์ อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์เศกรินทร์ พลอยเพ็ชร์ ได้แนะนำถึง “วิธีการแปรงฟันที่ถูกวิธีสำหรับสุนัขและแมว” ว่า ควรใช้ “ยาสีฟันที่ใช้โดยเฉพาะสำหรับสุนัขและแมว” แต่ไม่ควรใช้ “ยาสีฟันของคน” เนื่องจาก “ฟลูออไรด์” (Fluoride) และ “ไซลิทอล” (Xylitol) ที่อยู่ใน “ยาสีฟันของคน” อาจเป็นพิษต่อสุนัขและแมว ทำให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ “แปรงแบบปลอกนิ้ว” อาจไม่เหมาะสมในสุนัขพันธุ์เล็กและแมว เพราะขนาดที่ไม่พอดีกับช่องปาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเหงือกสุนัขและแมว แต่ควรใช้ “แปรงสีฟันสำหรับสุนัขและแมว” ที่มีขนาดเหมาะสมแทนเพื่อให้สามารถแปรงฟันสุนัขและแมวได้อย่างทั่วถึง

หากพบความผิดปกติในสุนัขและแมว อาทิ อาการอักเสบของเหงือก มีกลิ่นผิดปกติภายในช่องปาก มีเลือด และน้ำลายออกมากกว่าปกติ พบก้อนเนื้อในช่องปาก ตลอดจนรูปทรงหน้าบิดเบี้ยว ฯลฯ ควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ ซึ่งหากปล่อยไว้จนก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นจนขวางลำคอ จะทำให้สุนัขกินอาหารไม่ได้ และอาจถึงแก่ชีวิตได้เร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม

คาดว่าในอนาคตวงการสัตวแพทย์จะได้ใช้ “แถบตรวจโรคมะเร็งช่องปากจากน้ำลายสุนัข” (Saliva Test Kit) ที่สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนขยายผลสู่การพัฒนายาและวัคซีนเพื่อยื้อชีวิตสุนัขและแมวจากโรคมะเร็งช่องปากต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: