สตง.ชี้ 'โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า Off Grid แม่ฮ่องสอน' ใช้ประโยชน์ไม่เต็มศักยภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8832 ครั้ง

สตง. เผยผลตรวจสอบ 'โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ต.เมืองแปง อ.ปาย, ต.ห้วยปูลิง และต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน โครงการภายใต้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบ "การใช้ประโยชน์ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ไม่เต็มศักยภาพ-ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการและการบำรุงรักษา'

เว็บไซต์สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ 'รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ตำบล เมืองแปง อำเภอปาย, ตำบลห้วยปูลิง และตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน' โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย, ตำบลห้วยปูลิง และตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งเป็นโครงการภายใต้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเป็นการตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นว่าการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด คุ้มค่า และมีความยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ผลการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบ และข้อสังเกต ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การใช้ประโยชน์ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ไม่เต็มศักยภาพ

1. การใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบโดยเก็บข้อมูลจากชุดติดตามข้อมูลทำงานระบบไฟฟ้าที่ติดตั้งในโรงคลุมอุปกรณ์ ซึ่งมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลสัญญาณค่ากระแสและแรงดันไฟฟ้าการทำงานของระบบที่อุปกรณ์ควบคุมการประจุแบตเตอรี่และอุปกรณ์แปลงผันไฟฟ้า เพื่อแสดงผลที่หน้าจอสีแบบ LCD โดยสามารถแสดงผลให้ทราบถึงการทำงานของอุปกรณ์หลักของระบบหรือการทำงานของระบบในสภาวะปกติและในกรณีสภาวะผิดปกติได้พบว่า มีการใช้ไฟฟ้าจากระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าของหมู่บ้าน จำนวน 5 แห่ง ที่สามารถเก็บข้อมูลจากชุดติดตามข้อมูลทำงานระบบไฟฟ้าของโครงการ ได้แก่ บ้านยางแกงหอม บ้านแกงหอมใหม่ ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย บ้านห้วยปูลิง บ้านห้วยตองก๊อ และบ้านห้วยไม้ดำ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน มี 2 หมู่บ้านใช้ไฟฟ้าไม่เกินร้อยละ 10 และอีก 3 หมู่บ้านใช้ไฟฟ้าไม่เกิน ร้อยละ 20 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ออกแบบอาจมีขนาดที่ไม่สัมพันธ์กับจำนวนครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้า ส่วนหมู่บ้านอีก 5 แห่ง ได้แก่ บ้านดอยหมากพริก บ้านแม้วแกงหอม ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย และหย่อมบ้านห้วยช่างเหล็ก หย่อมบ้านห้วยแก้วบน และหย่อมบ้านห้วยแก้วล่าง บ้านห้วยแก้ว ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เนื่องจากชุดติดตามข้อมูลทำงานระบบไฟฟ้าไม่จัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งมีข้อมูลไม่ครบถ้วนถูกต้อง

2. การจัดสรรปริมาณของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าต่อครัวเรือนไม่เป็นไปตามที่กำหนดโดยโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid)กำหนดปริมาณของระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 3 kwh ต่อครัวเรือน โดยมีหมู่บ้านที่ได้รับปริมาณระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (kwh) ต่อครัวเรือนน้อยกว่าที่กำหนด จำนวน 5 แห่ง ได้แก่บ้านดอยหมากพริกบ้านแม้วแกงหอม บ้านยางแกงหอม ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย และบ้านห้วยปูลิง ตำบลห้วยปูลิง และหย่อมบ้านห้วยแก้วล่าง ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

3. ครัวเรือนในพื้นที่เป้าหมายของโครงการจำนวน 196 ครัวเรือนไม่ใช้ประโยชน์จากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ โดยมิเตอร์ที่ติดตั้งไม่มีการหมุน หรือจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่เพิ่มขึ้น และบางครัวเรือนไม่มีการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าเข้าบ้าน รวมทั้งสิ้น 196 ครัวเรือนจากครัวเรือนที่ได้รับติดตั้งมิเตอร์ทั้งหมด 625 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 31.36

ข้อตรวจพบที่ 2 ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid)

1. การบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ ดังนี้

1.1 ไม่มีการควบคุมสินทรัพย์ของระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ โดยไม่ได้จัดทำทะเบียนควบคุมสินทรัพย์ที่เกิดจากการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของโครงการโดยละเอียด และจากการตรวจสอบพบว่า สินทรัพย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บางรายการไม่มีให้ตรวจสอบ

1.2 ไม่มีหลักฐานการขอใช้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการซึ่งประกอบด้วย แบบคำขอใช้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน

1.3 ไม่มีการฝึกอบรมเกี่ยวกับการใช้วัสดุและอุปกรณ์เบื้องต้นของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และไม่มีคู่มือการใช้งานระบบที่ประชาชนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย มีเพียงการจัดประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด เช่น วิธีการลดความเสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้าดูด, การป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้า, อุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟฟ้า, หลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย, วิธีการตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าเบื้องต้นว่ามีไฟรั่วหรือไม่, การช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า, การปฐมพยาบาลผู้ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า และการอนุรักษ์พลังงานในที่อยู่อาศัย เป็นต้น

1.4 ไม่มีการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการไฟฟ้าของหมู่บ้านและการกำหนดอำนาจหน้าที่ การจัดทำทะเบียนคุมรายชื่อสมาชิกผู้ใช้ระบบไฟฟ้า การจัดเก็บค่าไฟฟ้า การบันทึกรายการรับ - จ่าย การเปิดบัญชีธนาคาร และการกำหนดการบำรุงรักษา เป็นต้น ส่งผลให้หมู่บ้าน/ชุมชนไม่มีการบริหารจัดการ หรือมีการบริหารจัดการแต่ไม่มีประสิทธิภาพ

2. การบำรุงรักษาวัสดุและอุปกรณ์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid)

2.1 วัสดุและอุปกรณ์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการชำรุด ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จากการตรวจสอบสังเกตการณ์วัสดุและอุปกรณ์ระบบผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของโครงการในพื้นที่ 3 ตำบล พบว่า มีอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชำรุด และยังไม่ได้รับการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้ 1) โรงคลุมอุปกรณ์บุบ จำนวน 1 แห่ง 2) เครื่องควบคุมการชาร์จไฟฟ้าไม่ชาร์จไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ จำนวน 6 เครื่อง 3) ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าชำรุด 11 โมดูล 4) ชุดติดตามข้อมูลทำงานระบบไฟฟ้าจัดเก็บข้อมูลและแสดงข้อมูลการใช้งานแบตเตอรี่การชาร์จแบตเตอรี่ไม่สัมพันธ์กับเวลา จำนวน 6 ชุด และมิเตอร์ไฟฟ้าหมุนเดินหน้าโดยไม่ได้เชื่อมต่อสายไฟจากมิเตอร์เข้าไปใช้ในบ้าน จำนวน 18 ตัว

2.2 ไม่มีการบำรุงรักษาวัสดุและอุปกรณ์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ โดยผู้รับจ้างไม่ดำเนินการซ่อมแซม เกินกว่าระยะเวลาที่ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อย ภายใน 15 วัน นับแต่รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้าง และผู้รับจ้างไม่ดำเนินการตรวจสอบการทำงานของระบบทุก 6 เดือนตลอดระยะเวลารับประกัน ตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของข้อกำหนดขอบเขตงาน (Term of Reference TOR)

ข้อสังเกตที่ 1 การโอนสินทรัพย์ของโครงการไม่แล้วเสร็จ สินทรัพย์ที่เกิดขึ้นจากโครงการจะโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ก่อสร้างเพื่อบริหารจัดการ โดยได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนและพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน กับนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองแปง องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปูลิง และองค์การบริหารส่วนตำบลผาบ่อง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 และในขั้นตอนของการโอนนั้นจะต้องขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 215 (3) เป็นรายกรณีต่อคณะกรรมการวินิจฉัย จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนและสำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังไม่มีการโอนสินทรัพย์

ข้อสังเกตที่ 2 ความปลอดภัยของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) บางแห่งไม่เหมาะสม โดยไม่มีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือนภัยแสดงเขตอันตรายจากกระแสไฟฟ้า โดยระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) มีวัสดุและอุปกรณ์ที่เรียกว่า “บัสบาร์” (Busbar) ซึ่งเป็นตัวนำหรือกลุ่มของตัวนำที่ใช้สำหรับรวบรวมพลังงานไฟฟ้าจากตัวป้อนที่เข้ามา และแจกจ่ายไปยังตัวป้อนที่ส่งออก หรือเป็นทางแยกไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่กระแสไฟฟ้าเข้าและออกทั้งหมดมาบรรจบกัน ซึ่งเป็นอันตรายหากเกิดการสัมผัส จึงต้องมีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือนภัยแสดงเขตอันตรายจากกระแสไฟฟ้า โดยมีโรงคลุมอุปกรณ์ที่ไม่ติดตั้งป้ายเตือนภัยแสดงเขตอันตรายจากกระแสไฟฟ้าภายในโรงคลุมอุปกรณ์ จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บ้านดอยหมากพริก บ้านแม้วแกงหอม บ้านยางแกงหอม และบ้านแกงหอมใหม่ ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย และหย่อมบ้านห้วยแก้วล่าง หย่อมบ้านห้วยแก้วบน หย่อมบ้านห้วยช่างเหล็กบ้านห้วยแก้ว ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตในกรณีที่ผู้รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หรือประชาชนที่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปเพื่อบำรุงรักษาเบื้องต้น

ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้การใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา และการโอนสินทรัพย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สั่งการให้

1. สำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการดังนี้

1.1 จัดทำทะเบียนคุมสินทรัพย์ที่เกิดจากการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการโดยละเอียด เขียนหมายครุภัณฑ์กำกับสินทรัพย์ให้แล้วเสร็จ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจนับสินทรัพย์ดังกล่าวให้ครบถ้วน และให้อยู่ในสถานะพร้อมใช้งาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการโอนสินทรัพย์ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1.2 ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการไฟฟ้า การกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไฟฟ้า การกำหนดแบบฟอร์มทะเบียนคุมรายชื่อผู้ใช้ไฟฟ้าและแบบฟอร์มการบันทึกรายรับ - รายจ่าย การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า การจัดเก็บค่าไฟฟ้า และแนวทางในการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ เป็นต้น เพื่อให้หมู่บ้านที่ได้รับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการสามารถบริหารจัดการ และใช้ประโยชน์ระบบผลิตไฟฟ้าดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน

1.3 ให้จัดทำแผนการบำรุงรักษา และตรวจสอบระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสมรรถนะการใช้สูง มีความปลอดภัย สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามความต้องการระหว่างรอการโอนสินทรัพย์ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1.4 เร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขอุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ให้อยู่ในสภาพที่ดีโดยเร็ว และแก้ไขงานที่ไม่เรียบร้อยก่อนหมดระยะเวลารับประกันผลงาน รวมทั้งให้ผู้รับจ้างตรวจสอบการทำงานของระบบทุก 6 เดือน ตลอดระยะเวลารับประกัน เพื่อให้พร้อมที่จะส่งมอบให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการบำรุงรักษาต่อไป

1.5 ให้ติดตั้งป้ายเตือนภัยแสดงเขตอันตรายจากกระแสไฟฟ้าของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สายส่งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง (Off Grid) ตำบลเมืองแปง อำเภอปาย และตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ให้ครบถ้วน

1.6 โครงการลักษณะเดียวกันในอนาคต ดำเนินการดังนี้

1.6.1 สำรวจพื้นที่ดำเนินการของโครงการ การออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ความต้องการใช้ประโยชน์ และการบริหารจัดการสินทรัพย์หลังจากที่มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อให้สินทรัพย์มีการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่า

1.6.2 นำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าจากชุดติดตามข้อมูลทำงานระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ จำนวน 10 แห่ง มาวิเคราะห์ความเหมาะสม ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าก่อนที่จะออกแบบระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับจำนวนครัวเรือนในพื้นที่เป้าหมาย และมีการใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า

1.6.3 ในการจัดทำข้อเสนอโครงการให้กำหนดหน่วยงานที่จะบำรุงรักษาสินทรัพย์ที่เกิดจากโครงการให้ชัดเจน

1.6.4 ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ และการบำรุงรักษาเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ

1.6.5 ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ประโยชน์จากวัสดุและอุปกรณ์ โดยให้มีการติดตั้งป้ายเตือนภัยในกรณีที่จะใช้ประโยชน์จากวัสดุและอุปกรณ์ที่มีอันตราย

2. สำนักงานจังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมกันสำนักงานพลังงานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการ ดังนี้

2.1 หารือกรมบัญชีกลางถึงแนวทางหลักเกณฑ์ในการโอนสินทรัพย์ของโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 รวมทั้งโอนสินทรัพย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

2.2 ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินงานของโครงการทั้ง 3 แห่งเพื่อทำความเข้าใจ เตรียมการในการโอนสินทรัพย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: