คาดเริ่มกระบวนการศึกษา 'โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR' ภายในปี 2567 นี้

กองบรรณาธิการ TCIJ 29 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 8567 ครั้ง

เผย ก.พลังงาน เตรียมแผนตั้ง “คณะทำงานศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR)” ภายในปี 2567 นี้ เหตุแก้ไขกฎหมายและกระบวนการศึกษาต้องใช้เวลานาน คาด 12 ปีกว่าจะสร้างได้จริง เล็งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ชี้พื้นที่อาจตั้งอยู่ในภาคใต้หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะไม่มีปัญหาด้านแผ่นดินไหวและภัยพิบัติรุนแรง เบื้องต้นค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 3 บาทต่อหน่วย ย้ำต้องเสนอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2024) และการตั้งคณะทำงานศึกษาโรงไฟฟ้า SMR ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือน ก.ย. 2567 เห็นชอบก่อนจึงจะดำเนินการได้ | ที่มาภาพ: Idaho National Laboratory

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2567 Energy News Center รายงานอ้างแหล่งข่าวกระทรวงพลังงานระบุว่าภายในปี 2567 นี้ กระทรวงพลังงานจะต้องเริ่มกระบวนการศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor : SMR) เนื่องจากกระบวนต่างๆ อาจต้องใช้เวลาเกือบ 12 ปี กว่าจะสร้างได้จริง โดยเฉพาะในด้านของกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงพลังงานจะเริ่มพิจารณาในส่วนของ คณะทำงานศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เคยก่อตั้งไว้เมื่อ 7-8 ปีที่แล้วว่ายังจะมีอำนาจครอบคลุมการศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กในยุคปัจจุบันได้หรือไม่ เนื่องจากคณะทำงานฯ ชุดเดิมเคยศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ระดับหลายพันเมกะวัตต์ แต่ SMR ในยุคปัจจุบันเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กประมาณโรงละ 300 เมกะวัตต์เท่านั้น

ทั้งนี้หากพบว่าอำนาจหน้าที่ไม่ครอบคลุมการศึกษาโรงไฟฟ้า SMR อาจจะต้องตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นมา แต่ต้องประกอบด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้า SMR ในอนาคต

ดังนั้นคาดว่าในเดือน ก.ย. 2567 นอกจากกระทรวงพลังงานจะเสนอ “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 (PDP 2024)” ที่บรรจุโรงไฟฟ้า SMR ขนาด 600 เมกะวัตต์ ไว้ในแผนฯ แล้ว ก็จะเสนอการจัดตั้งคณะทำงานด้าน SMR ชุดใหม่ หรือ เสนอให้ใช้คณะกรรมการชุดเดิม เพื่อศึกษาโรงไฟฟ้า SMR ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตามหาก กพช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแล้ว จากนั้นกระทรวงพลังงานก็จะตั้งคณะทำงานฯ หรือ มอบหมายคณะกรรมการชุดเดิม ศึกษาโรงไฟฟ้า SMR ทั้งด้านสถานที่ก่อสร้าง การเปิดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การแก้ไขกฎหมาย กลไกการกำกับดูแล และการคัดเลือกหน่วยงานที่จะมาดำเนินการและดูแลโรงไฟฟ้า SMR เป็นต้น

เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะเข้ามาดำเนินการ และภาครัฐ เป็นผู้ดูแล เนื่องจากในอดีต กฟผ. ก็เคยศึกษาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาก่อน จึงมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากที่สุด ส่วนสถานที่ตั้งอาจต้องพิจารณาในส่วนของพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่เสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว และต้องเป็นพื้นที่ว่าง ที่จะสามารถตั้งโรงไฟฟ้า SMR ได้ ซึ่งขนาดพื้นที่ใหญ่เพียงสนามฟุตบอลก็สามารถตั้งโรงไฟฟ้า SMR ได้แล้ว

ทั้งนี้โรงไฟฟ้า SMR ได้บรรจุไว้ในร่างแผน PDP 2024 จำนวน 600 เมกะวัตต์ เบื้องต้นจะก่อสร้าง 2 ยูนิต ยูนิตละ 300 เมกะวัตต์ หรืออาจจะสร้างขนาด 100 เมกะวัตต์ เรียงต่อกัน 3 เครื่องก็ได้เช่นกัน ขึ้นกับความเหมาะสมในขณะนั้น ส่วนค่าไฟฟ้าคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยระบุว่า สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR เป็นเทคโนโลยีใหม่ โดยเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กขนาดกำลังผลิตประมาณ 70-350 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งประกอบสำเร็จรูปเรียบร้อยมาจากโรงงาน และสามารถนำมาวางใช้งานเพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าได้ทันที โดยตลอดการใช้งาน 20 ปีไม่ต้องเปิดฝาครอบใดๆ เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิง จึงปลอดภัยจากปัญหาการรั่วไหลของรังสี และเมื่อหมดอายุการใช้งานก็จะส่งคืนกลับไปยังประเทศผู้ผลิตทันที

ทั้งนี้ขนาดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (reactor) จะมีขนาดเล็กประมาณ 2-3 เมตรเท่านั้น และสามารถนำมาจัดวางได้หลายเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าตามปริมาณที่ต้องการ ปัจจุบันมีประเทศผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้ง ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการจะจัดซื้อมาใช้งานนั้น จะต้องมีสัญญาที่รัดกุมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในด้านความปลอดภัย และป้องกันการรั่วไหลของเทคโนโลยีอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตามในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ประเทศผู้ผลิตให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยมีการทดสอบการถูกชนโดยเครื่องบิน รวมถึงการเกิดภัยพิบัติตามธรรมชาติต่างๆ แล้ว ซึ่งอุปกรณ์มีความแข็งแรงและปลอดภัย ไม่สามารถถอดแกะอุปกรณ์สำเร็จรูปของเครื่องผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ได้โดยง่าย

สำหรับประเทศไทยสนใจที่จะบรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เทคโนโลยี SMR ไว้ในแผน PDP 2024 ดังกล่าว เนื่องจากไทยมีการจัดทำแผน PDP ที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดมากขึ้น ตามเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608

โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR จะเป็นโรงไฟฟ้าทางเลือกให้ไทยได้ศึกษาและเตรียมพร้อมเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอนาคต และสอดคล้องกับการผลิตไฟฟ้าสะอาด ไม่ปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังมีราคาถูกและใช้ได้ยาวนาน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศได้ นอกจากนี้ในส่วนของราคาค่าไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ยังมีราคาถูก เช่น ในสหรัฐฯ ราคาค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปมีราคาอยู่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย เป็นต้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: