คดีตากใบหลังหมดอายุความ: สานเสวนาสมานมิตรประวัติศาสตร์บาดแผลควรทำคู่ขนาน

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 30 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 1803 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

วันที่ 25 ต.ค. 2567 นับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันที่ “คดีตากใบ” หมดอายุความอย่างเป็นทางการ โดยผู้ต้องหาไม่ได้ปรากฏตัวต่อศาลและไม่มีผู้ใดได้รับโทษ เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียและชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ฟ้องคดีแม้รู้ว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย การกระทำนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนใต้และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างยั่งยืน เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อพลเมืองทุกคน ในขณะเดียวกันแต่ภาคส่วนคงมีข้อเสนอแนะมากมาย

ตัวอย่างเช่น ของคณะนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมผู้ทำงานและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ (อ่านรายละเอียดใน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000043752) ข้อเสนอของสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (อ่านเพิ่มเติมใน https://theactive.net/news/politics-20241025/) ข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) (อ่านเพิ่มเติมใน https://theactive.net/news/politics-20241023/) กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ (อ่านเพิ่มเติมใน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000043706) สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ (อ่านเพิ่มเติมใน https://prachatai.com/journal/2024/10/111151) และข้อเสนอของญาติผู้ได้รับผลกระทบและทนายฯ (อ่านเพิ่มเติมใน https://theactive.net/news/politics-20241028/)

สำหรับข้อเสนอที่สำคัญอีกประการที่สามารถทำคู่ขนานคือโศกนาฏกรรมตากใบ : การเรียนรู้สานเสวนาสมามิตรเพื่อหาทางออกร่วมกัน

โศกนาฏกรรมตาบใบ โดยเฉพาะหลัง 20 ปีคดีหมดอายุน่าจะเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์บาดแผล (wounded history) ที่ยังค้างคาอยู่ในใจของเหยื่อที่รอดชีวิต ญาติของผู้สูญเสีย และกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาเดียวกันที่รู้สึกไม่ได้รับความใส่ใจและความเป็นธรรม

ด้วยเจตนาดี หลายภาคส่วนเน้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้ ให้ “ลืมๆมันไปเถอะ” เพื่อ “ชีวิตต้องก้าวเดินต่อไป” คำพูดเหล่านี้แม้มาจากความปรารถนาที่ดี แต่หลายครั้ง มาจากผู้ที่ไม่มีบาดแผลทางใจ หรือผู้ที่อาจจะมีแผลใจ แต่ขาดความเข้าใจวิธีการดูแลบาดแผลทางใจ เพื่อแปลงเปลี่ยนเป็นพลังสำหรับชีวิตอนาคตอย่างมีความหมาย จึงพยายาม “เก็บ” และ “กด” แผลใจ ด้วยการ “ลืมมันไป” แล้วใช้ชีวิตต่อไปแบบค้างคาหรือเว้าแหว่งภายในบางส่วน

แทนที่จะต้องคอยกังวลว่าจะมีการนำอดีตมา “ปลุกปั่น” ให้เกิดความไม่สงบในชายแดนใต้อยู่เนือง ๆ หรือไม่ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ในประเด็นนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้สัมผัสรับรู้ถึงความละเอียดอ่อนของการมีบาดแผลทางใจ ระมัดระวังการเปิดแผลซ้ำ (re-traumatize) เข้าใจวิธีการเยียวยาเบื้องต้นทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และการเยียวยาในมิติเชิงนโยบาย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปลดล็อกผู้ที่บอบช้ำหรือขุ่นเคือง กระทั่งโกรธแค้น จากประวัติศาสตร์บาดแผลนี้ ให้สามารถรู้สึกได้รับความใส่ใจและได้รับคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของประเทศอีกครั้งหนึ่ง และร่วมสร้างสรรค์ความมั่นคงของประเทศได้อย่างมีความหมายต่อไป

ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล อาจารย์ด้านสันติภาพศึกษา และจิตตปัญญาศึกษา การศึกษาเกี่ยวกับโลกด้านในของมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ทัศนะว่า “ผมคิดว่ายังมี คนอีกหลายกลุ่มที่ คิดว่ากรณีตากใบจ่ายแล้วจบ หรือยังกังขาว่าทำไมมาเรียกร้องเอาตอนนี้ และยังไม่เข้าใจเรื่องตากใบอีกหลายกลุ่ม ทั้งทหารตำรวจ ควรเชิญคนเหล่านี้มาสานเสวนากันกับคนที่ทำงานเรื่องตากใบรวมทั้งญาติผู้เสียชีวิต เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้นถึงความสำคัญของเรื่องนี้ รวมถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีกหลายเรื่องในสังคมไทยแล้วช่วยกันเป็นแรงกดดันไปสู่ภาครัฐโดยเฉพาะรัฐบาลนี้ให้ทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น สำหรับครั้งนี้เราได้ฝ่ายรัฐสภา และฝ่ายตุลาการ เป็นแนวร่วมเข้าใจเรื่องนี้และให้โอกาสร่วมอย่างเต็มที่ ก็น่าจะเป็นอีกสองกลุ่มที่ชวนมาร่วมในการเสวนาด้วยเช่นกัน”

ดังนั้นคิดว่าหากสามารถจัดเวทีสานเสวนานี้ได้ น่าจะได้ผลลัพธ์ดังนี้ان شاء الله

1.​ ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจและละเอียดอ่อนต่อบาดแผลทางใจ (trauma) ของปัจเจกบุคคล และประวัติศาสตร์บาดแผล
2.​ ผู้เข้าร่วมมีหลักและทักษะเบื้องต้นในการทำงานกับผู้คนที่มีบาดแผลทางใจ
3.​ ผู้เข้าร่วมมองเห็นถึงมิติเชิงนโยบายของการเยียวยาบาดแผลประวัติศาสตร์ในจังหวัดชายแดนใต้

 

หมายเหตุ:
อ่านรายงานก่อนหน้านี้ “เวทีชายแดนใต้“ความจริง 3 ระดับ” วิธีวิทยา การจัดกระบวนการเชิงลึก เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์สู่ความปรองดองในสังคมที่ขัดแย้งร้าวลึก, โดย “ดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล” https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000040933

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: