พีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,699 เมกะวัตต์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 เม.ย. 2567

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3161 ครั้ง

พีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 36,699 เมกะวัตต์ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 เม.ย. 2567

ไทยทำสถิติใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 3 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคพุ่ง 36,699 เมกะวัตต์ และยังนับเป็นจำนวนพีคไฟฟ้ารอบที่ 10 ที่เกิดในปี 2567 ซึ่งมากที่สุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2559 ที่เคยมีจำนวนพีคมากสุด 7 ครั้ง ท่ามกลางอุณหภูมิสูงสุด 44 องศา มีโอกาสเกิดพีคไฟฟ้าอีกหากไม่มีฝนมาช่วย ด้านกระทรวงพลังงานติดตามสำรองไฟฟ้าใกล้ชิด ยืนยันไฟฟ้ามีเพียงพอ เหลือสำรองไฟฟ้าถึง 25.8%

30 เม.ย. 2567 Energy News Center รายงานว่ายอดใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยพุ่งทุบทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้รายงานยอดรวมการใช้ไฟฟ้าของไทยจาก 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 พบว่าช่วงค่ำเวลา 21.00 น. คนไทยใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดสร้างสถิติใหม่ของประเทศไทยถึง 36,699 เมกะวัตต์ ซึ่งนับเป็นยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เป็นประวัติการณ์ ครั้งที่ 3 ในปี 2567 นี้

ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในปรากฎการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความร้อนสะสมทั่วประเทศ โดยบางพื้นที่อุณหภูมิพุ่งสูงถึง 44 องศาเซลเซียส ทำให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนักขึ้นและมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อคลายความร้อนมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้ยอดการใช้ไฟฟ้ามากจนทำลายสถิติพีคไฟฟ้าของประเทศเป็นครั้งที่ 3 อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยายังรายงานว่าไทยยังต้องเผชิญอากาศที่ร้อนสูงสุดในวันที่ 30 เม.ย. 2567 อีกวัน ก่อนที่อากาศจะทยอยปรับเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญาที่จะมีฝนตกชุกมากขึ้น ดังนั้นมีโอกาสที่ไทยจะเกิดพีคไฟฟ้าสูงสุดได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อติดตามภาพรวมการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นปี 2567 จะพบว่า เกิดพีคไฟฟ้าเฉพาะของปี 2567 ขึ้น 10 ครั้ง โดยมี 3 ครั้งที่นับเป็นพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย ดังนี้

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 20.51 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,827.1 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,196.5 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 เวลา 22.22 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,277.4 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 เวลา 20.58 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 35,830 เมกะวัตต์ (สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 1)

ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2567 เวลา 20.57 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 36,356.1 เมกะวัตต์ (สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 2)

ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ (สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 3)

โดยนอกจากการเกิดพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 3 ของไทยแล้ว ยังเป็นการเกิดพีคไฟฟ้าครั้งที่ 10 เฉพาะของปี 2567 ด้วย ซึ่งจำนวนการเกิดพีคไฟฟ้าดังกล่าวนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2559 ที่เคยมีจำนวนการเกิดพีคสูงสุดอยู่ 7 ครั้ง มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 29,618 เมกะวัตต์

สำหรับสถิติยอดใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนของไทย นับตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้

เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์

เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์

เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์

เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยจะเห็นได้ว่าเป็นการเกิดพีคในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Solar Cell ไม่สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าออกมาช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบได้

ทั้งนี้ตัวเลขระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นการคำนวณจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงที่จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่าประเทศไทยยังคงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ ประมาณ 25.8% ลดลงจากปี 2566 ที่ผ่านมา (ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ ในเดือน พ.ค. 2566 ซึ่งคิดเป็นกำลังผลิตสำรองประมาณ 30.9%) อย่างไรก็ดีกระทรวงพลังงานจะติดตามการใช้ไฟฟ้าและการสำรองไฟฟ้าของประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: