ภาพรวมของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีคำกล่าวหาเข้ามายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9,254 เรื่อง โดยวงเงินงบประมาณที่มีการทุจริตตามคำกล่าวหาประจำปีงบประมาณ 2566 พบว่า มีมูลค่ารวมกว่า 26,247 ล้านบาท โดย 3 ลำดับ ประเภทคำกล่าวหาที่มีมูลค่าการทุจริตสูงสุด คือ 'จัดซื้อจัดจ้าง-ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-ยักยอก/เบียดบังเงิน'
เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2567 ว่า ภาพรวมของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีคำกล่าวหาเข้ามายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 9,254 เรื่อง โดยวงเงินงบประมาณที่มีการทุจริตตามคำกล่าวหาประจำปีงบประมาณ 2566 พบว่า มีมูลค่ารวมกว่า 26,247 ล้านบาท โดย 3 ลำดับ ประเภทคำกล่าวหาที่มีมูลค่าการทุจริตสูงสุด เรียงตามลำดับ ดังนี้
1. การจัดซื้อจัดจ้าง มีตัวเลขมูลค่าการทุจริตกว่า 13,391 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.02 %
2. การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีตัวเลขมูลค่าการทุจริตกว่า 8,786 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.48 %
3. ประเภทยักยอก/เบียดบังเงิน มีตัวเลขมูลค่าการทุจริตกว่า 1,899 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.24 %
จากข้อมูลสถิติคำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เห็นว่ามีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อเทียบกับ คำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และหากพิจารณาประเภทคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดภายใน 5 ปีงบประมาณ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคดีประเภทการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด ดังนั้น จากข้อมูลสถิติคำกล่าวหาและคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดข้างต้น จึงอาจนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแผนและแนวทางการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ในประเด็นการบริหารจัดการตามพื้นที่ทุจริตในภาพรวมการบริหาร งบประมาณการดำเนินการ การวางแผน การบริหารจัดการคดี การจัดลำดับความสำคัญในการทำงานให้เสร็จตามระยะเวลา การวางแผนอัตรากำลัง รวมทั้งการสรรหาบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการสาขากระบวนการยุติธรรม และสาขาทั่วไป ให้สอดคล้องกับประเภทและปริมาณของคำกล่าวหาและคดีตามพื้นที่รับผิดชอบต่าง ๆ
ทั้งนี้ แนวโน้มที่ลดลงนั้นสอดคล้องกับแนวทางการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จของการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คือ เรื่องกล่าวหาร้องเรียนมีจำนวนลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจากแนวทางการบริหารจัดการคดีและนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และการบริหารจัดการคดีให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ตัวเลขสถิติที่วิเคราะห์ออกมายังสะท้อนให้เห็นว่า ภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของหน่วยงานในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพิ่มขึ้น จึงกล้าที่จะออกมาแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสการทุจริตทันทีเมื่อพบเห็นการทุจริตหรือพฤติกรรมที่เสี่ยงให้เกิดการทุจริต อันเป็นผลมาจากการที่สำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่มุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตเพิ่มขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 33 ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 33
สำนักงาน ป.ป.ช. คาดหวังว่าคำกล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และในปีต่อไปจะมีปริมาณเรื่องกล่าวหาที่ลดน้อยลง ทั้งนี้ เพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ อันจะส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับ “ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)” ของประเทศไทยให้สูงขึ้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ