นศ. FIBO คว้ารางวัล พัฒนา AI เสริมประสิทธิภาพกล้อง CCTV ตรวจจับอุบัติเหตุ-จราจร

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ต.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6812 ครั้ง

นศ. FIBO คว้ารางวัล พัฒนา AI เสริมประสิทธิภาพกล้อง CCTV ตรวจจับอุบัติเหตุ-จราจร

ทีม Teletubbies นักศึกษาปี 2 จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มจธ. คว้ารางวัลชนะเลิศ Muang Thong Hackathon 2024 ด้วยโปรเจกต์ "CuddleCam" ที่ใช้ AI พัฒนากล้อง CCTV ให้สามารถตรวจจับอุบัติเหตุ การทำผิดกฎจราจร และวิเคราะห์สภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานจริงในเมืองทองธานี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รายงานว่า “เคยมองว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ จึงเลือกมาเรียนสาย AI ซะเลย จะได้ไม่โดนแย่งงาน” เป็นคำตอบง่ายๆ ของน้องนิ้ง ถึงเหตุผลที่ทำให้ "CuddleCam: CCTV Security Project AI ตรวจจับอุบัติเหตุ การกระทําผิดกฎจราจร และแก้ปัญหารถติด” ผลงานทีม Teletubbies ของ 4 นักศึกษาสาว ชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Muang Thong Hackathon 2024 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อกลางปี 2567 ที่ผ่านมา และโปรเจกต์ก็ยังได้รับการสนับสนุนเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้จริงในเมืองทองธานีอีกด้วย

น้องนิ้ง หรือชัญญาภัค ทรัพย์สวัสดิ์กุล นักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ที่ตนเองและเพื่อนๆ อีก 3 คน คือ ณัชณศา เลิศมหากูล (อายจัง) บัซลาอ์ ศิริพัธนะ (บัซ) และนันท์นภัส นันทพรนิชา (ติ๊ก) เลือกหัวข้อนี้เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่อาศัยในเมืองทองจริงๆ

“โจทย์ของทางเมืองทองในการประกวดครั้งนี้ คือ การใช้ AI มาทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองทองดีขึ้น ซึ่งก่อนที่จะสมัคร ทางเราก็มีการเข้าไปดูข้อมูลปัญหาและความต้องการของเมืองทองธานี และคนที่พักอาศัยหรือใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทองในโลกออนไลน์ ก็พบว่าการจราจรและอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่เขาต้องเจอเป็นประจำ เราจึงอยากจะนำ AI มาทำให้กล้อง CCTV ในเมืองทองสามารถตรวจจับและแจ้งเตือนการเกิดอุบัติเหตุบนถนนให้ผู้รับผิดชอบได้รู้อย่างรวดเร็ว”

และจากเอกสารสรุปโครงงานโดยย่อที่ส่งเข้าพิจารณารอบแรกจำนวน 75 ชิ้น จาก 30 มหาวิทยาลัย โครงงานของทีม Teletubbies เป็นหนึ่งใน 13 ชิ้น ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ที่ต้องเก็บข้อมูลมาประกอบการทำโปรเจกต์ให้มีความชัดเจนทั้งในด้านเทคโนโลยีและทางเศรษฐศาสตร์

“เขาพาเราไปดูตามเส้นทางและแยกสำคัญต่างๆ และมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย รูปแบบของการทำผิดกฎจราจรหลักๆ เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอด การจอดซ้อนคัน รวมถึงตำแหน่งของกล้อง CCTV ที่ติดตั้งอยู่ในจุดสำคัญต่างๆ และได้มีโอกาสเข้าไปดูการทำงานในห้อง CCTV ที่ยังใช้คนในการติดตามและแจ้งสถานการณ์ของการจราจรในแต่ละจุดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเรามั่นใจว่า AI จะช่วยลดภาระงานให้กับเจ้าหน้าที่ และทำให้การแจ้งอุบัติเหตุและวิเคราะห์สภาพการจราจรเป็นไปอย่างรวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น อันหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตรงกับโจทย์ Smart City ที่กำหนดไว้” บัซลาอ์ หรือน้องบัซ กล่าว

ขั้นตอนต่อมาก็คือ การทำ MVP (Minimum Viable Product) ที่เป็นชิ้นงานแบบย่อ เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอกับคณะกรรมการตัดสินรอบสุดท้าย

“เราไม่ได้นำเสนอไอเดียเพียงอย่างเดียว แต่นำเสนอตัวต้นแบบ AI ที่สามารถวิเคราะห์การเกิดอุบัติเหตุจากรถยนต์กับรถยนต์จากภาพนิ่ง ตัวอย่างหน้าจอสำหรับการแจ้งผลการวิเคราะห์ให้กับ user ขณะที่ตัวเลขจากการทำ Business Canvas ของเรา ก็มีความคุ้มค่าสูง เพราะเป็นการลงทุนด้าน Software ขณะที่ระบบกล้อง CCTV ก็แทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่ม หรือแม้จะมีการลงทุนเปลี่ยนไปใช้กล้องตัวใหม่ทั้งหมดคำนวณแล้วก็ยังคุ้มค่าอยู่ดี ทั้งหมดนี้เพื่อให้กรรมการมีความเข้าใจและเห็นศักยภาพของงานเราให้มากที่สุด” น้องติ๊ก หรือ นันท์นภัส วิเคราะห์ถึงเหตุผลที่ทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

และจากจุดเด่นของตัวโครงงานข้างต้น ทางเมืองทองจึงมีการเซ็นสัญญากับน้องๆ ทีม Teletubbies เพื่อให้พัฒนาจากตัว MVP ไปสู่ระบบ AI วิเคราะห์อุบัติเหตุจราจรเพื่อนำใปทดลองใช้จริงกับเมืองทองธานีต่อไป โดย ณัชณศา หรือน้องอายจัง กล่าวถึงสิ่งที่เราทำต่อว่า “นอกเหนือจากการทำให้ AI สามารถวิเคราะห์อุบัติเหตุบนถนน รวมถึงการวิเคราะห์การจอดทับเส้นทึบหรือจอดซ้อนคัน ด้วยจากภาพจากกล้อง CCTV แบบ real time ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมีไฟล์ภาพหลายหมื่นไฟล์ให้ AI ได้วิเคราะห์และเรียนรู้ และรวมถึงการเพิ่มฟังก์ชันอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับทางเจ้าของพื้นที่ ทั้งการประเมินรถติด การตรวจนับและจำแนกชนิดของรถที่มาใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังใช้กับการวางแผนในระยะยาวได้อีกด้วย”

ดร.รัตนชัย รมัยธิติมา อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการต่อเนื่องที่ทำร่วมกับเมืองทอง กล่าวว่า นอกเหนือจาก FIBO จะทำให้กับนักศึกษาจริงจังกับการเก็บข้อมูลและศึกษาความต้องการของผู้ใช้ให้รอบด้านก่อนกำหนดเป้าหมายและวิธีการแล้ว การทำให้เขามีมุมมองที่ถูกต้องต่อการเข้ามาของ AI ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

“คิดว่าเป็นโปรเจกต์ที่มีองค์ประกอบของความสำเร็จครบถ้วน ส่วนหนึ่งอาจเพราะ AI มาแรงคนสนใจเยอะ การมองและหาไอเดียว่าจะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เป็นโจทย์สำคัญและท้าทายของคนยุคนี้ โดยเฉพาะคนทำงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งสำหรับโปรเจกต์นี้ผมว่ามีศักยภาพในการต่อยอดไปได้อีกมาก เช่น การใช้กล้องตรวจวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้ถนน การวิเคราะห์แยกที่มีจำนวนอุบัติเหตุมากผิดปกติ เป็นต้น”

เช่นเดียวกับชัญญาภัค ที่เปลี่ยนจากการกลัว AI แย่งงาน มาเป็นการเลือกศึกษา AI เพื่อนำมาใช้ประโยชน์แล้ว บัซลาอ์ ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การมาเรียนที่ FIBO ทำให้พบว่า AI มีความน่าสนใจน่าค้นหาและสามารถนำมาสร้างสิ่งดีๆ ได้มากมาย ซึ่งการที่ AI สามารถลดความผิดพลาดในการทำงานของคน (human error) ลงไปได้ AI จึงน่าจะช่วยสร้างสังคมที่ให้ความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: