สิทธิคนพิการนอกเมืองหลวง: ความเหลื่อมล้ำอันซ้ำซ้อน

สราวุธ ถิ่นวัฒนากูล รายงาน 30 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 8311 ครั้ง


คนพิการนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากกว่าคนทั่วไปโดยสภาพอยู่แล้ว ด้วยว่าลักษณะทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ยิ่งถ้าหากคนพิการคนนั้นมีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม มีการศึกษาน้อย ยิ่งมีแต่จะต้องประสบพบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตหลายเท่า

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

คนพิการนั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ยากลำบากกว่าคนทั่วไปโดยสภาพอยู่แล้ว ด้วยว่าลักษณะทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ยิ่งถ้าหากคนพิการคนนั้นมีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม มีการศึกษาน้อย ยิ่งมีแต่จะต้องประสบพบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตหลายเท่า

รัฐอาจจะจัดบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่หลายแห่ง แต่ในประเทศไทยยังมีอีกหลายพื้นที่ซึ่งภาครัฐไม่สามารถจัดหาบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการได้อย่างเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพได้เลย อย่าว่าแต่จะให้สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติธรรมดาทั่วไปเลย เอาแค่เพียงจะให้สมแก่ฐานานุรูปของพวกเขาก็แทบจะเป็นไปไม่ได้

ถ้าหากคำขวัญวันเด็กปี 2567 ที่ว่า “มองโลกกว้าง คิดอย่างสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย” เป็นสิ่งที่ใช้ได้เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนของไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ สารคดีชุดนี้จะทดลองนำคำขวัญที่มีถ้อยคำสวยงามดังกล่าว เข้ามาจับคนพิการดูบ้างว่า แนวคิดนี้จะทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นบ้างหรือไม่

มองโลกกว้าง

เก่ง ธิติวุธ ดาวเรือง และบังอรศรี มูลมา แม่ของเก่ง

บังอรศรี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หารายได้เลี้ยงลูกด้วยการขายจิ้งหรีดทอดเพื่อให้มีรายได้พอจุนเจือสองแม่ลูก

อัญชลี สิริวงศ์ใจ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดพะเยา

คาเบล ปริญญา สิงห์แก้ว

คนเราจะมองโลกกว้างได้จะต้องมีการศึกษาเป็นพื้นฐานที่ดีเสียก่อน ปัจจุบันมี พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี คือรัฐจัดบริการทางด้านการศึกษาให้ประชาชนจนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ข้อมูลจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม แสดงว่าผู้พิการมากกว่า 94% ที่จบแค่ชั้นประถมหรือต่ำกว่า มีผู้พิการแค่ 2% เท่านั้นที่จบระดับอุดมศึกษา

เก่ง ธิติวุธ ดาวเรือง คงจะพอยืนยันเรื่องนี้ได้ เขาเป็นหนึ่งในเยาวชนผู้พิการด้านสติปัญญา ที่ไม่มีโอกาสได้เรียน เนื่องจากไม่มีสถานศึกษาในละแวกใกล้เคียงบ้านของเขาที่ให้บริการแก่คนแบบเขาได้  “แต่ก่อนมีโรงเรียนสำหรับคนพิการแบบนี้ที่เชียงรายและเชียงใหม่ แต่ที่จังหวัดพะเยายังไม่มี แต่ตอนหลังมีศูนย์คนพิการก็กลับไปเรียนไม่ได้เพราะศูนย์รับอายุไม่เกิน 18 ปี” บังอรศรี มูลมา ผู้เป็นมารดาเล่าให้ฟังถึงการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านการศึกษาของลูกชาย

ครั้นจะถ่อสังขารพาลูกชายไปรับการศึกษาในเชียงใหม่หรือเชียงรายก็ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินฝัน การเดินทางข้ามจังหวัดร่วมร้อยกิโลเมตร มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งกว่า 2,000 บาท แต่เบี้ยคนพิการที่รัฐจัดให้เพียง 800 บาทต่อเดือนคิดแค่นี้ก็ท้อใจไม่น้อยแล้ว

บังอรศรี เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว หารายได้เลี้ยงลูกเพียงลำพัง วันไหนโชคดีหน่อยตื่นขึ้นมาไม่มีอาการปวดหัวเข่า เธอก็จะนำจิ้งหรีดที่เพาะเลี้ยงเอาไว้ทอดไปขาย มีรายได้พอจุนเจือสองแม่ลูกสัก 200 บาท จะไปทำงานอย่างอื่นที่ต้องออกไปจากบ้านไกลๆก็ลำบาก เพราะทิ้งลูกไว้ลำพังนานไม่ได้

ในเมื่อไม่มีวุฒิการศึกษา จึงขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ขาดรายได้ และเลี้ยงชีพตนเองไม่ได้ จึงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ “คนพิการที่พะเยาส่วนใหญ่ไม่มีงานทำ เขาไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เพราะเขาไม่มีรายได้ ถ้าเกิดสมมติว่าวันหนึ่งผู้ปกครองของเขาไม่อยู่จะมีใครมาดูแลเขา บางคนมีญาติ ญาติก็ไม่ดูแลนะ แล้วการกินการอยู่ของจะเป็นยังไง แล้วถ้าเกิดว่าเจอเขาเดินตามข้างทาง ก็ถูกมองว่าเขาเป็นคนไม่ดีอีกทั้งๆที่เขาก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนนะ แต่ก็เห็นเดินข้างทางไม่ดีล่ะ สติไม่ดีไอ้คนบ้าอะไรอย่างเงี้ย เดี๋ยวพอพ่อแม่ตายไปก็เป็นภาระให้กับสังคมอีก ต้องมาเรี่ยไรรับบริจาคเพื่อที่จะให้เขาอยู่ได้ ซึ่งความเป็นจริงมันไม่ใช่” อัญชลี สิริวงศ์ใจ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่พบเจอในจังหวัดพะเยา

เธอเล่าต่อว่า ทางชมรมฯ ค่อยๆฝึกให้คนพิการเหล่านี้สามารถอยู่ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องใช้เวลาเพราะว่าส่วนใหญ่มีความจำกัดในการเรียนรู้ จึงต้องให้เวลาเป็นพิเศษ 

ถ้าหากไม่มีหน่วยงานใดของรัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สุดท้ายคุณภาพชีวิตของผู้พิการ เฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด อาจต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน ที่แม้แต่ความฝันในการมีอาหารครบ 3 มื้อ มีเสื้อผ้าใส่ และได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย ก็ยังเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม

คนพิการไม่ว่าด้านไหน ไม่ใช่คนที่จะงอมืองอเท้ายอมรับชะตากรรมรอรับความช่วยเหลือแต่อย่างเดียว ตรงกันข้ามพวกเขาต่อสู้ดิ้นรนอย่างมาก เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไปเช่นกัน คาเบล ปริญญา สิงห์แก้ว ผู้พิการทางปัญญาอีกคนหนึ่งก็เหมือนกัน เขาใช้ความพยายามอย่างมากในเรียนรู้เทคโนโลยี่สารสนเทศและภาษาอังกฤษจากช่องยูทูป และเรียนการศึกษานอกโรงเรียนจนได้วุฒิการศึกษาถึงชั้นมัธยมปีที่ 6 แต่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อให้ถึงชั้นปริญญาตรี เนื่องจากไม่มีมหาวิทยาลัยใกล้บ้านที่เหมาะสำหรับคนพิการประเภท 7 หรือ ออทิสติก สุดท้ายก็ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ประจำเพียงพอต่อการดำรงชีพ ความฝันเล็กๆที่เหลืออยู่คือ การเปิดร้านขายขนม ขายชาไข่มุกหน้าบ้าน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเป็นจริงได้ในเร็ววันนี้

คนพิการที่การศึกษาน้อย แต่มีคนดูแล มีที่อยู่อาศัยก็อาจจะพอดำรงชีพอยู่ได้ วิชาญ อุ่นอก อาสาสมัครดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เล่าให้ฟังถึงผู้พิการรายหนึ่งที่เลือกออกมาหาโอกาส หารายได้เลี้ยงปากท้อง และหลับนอนที่สถานีขนส่ง เนื่องจากความพิการของตนเองนั้นได้สร้างความลำบาก และเกรงจะกลายเป็นภาระของญาติ เขาจึงเลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

“ปัจจุบันกาญจนบุรีมีผู้พิการไร้บ้าน 3 รายที่พูดถึงส่วนใหญ่ก็จะเป็นพิการแขนขา ไม่สามารถที่จะเดินเหินได้ก็ต้องอาศัยรถวิลแชร์มีอยู่ 1 คนแล้วก็ที่เหลืออีก 2 คนก็ใช้การคืบคลานไปและ ยังชีพด้วยการขอรับ ขอทาน เพราะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้” วิชาญ กล่าวและเสริมว่า “คนพิการที่ไร้บ้านนั้นจัดเป็นปัญหาซ้ำซ้อน ส่วนใหญ่ก็จะยังชีพด้วยการขอรับบริจาคหรือขอทาน กลุ่มอื่นๆที่เขามีกำลังไหวเราก็ส่งเสริมให้เขาไปมีอาชีพไปรับจ้างหรือว่าไปหางานทำได้ แต่กลุ่มนี้ค่อนข้างที่จะไปทำงานต่อไม่ได้” วิชาญกล่าวยอมรับว่าการช่วยเหลือผู้พิการไร้บ้านให้มีงานทำนั้นเป็นเรื่องที่ยาก
ถึงแม้ว่าจะผ่านการอบรมเหมือนคนไร้บ้านรายอื่น แต่ก็ไม่มีนายจ้างคนไหนอยากรับผู้พิการเข้าทำงานอยู่ดีทำให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการไร้บ้านโดยเฉพาะในต่างจังหวัดนั้นจัดได้ว่าย่ำแย่ โลกของพวกเขาจึงดูคับแคบและตีบตันยิ่งนัก

เมืองใหญ่ที่อื่นอย่างกรุงเทพฯ อาจจะพอมีงาน อาหาร และบริการผู้พิการไร้บ้านที่เข้าถึงได้มากกว่า อย่างเช่นโครงการจ้างวานข้า หรือสดชื่นสถาน จุดบริการห้องน้ำ ซักผ้า อาบน้ำเพื่อคนไร้บ้าน ส่วนผู้พิการไร้บ้านที่ต่างจังหวัดนั้นบางรายไม่ได้อาบน้ำเป็นเดือน เพราะไม่รู้จะไปอาบที่ไหน จะลงไปอาบตามแม่น้ำลำคลองเหมือนคนอื่นก็ไม่ได้ จะไปใช้ห้องน้ำสาธารณะก็โดนไล่ ดำรงชีพด้วยการหาเศษอาหารประทังชีวิต เมื่อเจ็บป่วยก็ทำได้เพียงนอนซมจนกว่าจะมีใครผ่านมาพบเห็น

คิดอย่างสร้างสรรค์ 

วิชาญ อุ่นอก อาสาสมัครดูแลคนไร้บ้านในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี

วิชาญ อุ่นอก อาสาสมัครดูแลคนไร้บ้าน ลงพื้นที่หลัง บขส.จังหวัดกาญจนบุรี

คำถามว่าใครจะเป็นผู้ที่ต้องคิดอย่างสร้างสรรค์ อาจจะมีคนพิการที่มีความคิดดีๆ แต่นั่นคงเป็นจำนวนที่น้อยและหาได้ยาก ผู้ที่ต้องคิดอย่างสร้างสรรค์จึงควรจะเป็นภาครัฐมากกว่า ว่าจะให้บริการแก่คนพิการได้อย่างไรจึงจะทั่วถึงและเพียงพอ

ปัจจุบันรัฐได้จัดตั้ง one stop service หรือศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จขึ้นทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการให้ด้านต่าง ๆ ครบจบในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสาร การออกบัตรประจำตัวคนพิการ บริการด้านสุขภาพ และช่วยเหลือแนะนำการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ คุณภาพชีวิตของผู้พิการจะดีขึ้นมาก ถ้าโครงการนี้ทำได้จริงอย่างที่คิด

ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่ว่านั้นให้บริการอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการในการรับคำร้องขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในเรื่องสิทธิของคนพิการ และให้คำปรึกษาแนะนำบริการต่างๆ  ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

“ศูนย์บริการคนพิการจังหวัดที่สามารถออกบัตรให้กับคนพิการได้อยู่แค่ในตัวเมือง แล้วคนพิการรอบๆ นอกที่เขาอยู่พื้นที่ห่างไกลเขาไม่สามารถมาได้เลยนะ ถ้าเกิดว่าเขาไม่มีใครพามา แล้วถ้าไม่มีใครพามาจริงๆล่ะเขาก็เลยกลายเป็นคนพิการที่ไม่มีบัตร เวลาทำบัตร เค้าต้องมาที่ศาลากลางจังหวัดนะ ทำไมคนจากศาลากลางจังหวัดไม่ไปหาในพื้นที่บ้าง ศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จก็อยู่ที่โรงพยาบาลพะเยา แต่เวลาทำบัตรก็ต้องไปทำบัตรที่ศาลากลาง” อัญชลี สิริวงศ์ใจ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ชมรมผู้ปกครองบุคคลออทิสติกจังหวัดพะเยา พูดถึงความไม่สะดวกในการใช้บริการ

“อย่างที่ศูนย์บริการของเราเนี่ยมีการรับรับส่งสมาชิกที่ให้เข้ารับตามสิทธิ อย่างเช่น พาไปโรงเรียนหรือพาไปหาหมอ มันก็มีข้อจำกัดอีกว่าไปหาหมอต้องไม่เกิน 150 กิโลเมตร คือแบบเราให้คุณบริการไปส่งน้องไปโรงพยาบาลได้นะสำหรับเคสที่ไม่มีเงินค่ารถ แต่ระยะทางต้องไม่เกิน 150 กิโลเมตร นอกเหนือจากนั้น เบิกจ่ายเอง” อัญชลี กล่าว

“บางคนเดินทางมาประมาณ 60 กิโลเมตร เพื่อมาขึ้นรถที่ศูนย์ฯ  ถ้าแบบเขาไม่มีรถ เขาก็ต้องจ้างรถมาอีกเหรอ แล้วคนยิ่งไม่มีตังค์อยู่ก็ต้องจ้างรถมาอีกเหรอ แล้วเอาตังค์จากไหนล่ะ” อัญชลี กล่าว

ปัญหาเรื่องบัตรคนพิการ  กลับเป็นอุปสรรคในการเข้าถึง และเงื่อนไขที่ไม่สอดรับกับความเป็นจริงต่างหากที่ทำให้ผู้พิการไม่มีบัตรประจำตัว “คนที่ไม่มีบัตรเนี่ย อย่างเช่น เจออุบัติเหตุแล้วเดินไม่ได้ แต่หมอก็ยังไม่สามารถจะลงความเห็นว่าพิการในทันทีเพราะ บางทีอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูในเรื่องของร่างกายอาจจะลุกเดินได้ ตอนแรกเดินไม่ได้ก็จะให้เวลา 6 เดือนค่อยมาตรวจอีกที บางคน 6 เดือนกลายเป็นติดเตียงแล้วมาไม่ได้ ไม่มีญาติพามาบ้างล่ะ หรือว่าอยู่พื้นที่ห่างไกลเช่นชนเผ่า ที่เขาอยู่บนดอยไกลๆ บางคนไม่รู้ว่าเป็นคนพิการมันมีสิทธิด้วยหรือ คุณจะต้องมาทำบัตรคนพิการเสียก่อนจึงจะได้สิทธิ บางคนไม่มีบัตรก็ไม่มีสิทธิ ทั้งๆที่คุณเป็นคนพิการก็จริงแต่คุณไม่มีบัตร อันนี้ก็คือข้อจำกัดเช่นจังหวัดที่มีอำเภอเยอะๆอย่างเชียงใหม่ แล้วอำเภอห่างไกลอย่างเช่น กัลยาณิวัฒนา หรืออมก๋อย อะไรที่มันไกลมากๆ ที่ติดชายแดนนู่น ก็มีคนพิการที่ยังไม่ได้ทำบัตรหลงเหลืออยู่” ชรีพร ยอดฟ้า ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา พูดถึงปัญหาที่ผู้พิการในต่างจังหวัดต้องพบเจอเมื่อเข้าใช้บริการของรัฐ

ในเมืองหลวง คนพิการเรียกร้องให้รถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินจะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พวกเขาสามารถใช้บริการได้เยี่ยงคนทั่วไป แต่ในต่างจังหวัดอย่าว่าแต่รถไฟฟ้าแบบที่มีอุปกรณ์แบบนั้นเลย เอาแค่รถธรรมดาๆที่จะอาศัยเดินทางไปโน่นมานี่บ้างยังหายาก คนที่มีฐานะหน่อยอาจจะมีรถส่วนตัวให้ญาติพี่น้องช่วยขับไปรับส่งได้ แต่ถ้าต้องอาศัยรถโดยสารสาธารณะแล้วดูเรื่องที่ต้องต่อสู้กันเสียเหลือเกิน

“อย่างเมื่อก่อนตอนลูกเล็กๆ ที่ไปรักษาที่เชียงใหม่ก็ต้องนั่งรถเมล์ไป รถเมล์ประจำทางก็ค่อนข้างจำกัดเราต้องจองตั๋ว 8:00 น. ไปถึงเชียงใหม่เนี่ย เกือบ 11:00 น. เราต้องขอนัดหมอ 11.30น. หรือบ่ายโมงเลยเพื่อจะพบหมอ แล้วเที่ยวสุดท้าย 16:30 น. เราต้องกลับให้ทัน ไม่งั้นเราต้องไปหาที่พักซึ่งมันก็เป็นเรื่องลำบาก เด็กบางคนไม่สามารถนั่งรถโดยสารประจำทางได้เช่น มีความกลัว ไม่สามารถอยู่กับคนเยอะๆได้ อันนี้คือข้อจำกัดของคนพิการ ถ้าคนพิการร่างกายก็เหมือนกันมันต้องขึ้นบันไดสูง แล้วถ้าคนนั่งวิลแชร์เนี่ยจะขึ้นยังไง ประเทศไทยไม่เหมือนต่างประเทศที่เขามีรถเมล์ชานต่ำสามารถเข็นตัวเองเข้าไปเลย อันนี้ข้อจำกัดในเรื่องของการเดินทางไปรักษาที่ไกลๆนะ” ชรีพร ประธานสภาคนพิการฯ เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการพาลูกไปหาหมอที่เชียงใหม่เมื่อหลายสิบปีก่อนที่ปัจจุบันก็ยังเป็นปัญหาอยู่ แม้ปัจจุบันจะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตาม

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะช่วยได้บางหรือเปล่า ? ชรีพร ยอดฟ้า ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา เล่าว่า “ไม่เข้าใจหรอกว่าระเบียบของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีขนาดไหน เราเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่เขาบอกว่ารถของเขาเนี่ยถ้าไปส่งในในตัวจังหวัดอะไรพวกนี้เขาบอกว่าเขาไปได้แต่ต้องมาลงชื่อลงอะไรไว้เขาเขียนคำร้องไว้ว่าวันนี้ขอไปโรงพยาบาล แต่ว่าถ้าไปต่างจังหวัดปุ๊บ เขาจะบอกว่ารถเขา ไปนอกพื้นที่เนี่ยมันก็จะมีปัญหา รถไม่พอใช้ มีรถ 2 คันมันต้องใช้ในพื้นที่นู่นนั่นนี่ แล้วคนที่ขับรถไปเขาอาจจะเรียกร้องเรื่องออกไปนอกพื้นที่มีเบี้ยเลี้ยงด้วยมั้ยหรือว่าเขาบอกว่าไม่สะดวกที่จะไปส่งต่างจังหวัด” 

เธอเล่าต่อว่า ที่ศูนย์บริการแห่งนี้ทำเรื่องนำพาคนพิการเข้ารับสิทธิแต่ศูนย์ ไม่มีรถเหมือนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้รับผิดชอบก็ต้องใช้รถส่วนตัว ซึ่งถ้าไม่มีน้ำใจจะทำให้คงไม่ได้ เพราะเจ้าของรถเบิกได้แต่ค่าน้ำมัน ซึ่งขอเบิกกองทุน แต่ไม่มีค่าจ้างคนขับ ไม่มีค่าเสื่อมสภาพของรถ แต่ที่ต้องทำให้ก็เพื่อบริการสมาชิกเท่านั้นไม่ได้เปิดกว้างทั่วไป 

แม้จะมีกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทนไม่ไหวกับการหยุดพัฒนา ลุกขึ้นมาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายความล่าช้าของหน่วยงานราชการนี้อาจเป็นคำตอบว่าทำไมผู้พิการในต่างจังหวัดถึงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง “เดือนนี้เราเขียนโครงการพัฒนาทักษะผู้พิการและฟื้นฟูครอบครัวออทิสติกไป 3 โครงการแต่ไม่ได้เข้าที่ประชุม เพราะเขาบอกว่า ‘ไม่ทันครับ’ คนตรวจโครงการบอกว่าส่งไม่ทัน ‘รอเข้าเดือนหน้าครับ’ แต่เด็กเขารอไม่ได้ไง” อัญชลี อธิบายถึงระบบการทำงานของราชการ 

“เขียนโครงการหนึ่งไปกว่าจะอนุมัติ กว่าจะไปเถียงกันเสร็จ กว่าจะไปตีกันระหว่างคณะกรรมการเสร็จ มันช้าและมันนานมากๆ ซึ่งคนทำงานเองบางทีก็เริ่มท้อ ต้องมาต่อสู้กับอะไรไม่รู้ เขียนโครงการเดือนนี้ ได้ทำโครงการอีกที 3 เดือนข้างหน้าประมาณนั้นเลย ช่วงนี้มันเป็นช่วงที่งบประมาณนี้ยังไม่มาด้วย มีน้องที่ต้องไปหาหมอที่เชียงใหม่ เขามาถามเราว่า ไปส่งหาหมอได้ไหม เพราะว่ามีหมอนัด เราก็เลยตอบไปว่า คือถ้าจะให้เราไปส่งไปส่งได้นะ แต่เราก็ต้องมีคำว่าแต่ เพราะว่างบ 67 ยังไม่มาเลย” อัญชลี กล่าว

เคารพความแตกต่าง

ชรีพร ยอดฟ้า ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา

ปาล์ม ขวัญจิรา พินิจสุวรรณ์ ผู้พิการทางสายตาที่เคยเรียนที่เชียงใหม่ ต่อมาไปเรียนนวดและทำงานในกรุงเทพฯ ก่อนกลับมาบ้านเกิดที่พะเยาในช่วงโควิด-19

หากรัฐเคารพความแตกต่างของคนพิการบ้าง จังหวัดพะเยาคงมีทางลาด มีระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้ออำนวย และมีสถานที่ทำงานให้คนพิการที่มีการศึกษาและมีความรู้ความสามารถ

แพร์ กาญจนา อินต๊ะ ผู้พิการทางด้านร่างกาย การเคลื่อนไหวซีกซ้ายอ่อนแรง เป็นอีกหนึ่งในผู้พิการที่ไม่สามารถหางานในพื้นที่จังหวัดพะเยา ถึงแม้จะมีความรู้ความสามารถ มีวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)  วิชา เอกเลขานุการ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดแรงงานได้

ชรีพร ยอดฟ้า ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา เล่าว่า “แพร์เป็นเด็กกำพร้านะ แม่เสียชีวิตจึงอาศัยอยู่กับป้า เรียน จบปวส. สมัครงานแต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ กำลังจะหาทุนการศึกษาให้เรียนจนถึงปริญญาตรีเพราะว่าที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เขาจะมีเรียนระดับปริญญาตรี เสาร์-อาทิตย์ เพื่อว่าความเป็นคนพิการที่จบปริญญาตรี จะมีแต้มต่อโดยไม่ต้องผ่านภาค ก. จะสามารถทำงานดีๆ ได้หรือไม่อย่างนั้นก็หาสถานที่ให้คนพิการประกอบกิจการ ตามที่ระบุเอาในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ได้ แต่ในจังหวัดพะเยาก็ค่อนข้างจำกัดอยู่มาก เพราะเป็นจังหวัดเล็กๆ แล้วระดับประเทศเขาก็มีบริษัทที่ไปทำตามกฎหมายได้ แต่ว่าจังหวัดเราเนี่ยถ้าจะได้มันก็ต้องไปอยู่แถวโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ซึ่งเขาล็อคไว้หมดแล้ว” 

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือผู้ประกอบการหรือหน่วยของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม ถ้าไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานสามารถส่งเงินเข้ากองทุนตาม มาตรา 34 ได้ และหากไม่ประสงค์จะทำทั้งสองอย่าง อาจจะให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการหรือจ้างเหมาเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรา 35

จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 65 - ก.ย. 66) ที่ผ่านมา มีผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้รับสิทธิตามมาตรา 35 จำนวน 15,651 ราย

เมื่อเมืองที่อยู่ไม่เหมาะสำหรับผู้พิการ หากอยากมีชีวิตที่ดีก็ต้องย้ายที่อยู่ใหม่ ปาล์ม ขวัญจิรา พินิจสุวรรณ์ ผู้พิการทางสายตาที่มีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนพิเศษตั้งแต่เด็ก ตัดสินใจเดินทางเข้ามาศึกษาต่อและทำงานในเมืองหลวง

“ตอนนั้นคือยังไม่ได้คิดว่าที่บ้านจะมีงานอะไรให้ทำก็เลยตัดสินใจทำงานที่กรุงเทพฯดีกว่าอย่างน้อยไม่ได้เป็นภาระคุณแม่ด้วยแล้วก็ได้ส่งเงินมาให้ท่านด้วย มีมูลนิธิที่เขาสอนเรื่องนวดโดยเฉพาะอยู่ที่กรุงเทพฯ เรียนนวดอยู่ที่นั่นได้

ประมาณ 2 ปีไปหาใช้ชีวิตก็ได้ไปหัดเดินทางด้วยไม้เท้าขาว ต่อยอดจากการเรียนที่เชียงใหม่ ระหว่างนั้นฝึกหุงข้าว หัดทำกับข้าวง่ายๆ พอที่จะทำได้ด้วยตัวเอง”

ปาล์มเล่าว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ นั้นมีการเดินทางที่สะดวก มีงานรองรับหลากหลาย ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงตัวเองและส่งกลับมาที่บ้านได้ แต่สถานการณ์โควิดทำให้เธอต้องกลับบ้านเกิดอีกครั้ง

“ที่ตัดสินใจกลับมาเพราะว่าช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดพอดีแล้วคุณแม่เริ่มไม่สบายไม่ไหวแล้ว ท่านป่วยมาก แล้วที่บ้านก็เลยบอกว่าให้กลับมาอยู่กับแม่ อยู่ดูแลจนแกเสียชีวิต จึงได้ผันชีวิตมาเลี้ยงไก่ แต่รายได้ไม่ค่อยพอ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวทั้งหมดก็ประมาณ 1,500 บาท รายได้จากเบี้ยคนพิการอีกเล็กน้อย พี่สาวเขาทำงานอยู่ต่างจังหวัดเขาก็ส่งให้บ้าง เพราะรายได้จากไก่จริงๆ ไม่พอหรอก อาศัยใจรักมากกว่าเราก็เลยทำ” ขวัญจิรา เล่าถึงชีวิตของเธอ

ชีวิตในเมืองหลวง ถึงจะต่อสู้ดิ้นรนไม่น้อยแต่ก็มีโอกาสดีกว่า

น้ำ ภัทรภร เที่ยงนิน ผู้พิการทางการมองเห็น เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ ทั้งงานบริการคอลเซ็นตอร์ข้อมูล รับถอดเทป เปิดหมวก จนถึงขายล็อตเตอรี่

สำหรับคนพิการ น้ำ ภัทรภร เที่ยงนิน ผู้พิการทางการมองเห็นเล่าให้ฟังถึงชีวิตในต่างจังหวัดก่อนตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ “อยู่กรุงเทพฯมีตัวเลือกงานเยอะ ปัจจุบันได้งาน Call Center ของบริษัททรูทำมา 5 ปีกว่าแล้ว อาชีพรองขายลอตเตอรี่แล้วก็มีไปเปิดหมวกบ้าง แล้วก็รับถอดเทปเสียงภาษาไทย แต่ตอนนี้งานขายลอตเตอรี่เยอะขึ้นก็เลยไม่ได้รับแล้ว” 

“เรียนจบใหม่ๆ ปี 57-58 ก็ยังไม่ได้งานนะ มีไปร้องเพลงตามจังหวัดต่างๆ ไปตามงานกาชาดงานประจำปี ไปเปิดหมวก ก็รู้สึกว่าไหนๆก็เรียนจบปริญญาตรีมาแล้ว อยากจะใช้ความรู้ที่ตัวเองเรียนมา ให้เป็นประโยชน์ อยากลองหางานดู พอดีตอนปี 59 มีบริษัทเขา เปิดรับทำงานตำแหน่ง Call Center นี่แหละแต่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ สัญญาปีต่อปี แล้วเขาขยายสาขาไปตามจังหวัดต่างๆ ก็เลยลองไปสมัครดู ปี 59 ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน พอไปอยู่ที่ขอนแก่น ก็ว่างไปประมาณเดือนครึ่ง พอกลางเดือนมิถุนายนปี 59 ก็ไปทำงานที่แพร่ ถึงประมาณกลางปี 61 ก็ลาออก แล้วก็ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่แหละ ที่กรุงเทพฯช่วงปลายปี 61 ด้วยความที่ตอนนั้นมันเป็นสัญญาปีต่อปี แล้วก็เงินเดือนในความรู้สึกของเรามันยัง ไม่ได้ตามวุฒิ” ภัทรภร เล่า 

เธอเรียนจบ ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 ภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ถึงแม้จะมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นแต้มต่อ แต่การหางานประจำในต่างจังหวัดที่ได้เงินเดือนตามวุฒิก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนพิการ

“เคยไปสมัครที่องค์กรอะไรจำไม่ได้แล้ว เขาก็ให้เหตุผลว่าไม่รับคนตาบอดได้ไหม เพราะว่าคุณมองไม่เห็น ไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง ฯลฯ เขาก็ให้เหตุผลมา คือสุดท้ายก็ไม่รับ หมดรูปเป็นโหลเอกสารเป็นแฟ้มเลยนะกับการสมัครงาน” เธอเล่า

ความแตกต่างระหว่างกรุงเทพฯกับต่างจังหวัดนั้นมีมากเริ่มจากเรื่องการเดินทางสะดวกกว่า การให้บริการตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล การเข้าถึงและเข้าใจคนพิการมากกว่า  มีทางเลือกหมายถึงมีอาชีพเสริมให้ เลือกที่จะทำเพื่อหารายได้เพิ่มได้มากกว่าต่างจังหวัดสามารถประกอบและอาชีพเสริมอื่นๆได้มากมาย มีโอกาสในการเข้าอบรมกิจกรรมที่ มีประโยชนได้ความรู้เพิ่มเติม

“เรื่องการบริการกรุงเทพดีกว่าอย่างเช่น การทำธุรกรรมอย่างการเปิดบัญชีธนาคาร หรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินอะไรอย่างนี้ ที่ต่างจังหวัดจะไม่ค่อยเข้าใจว่าต้องให้บริการเรายังไง คนตาบอดจะสามารถทำธุรกรรมแบบนี้ได้ไหม เหมือนเขาจะไม่ค่อยมีความรู้ ไม่ค่อยได้ให้บริการกับกลุ่มคนพิการคนตาบอดก็ได้นะ ในโรงพยาบาลอย่างนี้ก็ต้องมีญาติไปด้วย ไม่งั้นเขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องให้บริการเรายังไง ถ้าไปเซ็นเอกสารพาไปเข้าห้องตรวจอะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเป็นโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ เอกชนนะโรงพยาบาลจะดูแลเลย พาไปกรอกเอกสารพาไปซักประวัติ ไปห้องตรวจไปรับยา จนกระทั่งส่งกลับบ้าน” ภัทรภร พูดถึงความแตกต่างระหว่างคุณภาพชีวิตในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

คำถามจึงอยู่ที่ทำไมผู้พิการในต่างจังหวัดถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีแบบคนกรุงเทพฯไม่ได้ ทั้งที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่มากไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

“พมจ. เขาก็เวลามีข่าวหรือว่าเป็นประเด็นมาก็ไปดู เอาเงินสงเคราะห์ให้ ซึ่งการให้เงินสงเคราะห์มันไม่ใช่การแก้ปัญหามันอาจจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าว่าเออให้เงิน 3,000 บาท 2,000 บาท แต่ว่าระยะยาวมันมันยังไม่มีแบบระยะยาวหรือว่าไปดูแบบจริงๆจังๆ เงินกองทุนคนพิการหรือศูนย์บริการจังหวัดมันเป็นแค่หน่วยงานหนึ่งอยู่ในกระทรวง พม. ไม่ใช่พมจ. มีงานเยอะแยะมากมายมันไม่ใช่มีแต่งานคนพิการอย่างเดียว

คนที่ทำงานที่ศูนย์บริการ ไม่มีความมั่นคง เป็นลูกจ้างกองทุนไม่รับการบรรจุเป็นข้าราชการ คนที่เป็นข้าราชการมีคนเดียวคือผู้อำนวยการศูนย์บริการจังหวัด นอกนั้นเป็นแค่ลูกจ้าง บางคนสอบบรรจุได้ไปที่อื่น มีคนใหม่มา คนใหม่ กว่าจะเข้าใจงานเรื่องคนพิการ กว่าจะมาทำงานด้วยกัน อีกสักพักสอบได้แล้วไปที่อื่น ไม่มีความต่อเนื่อง

ตอนนี้ทางองค์กรคนพิการเองพยายามต่อสู้เรื่องอยากจะขอกองทุนมาเป็นนิติบุคคล แต่พม.เขาก็ไม่ปล่อย ถ้าหน่วยงานภาครัฐเขากำกับ เขามองว่าเขากำกับดูแลได้ แต่ถ้าเอกชนมาดูแลเงินกองทุนเยอะๆแบบนี้เองเนี่ยเขาก็กลัวมีปัญหาอยู่ มันก็เลยอยู่อย่างนี้” ชรีพร ยอดฟ้า ประธานสภาคนพิการจังหวัดพะเยา เล่าให้ฟังถึงปัญหาการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงจากทางภาครัฐเอง ก็แปลกที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่ช่วยเหลือพัฒนาสังคมและความมั่นคงของประชาชน กลับเป็นผู้ที่สร้างความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานให้กับพนักงานของตัวเอง 

“สิทธิอย่างหนึ่งคือสิทธิขอผู้ช่วยคนพิการ ซึ่งผู้ช่วยคนพิการก็ไม่ได้มีเยอะพอที่จะไปดูคนพิการหลาย ๆ คนได้ สมมุติว่าตำบลนี้มีผู้ช่วยคนพิการ 1 คน ดูคนพิการได้ 5 คน ที่จริงคนพิการมีหลายร้อยคน เขาก็จำกัดแค่ 5 คน บางตำบลไม่มีผู้ช่วยคนพิการเลย หน้าที่ของผู้ช่วยคนพิการคือ 1. ดูคนพิการที่อยู่คนเดียว 2. คนพิการที่ยากจน ถามว่ามีเยอะไหม เยอะมาก เพราะว่าเดี๋ยวนี้ลูกหลานก็ไปอยู่ที่อื่น อย่างพะเยาไม่มีสถานประกอบการใหญ่ๆนะ งานมันก็มีน้อยมากตำแหน่งงานว่างก็มีน้อย”  ชรีพร กล่าว

ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย

ถ้าประชาธิปไตยเน้นความเสมอภาคเท่าเทียม คนพิการน่าจะเป็นกลุ่มแรกๆที่สะท้อนปัญหานี้ได้ดี ชรีพร ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา ยกตัวอย่างให้เห็นว่า

ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีชั้น 2 ผู้พิการบางประเภทไม่สามารถขึ้นไปเข้าร่วมประชุมได้ อบต.มีหน้าที่พัฒนาคุณภาพชีวิตคนทุกกลุ่ม เขาก็จะมีโครงการของคนพิการให้ความรู้เรื่องสิทธิ

แต่ในมุมมองของฝ่ายปกครองบางคนหรือคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมักจะบอกว่า อย่าเอามาเลยคนพิการ เอาผู้ดูแลมา มันก็เลยจบที่ผู้ดูแล ถ้าผู้ดูแลคนนั้นต่อสู้ให้ญาติ ให้ลูกหลาน ให้ผู้ปกครองที่เราปกครองอยู่เข้าถึงสิทธิก็ดี แต่ว่าถ้าผู้ปกครองหรือผู้ดูแลคนนั้นไปนั่งฟังแล้วมันจบที่ตัวเขา มันก็จบ คนพิการก็ไม่รับรู้ถึงสิทธิของเขาอยู่ดี 

เพราะฉะนั้นเวลามีกิจกรรม ประชุมหรือว่าให้คนพิการมีส่วนร่วมจริงๆมัก ก็จะมีแต่คนที่ร่างกายเอื้ออำนวยให้ไปได้ ประเภทอื่นแทบจะไม่มี เพราะบางครั้งไม่มีล่ามภาษามือ ไม่มีอักษรเบล บางครั้งมีปัญหาเรื่องจำนวนคนเข้าร่วม เช่นกำหนดว่าให้คนพิการมาคนเดียว ผู้ดูแลไม่ต้องมาเพราะไม่มีงบประมาณดูแล

การละเลยโครงสร้างพื้นฐานนี้ บีบให้ผู้พิการต้องแยกตัวออกจากสังคม ไม่สามารถไปร่วมงาน หรือทำกิจกรรมนอกบ้านได้ “คนพิการเองเนี่ยไม่สามารถไปร่วมกิจกรรมทางสังคมได้ บ้าน วัดโรงเรียน ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก จะมีวัดสักกี่วัดที่มีทางลาด มีอักษรเบล เพราะฉะนั้นคนพิการเกือบทุกประเภทไม่เข้าวัดหรอก เพราะมันไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ถ้าคนพิการ อยากบวช ก็ไม่ได้บวชนะ ไม่ใช่ว่าจะอยากบวชแล้วบวชได้ง่ายๆ เคยเห็นคนพิการวิลแชร์เป็นพระไหม มีข้อจำกัดเยอะ เคยเห็นคนพิการประเภทไหนบ้างที่เป็นพระ ไม่มีนะ ตาบอด ไม่มี หูหนวกเป็นพระ ยิ่งไม่มีใหญ่เลย หูหนวกคือเป็นใบ้จะกล่าวคำขอบวชได้ยังไง

“จะมีคนพิการสักกี่คนที่เป็นนายกอบต. คนพิการคงไม่มีโอกาสเป็นผู้นำ ต้องเป็นผู้ตาม หรือผู้ด้อยโอกาสไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้หรอกทั้งๆที่เงินกองทุนคนพิการมีเยอะแยะมากมายไม่รู้กี่พันล้าน ก็ยังไม่สามารถเข้าไปใช้เงินตัวนี้ให้มาพัฒนาคนพิการได้” ชรีพร ประธานสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดพะเยา กล่าวเป็นเชิงสรุปทิ้งท้ายชวนให้คิด

สิทธิคนพิการ

1. ได้รับเบี้ยคนพิการ

เฉพาะผู้ที่ขึ้นทะเบียนมีบัตรประจำตัวคนพิการถูกต้อง และมีสิทธิลงทะเบียนขอรับ “เบี้ยคนพิการ” คนละ 800 บาท/เดือน จะจ่ายเป็นเงินสดหรือจ่ายผ่านบัญชีธนาคารภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนตลอดชีวิตและสิ้นสุดลงเมื่อคนพิการเสียชีวิต/แจ้งขอสละสิทธิ ถ้าเป็นคนพิการที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิทั้ง “เบี้ยคนพิการ” และ “เบี้ยผู้สูงอายุ”

2. บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์

สิทธิคนพิการยังได้รับบริการทางสาธารณะสุขเพื่อการรักษาพยาบาลและช่วยเหลือให้คนพิการสามารถทำกิจกรรมทั่วไปได้ตามความต้องการ จำเป็นต้องฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่องให้เกิดความชำนาญและป้องกันความพิการที่จะเกิดเพิ่มขึ้น เช่น กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด (กลุ่มสันทนาการ ฝึกอบรม), การประเมิน/แก้ไขการพูด, จิตบำบัด, พฤติกรรมบำบัด, ฟื้นฟูการได้ยิน-การมองเห็น, ได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยตามประเภทความพิการ, การพัฒนาทักษะขั้นพื้นฐานการใช้ชีวิต, บริการทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก (ฝังเข็ม นวดไทย), บริการทันตกรรม เช่น การเคลือบหลุมร่องฟัน, บริการเกี่ยวกับอุปกรณ์เสริมช่วยความพิการ และแจ้งข้อมูลข่าวสารสุขภาพผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ จะได้สิทธิคนพิการบริการข้างต้นก็ต่อเมื่อ เปลี่ยนจากสิทธิบัตรทองธรรมดาเป็นสิทธิคนพิการ ท.74  (“สิทธิหลักประกันสุขภาพ” หรือที่เคยรู้จักกันในนาม“สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิบัตรทอง”)

แสดงบัตรท.74 ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอบริการรับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ หรือการรักษาพยาบาล อาการเจ็บป่วยและได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการที่หน่วยบริการที่ระบุในบัตรประกันสุขภาพทั่วประเทศได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. ได้รับการศึกษาฟรี

โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่พบความพิการจนตลอดชีวิต เป็นอีกประโยชน์หนึ่งของสิทธิคนพิการ สามารถแจ้งรับบริการได้ที่ศูนย์การศึกษา พิเศษประจำจังหวัด โรงเรียนใกล้บ้าน หรือสถานศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ของจังหวัดต่างๆ หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

เพื่อได้รับสิทธิทางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 15 ปี 2562 พร้อมได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลือ โดยเลือกสถานที่ ระบบและรูปแบบทางการศึกษาคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้พิการแต่ละประเภท

4. บริการสิ่งอำนวยความสะดวก

ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เช่น ห้องน้ำทางลาด ที่จอดรถสำหรับคนพิการ เอกสารอักษรเบรลล์ ล่ามภาษามือ บริการคนส่งสาธารณะ ข้อมูลข่าวสารและบริการให้สัตว์นำทางกับคนพิการ เป็นต้น ให้แจ้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบ อบต. พมจ. สำนักงานเขต สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นต้น

5. คนพิการมีสิทธิขอกู้เงิน

สิทธิคนพิการมีสิทธิขอกู้เงิน ไว้เพื่อประกอบอาชีพได้ที่พมจ. กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

กู้ได้เป็นรายบุคคลไม่เกินรายละ 60,000 บาท ถ้าประสงค์กู้เงินเกินวงเงินที่กำหนดให้พิจารณาเป็นรายๆไม่เกิน 120,000 บาท

กู้เป็นกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพกลุ่มละไม่เกิน 1,000,000 บาท 

**ไม่มีดอกเบี้ยแต่ต้องผ่อนส่งภายใน 5 ปี**

ผู้กู้ต้องอายุ20ปีขึ้นไปและมีบัตรผู้พิการและบัตรดูแลผู้พิการ กรอกข้อมูลว่าจะนำทุนไปประกอบอาชีพด้านใด โดยมีผู้ค้ำประกันที่เงินเดือนมั่นคง 1 คน ยื่นเรื่องขออนุมัติเงินไม่เกิน 2 สัปดาห์

6. แจ้งรับบริการสวัสดิการสังคม

แจ้งได้ที่ อบต. พมจ. สำนักงานเขต  ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด เพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการอย่างทั่วถึง เช่น ผู้ช่วยคนพิการ (สำหรับคนพิการระดับรุนแรง) ค่าใช้จ่ายสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานที่พักอาศัย สถานที่เลี้ยงดูสำหรับผู้พิการไร้ที่พึ่ง

7. บริการล่ามภาษามือ

เฉพาะคนหูหนวกมีสิทธิยื่นคำขอเพื่อขอรับบริการล่ามภาษามือในกรณีต่างๆแจ้งรับบริการได้ที่สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย อบต. พมจ. สำนักงานเขต ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรุงเทพมหานคร  หรือหน่วยงานที่ประกาศกำหนด เช่น การใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณะสุข การสมัครงาน การร้องทุกข์ การกล่าวโทษหรือเป็นพยาน การเข้าร่วมประชุม สัมมนา ฝึกอบรมรวมทั้งเป็นผู้บรรยาย

8. ลดหย่อนภาษีเงินได้

สิทธิคนพิการยังสามารถขอลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยแจ้งหน่วยงานของกรมสรรพากรที่ไปเสียภาษี

สำหรับผู้ดูแลที่เลี้ยงดูคู่สมรส ลูก หรือพ่อแม่ที่พิการหรือทุพพลภาพ สามารถนำไปใช้ลดหย่อนแบบเหมาได้คนละ 60,000 บาทต่อปี

แต่ถ้าผู้พิการหรือทุพพลภาพที่ดูแลอยู่ไม่มีคู่สมรส ลูก หรือพ่อแม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้แบบเหมา 60,000 บาทเพียงคนเดียว

ถ้าคู่สมรสไม่มีรายได้และมีความพิการด้วย สามารถรถหย่อนภาษีคู่สมรสได้ 60,000 บาท และลดหย่อนผู้พิการได้อีก 60,000 บาท รวมเป็นเงินลดหย่อนทั้งสิ้น 120,000 บาท

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: