เวที “คนเหนือจะใดดี กับร่าง PDP2024” ระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้เสียงของคนภาคเหนือถูกรับฟังในร่างแผน PDP2024 ฉบับนี้ ชาวเหนือเรียกร้องปิดตำนาน ‘แม่เมาะ’ ไม่ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว
JustPow รายงานว่าเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Lanner ร่วมกับ JustPow จัดเวที “คนเหนือจะใดดี กับร่าง PDP2024” ระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 พร้อมจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้เสียงของคนภาคเหนือถูกรับฟังในร่างแผน PDP2024 ฉบับนี้
เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อปเรื่องโครงสร้างพลังงานไทยและค่าไฟ ตามมาด้วยเวทีเสวนา “แผนพีดีพี 2024 สิ่งที่เห็นและสิ่งที่ควรจะเป็น” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ วัชราวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, ชนกนันทน์ นันตะวัน สม-ดุล เชียงใหม่, มนัสวัฑฒก์ ชุติมา Old Chiangmai และศราวุธ รักษาศิลป์ Green Power Solar Energy
โดยสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ให้ความเห็นต่อร่างแผน PDP2024 ว่า
“พี่น้องไม่เข้าใจหรอกเรื่องแผนพลังงาน แต่เขาจะเข้าใจเมื่อโรงไฟฟ้ามันมาใกล้เขา มาอยู่แถวๆ บ้าน ความรู้สึกกังวล ความไม่แน่ใจว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันเป็นภาพจำที่เป็นลบกับกิจการโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ปัญหาใหญ่ก็คือวิธีคิดของการจัดการพลังงานในประเทศไทย คือการมองว่าประชาชนพึ่งตัวเองไม่ได้ รัฐรู้ดีไปหมด และเป็นคนออกแบบ คนที่อยู่บนสุดเป็นคนคิดและออกแบบ และเอาแผนลงมาใช้กับประชาชน โดยที่ถามประชาชนนิดนึงพอให้รู้ว่าคืออะไร แต่กระบวนการคิดประชาชนไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก เราอยากเห็นกระบวนการทำแผน PDP ที่ขึ้นมาจากข้างล่างไปข้างบน กระบวนการทำแผนควรมาจากท้องถิ่นไหม จังหวัดเชียงใหม่จะต้องใช้ไฟเท่าไหร่ พลังงานที่เหมาะสมกับคนจังหวัดเชียงใหม่มีอะไรบ้าง ประชาชนควรจะมีสิทธิตัดสินใจและได้ออกแบบ”
ในขณะที่มนัสวัฑฒก์ ชุติมา ในนามผู้ประกอบการทายาทรุ่นที่สามของ Old Chiangmai มองว่า
“ในส่วนของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ น้อยคนนักที่จะมีความรู้ในเรื่อง PDP เราแค่โฟกัสว่าต้นทุนการผลิตของเราแพงขึ้น เพราะค่าไฟมันแพงขึ้น แผน PDP ไม่ได้สะท้อนให้เราเห็นเฉพาะเรื่องค่าไฟแพง แต่ยังทำให้เห็นว่าในอนาคตเรายังต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ เราก็จะยังเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ส่งเสริมการปล่อยคาร์บอนอยู่ ซึ่งจะทำให้ในอนาคตเรากำลังจะเผชิญโอกาสในการแข่งขันทางการค้าที่ลดลง เพราะยุโรปเองก็กำลังมี European Green Deal ที่ตกลงกันว่าการจะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสินค้านั้นจะต้องมีมาตรการการลดคาร์บอนและห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่ว่าสินค้าของบ้านเรา ต่อให้เป็นสินค้าที่ผลิตโดยวัสดุที่รักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็หนีไม่พ้นการใช้ไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิงที่ปล่อยคาร์บอนสูง ทำให้สินค้าของเราก็หนีไม่พ้นการเป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้จะทำให้กำลังการส่งออกของเราจะลดลงในอนาคต”
สำหรับศราวุธ รักษาศิลป์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโซลาร์เซลล์โดยตรงจาก Green Power Solar Energy มองถึงปัญหาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศตอนนี้ว่า
“ตอนนี้ถ้าจะติดตั้งสำหรับผู้ประกอบการเอกชน อันดับแรกผมต้องติดต่อเทศบาล/อบต. เพื่อที่จะขออนุญาตก่อสร้างดัดแปลงอาคารก่อน อันดับสองผมต้องติดต่อกับการไฟฟ้าเพื่อขออนุญาตเชื่อมต่อกับการไฟฟ้าอย่างถูกต้อง อันดับสามผมต้องแจ้ง กกพ. เพื่อจะบอกว่าที่นี่มีการติดตั้งระบบโซลาร์อยู่ ถ้าเกินกว่า 200 กิโลวัตต์ ผมต้องแจ้งพิเศษอีกอันว่าเป็นผู้ผลิตแบบพิเศษ ซึ่งต้นทุนจะเพิ่มอีก 15% ประมาณปีกว่าเขาถึงจะลงมาดูให้
“ผมคิดว่ารัฐควรเอื้อกับเรามากกว่านี้ ควรเข้ามาสนับสนุน ทั้งในเรื่องของการลดภาษี หรือเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้ประชาชนสามาารถใช้ไฟฟ้าสะอาดได้ หลังคาเราผลิตโซลาร์ได้ แต่เราเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แล้วเรายังกลัวว่ามันถูกต้องไหม การไฟฟ้าจะทำอะไรเขาไหม ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการก็กลัวว่าแล้ววันหนึ่งการไฟฟ้าจะมาบริการเขาไหมถ้าเขาทำโซลาร์เซลล์เอง จริงๆ โซลาร์เซลล์มันสร้างรายได้ได้ ชุมชนเองทั้งวัด โรงเรียน ศาลากลางหมู่บ้าน ถ้าเราติดโซลาร์เซลล์และขายได้ด้วย ก็ไม่ต้องกลัวค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟ ชุมชนพึ่งตัวเองได้ และเราก็ควรจะสามารถออกแบบการใช้พลังงานของเราได้เองด้วย”
ชนกนันทน์ นันตะวัน สม-ดุล เชียงใหม่ ซึ่งทำงานในด้านสิ่งแวดล้อม มองถึงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งฝั่งประชาชน และสิ่งแวดล้อม
“เราอยู่ท่ามกลางวิกฤติเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราก็วิ่งไปข้างหน้าเพื่อจะหาอะไรมาทดแทน แต่เรากลับไปพยายามเยียวยาตัวเองและลดการใช้พลังงานลง การลดใช้พลังงานลงและการหานวัตกรรมใหม่ๆ มาทำให้การผลิตไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น มันจะยิ่งช่วยเราได้สองเท่า ปัจจุบันเราวิ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ทันแล้ว เราต้องออกแรงให้มากขึ้น มากไปกว่านั้นเรายังเข้าไม่ถึงข้อมูลอีกด้วย ตอนนี้ยังไม่มีใครได้เห็นแผน PDP ฉบับนี้จริงๆ และในอีกด้านหนึ่ง ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากแผนฉบับนี้จะมีอะไรบ้าง เพื่อจะให้เราในฐานะประชาชนชั่งน้ำหนักว่าเราจะเลือก หรือสามารถเลือกอะไรได้บ้าง แต่ ณ ปัจจุบันนี้เราแทบเลือกอะไรไม่ได้เลย เพราะกระบวนการในการตัดสินใจอยู่ที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผูกขาดในเรื่องพลังงานในตอนนี้ มันจะเป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต การบริหารจัดการที่มันผูกขาดอยู่ในตอนนี้จะกระจายลงสู่ภูมิภาค ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นบริหารจัดการและเลือกแหล่งพลังงานที่ตัวเองพอใจได้“
และสุดท้าย วัชราวลี คำบุญเรือง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะนักกฎหมายที่มีความสนใจในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมองว่า
“คนที่อ่านออกเขียนได้ หรือมีความรู้ประมาณหนึ่งก็ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือทำความเข้าใจแผน PDP นี้ได้ทั้งหมด เพราะภาษามีความเป็นเทคนิคมาก มีแต่ตัวเลข คนธรรมดาไม่เข้าใจ คำถามคือแล้วแผน PDP ใครเป็นคิด ใครเป็นคนทำ ประชาชนไม่เคยรู้เลยว่าอยู่ดีๆ แผนนี้มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง กลับกลายเป็นว่าทั้งหมดทั้งมวลในการทำแผน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทางมาจากฝ่ายบริหารหมดเลย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปเป็นเพียงแค่พิธีกรรม การจัดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เป็นกระบวนการที่สำคัญ แล้วต้องทำอย่างจริงจัง การอธิบายหรือภาษาที่ใช้ ภาครัฐต้องทำให้เห็นว่า ประโยชน์ ผลเสีย ผลกระทบที่มันจะเกิดขึ้น พลังงานรูปแบบไหนจะส่งผลกระทบต่อใคร ยังไงบ้าง มันไม่เห็นเลย แล้วประชาชนหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีใครตรวจสอบได้บ้าง ถ้าแผนมันออกมาแล้วสร้างผลกระทบให้แก่ประชาชน ไม่มีประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การคิดแผน และขั้นตอนในการอนุมัติอนุญาต ประชาชนแทบไม่มีอำนาจใดๆ เลย”
นอกจากนี้ในส่วนของการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอจากประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ชาวเหนือยังเสนอว่าไม่มีความจำเป็นที่ PDP 2024 จะยังคงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินไว้ที่ 7% เพราะเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก สามารถใช้พลังงานอื่น อย่างพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนได้ดังนั้น จึงควรปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะได้แล้ว แม้โรงไฟฟ้าจะสร้างงานในพื้นที่แต่ต้องแลกมาด้วยผลกระทบด้านสุขภาพของคนในพื้นที่ ซึ่งไม่คุ้ม และโรงไฟฟ้าถ่านหินก็มีส่วนสร้างปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนืออีกด้วย รวมไปถึงภาครัฐเองก็ต้องมีแผนปลดระวางโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทั้งช่วงเวลา จะลดการใช้ถ่านหินไปจนถึงการยกเลิกการใช้ถ่านหินด้วยวิธีใด จะใช้พลังงานอะไรมาทดแทน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการวางแผนการเปลี่ยนผ่านในด้านต่างๆ ทั้งคนงานที่ทำงานในโรงไฟฟ้า การพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ไปจนถึงการพัฒนาจังหวัดลำปางอีกด้วย
และอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมในภาคเหนืออย่างโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าขยะ ชาวเหนือพร้อมใจกันส่งเสียงไม่เอาโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงไฟฟ้าขยะ เพราะไม่เชื่อใจในกระบวนการและคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายผังเมืองที่ทำให้โรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ มาตั้งในชุมชนได้โดยไม่ต้องทำ EIA ซึ่งสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน นอกจากนั้นยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่ตอบโจทย์การใช้เศษวัสดุที่เหลือใช้จากการเกษตรมาผลิตไฟฟ้า เพราะสุดท้ายต้องตัดไม้มาเผาเพื่อเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนั้นยังต้องนำเข้าเชื้อเพลิงจากพื้นที่อื่น เนื่องด้วยในพื้นที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลไม่มีวัสดุเพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่แล้ว ต้องมีการเยียวยาให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบให้คุ้มกับความเสียหาย หรือหากชุมชนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เนื่องจากโรงไฟฟ้า ต้องย้ายออก ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
ในส่วนของการจัดทำแผน PDP นั้น ชาวภาคเหนือเห็นว่า ควรมีการทำแผน PDP จากระดับล่างขึ้นบน เช่น ในระดับจังหวัด ซึ่งต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม เพื่อกำหนดภาพอนาคตในแต่ละพื้นที่ว่าอยากจะเป็นแบบไหน อยากจะได้อะไร ไม่อยากจะได้อะไร แผน PDP ไม่ควรเป็นแผนจากบนลงล่าง ที่ทำจากหน่วยงานรัฐเพียงฝ่ายเดียว มากไปกว่านั้นในการจัดทำแผน ต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบมาก่อน มาใช้ในการพิจารณาทำแผน PDP ด้วย และควรมีการระบุเรื่องความรับผิดชอบ การฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วยในแผน PDP ด้วย
JustPow ขอเชิญชวนผู้ใช้ไฟทุกภาคทั่วประเทศร่วมโหวตความเห็นต่อร่างแผน PDP 2024 เพื่อรวบรวมเป็นข้อเสนอไปยังภาครัฐ โดยสามารถเข้าไปโหวตได้ที่ https://forms.gle/TSbYPrVWLQyRmG3L6 ซึ่งประเด็นในการโหวตความคิดเห็นต่อร่างแผน PDP2024 นี้มาจากประเด็นที่อยู่ในเอกสาร “13 ข้อสังเกตต่อร่างแผน PDP2024” ซึ่งจัดทำโดย JustPow https://justpow.co/project-ebook-pdp/ |
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ