ทวิภาษาเป็นเรื่องดีแต่ควรระมัดระวังในการนำไปใช้ ข้อกังวลผู้นำศาสนา 'คำมลายูใช้อักษรไทย'

อับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 5 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7085 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้ : โอกาสและความท้าทาย" ที่ ม.อ.ปัตตานี (ออนไลน์เช้า อินไซด์บ่าย) และที่รัฐสภาทาง zoom ออนไลน์

ท่านจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) สะท้อนต่อเรื่องนี้ว่า “เราปล่อยให้ประชากรกว่า 1.8 ล้านคนที่มีภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้รับการศึกษาจากการเรียนการสอนที่ไม่ได้ใช้ภาษาแม่ สำหรับผมถือเป็นเรื่องใหญ่มากเช้านี้ผมมาเป็นประธานในการ Workshop “การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้: โอกาสและความท้าทาย” (Mother Tongue-Based Education) ที่กมธ.สันติภาพชายแดนภาคใต้ฯ จัดร่วมกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้ดึงผู้เชี่ยวชาญในหลายหลากสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศมาระดมความคิดเห็น อาทิ Prof.Joseph Lo Bianco ศาสตราจารย์ด้านภาษา การเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมและการสร้างสันติภาพ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และ Prof. Tejendra Pherali ศาตราจารย์ด้านการศึกษา ความขัดแย้งและสันติภาพจาก University College London

ก่อนหน้านี้เราได้ลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้และทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทยเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง และพบข้อเท็จจริงในหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำที่สุดในประเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งการจัดการศึกษาโดยใช้ภาษาแม่ในชายแดนภาคใต้คือภาษามาลายูได้เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีหน่วยงานต่าง ๆ ศึกษาต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปีจนมีข้อค้นพบว่าทำให้เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น

ในสมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้ทำงานร่วมกับ Summer institute of linguistics-SIL เพื่อนำร่องการใช้ภาษามาลายูในการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีประสบการณ์จัดการศึกษาโดยภาษาแม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกหลายร้อยแห่ง และพบว่าการใช้ภาษาแม่เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นครั้งแรกจะทำให้เด็กสนใจเรียน มีความคิดสร้างสรรค์ และผลการศึกษาดี สอดคล้องกับงานวิจัยของยูเนสโกที่ระบุว่าการสอนภาษาแม่ควบคู่กับภาษาที่สอง (หรือภาษาประชาชาติ) ทำให้การเรียนภาษาที่สองและวิชาอื่น ๆ ดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามถ้านักเรียนได้รับการสอนที่ไม่ใช่ภาษาแม่ ความสามารถในการเรียนรู้จะลดลง จึงทำให้นักวิชาการทั่วโลกถือว่าการกีดกันเด็กจากการศึกษาโดยภาษาแม่คือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอย่างหนึ่งต่อมาผมได้นำ กมธ.เข้าพบนายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย นำมาสู่การพูดคุยหารือในประเด็นการใช้ภาษาแม่ในการจัดการศึกษา เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาราชการถึง 4 ภาษา และเด็กทุกคนมีสิทธ์เรียนโดยใช้ภาษาแม่เมื่อเข้าเรียนในชั้นเด็กเล็ก จากนั้นเมื่อเรียนในชั้นสูงขึ้นมาเด็กสามารถเลือกเรียนในภาษาราชการที่ตนสนใจได้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้มีการจัดตั้ง “คณะทํางานพิจารณาศึกษาการใช้ภาษาแม่เป็นสื่อในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา” ขึ้นมารวมถึงการจัด Workshop ในวันนี้ด้วย ซึ่งผมเองมี 4 ประเด็นตั้งคำถามไว้เพื่อฝากในทุกท่านที่มาร่วมงานได้ช่วยกันระดมความเห็น ได้แก่

1. การใช้ภาษาแม่เป็นสื่อการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพอย่างไร และจะแตกต่างจากการใช้ภาษาประจำชาติอย่างเดียวอย่างที่ทำกันอยู่หรือไม่อย่างไร

2. การสอนภาษาไทยกับเด็กที่มีภาษาแม่ไม่ใช่ภาษาไทย เช่น เด็กชายแดนใต้ที่ใช้ภาษามลายู คือสอนภาษาไทยกับเด็กเหล่านี้แบบเดียวกับที่สอนเด็กในจังหวัดอื่นที่ใช้ภาษาไทยตั้งแต่เกิด 100% อย่างที่ทำกันอยู่นี้เป็นปัญหาหรือไม่

3. จากข้อที่ 2 เราสอนภาษาไทยกับเด็กที่มีภาษาแม่เป็นภาษามลายูด้วยวิธีการที่ผิดใช่หรือไม่

4. การจัดการเรียนการสอนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ต้องทำอย่างไร

หลายคนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคทางภาษาศาสตร์ที่เป็นประเด็นเล็กๆ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจให้ดีเราจะพบว่านี่คือเรื่องใหญ่มากที่เราปล่อยให้ประชากรกว่า 1.8 ล้านคนที่มีภาษาแม่ที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้รับการศึกษาจากการเรียนการสอนที่ไม่ได้ใช้ภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาที่พวกเขาไม่เข้าใจ เรื่องนี้สำหรับผมถือเป็นเรื่องใหญ่มากและเป็นเรื่องใหญ่ในระดับสากล ซึ่งนำมาสู่คำถามว่าประเทศไทยเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนและจะทำอย่างไรที่เราจะจัดการเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้อง

วันนี้เราจะสนับสนุนให้ใช้ภาษาแม่ในการจัดการเรียนการสอนแต่เมื่อเด็กโตขึ้นมาก็ต้องขยับมาเรียนภาษาประจำชาติ เพราะถึงอย่างไรประชาชนทุกคนก็มีสิทธิ์เข้าถึงภาษาประจำชาติเพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับคนในประเทศเช่นกัน

ทั้งนี้ข้อสรุปและข้อค้นพบจากการจัด workshop ครั้งนี้จะนำไปทำเป็นข้อเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายงานของ กมธ. ที่เตรียมเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนกรกฎาคมนี้ครับ”

จากทัศนะของท่านจาตุรนต์ ฉายแสง นั้น ในการเสวนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นชายแดนใต้ มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง

จุดร่วมคือในที่ประชุมเห็นสอดคล้องกันว่า การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐานในชายแดนใต้นั้นเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนอีกทั้งควรขับเคลื่อนในแง่นโยบายสาธารณะ

ในขณะที่เห็นแตกต่างกันคือ ปัจจุบันการสอนภาษาไทยกับเด็กมลายูชายแดนใต้ในโรงเรียนนำร่องของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ สอนภาษาไทยด้วยการสอนภาษามลายูด้วยอักษรไทย เช่นคำว่า Saya แปลว่า ฉัน เขียนด้วย สายอ ซึ่งกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยเพราะทำให้นักเรียนเข้าใจภาษาไทยได้เร็วขึ้น อันส่งผลต่อคะแนนนวัดผลประเมินระดับชาติ O-NET กล่าวคือ

“ยูนิเซฟจึงได้ร่วมมือกับ ม.มหิดล ม.ราชภัฏยะลา กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงครูและผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการศึกษาแบบทวิ–พหุภาษา (ภาษาไทย-ภาษามลายูถิ่น) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยปฏิบัติการที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 พบว่าเด็กที่ศึกษาในโครงการวิจัยแบบทวิ-พหุภาษามีประสิทธิผลทางการเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กในโรงเรียนเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ เมื่อเทียบผลการเรียนของเด็กในโรงเรียนนำร่องโครงการวิจัยกับโรงเรียนที่เป็นคู่เทียบ พบว่าเด็กที่เข้าร่วมในโรงเรียนนำร่อง “อ่านเขียนภาษาไทยเก่งขึ้น” “มั่นใจมากขึ้น” และ มีคะแนน O-NET ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กนักเรียนในโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่นอกโครงการ ยูนิเซฟจึงเสนอให้รัฐบาลไทยพัฒนาโครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ไปสู่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพื่อขยายผลอย่างเต็มรูปแบบ”

(อ่านรายงานเพิ่มเติมใน https://www.unicef.org/thailand/media/1287/file/รายงาน%20สะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตอันสดใส.pdf)

ในขณะอีกกลุ่มหนึ่งเห็นต่างโดยเฉพาะผู้นำศาสนาและการศึกษาอิสลาม คือไม่เห็นด้วยและมองว่า เป็นหนึ่งในนโยบายกลืนกลายทางภาษา-วัฒนธรรมที่มีพลวัตมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งจะยิ่งเป็นระเบิดเวลาสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มเห็นต่างนำไปขยายผลต่อต้านรัฐ

ดังนั้นข้อเสนอการสอนด้วยภาษาแม่หรือภาษามลายูซึ่งชายแดนใต้ภาษามลายูซึ่งที่นี่มีทั้งภาษาพูดและเขียนของตัวเอง ก็ควรใช้อักษรยาวี-รูมี ส่วนการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพ ก็ควรสอนภาษาไทยที่ชายแดนใต้แตกต่างจากเด็กที่ใช้ภาษาแม่ คือการสอนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง เหมือนการสอนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษากับภาษาที่สองในประเทศต่างๆ

(อ่านรายงานการวิจัยสนับสนุนใน https://so03.tci-thaijo.org/index.php/mekongjournal/article/download/119683/91476/310648)

ช่วงท้าย มีข้อเสนอแนะหนึ่งคือ การสร้างทางเลือกหลายๆทางเลือกแล้วเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เลือกทางเลือกต่างๆดังกล่าว ในการขับเคลื่อนในหลักสูตรหรือทางเลือกต่างๆให้มีประสิทธิภาพ และปฏิบัติได้จริงคือการกระจายอำนาจทางการศึกษา

สำหรับหัวใจของการกระจายอำนาจทางการศึกษานั้นต้องกระจายทั้งอำนาจการบริหารจัดการ คนและงบประมาณ เพื่อสามารถร่วมออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ มิใช่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นแต่ทุกพื้นที่การศึกษาในทุกภูมิภาคของประเทศไทยอันจะนำไปสู่พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษามากมายและจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เท่ากับสถาการณ์โลกในอนาคตที่สำคัญสุดมันจะเป็นรากฐานการกระจายอำนาจการปกครอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: