CPF แถลงย้ำไม่ใช่ต้นตอระบาดปลาหมอคางดำ นำสื่อมวลชนบางส่วนดูพื้นที่นำเข้า

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4215 ครั้ง

CPF แถลงย้ำไม่ใช่ต้นตอระบาดปลาหมอคางดำ นำสื่อมวลชนบางส่วนดูพื้นที่นำเข้า

CPF แถลงข่าวย้ำไม่ใช่ต้นตอระบาดปลาหมอคางดำ นำสื่อมวลชนบางส่วนดูพื้นที่นำเข้า - เผยดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้ภาพและข้อมูลเท็จไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อปกป้องชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของบริษัทฯ

Thai PBS และ ผู้จัดการออนไลน์  รายงานว่าจากกรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ เอเลียนสปีชีส์ที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศ เพราะจัดเป็นปลานักล่าที่รุกรานสัตว์น้ำพื้นถิ่นหมดสิ้น รวมทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร

กระแสสังคมและนักเคลื่อนไหวพุ่งเป้าไปที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวหาว่าเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด โดยมีการปล่อยภาพลงบนโซเชียลมีเดีย ทั้งภาพถ่ายทางอากาศที่โยงไปว่าเป็นบ่อเลี้ยงปลาหมอคางดำ ภาพที่อ้างว่าเป็นสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สาร และภาพที่อ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ

ซึ่งทางบริษัทฯ แถลงข่าวไปครั้งหนึ่งแล้ว ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และสำนักกฎหมายของซีพีเอฟได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้ภาพและข้อมูลเท็จไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อปกป้องชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของบริษัทฯ

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ 

แต่เนื่องจากการแถลงข่าวเพียงอย่างเดียว สื่อมวลชนและสังคมอาจไม่เห็นภาพมากพอ ทำให้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ "ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ" และคณะ จึงได้เชิญสื่อมวลชนแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลเมื่อปี 2553 พร้อมกับนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร (ฟาร์มยี่สาร) ด้วยตัวเอง

สาระสำคัญของการแถลงข่าวในวันนั้น เน้นย้ำว่าปลาหมอคางดำที่นำเข้าจากประเทศกานาเมื่อปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว ตายและเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรค ในระยะเวลาเพียง 16 วัน โดยที่ยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัยด้วยซ้ำ เมื่อไปต่อไม่ได้เพราะปลาที่รอดเหลือเพียงแค่ 50 ตัวและอ่อนแอเกินไป ไม่พอกับการวิจัย จึงไม่ไปต่อและแจ้งยกเลิกโครงการไปตั้งแต่ปี 2554

สำหรับศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร ซีพีเอฟ หรือฟาร์มยี่สาร ตั้งอยู่เลขที่ 78 หมู่ที่ 4 ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ปัจจุบันกลายเป็น ศูนย์วิจัยการเลี้ยงกุ้งและเทคโนโลยีชีวภาพ ยี่สาร บนพื้นที่ 480 ไร่ โดยมีลำคลองธรรมชาติไหลผ่าน ได้แก่ คลองบางยาว คลองหลวง และคลองดอนจั่น รับน้ำจากแม่น้ำแม่กลองใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

แต่เดิมศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์สัตว์น้ำจืดยี่สาร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลา คือ ปลานิล ปลาทับทิม และปลาทะเล 2. พื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง และ 3. ระบบบ่อพักน้ำ ที่สูบน้ำจากคลองดอนจั่นและคลองหลวงมากักเก็บไว้เป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีค่าความเค็มของน้ำมากพอที่จะนำมาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ปัจจุบันพื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลาได้ปรับปรุงให้เป็น "พื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้ง" ประมาณ 95% มีเพียง "พื้นที่งานวิจัยปลา" เป็นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 5% เท่านั้นที่ยังคงอยู่ โดยจุดที่เคยกักกันโรคลูกปลาหมอคางดำเดิม ที่นำเข้าจากประเทศกานา จะอยู่ที่โรงเรือนเล็กๆ ด้านในเป็นบ่อซีเมนต์ ขณะที่ระบบบ่อพักน้ำจากเดิมเป็นบ่อพักขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้ถูกแบ่งย่อยสำหรับฟาร์มกุ้ง

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ 

จุดแรกที่ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟแนะนำ คือ "ระบบบ่อพักน้ำ" ลึก 2.5 เมตร ปูด้วยพื้นยางหนา 0.75 ถึง 1 มิลลิเมตร ป้องกันการรั่วซึมไปยังน้ำผิวดิน และมีระบบรองรับ ที่หากพบว่ามีน้ำรั่วก็สามารถสูบน้ำออกไปยังบ่อข้างเคียงเพื่อทำการซ่อมแซมพื้นยางได้ เมื่อสูบน้ำจากคลองเข้ามาที่ระบบบ่อพักน้ำแล้ว การนำน้ำมาใช้จะมีการเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่เรียกว่า ไบโอบอลล์ (BIOBALL) เพื่อบำบัดน้ำเสียและปรับสภาพน้ำก่อนการเพาะเลี้ยง

เมื่อนำน้ำไปใช้ และกลายเป็นน้ำเสียหลังการเพาะเลี้ยง จะมีการเติม คลอรีน 50 ppm ก่อนนำเข้าสู่บ่อบำบัดแล้วนำกลับมาใช้หมุนเวียน โดยไม่มีการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใดๆ แต่น้ำอาจจะระเหยไปในอากาศ เนื่องจากอากาศร้อนตามธรรมชาติ จึงต้องมีการสูบน้ำในคลองเข้ามาใช้ในฟาร์มยี่สารทดแทน

ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟกล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบบ่อพักน้ำเคยมีคณะของกรมประมง และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำการเก็บตัวอย่างในบ่อพักน้ำ แต่ยืนยันว่าไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำในบ่อพักน้ำตามที่ถูกกล่าวหา

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ 

สำหรับลูกปลาหมอคางดำ 600 ตัวที่รอดชีวิตแต่มีสภาพอ่อนแอ ขณะนั้นนำไปกักกันโรคในถังซีเมนต์ ภายในโรงเรือนเล็กๆ บนพื้นที่งานวิจัยปลา จำนวน 1 บ่อ บรรจุน้ำ 8 ตัน มีกำหนดในการกักกันโรค 2 เดือน แต่ปรากฏว่าลูกปลาหมอคางดำเสียหายทั้งหมดในเวลาเพียง 16 วัน จึงได้ปิดโครงการไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 2554 และไม่มีการวิจัยใดๆ อีก

ยืนยันว่าปลาหมอคางดำยังไม่ได้เพาะเลี้ยงในบ่อดินตามที่ถูกกล่าวหา เพราะในเวลานั้นพื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลามีแต่ปลาทับทิม ปลานิล และปลาทะเล เลี้ยงในกระชังเท่านั้น

ส่วนลูกปลาที่ตายอีก 1,400 ตัว ได้แช่ ฟอร์มาลิน เป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อฆ่าเชื้อโรค กำจัดพาราสิต ก่อนฝังกลบด้วยปูนขาวอีกครั้งที่ลานฝั่งตรงข้ามโรงเรือน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของอาคารวิจัยปลาอีกหลังหนึ่ง ส่วนน้ำที่ผ่านการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ในขณะนั้นทางซีพีเอฟเติมคลอรีนสูงกว่าปกติถึง 100 ppm จึงมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นตอของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างแน่นอน

สำหรับข้อกังวลที่ว่าลูกปลาที่ตายไปยังมีไข่อยู่ในตัวปลาหรือไม่ ทางซีพีเอฟ ยืนยันว่าลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้ามาเพื่อวิจัยเป็นปลาตัวเล็ก จึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งโดยปกติปลาหมอคางดำวางไข่ได้จะต้องมีอายุประมาณ 4-6 เดือน ส่วนข้อกังวลถึงลูกปลาหมอคางดำที่ถูกฝังไปแล้วนั้น ได้ผ่านการแช่ฟอร์มาลินและโรยปูนขาวก่อนทำการฝัง และเมื่อเวลาผ่านไปหลายปี จึงย่อยสลายไปตามธรรมชาติแล้ว

ปัจจุบันโรงเรือนที่เคยเป็นจุดกักกันโรคลูกปลาหมอคางดำยังคงอยู่ พร้อมกับถังซีเมนต์ และถังบรรจุไบโอบอลล์ โดยที่ผ่านมาได้ปรับปรุงถังซีเมนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ 

ส่วนพื้นที่บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลา ถูกแทนที่ด้วยพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งระบบปิด ที่ชื่อว่า ระบบไบโอฟล็อก (BIOFLOC) โดยใช้บ่อกลมแบบยกสูงลอยจากพื้น ขนาด 800 ตารางเมตร พร้อมกับหลังคาคลุมคล้ายโรงเรือนปลูกพืช เพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง และไม่ให้น้ำฝนชะล้างน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง เพื่อให้คุณภาพน้ำยังคงที่ และอัตราการรอดสูง

โดยน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งก็เป็นระบบหมุนเวียน โดยมีระบบเปลี่ยนถ่ายน้ำ มีการเพิ่มออกซิเจนและจุลินทรีย์ ช่วยลดการใช้น้ำลงได้ถึง 20% เมื่อเทียบกับการเลี้ยงกุ้งแบบปกติ ที่ผ่านมาได้ผลผลิต 10-15 ตัน มีการนำไปใช้แล้วกับฟาร์มกุ้งกว่า 20 แห่ง

สำหรับภาพบนสื่อโซเชียลที่ระบุว่าปลาหมอคางดำมีการเลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ปี 2553-2560 นั้น จากการสำรวจโดยรอบฟาร์มยี่สารพบว่าบรรยากาศแตกต่างจากภาพบนสื่อโซเชียลฯ โดยเฉพาะริมบ่อพักน้ำฝั่งริมคลองยังมีแนวต้นไม้ริมคลอง ซึ่งจากการสอบถามกับประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟยืนยันว่า ภาพที่ถูกเผยแพร่ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และไม่มีการเลี้ยงปลาหมอคางดำต่อเนื่องตามที่กล่าวอ้าง

เช่นเดียวกับภาพที่อ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์ ผสมพันธุ์ แล้วนำไปอนุบาลในกระชัง ในฟาร์มยี่สารนั้น ซีพีเอฟยืนยันว่าไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำอย่างที่กล่าวอ้าง และไม่ใช่ฟาร์มยี่สารอีกด้วย

ประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟย้ำว่า เรื่องปลาหมอคางดำ มีการให้ข่าวและใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่มีนโยบายที่จะไปแจ้งความใคร แต่เมื่อข้อมูลถูกบิดเบือนไปพอสมควร จึงต้องขอความเป็นธรรมจากการที่ชื่อเสียงเสียหาย ด้วยการแจ้งความดำเนินคดี เพราะถ้าไม่แสดงจุดยืนให้ชัดเจน ก็ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย

ที่มาภาพ: ผู้จัดการออนไลน์ 

 

รายละเอียดการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567

ก่อนหน้านั้น ประชาชาติธุรกิจ  รายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ว่านายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และคณะได้แถลงข่าวชี้แจงรายละเอียด ความสงสัยในประเด็นของต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยสรุป 6 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) บริษัทยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัยเนื่องจากลูกปลาเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรค เป็นระยะเวลาเพียง 16 ตั้งแต่ 24 ธ.ค. 2563 ถึงวันที่ 6 ม.ค. 2564

2) บริษัทได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการขอนำเข้าตามหลักมาตรฐาน

3) มีการใช้ข้อมูลเท็จผ่านสื่อ ซึ่งบริษัทอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี

4) เหตุใดจึงมีการส่งออกปลาหมอคางดำกว่า 300,000 ตัวในลักษณะปลาสวยงามที่มีชีวิตไป 17 ประเทศในช่วงปี 2556-2559

5) เหตุใดจึงมีการระบาดของปลาหมอบัตเตอร์ ทั้งทีเป็นปลาที่ห้ามนำเข้า หรือเพาะเลี้ยง

6) งานวิจัยของกรมประมงในปี 2563 และ ปี 2565 ที่มีการนำมากล่าวอ้างยังมีข้อสงสัยในหลายข้อ

นายประสิทธิ์เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องปลาหมอคางดำ มาจาก โครงการปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ในปี 2549

“การพัฒนาพันธุ์ไม่มีใครรู้คำตอบหรอก ว่าผลวิจัยจะเป็นอย่างไร เพียงแต่เรามีไอเดียเมื่อปี 2548-2549 ว่าจะพัฒนาปลานิลซึ่งมีปัญหาในบางจุดจึงนำเอาปลานิลสายพันธุ์อื่นที่มีความหลากหลายเข้ามา หลักคิดก็มีเพียงเท่านั้น ตอนนั้นแนวคิดนี้เกิดจากการประชุม World Fish Conference ที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่มีการพูดถึงปลานิลสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้เกิดไอเดียว่าจะมีการนำเข้าปลาสายพันธุ์อื่นมาพัฒนาสายพันธุ์ แต่ไม่ได้นำเข้าในทันทีเมื่อปี 2549 แต่ปลายทางไม่สามารถหาพันธุ์ปลาให้ได้จึง เพิ่งจะได้มานำเข้าในปี 2553”

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ นำเข้าลูกปลาที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron หรือชื่อภาษาไทย คือ ปลานิล จากประเทศกานา จำนวน 5,000 ตัว แต่ ปี 2549 ทางปลายทางไม่สามารถหาปลาหมอคังดำให้ได้จึงเลื่อนมานำเข้าในปี 2553 ได้เพียง 2,000 ตัว มาทดลองปรับปรงพันธุ์ปลานิล เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อลดการเกิดเลือดชิด (การปรับปรงพันธุ์) ของสายพันธุ์ที่มีอยู่เพื่อทดลองประสิทธิภาพการเจริญเติบโต และประเทศกานาเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมและไม่ได้ทำการคัดพันธุ์ จึงน่าจะยังคงความหลากหลายของยีนส์

สำหรับกระบวนการวิจัยมี 4 สเตจ คือ ขออนุญาต นำเข้า วิจัย และสรุปผลโครงการ ดังนี้

(1) ขออนุญาต

1.1 เลือกชนิดปลา, สายพันธุ์ที่จะนำเช้า

1.2 ขออนุญาตนำเข้าจากกรมประมง

ซึ่งข้อปฏิบัติของกรมประมง จะต้อง

1.เข้าที่ประชุมคณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (IBC) พิจารณา

2.ออกใบอนุญาต

3.แต่งตั้งคณะกรรมการย่อยเพื่อติดตามโครงการ

(2) นำเข้า

2.1 นำเข้าและตรวจสภาพปลา

2.2 นำไปไว้ในบ่อกักกันโรคระยะเวลา 60 วัน

2.3 ประเมินความแข็งแรง

ข้อปฏิบัติของกรมประมง

1.เจ้าหน้าที่ตรวจสัตว์น้ำที่ด่านตรวจสัตว์น้ำ

นายประสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า การเอาปลาสายพันธุ์ใหม่เข้ามาต้องมีการกัดกันโรคก่อนเพื่อป้องกันการนำเชื้อจากฟาร์มอื่นเข้ามาแพร่ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกับกัดการกัดกันโรคของคนที่มีการเดินทางไปต่างประเทศบางประเทศก็จะต้องมีการกักตัวและฉีดวัคซีนบางอย่าง

(3) วิจัยลักษณะเด่น

3.1 ทดสอบลักษณะเด่นของ สายพันธุ์ เช่น ทนเค็มได้หรือไม่

3.2 ระยะเวลา แบบ Direct shock 15 วัน และแบบ Gradually increase salinity รวมระยะเวลา มากกว่า 3 ปี

ใน ขั้นตอนนี้ ข้อปฏิบัติของกรมประมง จะต้องมีเจ้าหน้าที่เก็บครีบโดยไม่ทำให้ปลาตาย

และ เจ้าหน้าที่ติดตามและตรวจสอบตลอดโครงการวิจัย ทุกเดือน (โดยประมาณ)

(4) สรุปโครงการ

4.1 สรุปผลโครงการวิจัย

4.2 ยืนขออนุญาตทดลองรุ่นต่อไป

ข้อปฏิบัติของกรมประมง

1.ติดตามสรุปผลการทดลอง

2.ตรวจสอบซากและหลักฐานการทำลาย

เปิด Timeline การขนส่งปลาหมอคางดำ

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้เริ่มทำการวิจัยเนื่องจากลูกปลาเสียหายทั้งหมดในขั้นตอนกักกันโรค เป็นระยะเวลาเพียง 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค. 2553 ถึงวันที่ 6 ม.ค. 2564

โดยลำดับเหตุการณ์ ดังนี้ วันที่ 24 ธ.ค. 2553 เวลา 20.00 น. บริษัทได้เดินทางมารับปลาที่นำเข้าจากกาน่า จำนวน 2,000 ตัวที่ด่านกักสัตว์น้ำสุวรรณภูมิโดยปลาที่นำเข้าเป็นลูกปลาที่มีขนาดเล็ก บรรจุอยู่ในถุงพลาสติก ที่มีการอัดเอาออกซิเจนเข้าไปเดินทางด้วยการขนส่งมากกว่า 35 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกปลาตายระหว่างการเดินทาง 1,400 ตัวเหลือลูกปลา 600 ตัว

ต่อมาในเวลา 23.00 น. วันเดียวกัน บริษัทได้นำลูกปลาส่วนที่เหลือไปไว้ในบ่อกักโรค ที่ฟาร์ม ในศูนย์วิจัยการเลี้ยงกุ้ง และเทคโนโลยีชีวภาพ ยี่สาร จ. สมุทรสงครามมาส่วนปลาที่ตายทั้งหมด 1,400 ตัวได้ฝังตามกระบวนการที่กระทรวงกำหนด ทั้งการขุดหลุมลึก 50 cm โรยปูนขาวรองพื้นก่อนจากนั้นนำซากปลาที่แช่ฟอร์มาลีนมาฝังและโรยทับด้วยปูนขาวอีกชั้นหนึ่ง

หลังจากที่เลี้ยงและดูแลปลาส่วนที่เหลือก็ยังพบว่าปลายังทยอยตาย ผู้ดูแลได้มีการปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมงว่าลูกปลาไม่แข็งแรงและไม่เพียงพอต่อการวิจัย (การวิจัยเพื่อให้ได้ผลเป็นประสิทธิภาพต้องมีปลา 250 คู่หรือประมาณ 500 ตัว) เจ้าหน้าที่ให้เก็บตัวอย่างปลาใส่ขวดโหลแซ่ฟอร์มาลีนมาส่งที่กรมประมงสัปดาห์ที่ 2 เก็บ

ตัวอย่างปลา 50 ตัวดองฟอร์มาลีนเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานสัปดาห์ที่ 3 วันที่ 6 ม.ค. 2554 นำตัวอย่างปลาไปส่งและแจ้งปิดโครงการแก่เจ้าหน้าที่กรมประมง

“ปลาที่นำเข้ามาตายตั้งแต่แรกจำนวน 2 ใน 3 ส่วนที่เหลือเราก็เลี้ยงอย่างประคบประหงม ดูว่าจะมีปลาเหลือรอดสำหรับการวิจัยได้เพียงพอที่จะทำให้ผลการวิจัยออกมาสมบูรณ์หรือไม่ แต่ในที่สุดเพียง 16 วันปลาก็ตายจนเหลือไม่เพียงพอ จึงได้ยุติก่อนที่จะเริ่มการวิจัย”

“และ จากขั้นตอนจะเห็นว่าขั้นตอนในการวิจัยจะต้องใช้เวลามากกว่า 3 ปีซึ่งวงจรชีวิตปลาชนิดนี้จะต้องมีการเลี้ยง 1 รอบใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือนเท่ากับว่าปีนึงจะเลี้ยงได้แค่เพียง 2 รอบเราต้องการการเลี้ยงมากกว่า 5-6 รอบจึงไม่เหมาะสมที่จะนำมาวิจัย”

เปิดภาพผังฟาร์มวิจัยปลาหมอคางดำ

พร้อมกันนี้บริษัทได้จัดทำและนำแผนผังของฟาร์มออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก เปรียบเทียบระหว่างปี 2553 และปีปัจจุบัน เพื่อยืนยันว่า โซนของบ่อกักโรคจะอยู่ในอาคารแยก และไม่สามารถเชื่อมโยงถึงแหล่งน้ำภายนอกได้

จุดกักกันโรคลูกปลาหมอคางดำ 600 ตัวได้ถูกนำมาพักในบ่อลักษณะเป็นบ่อปูนซีเมนต์ขนาดความจุน้ำ 8 ตัน ตามกำหนดจะกัก 60 วันแต่ตายเสียก่อนซึ่งจุดนี้อยู่มนอาคารที่มีหลังคาในระบบปิด กระบวนการนี้เป็นช่วงเวลาของการกักกันโรค (Quarantine) ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio-securities) แยกส่วนออกจากบ่อเลี้ยงโดยบ่อเลี้ยงปลาสำหรับการวิจัยซึ่งบ่อนี้ก็จะอยู่คนละส่วนกับบ่อเลี้ยงกุ้ง (ตามภาพ) เมื่อปลาผ่านการกักโรคและแข็งแรงจัถูกนำมาเลี้ยงในบ่อวิจัยโดยจะเลี้ยงในกระชังเท่านั้น ตามระบบ normal practice

ดังนั้น คำกล่าวอ้างที่ว่าฟาร์มยี่สารมีแต่บ่อดินและเลี้ยงปลาหมอคางดำในบ่อดินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553-2560 จึงเป็นข้อความเท็จและบิดเบือน

“บ่อพักน้ำที่อยู่โดยรอบฟาร์มที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ที่มีการตรวจสอบเมื่อปี 2560 และพบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ในนั้นตามที่เป็นข่าวบริษัทขอชี้แจงว่า บริเวณบ่อพักน้ำจะมีการสูบน้ำจากแหล่งน้ำภายนอกเข้ามาสำรองใช้ในฟาร์มในแต่ละปีโดยกำหนดจำนวนครั้ง เพื่อรักษาสภาพความของน้ำที่จะต้องมีความกร่อยด้วย แต่จะไม่มีการถ่ายน้ำออกไปภายนอกเพราะน้ำระหว่างบ่อพักน้ำและบ่อวิจัยจะมีการ circulate กัน”

ปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าปลา

“ในปี 2549 การนำเข้าปลาหมอคางดำยังไม่ถูกจัดให้เป็น สิ่งต้อง ห้ามนำเข้า แต่การจะนำเข้าจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมประมง โดยผ่านคณะกรรมการ IBC และต้องนำเข้าภายใต้กฎหมายที่กำหนดซึ่งมีความแตกต่างกันระหว่างเงื่อนไขในปี 2549 และปี 2553 ต่อมา ภายหลัง ปี 2561 จึงได้เปลี่ยนแปลงโดยกำหนด ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าเลย”

ทั้งนี้ เงื่อนไขในการนำเข้าปี 2549 เป็นไปตามหนังสือ กษ0510.2/15622 ประกอบด้วย เงื่อนไข

1) กรมประมงขอเก็บตัวอย่างครีบภายหลังการนำเข้า

2) กรมประมงขอทราบผลการศึกษาอัตราการเจริญเติบโตเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม

3) หากผลการศึกษาที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ประสงค์จะทำการศึกษาต่อ ต้องทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมด

ส่วนเงื่อนไขในที่ประชุมคณะกรรมการ IBC 22 เมษายน 53 ประกอบด้วย

1) กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบ โดยไม่ทำให้ปลาตายอย่างน้อย 3 ตัว

2) เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้ผู้นำเข้าแจ้งผลการทดลองแก่กรมประมง

3) ในกรณีที่การทดลองได้ผลไม่ดี ผู้ขอนำเข้าไม่ประสงค์จะใช้ปลาต่อไป ขอให้ทำลายและเก็บซากไว้ให้กรมประมงตรวจสอบ

แต่ในหนังสือ กษ 0510.2/3835 วันที่ 28 เม.ย. ปี 2553 กลับแจ้งเพียงว่า “เก็บตัวอย่างครีบดอง ในน้ำยาเก็บ ตัวอย่าง ส่งมาที่กลุ่มความหลากหลายทาง ชีวภาพสัตว์น้ำ และให้แจ้งที่ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2558 xxxx

และ 2) เมื่อสิ้นสุดการทดลองให้รายงานผลการศึกษาหากผลการศึกษาที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ประสงค์จะทำการศึกษาต่อ ให้ทำลายปลาชุดดังกล่าวทั้งหมด โดยแจ้งกรมประมงเพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการทำลายต่อไป”

“ประเด็นในการเก็บครีบตามเงื่อนไขแรกที่ให้เก็บครีบหลังจากที่ขนส่งปลาเข้ามากำหนดให้ต้องทำในขณะที่ปลาโตอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะเก็บแล้วปลาไม่ตาย แต่ปรากฎว่าพอนำมาเลี้ยงเพียง 16 วันปลาตายจึงไม่สามารถเก็บครีบได้”

ส่วนเงื่อนไข 3 การเก็บตัวอย่างปลาหลังสิ้นสุดการวิจัย ซึ่งจะเห็นว่ามติทาง IBC กำหนดให้กรมประมงเป็นผู้เก็บแต่ในหนังสือของกรมประมงไม่ได้ระบุว่าให้ใครเป็นผู้เก็บจึงทำให้เกิดสับสนกันในทางปฏิบัติว่าใครควรจะต้องเป็นผู้เก็บ

โดยบริษัทเข้าใจได้ว่าเหตุผลที่ IBC กำหนดให้กรมประมงต้องเป็นผู้เก็บครีบเองเพราะว่าการเก็บครีบนำไปส่งนั้นมีความสำคัญมากเพราะ หากให้เอกชนผู้วิจัยเป็นผู้เก็บก็อาจจะทำให้ไม่มั่นใจว่าเป็นการเก็บครีบของปลาชนิดใด เป็นปลาตามที่ขออนุญาตหรือไม่ ดังนั้นจึงควรต้องให้กรมประมงเป็นผู้เก็บด้วยตัวเอง และการเดินทางมาตรวจตามจะมีส่วนสำคัญทำให้ กรมมีโอกาสเข้ามาตรวจสอบและดูแลในพื้นที่ทำวิจัยได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนประเด็นเรื่องการสั่งทำลายซากปลานั้นทางบริษัทขอยืนยันว่ากระบวนการปักซากปลาได้มีการแบ่งทำหลายครั้งครั้งแรกฝังเมื่อ มีปลาตายล็อตแรก 1,400 ตัวและทยอยฝากส่วนที่เหลือโดยดำเนินการตามกระบวนการของกรมประมง โดยมีการใส่คลอรีนที่มีความเข้มข้น 100 ppm ลงไปในน้ำเพื่อทำลาย ปลาและมีการดองฟอร์มาลีนก่อนจะนำมาฝังกลบ โดยหลุมที่ฝังกลบขุดลึก 50 ซม.มีการรองพื้นด้วยปูนขาวก่อนหลังจากนั้นก็มีการกลบทับด้วยปูนขาวอีกชั้นหนึ่ง

“การส่งโหลของปลาดองล็อตสุดท้าย 50 ตัวมีการส่งไปในวีคที่ 3 ในวันที่ 6 ม.ค. 2554 ซึ่งกระบวนการติดต่อกันระหว่างบริษัทและกรมประมงก็จะมีลักษณะที่ใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารกัน ไปมา แต่หลังจากนั้นนับจากปี 2554 ก็ไม่ได้มีการเข้ามาตรวจความจนกระทั่งปี 2560 ที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้นทำให้กรมประมงและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้ามาชมฟาร์ม”

ย้ำถูกใช้ภาพเท็จ-ข้อมูลเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง

นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่าบริษัทได้พบว่ามีการนำเสนอภาพเท็จและข้อมูลเท็จเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเชิงลบเกี่ยวกับบริษัทตามช่องทางสื่อสาธารณะต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นภาพประกอบในการเสวนาจำนวน 3 ภาพ

ภาพแรกเป็นรูปภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณฟาร์มยี่สารที่มีการระบุผังของฟาร์มบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งความเป็นจริงคือ บ่อปรับปรุงพันธุ์ปลานิล ปลาทับทิมและปลาทะเล

ภาพที่สองที่อ้างว่าเป็น “สภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สารซึ่งใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ 2554-2557” และมีข้อความบนภาพว่า “แต่เลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ 2553-2560” ภาพนี้ไม่ใช่ภาพของฟาร์มยี่สาร รวมทั้งฟาร์มแห่งนี้ได้มีการปิดปรับปรุงฟาร์มในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 1-2 ปี ภาพและข้อความดังกล่าวจึงเป็นภาพและข้อมูลเท็จ

และภาพที่สาม ที่กล่าวอ้างว่าเป็น”การคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำฯ”นั้น เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ตามแนวปฏิบัติของบริษัท

“ขอยืนยันว่าบริษัทไม่ใช่ต้นตอการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ และต้องขอปกป้องศักดิ์ศรีของบริษัทที่มีผู้ใช้ภาพเท็จ-ข้อมูลเท็จในการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้สังคมเข้าใจผิด และจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฏหมายต่อไป”

ตั้งข้อสังเกตพิรุธส่งออกปลาหมอคางดำ

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ประเด็นถัดมาที่สังคมให้ความสนใจคือในระหว่างปี 2556-2559 มีการแจ้งส่งออกปลาหมอคางดำมากกว่า 3 แสนตัวไปยัง 17 ประเทศทั่วโลก โดยบริษัทเอกชน 11 บริษัท ซึ่งกรมประมงแจ้ง ต่อคณะกันมาธิการ ว่า ทั้ง 11 บริษัทนั้นส่งปลาคนละชนิด โดยเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนของบริษัทชิปปิ้ง

“แต่โดยปกติการสำแดงสินค้าส่งออกจะใช้ภาษาอังกฤษซึ่งแม้ว่าปลาจะมีการเปลี่ยนชื่อ 3 ครั้งแต่ชื่อภาษาอังกฤษและชื่อทางวิทยาศาสตร์เป็นชื่อเดียวกันจึงนำมาสู่ข้อสังเกตว่าเหตุใด การสำแดงเขตจึงเกิดขึ้นซ้ำต่อเนื่องหลายปี และบริษัทส่งออกเหล่านั้นนำปลาจากแหล่งไหนมาใช้ในการส่งออก การตรวจสอบอยากจะขอความยุติธรรมให้กับทางบริษัทด้วย”

สำหรับเรื่อง ชื่อเรียกพันธุ์ปลาหมอคางดำนั้น ตาม ข้อมูล กรมประมงมีการเปลี่ยนชื่อถึง 3 ครั้ง คือ ปี 2549-เมษายน 2553 ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ปลานิล” จากนั้น ปี 2553-2559 เปลี่ยนมาเป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย” และ ปี 2560 – ปัจจุบัน เปลี่ยนมาเป็น “ปลาหมอคางดำ”

แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อภาษาไทยไปอย่างไร ก็ยังใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon Melanotheron และชื่อสามัญ Blackchin tilapia เหมือนเดิม ส่วน ปลาหมอเทศข้างลาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orechromis aureus

ดังนั้น ในการทำพิธีการส่งออกซึ่งจะต้องสำแดงชื่อปลาเป็นภาษาอังกฤษก็จะต้องใช้ชื่อปลาชนิดเดียวกัน เมื่อบริษัทส่งออกปลาในช่วง 2556 ถึง 2559 แจ้งว่า บริษัทชิปปิ้งสำแดงชื่อผิดนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

การแพร่ระบาดของปลาหมอบัตเตอร์

ประเด็นข้อสังเกต ในกรณีที่ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอบัตเตอร์ซึ่งเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับปลาหมอคางดำที่บริเวณเขื่อนสิริกิติ์

ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อปี 2553 และปี 2554 ปลาชนิดนี้ก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาหมอคางดำหมายถึงไม่ได้มีการห้ามนำเข้าแต่ผู้ที่จะนำเข้าต้องมีการขออนุญาตเหมือนกันแต่ไม่ปรากฏชื่อว่ามีบริษัทรายใดขออนุญาตนำเข้าปลาหมอบัตเตอร์ แต่เหตุใดจึงมีการแพร่ระบาดออกมาได้

โต้ข้อมูลงานวิจัยกรมประมงปี 2563 และ 2565

พร้อมกันนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่ามีการนำข้อมูลการวิจัยของกรมประมงในปี 2563 และ 2565 ออกมาเผยแพร่ (โจมตี CPF) ทั้งที่งานวิจัยทั้งสองปี เป็นการวิจัยโดยใช้วิธีการที่แตกต่างกัน นำมาสู่ผลการวิจัยที่มีความแตกต่างกันและยังขัดแย้งกันในบางประเด็น กล่าวคือ

ปี 2563 ไมโครเซ็ทเทิลไลน์ตรวจดีเอ็นเอ 5 ตำแหน่ง ส่วนปี 2565 ใช้ ไมโครคอนเดีย

ซึ่งงานวิจัยในปี 2563 สรุปได้ว่า ปลาหมอคางดำอาจจะมาจากคนละที่คนละเวลา เพราะจังหวัดที่มีการระบาดเป็นคนละสายพันธุ์กัน

“ประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่กระจายในประเทศไทยมีการแบ่งเป็น 2 หรือ 3 กลุ่มย่อยที่มีความแตกต่างพันธกรรมสูง (8-0.3437; 9596Cl: 0.2350.4517) โดยประชากรจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ชุมพร และประจวบศรีขันธ์ มีความคล้ายคลึงทางพันธุกรรมมากกว่าประชากรจากจังหวัดระยองซึ่งมีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับประชากรอื่นๆ อย่างชัดเจน สะท้อนว่าปลาทั้ง 2 พื้นที่เป็นปลาคนละชนิดกัน”

ขณะที่งานวิจัยในปี 2565 มีการสรุปที่มีความแตกต่างกัน โดยบทสรุปท่อนแรกบอกว่า ค่าระยะห่างทางพันธุศาสตร์ของประชากรปลาหมอสีคางดำที่พบแพร่กระจาย ในพื้นที่ 6 จังหวัดของประเทศไทยมีต่ำระหว่าง 0.00085-0.00358 แสดงให้เห็นว่าประชากรไม่มีความแตกต่างกันทางพันธุกรรมมากนัก

แต่พอวรรคถัดมากลับเขียนว่าในขณะที่การทดสอบโครงสร้างพันธุศาสตร์ประชากรด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนโมเลกุล (AMOVA) ในเครื่องหมายพันธุกรรม Mitochondrial DNA ที่ตำแหน่ง d-loop พบว่า ประชากรปลาหมอสีศางดำที่พบแพร่กระจายในพื้นพื้นที่ 6 จังหวัดของประเทศไทยมีโครงสร้างทางพันธุกรรมที่แบ่งเป็นประชากรย่อย (p-value <0.0001) และ มีค่าประมาณสัมประสิทธิ์ Fst หรือ Theta(B) มีเท่ากับ 0.15304 ซึ่งระบุถึงการแบ่งเป็นประชากรย่อยหรือมีความแตกต่างระหว่างประชากรสูง ตามเกณฑ์ของ Wight (1978), Hartland Clack (1997) และ Frankham et ol. (2002)

“วรรคแรกบอกว่าปลาที่นำเข้าไม่แตกต่างกันแต่วรรคถัดมาเขียนเรื่องค่าระยะห่างทางพันธุกรรมกับบอกว่าปลาที่พบในเพชรบุรีและสมุทรสงครามมีระยะห่างทางพันธุกรรมมากที่สุด ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้กัน ขณะที่ประชากรปลาที่พบในจังหวัดระยองและประจวบคีรีขันธ์มีระยะห่างทางพันธุกรรมน้อยที่สุด ทั้งที่เป็นทำเลที่ห่างกันจึงตีความได้ว่ามีคนนำไปหรือไม่แล้วใครเป็นคนนำพาไปกระจายไปสู่แหล่งน้ำได้อย่างไร”

ทั้งนี้การอ้างอิงถึงเอกสารทั้ง 2 ฉบับนั้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลตามผลการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้ ต้องการจะสรุปประเด็นการศึกษา ความหลากหลายพันธุกรรมของประชากรปลาหมอคางดำ และการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ

ถอดบทเรียนการระบาด

นายประสิทธิ์ให้บทสรุปจากการถอดบทเรียนของเรื่องนี้ว่าผมเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ไม่อยากให้เรื่องนี้ส่งผลต่อการพิจารณาจัดทำการวิจัยในอุตสาหกรรมนี้หรืออุตสาหกรรมอื่นๆในอนาคต

“เรื่องนี้ไม่ควรจะทำให้ ไทยหยุดการพัฒนาสายพันธุ์ในส่วนของ CPF เองยืนยันได้ว่า กระบวนการพัฒนาและวิจัยพันธุ์สัตว์น้ำจะยังดำเนินต่อไป โดยการวิจัยและพัฒนาสามารถทำได้หลายแนวทางทั้งแนวทางการนำพันธุ์สัตว์น้ำชนิดอื่นเข้ามาผสมพันธุ์การพัฒนาเรื่องอาหารหรือแม้แต่กระบวนการเลี้ยง”

และ CPF ยังดำเนินมาตรการช่วยเหลือกรมประมงในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอกคางดำ ตามที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ทั้งหมด 5 โครงการ ก่อนหน้านี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เสวนา 'หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ' ชี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตราบใดที่ไม่หาผู้รับผิดชอบ
CPF ระบุพบ 'ภาพ-ข้อความเท็จ' บิดเบือนกรณีปลาหมอคางดำ เตรียมพิจารณาดำเนินคดี

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: