CPF เผยร่วมมือกับโรงงานปลาป่นรับซื้อ 'ปลาหมอคางดำ' ผลิตปลาป่นแล้วกว่า 600,000 กก.

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4219 ครั้ง

CPF เผยร่วมมือกับโรงงานปลาป่นรับซื้อ 'ปลาหมอคางดำ' ผลิตปลาป่นแล้วกว่า 600,000 กก.

CPF เผยได้ดำเนิน 5 โครงการ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการกำจัด ปลาหมอคางดำ ตั้งแต่การร่วมมือกับโรงงานปลาป่นสมุทรสาครช่วยรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตปลาป่นไปแล้วมากกว่า 600,000 กิโลกรัม และสนับสนุนประมงจังหวัดจัดกิจกรรมการจับปลากว่า 10 ครั้ง ใน 6 จังหวัด | ที่มาภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ และ ThaiPublica รายงานว่า นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ดำเนิน 5 โครงการ ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการกำจัด ปลาหมอคางดำ ตั้งแต่การร่วมมือกับโรงงานปลาป่นสมุทรสาครช่วยรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตปลาป่นไปแล้วมากกว่า 600,000 กิโลกรัม และสนับสนุนประมงจังหวัดจัดกิจกรรมการจับปลากว่า 10 ครั้ง ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี นครปฐม ชลบุรี และล่าสุดฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งลดจำนวนปลาหมอคางดำอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครที่สามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วกว่า 830,000 กิโลกรัม สำหรับการสนับสนุนประมงจังหวัดมีตั้งแต่การสนับสนุนเครื่องมือจับปลา แห อวน รวมถึงอาหารและน้ำดื่ม อย่างล่าสุด ซีพีเอฟนำอาหารพร้อมรับประทาน และน้ำดื่มมอบให้ประมงจังหวัดชลบุรีแจกจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาร่วมแรงกันจับปลาในคลอง

"บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนกรมประมงดำเนินกิจกรรมเชิงรุกเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งบริษัทฯ ยังได้สนับสนุนปลากะพงขาวซึ่งเป็นปลานักล่าให้แก่ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม จันทบุรี และสมุทรสาคร ไปแล้วกว่า 54,000 ตัว สำหรับปล่อยลงแหล่งน้ำที่มีปลาหมอคางดำเบาบาง" นายอดิศร์ กล่าว

นายณัฐพงค์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า หลังประมงจังหวัดได้รับรายงานจากชาวบ้านพบเห็น ปลาหมอคางดำ ในคลองบางปลาสร้อย ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ประมงจังหวัดชลบุรีได้จัดกิจกรรมจับปลา ระดมเจ้าหน้าที่ประมง ชาวบ้าน และหลายภาคส่วนลงพื้นที่นำตาข่ายและแหทอดจับปลาบริเวณปลายคลองบางปลาสร้อยกัน กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานเอกชนช่วยให้การจัดกิจกรรมสามารถจับปลาหมอคางดำได้ 9 กิโลกรัม และวันต่อมาสามารถจับได้อีก 10 กิโลกรัม ซึ่งประมงจังหวัดนำปลาที่จับได้ไปทำลายต่อไป

ประมงจังหวัดชลบุรีกล่าวต่อว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้รับแจ้งพบปลาหมอคางดำในคลองระบายน้ำใกล้ศาลากลางจังหวัดเชื่อมต่อกับป่าโกงกาง แต่พบปริมาณไม่มากนัก และไม่ได้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามประมงจังหวัดร่วมกับทุกหน่วยงานในจังหวัดเร่งสำรวจคูคลองในจังหวัดและขอความร่วมมือจากประชาชนแจ้งประมงจังหวัดหากพบปลาดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายต่อไป

การสนับสนุนประมงจังหวัดจัดกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" กำจัด ปลาหมอคางดำ ซีพีเอฟดำเนินการภายใต้โครงการสนับสนุนกรมประมงจัดกิจกรรมจับปลา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงการเชิงรุก ตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งจัดการปลาหมอคางดำให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา ซีพีเอฟสนับสนุนประมงจังหวัดจัดกิจกรรมจับปลาทั้งเครื่องมือจับปลา อาหาร และเครื่องดื่ม ขณะเดียวกัน ยังดำเนินโครงการสนับสนุนปลานักล่าแก่ประมงจังหวัดเพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง โดย ซีพีเอฟ ได้มอบปลากะพงขาวไปแล้ว 54,000 ตัว โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทั่วประเทศทำปลาป่นในกิโลกรัมละ 15 บาท ขณะนี้ร่วมกับโรงงานปลาป่นในจังหวัดสมุทรสาครสามารถรับซื้อไปแล้วมากกว่า 600,000 กิโลกรัม นอกจากนี้บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ ในการดำเนินโครงการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึงโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมตลอดจนเทคโนโลยีที่ช่วยควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เสวนา 'หายนะสิ่งแวดล้อม กรณีปลาหมอคางดำ' ชี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตราบใดที่ไม่หาผู้รับผิดชอบ
CPF ระบุพบ 'ภาพ-ข้อความเท็จ' บิดเบือนกรณีปลาหมอคางดำ เตรียมพิจารณาดำเนินคดี
CPF แถลงย้ำไม่ใช่ต้นตอระบาดปลาหมอคางดำ นำสื่อมวลชนบางส่วนดูพื้นที่นำเข้า
สภาทนายความเผยเตรียมฟ้องคดีปกครองและคดีแพ่ง 'หน่วยงานรัฐ-เอกชน' กรณี 'ปลาหมอคางดำ'

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: