Rocket Media Lab: ไทยใช้งบกว่า 4 พันล้านในปี 66 สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 10953 ครั้ง

  • ไทยมีความยาวตลิ่งที่ติดกับแม่น้ำโขง 965.53 กิโลเมตร ในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
  • ในปีงบประมาณ 2566 มีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงไปแล้วเป็นระยะทาง 645.67 กิโลเมตร และเหลือตลิ่งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันอีก 301.28 กิโลเมตร โดยจังหวัดที่เหลือตลิ่งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันยาวที่สุดคือ หนองคาย 57.81 กิโลเมตร
  • งบฯ สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงใน 8 จังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง พบว่าในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง ทั้งหมด 171 โครงการ รวมงบประมาณ 4,137,040,200 บาท ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย
  • บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุดในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 899,068,300 บาท ซึ่งจังหวัดบึงกาฬเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 41.67 กิโลเมตร
  • อำนาจเจริญนั้นเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงน้อยที่สุด 8 โครงการ 131,885,100 บาท เนื่องด้วยเป็นจังหวัดที่มีแนวตลิ่งติดกับแม่น้ำโขงน้อยที่สุดเพียง 23.57 กิโลเมตร และยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงเพียง 4.62 กิโลเมตร เท่านั้น 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงรายอันเป็นผลมาจากพายุยางิ ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากปริมาณน้ำฝนจากพายุยางิแล้ว ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่เพิ่มสูงยังเป็นผลมาจากเขื่อนจีนที่อยู่ตอนบนลุ่มแม่น้ำโขงเริ่มปล่อยน้ำ ส่งผลกระทบให้บริเวณริมฝั่งโขงในหลายจังหวัดภาคอีสานตอนบน ทั้งหนองคาย เลย ฯลฯ น้ำเริ่มเอ่อล้นและท่วมในหลายพื้นที่แล้ว

Rocket Media Lab ชวนสำรวจข้อมูลการสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งแม่น้ำโขง เพื่อป้องกันการกัดเซาะริมตลิ่งอันเป็นผลมาจากกระแสและทิศทางน้ำ รวมไปถึงปริมาณการไหลของน้ำที่ผิดธรรมชาติอันเกิดจากการสร้างเขื่อนและการปล่อยน้ำของเขื่อนจีนทางตอนบนลุ่มแม่น้ำโขง และการใช้งบประมาณเพื่อสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่งในพื้นที่ 8 จังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง

รายงานวิจัยระบุว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบนส่งผลให้ตลิ่งริมน้ำโขงในจังหวัดต่างๆ ที่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขงในประเทศไทยพังทลายมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่จีนสร้างเขื่อนมานวานเสร็จ และมีการควบคุมน้ำเพื่อระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ในปีพ.ศ. 2545 – 2547 เนื่องจากเขื่อนได้ควบคุมการไหลของน้ำ โดยจะปล่อยน้ำเมื่อต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า และหยุดปล่อยน้ำเมื่อไม่ต้องการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำโขงขึ้นเร็ว ลงเร็ว ตามการปล่อยน้ำของเขื่อน ผิดไปจากธรรมชาติ ทำให้ดินปรับสภาพไม่ทัน เมื่อน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว น้ำก็จะดึงดินลงไปในแม่น้ำด้วย ทำให้ริ่มตลิ่งเกิดการกัดเซาะและพังทลาย

ประเทศไทยเองมีความยาวตลิ่งที่ติดกับแม่น้ำโขง 965.53 กิโลเมตร ในพื้นที่ 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งจังหวัดที่มีความยาวตลิ่งที่ติดกับแม่น้ำโขงมากที่สุดคือนครพนม 167.76 กิโลเมตร ในขณะที่อำนาจเจริญสั้นที่สุดเพียง 23.57 กิโลเมตร

ประเทศไทยมีโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงตอนล่างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงไปแล้วในปีงบประมาณ 2566 เป็นระยะทาง 645.67 กิโลเมตร และเหลือตลิ่งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันอีก 301.28 กิโลเมตร โดยจังหวัดที่เหลือตลิ่งที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันยาวที่สุดคือ หนองคาย 57.81 กิโลเมตร

เขื่อนป้องกันตลิ่งกับการป้องกันน้ำท่วม

จากการจำแนกงบประมาณรายโครงการเพื่อพิจารณาการใช้งบน้ำท่วมจากปีงบประมาณ 2566 พบว่า ในงบปีประมาณ 2566 มีงบก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งมากที่สุด 19,821,418,900 บาท คิดเป็น 37.13% ซึ่งเป็นงบที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย

และหากพิจารณาเฉพาะเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงใน 8 จังหวัดที่ติดแม่น้ำโขง พบว่าในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง ทั้งหมด 171 โครงการ รวมงบประมาณ 4,137,040,200 บาท ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย

 

หากพิจารณาเป็นรายจังหวัดจะพบว่า บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ได้งบประมาณมากที่สุดในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 899,068,300 บาท ซึ่งจังหวัดบึงกาฬเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 41.67 กิโลเมตร โดยในวันที่ 13 ก.ย. 67 มีรายงานว่า อ.เซกา จ.บึงกาฬ เกิดน้ำท่วมฉับพลันระดับน้ำสูงกว่า 70 ซม. ปิดถนนหลายเส้น เนื่องจากฝนถล่มและน้ำจากแม่น้ำโขงที่เพิ่มระดับสูงขึ้น

รองลงมาคือหนองคาย จำนวน 37 โครงการ 876,301,300 บาท โดยหนองคายเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 57.81 กิโลเมตร ในขณะเดียวกันพบว่า ในวันที่ 13 ก.ย. ระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นสูงกว่า 13.25 เมตร เกิดน้ำโขงล้นตลิ่ง ทะลักท่วมหมู่บ้านกว่า 500 หลังคาเรือน ในพื้นที่ 4 อำเภอ ทำให้จังหวัดหนองคายแจ้งเตือนภัยระดับ 5 สีแดงให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงริมแม่น้ำโขงอพยพแล้ว

อันดับสามคือจังหวัดเชียงราย 18 โครงการ 570,130,200 บาท และยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 14.49 กิโลเมตร ซึ่งในวันที่ 12 ก.ย. น้ำโขงล้นตลิ่งสูงกว่า 12.28 เมตร ทำให้ อ.เชียงของบริเวณที่ติดกับแม่น้ำโขงมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรแล้ว โดยเป็นผลมาจากมวลน้ำทั้งจากจังหวัดเชียงรายและลาว รวมถึงการปล่อยน้ำจากเขื่อนต้นลำนำโขงที่ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนล้นตลิ่งและเอ่อท่วม อ.เชียงของ

นอกจากนี้ มวลน้ำเหล่านี้ยังจะไหลไปสร้างผลกระทบให้กับจังหวัดเลยต่อไป โดยเลยเป็นจังหวัดที่ได้รับงบในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงในปีงบประมาณ 2566 สูงเป็นอันดับสี่ จำนวน 22 โครงการ 465,566,200 บาท และยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 33.63 กิโลเมตร รวมไปถึงจังหวัดนครพนมที่มีการประกาศให้เฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ทั้งนี้ นครพนมเป็นจังหวัดที่ได้รับงบในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงในปีงบประมาณ 2566 สูงเป็นอันดับห้า จำนวน 17 โครงการ 465,057,400 บาท และยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขง 23.31 กิโลเมตร

ขณะที่อำนาจเจริญนั้นเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงน้อยที่สุด รวม 8 โครงการ 131,885,100 บาท เนื่องด้วยเป็นจังหวัดที่มีแนวตลิ่งติดกับแม่น้ำโขงน้อยที่สุดเพียง 23.57 กิโลเมตร และยังเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำโขงเพียง 4.62 กิโลเมตร เท่านั้น 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: