แลเมืองเก่าสงขลา มรดกโลกหรือมรดกใคร

พิชญ์สินี ชัยทวีธรรม 16 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 10427 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

เมืองเก่าสงขลากำลังมีความพยายามขึ้นทะเบียนเมืองเป็นมรดกโลกท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันของชุมชนในเรื่องการอนุรักษ์ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง มีกลุ่มที่กลัวว่าการใช้กฎเกณฑ์เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมเดิมจะลดทอนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศิลปะในพื้นที่ การขึ้นทะเบียนมรดกโลกอาจทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้น จะยิ่งผลักดันคนออกจากพื้นที่ ส่วนย่านมัสยิดบ้านบนซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเก่าสงขลา กลับไม่ถูกให้ความสำคัญเท่ากับวัดเก่าหรือย่านชุมชนจีน ด้านนักอนุรักษ์ยังตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่มองข้ามประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่แท้จริงของชุมชน

ย่านเมืองเก่าสงขลา

ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 2565 ได้เมืองเก่าสงขลาเป็นหนึ่งในสิบเมืองน่าเที่ยว ด้วยความที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มานานอายุร่วมสมัยกับอยุธยา จึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนมานานกว่าทศวรรษแล้วในอันที่จะนำเมืองเก่าแห่งนี้ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เฉกเช่นเดียวกับเมืองเก่าอีกหลายแห่งในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพระบางหรือฮอยอัน

ก่อนหน้านี้ในปี 2553 จังหวัดสงขลาได้กำหนดพื้นที่อนุรักษ์เมืองเก่า ประกอบด้วย ถนนนครนอก ถนนนครใน และ ถนนนางงาม เพื่อจัดการบูรณะและอนุรักษ์เพื่อให้มีความสมบูรณ์ทรงคุณค่าเพียงพอตามเกณฑ์ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

รายงานนี้ทำการสำรวจเมืองเก่าสงขลา เพื่อค้นหาว่า สภาพทางกายภาพ ความหลากหลาย วิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม รวมทั้งความเปลี่ยนแปลง นั้นสอดคล้องต้องกันกับแผนการในการจดทะเบียนเมืองนี้เป็นมรดกหรือไม่เพียงใด อีกทั้งมันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในเมืองอย่างไร 

ประวัติศาสตร์ผสมผสาน

เมืองเก่าสงขลา ตั้งอยู่ริมทะเลและเป็นจุดศูนย์กลางการค้าทางทะเลมากว่าครึ่งศตวรรษ มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหรับ เปอร์เซีย ฝรั่ง จีน และไทย แม้แต่ชื่อของ "สงขลา" เองก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เช่น ซิงกูร์ ซิงกอรา สิงหลา สิงขร จนกลายมาเป็น "สงขลา" ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ด้วยประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย วิถีชีวิตของผู้คนในเมืองเก่าสงขลาจึงประกอบด้วยศาสนาที่หลากหลาย เช่น พุทธ ขงจื้อ และอิสลาม และได้รับอิทธิพลทางศิลปะจากการเป็นเมืองท่า บ้านเรือนและสถาปัตยกรรมของเมืองมีการผสมผสานหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่บ้านจีนดั้งเดิม ชิโนโปรตุเกส ไปจนถึงวัฒนธรรมปูนปั้นจีนที่มัสยิดบ้านบนและวัดมัชฌิมาวาส
ซิงกอรา ซึ่งเป็นชื่อเดิมของสงขลา เคยถูกโจมตีหลายครั้งในอดีต จึงมีการสร้างป้อมปราการไว้ เช่น ป้อมองค์ดำที่สร้างในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสงขลาถูกย้ายจากฝั่งสิงหนครและหัวเขาแดงมาที่แหลมสน แต่พบว่าพื้นที่ขาดแคลนน้ำจืด จึงย้ายมาอยู่ที่บ่อยางแทน เมืองสงขลาถูกคุกคามจากหัวเมืองใกล้เคียงเช่นนครศรีธรรมราช จึงทำให้เจ้าเมืองต้องสร้างกำแพงเมืองล้อมรอบ เกิดเป็นถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม

ในปี พ.ศ. 2380 ชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากบนถนนนางงาม ได้นำศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจากโพ้นทะเลมาที่นี่ และจัดเทศกาลตรุษจีนขึ้น ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นที่นับถือและมีชาวไทยและชาวจีนมาร่วมกราบไหว้ ถนนนางงามเดิมเรียกว่า "ถนนเก้าห้อง" เพราะเป็นที่ตั้งของชาวจีนที่มาเช่าค้าขาย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนนางงาม" ตามชื่อของนางงามที่ชนะการประกวดจากถนนนี้

ถนนทั้งสามสายในเมืองเก่าสงขลาได้ทิ้งร่องรอยทางสถาปัตยกรรมจากหลายยุคสมัย ตั้งแต่สถาปัตยกรรมจีนที่เน้นการค้าขาย ชิโนโปรตุเกส อาคารยุคก่อนและหลังสงครามโลก จนถึงยุคร่วมสมัย วัฒนธรรมที่หลากหลายยังปรากฏบนเมนูอาหารท้องถิ่น เช่น ข้าวสตู ที่มีต้นแบบจากตะวันตกแต่ปรุงและทานแบบคนเอเชีย

ผู้คนที่อพยพมาตั้งรกรากที่สงขลามีทั้งชาวพุทธและมุสลิม เช่น กลุ่มที่อาศัยอยู่รอบมัสยิดบ้านบนบนถนนพัทลุง วุฒิชัย เพชรสุวรรณ ประธานสมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลา กล่าวว่า "ถ้ามีแต่วิญญาณและเรื่องราวโดยไม่มีสิ่งยืนยันทางกายภาพก็เหมือนผี แต่ถ้ามีแต่สิ่งยืนยันโดยไม่มีเรื่องราวก็เหมือนซาก การทำให้ผีกับซากมาเจอกัน คือการทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิต" เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การดูแลสถาปัตยกรรมเมืองเก่าเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของเมืองผ่านอาคารและบ้านเรือน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สมาคมคนรักเมืองเก่าสงขลาเข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์และฟื้นฟูเมือง
สมาคมภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลาเกิดจากการรวมตัวของคนที่เห็นคุณค่าและความงามของเมืองเก่า ซึ่งมักนัดพบกันตามร้านกาแฟและร้านน้ำชาในเมือง เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาความน่าอยู่ของเมืองเก่าสงขลา เป้าหมายของพวกเขาคือทำให้เมืองเก่าสงขลากลับมามีชีวิตและมีคุณค่าอย่างแท้จริง

มรดกโลกและศิลปะแห่งชีวิต 

“ถ้าได้เป็นมรดกโลกก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ เราก็ยังเป็นมรดกเมืองหรือมรดกชาติได้อยู่แล้ว ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” จักรกฤษณ์ ภัทรนิตย์ ประธานชุมชนถนนนางงาม กล่าวถึงความกังวลเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า การเป็นมรดกโลกอาจทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องการก่อสร้างใหม่ และกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบริบทของเมืองเก่าสงขลา นอกจากนี้ ผังเมืองที่คับแคบและไม่สามารถขยายได้ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด จึงมีคำถามว่าเมืองเก่าสงขลาพร้อมจะเป็นมรดกโลกหรือไม่

“ถ้าทางยูเนสโกไม่เลือกให้เราเป็นมรดกโลก ก็ไม่เป็นไร เราก็ยังดูแล บูรณะ ซ่อมแซมเมืองของเราเหมือนเดิม” จักรกฤษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่าในฐานะสมาชิกภาคีคนรักเมืองเก่าสงขลา เขาได้เข้าร่วมในการทำประชาพิจารณ์เรื่องมรดกโลก และได้ชี้แนะเกี่ยวกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาด้วย แต่ยังมีบางข้อมูลจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ไม่ตรงกับประเพณีของชาวจีนในพื้นที่

ศิลปะแบบ street Arts เกี่ยวกับวิถีชีวิตในอดีต

จักรกฤษณ์กล่าวว่า "Street Art ควรสะท้อนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ เช่น คนจีนนั่งขายปาท่องโก๋หรือกะลอจี๊ หรือคนมุสลิมทำโรตี เพราะพื้นที่นี้เคยเป็นตลาด ภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่จะไม่สะท้อนประวัติศาสตร์แท้จริงของเมือง" เขาอธิบายว่าปัจจุบันสงขลากำลังกลับมามีชีวิตชีวาด้วยสตรีทอาร์ตที่เล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับเมือง

จักรกฤษณ์ยังกล่าวถึงความขัดแย้งในชุมชนเมืองเก่าสงขลาที่มีสองกลุ่มหลัก หนึ่งคือกลุ่มที่สนับสนุนให้เมืองเป็นมรดกโลก โดยมีกลุ่มที่โรงสีแดงเป็นหัวหอก และอีกกลุ่มที่ต้องการให้ศิลปะในเมืองมีความหลากหลายมากขึ้น "เรารู้สึกเหมือนอยู่คนละโลกกับกลุ่มที่โรงสีแดง เพราะพวกเขาไม่เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่" ศิลปินที่ไม่ประสงค์ออกนาม เจ้าของร้าน Grandpa กล่าว เขายังเน้นว่าศิลปะกราฟฟิตีในเมืองควรสะท้อนเรื่องราวของคนในเมืองมากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ที่นี่

ปกรณ์ รุจิระวิไล เจ้าของแกลเลอรี A.E.Y Space แสดงความเห็นว่า ศิลปะในเมืองเก่าควรเติบโตไปตามธรรมชาติและมีความหลากหลาย "ศิลปะในเมืองเก่าควรมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องอดีตซ้ำ ๆ เพราะอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เพียงชั่วคราว แต่การทำสิ่งใหม่ ๆ จะส่งเสริมความน่าอยู่ของเมืองได้มากกว่า" เขาไม่คัดค้านการทำให้เมืองเป็นมรดกโลก แต่ไม่สนับสนุนการแช่แข็งศิลปะโดยไม่ให้มันเติบโต

ร้าน Blue smiles

เจ้าของร้าน Blue Smiles ที่ถนนนครในกล่าวว่า เขาและคนในเมืองเก่าสงขลาส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประชามติหรือรู้ว่าการเป็นมรดกโลกจะนำมาซึ่งประโยชน์อะไร เขาตั้งคำถามว่า หากเมืองนี้เป็นมรดกโลก ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร เช่น การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจะจัดการกับปัญหาขยะอย่างไร? ราคาบ้านที่สูงขึ้นจะทำให้คนที่ไม่ใช่คนรวยเข้าถึงได้อย่างไร?

เขากล่าวว่า การที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี่ แต่กลับปล่อยเช่า เมื่อมีการพูดถึงการเป็นมรดกโลก เจ้าของบ้านก็อาจขึ้นค่าเช่า ซึ่งอาจทำให้ผู้เช่าต้องยุติกิจการหรือหันไปซื้อที่ดินแทน

“เมืองเก่าสงขลามีความน่าอยู่เพราะผู้คน ไม่ใช่เพียงแค่ตึกและสิ่งปลูกสร้าง การที่จะทำให้เป็นมรดกโลก ควรจะประชาสัมพันธ์ถึงผลกระทบต่อทั้งคนที่อยู่เดิมและคนที่เข้ามาใหม่ให้ชัดเจน” เขากล่าว

พื้นที่ที่มองไม่เห็น

ชุมชนบริเวณมัสยิดบ้านบนมีลักษณะแตกต่างจากส่วนอื่นในเมืองเก่าสงขลา เนื่องจากการจัดการระบบไฟฟ้าที่ไม่ดีและความไม่ใส่ใจในพื้นที่นี้ทำให้แทบจะมองไม่เห็นความสำคัญของมัน หากไม่มีการชี้แจงว่าบริเวณนี้คือพื้นที่ของชุมชนมุสลิมดั้งเดิมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างอาหาร ขนม และวัฒนธรรมที่ผสมผสานให้กับเมือง

พื้นที่ของชุมชนอยู่ที่ชายขอบของเมือง ซึ่งแตกต่างจากบริเวณอื่นในเมืองเก่าสงขลา คำถามที่เกิดขึ้นจากชุมชนคือ หากมัสยิดบ้านบนและวัฒนธรรมมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งของมรดกเมืองเก่าสงขลา ทำไมจึงไม่มีการสนับสนุนอย่างเท่าเทียมกับพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการพูดถึงอย่างเพียงพอ

การสนับสนุนจากภาครัฐที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ของเมืองเก่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ มัสยิดบ้านบนเป็นหลักฐานสำคัญของความผสมผสานทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงแค่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน แต่ยังรวมถึงประชาชนมุสลิมที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

บังดีน

บังดีน เจ้าของร้านกาแฟ Jo caffee อธิบายว่าร้านนี้ตั้งอยู่ถนนนราธิวาส ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเก่าสงขลาห่างเพียงไม่กี่เมตร แต่ไม่ถูกรวมไว้ในพื้นที่มรดกโลก แม้ว่าตัวบ้าน วัสดุที่ใช้ และวิธีการก่อสร้างจะเป็นช่วงเวลาและพฤติกรรมของอาคารแบบเดียวกันกับอาคารอื่นในเมืองเก่าสงขลา นอกจากนี้ บังดีนยังเป็นเจ้าของร้านกาแฟ Teman cafe' ที่ถนนนครใน ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกันกับร้านที่ถนนนราธิวาส แต่ร้านในถนนนราธิวาสกลับไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่าบริเวณอื่นในเมืองเก่าสงขลา รวมถึงชุมชนรอบมัสยิดด้านบนก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าชุมชนอื่นในเมืองเก่า

ย่านมัสยิดบ้านบนย่ามค่ำคืน

ร้านค้าในย่านมัสยิดบ้านบน

“มัสยิดบ้านบนมีบรรยากาศที่น่ารัก เพราะผู้ที่ไปมักจะเป็นคนเก่าแก่หรือมีความผูกพันกับเมืองเก่า” มิ้ง เจ้าของร่วมร้าน Standbrew (สแตนด์บรีว) กล่าว เขาอธิบายว่าบริเวณหน้ามัสยิดบ้านบนเป็นพื้นที่ที่คนเก่าแก่ดั้งเดิมมักกลับมาที่นี่ ทำให้ช่วงกลางคืนเป็นจุดที่คึกคักมาก มิ้งยังเสริมว่าหากขยับเข้ามาในเมืองเก่ามากขึ้น จะพบกับโซนของคนไทยจีน แต่วัฒนธรรมก็ยังผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน

มิ้งกล่าวต่อว่า คนในพื้นที่มัสยิดบ้านบนต้องการให้พื้นที่ของตนเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่าสงขลา เมื่อเปรียบเทียบกับวัดมัชฌิมาวาสซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตถนนนครนอก นครใน และนางงาม การขาดการสนับสนุนที่เพียงพอสำหรับมัสยิดบ้านบนทำให้คิดว่ามัสยิดนี้ควรได้รับการพิจารณาให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตเมืองเก่ามากกว่าวัดมัชฌิมาวาส

จากการมองรอบๆ มัสยิด บ้านบนไม่เพียงแต่มีคนมุสลิม แต่ยังมีคนไทยพุทธอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน มิ้งเห็นว่าพื้นที่เมืองเก่าควรรวมถึงถนนสามเส้นหลักคือถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม แต่มัสยิดบ้านบนซึ่งตั้งอยู่ที่แยกถนนนางงามและถนนพัทลุง ยังไม่ได้รับการรวมเข้ากับเขตเมืองเก่าตามที่เทศบาลระบุ ทั้งนี้ สถาปัตยกรรมของมัสยิดบ้านบนยังดูเข้ากันได้ดีกับเมืองเก่าสงขลามากกว่าวัดมัชฌิมาวาสเสียด้วยซ้ำไป

ถนนที่ตัดขวางอยู่คือถนนพัทลุงซึ่งมัสยิดบ้านบนตั้งอยู่บนถนนพัทลุง ส่วนถนนที่มุ่งไปข้างหน้าคือถนนนางงามซึ่งเทศบาลทำโครงการสายไฟลงดินถึงแค่สี่แยกนี้ แม้เสาไฟที่ตั้งอยู่ในรูปจะอยู่บนถนนนางงามเหมือนกัน

ดนัย โต๊ะแจ เจ้าของโรงแรมบ้านในนคร และตัวแทนของชุมชนมุสลิมในเมืองเก่าสงขลา กล่าวว่าการรวมพื้นที่ของมัสยิดบ้านบนเข้ากับเขตเมืองเก่าจะเป็นการยืนยันถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่สำคัญของเมือง สถานที่นี้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อีกยุคหนึ่งของเมืองเก่าสงขลา

ดนัยยังกล่าวว่า คนมุสลิมอาจไม่ค่อยเข้าร่วมกิจกรรมของรัฐเพราะมองว่าเป็นเรื่องวุ่นวาย แต่การเก็บตัวและไม่เข้าร่วมจะทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนมุสลิมที่เป็นส่วนหนึ่งของคุณค่าของเมืองเก่าถูกลืมเลือนไป

เมืองท่องเที่ยวและมรดกโลก

ถนนหน้ามัสยิดบ้านบนในช่วงตอนกลางคืนจะมีการเปิดไฟสว่างและใช้การตกแต่งที่มีสัญลักษณ์ของมุสลิม ซึ่งเป็นสิ่งที่เทศบาลสนับสนุนให้ปีละหนึ่งครั้ง

คนในพื้นที่มัสยิดบ้านบนออกมาใช้ช่วงเวลากลางคืนที่ร้านน้ำชา

หน้าร้านไอติมบัน หลี เฮง ปิดปรับปรุงชั่วคราวเนื่องจากต้องสร้างอาคารใหม่เพราะตัวอาคารเดิมเก่าและทรุดโทรม

การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยในเมืองเก่าสงขลานำไปสู่การเปลี่ยนเจ้าของและการเข้ามาของวัฒนธรรมจากภายนอก หากวัฒนธรรมใหม่ที่ไหลเข้ามาทำลายวิถีชีวิตที่สงบและเรียบง่ายที่มีอยู่เดิม คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่อาจจะต้องย้ายออก แม้ว่าพวกเขาจะไม่ต้องการขายบ้าน แต่ก็ต้องทำเพื่อไปหาพื้นที่ใหม่ที่มีความสงบสุขกว่า
ศุภวิทย์ (สงวนนามสกุล) เจ้าของร้านไอติมบันหลีเฮงที่ถนนนางงาม เล่าถึงเหตุผลที่ต้องรื้อร้านเก่าและตั้งสาขาชั่วคราวนอกเขตเมืองเก่า โดยบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับแบบบ้านที่ทางเทศบาลกำหนดขึ้น “ไม่ได้เห็นด้วยกับแบบบ้านที่เขาออกมาให้ ใครเห็นด้วย ไม่จริง” เขากล่าว

ศุภวิทย์ซึ่งเป็นเจ้าของร้านไอติมรุ่นที่สี่ ได้พัฒนาสูตรไอติมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งต้นตระกูลของเขาเป็นชาวจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ถนนนางงามและสร้างร้านไอติมนี้ขึ้นมา เขาให้เหตุผลว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของแบบบ้านในเมืองเก่าผ่านมาหลายยุคหลายสมัย การกำหนดหน้าตาแบบบ้านให้เหมือนกันทั้งหมดในเมืองเก่าลดทอนความหลากหลายของศิลปะ บางหลังอาจมีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่กว่าที่ทางเทศบาลกำหนด

ศุภวิทย์กล่าวว่า บางบ้านอาจไม่สวยมากแต่เหมาะสำหรับการค้าขาย และการที่เทศบาลบัญญัติหน้าตาของแบบบ้านโดยไม่ได้มีส่วนร่วมจากคนในเมืองเก่าสงขลานั้นเป็นเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วย

“มรดกโลกก็เป็นสิ่งที่ดี นักท่องเที่ยวเข้ามาก็ช่วยให้ขายดี แต่สิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งหมดตามเทศบาลนั้นไม่ดี มีทรงจีนโบราณ ทรงจีนหลังเล็ก และชิโนโปรตุกีส เทศบาลบังคับให้ชาวบ้านต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ส่วนงบประมาณการก่อสร้างใหม่เจ้าบ้านต้องหาเอง” ศุภวิทย์กล่าว 

ชุมชนมุสลิมดั้งเดิมของเมืองเก่าสงขลาซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังมัสยิดบ้านบน

ดนัย เล่าด้วยว่า เขาเคยได้ยินเรื่องการวิจัยสถาปัตยกรรมบ้านเก่าในสงขลา ซึ่งมุ่งศึกษาเรื่องรูปแบบอาคารเป็นหลัก แต่เขาไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีการควบคุมลักษณะการสร้างบ้าน หรือที่เรียกว่า "พฤติกรรมทางสถาปัตย์" ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเห็นด้วย เขามองว่าการสร้างบ้านใหม่ให้เหมือนบ้านเก่าทุกอย่างไม่จำเป็น ควรสร้างให้เข้ากับพื้นที่โดยไม่ขัดแย้งกัน หรือจะออกแบบใหม่ไปเลยก็ได้ เพราะนั่นจะช่วยให้บ้านเก่ามีความโดดเด่นมากขึ้น การบังคับใช้รูปแบบที่เทศบัญญัติกำหนดอาจไม่ได้ผลดีเสมอไป เนื่องจากการเลียนแบบอาจทำให้ผู้มาเยือนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าบ้านไหนคือของเก่าจริง ๆ และบ้านไหนคือบ้านใหม่ที่ถูกสร้างให้ดูเหมือนเก่า

เขาเสนอว่า การดูแลบ้านเก่าให้คงรูปแบบเดิมถือเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับบ้านใหม่ในพื้นที่เมืองเก่า ควรเปิดโอกาสให้มีการออกแบบที่หลากหลาย ตราบใดที่ไม่ขัดกับภาพรวมของเมือง ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสงขลามากกว่า ดนัยยกตัวอย่างว่า บ้านหลายหลังในสงขลามีการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งไทย จีน และมุสลิม จึงไม่ควรจำกัดรูปแบบไว้เฉพาะหนึ่งเดียวตามที่เทศบัญญัติกำหนด

นอกจากนี้ เขายังตั้งคำถามเกี่ยวกับการหาช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะช่างปูนปั้นแบบจีน ซึ่งหาได้ยากมากในปัจจุบัน และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมก็สูง จนอาจทำให้คนในพื้นที่ไม่ต้องการอนุรักษ์บ้านเก่าของตนเพราะไม่คุ้มทุน ดนัยยอมรับว่าการควบคุมผ่านเทศบัญญัติช่วยอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมของเมืองเก่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เฉพาะนักลงทุนหรือคนที่มีทุนเท่านั้นที่พร้อมเข้ามาพัฒนาในพื้นที่นี้

ดนัยยังกล่าวว่า หากเมืองเก่าสงขลาจะอนุรักษ์วัฒนธรรมทั้งไทย จีน และมุสลิมจริง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับทุกศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกัน “เช่น มัสยิดบ้านบนก็ควรได้รับการบูรณะซ่อมแซมเช่นกัน เพราะมีอยู่มาก่อนการก่อตั้งเมืองเก่าสงขลา” แต่จนถึงปัจจุบัน มัสยิดบ้านบนยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่ากับวัดมัชฌิมาวาส ซึ่งเป็นการแสดงถึงความเหลื่อมล้ำในการดูแลวัฒนธรรม

เขาเสริมว่า ศาลเจ้าหลักเมืองของเมืองเก่าสงขลาก็ยังไม่ได้รับการดูแลหรือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ แม้ว่าจะเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมในเมืองเก่าได้อย่างชัดเจนก็ตาม

ร้านกาแฟของมิ้งและอาร์ม

มิ้ง ผู้จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และอาร์ม อดีตครู ซึ่งเป็นชาวสงขลาเช่นกัน ตัดสินใจร่วมกันเปิดร้านกาแฟในเมืองเก่าสงขลา ซึ่งกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นมรดกโลก ทั้งคู่ไม่ต้องการทำงานในสายวิชาที่ร่ำเรียนมา แต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา

มิ้งและอาร์ม เป็นทั้งคู่รักและหุ้นส่วนธุรกิจกัน เล่าว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเก่าสงขลาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ในท้องถิ่น ซึ่งมีหลายช่วงวัย ทำให้พวกเขาได้เห็นโอกาสและแรงบันดาลใจในการเปิดร้านกาแฟ "สแตนบรีว" (StandBrew) ขึ้นมา “เมื่อก่อนเมืองเก่าสงขลามันเงียบเหงาและแทบไม่มีอะไรเลย แต่เมื่ออยู่ที่นี่นานขึ้น เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ร้านค้าและกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทำให้เมืองกลับมามีสีสัน” อาร์มกล่าว

หน้าร้าน "สแตนบรีว" ถนนนครใน

อาร์ม เจ้าของร้าน "สแตนบรีว"

มิ้ง เจ้าของร้าน "สแตนบรีว"

มิ้งเสริมว่า แม้ร้านค้าแบบดั้งเดิมจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากในช่วงวันหยุด แต่ในวันธรรมดากลับไม่คึกคัก ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการกระจายลูกค้า มิ้งเห็นว่าร้านแต่ละแห่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ทำให้ลูกค้าแวะมาในบริบทที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ร้านข้าวสตูเกียดฟั่งที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวิถีชีวิตเมืองเก่าสงขลา

เธอยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายในการทำธุรกิจของร้าน "สแตนบรีว" ซึ่งเป็นร้านที่มีพื้นที่ใหญ่แต่ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่จริง ๆ ทำให้เมื่อมีนโยบายของรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้านขนาดใหญ่เช่นนี้มักไม่ได้รับประโยชน์เท่าร้านขนาดเล็ก มิ้งกล่าวว่า “เรามักถูกมองว่าร้านใหญ่ก็ได้กำไรเยอะอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐ”

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือเรื่องที่จอดรถ แม้จะมีที่จอดรถสาธารณะ แต่ก็ไม่สะดวกสำหรับลูกค้า “บางครั้งร้านเราไม่มีลูกค้าเลย แต่รถจอดหน้าร้านเต็มไปหมด” มิ้งกล่าวว่า พฤติกรรมของผู้คนมักเลือกจอดใกล้ ๆ มากกว่าเดินไกลมาที่ร้าน ทำให้พื้นที่จอดรถกลายเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจในเมืองเก่า นอกจากนี้ เธอยังระบุว่า “เรื่องวันคู่วันคี่ในการจอดรถก็เป็นปัญหา เราต้องคอยบอกลูกค้าว่าจอดฝั่งไหนในแต่ละวัน เพราะถนนเมืองเก่าสงขลาค่อนข้างเล็ก การจอดรถผิดฝั่งไม่เพียงแต่ทำให้ผิดกฎจราจร แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ”

ประชาชนคนไหนเห็นด้วย

ลุงมิ้ง

“ไม่ได้เข้าร่วมประชามติ เพราะลุงเป็นอินโทรเวิร์ต” ชายสูงวัยที่เรียกตัวเองว่าลุงมิ้ง ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองเก่าสงขลามานานกว่า 60 ปี กล่าวว่า การประชาพิจารณ์และประชามติในพื้นที่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ครอบคลุม แม้จะเป็นผู้อาศัยในเมืองเก่า แต่เขาก็ไม่เคยได้รับข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการนี้

ลุงมิ้งเล่าเพิ่มเติมว่า การค้าขายทางเรือและรถไฟที่เคยเป็นหัวใจของสงขลาได้หยุดลงไป ทำให้เมืองเก่าสงขลาที่เคยมีความเจริญเติบโตกลายเป็นเมืองร้างไปหลายปี แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เมืองเก่าสงขลามีการกลับมาลงทุนและประกอบธุรกิจใหม่อีกครั้ง

“ลุงไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคาดหวังให้เมืองนี้เป็นมรดกโลกแบบไหน ลุงเป็นคนเก็บตัว เป็นอินโทรเวิร์ต ไม่ออกสังคม เก็บตัวมาตลอด ตั้งแต่เช้านี้เพิ่งเปิดบ้าน หกโมงเย็นเป็นมรดกโลกก็ดีในส่วนเศรษฐกิจ สร้างงาน เศรษฐกิจก็คงดี” ลุงมิ้งกล่าว

ลุงมิ้งยังไม่ทราบถึงเทศบัญญัติของเทศบาลนครสงขลาที่เกี่ยวกับการดูแลบ้านเก่าในย่านเมืองเก่าสงขลาและไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ “โน่วว ไม่รู้ เรื่องแบบบ้านที่เทศบาลบังคับรูปแบบที่ทำได้และทำไม่ได้ ก็ไม่ได้รู้เรื่องด้วย”

ลุงเขี้ยวหรือนักปราชญ์เมธี

ลุงเขี้ยว หรือที่คนในพื้นที่เรียกว่านักปราชญ์เมธี กล่าวว่า “ยอมรับนะว่าเมืองนี้ดีขึ้นกว่า 20 ปีก่อน แต่ก่อนนครนอกเขาทำซ่อง เพราะสมัยก่อนคนเรือเยอะ มันไม่น่าเดิน” เขายังตั้งข้อสงสัยว่า ชาวบ้านได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการปรับปรุงเมืองอย่างไร “ส่วนตัวผมสงสัยว่าเขาอยู่กันแค่พวกเขาหรือเปล่า ชาวบ้านไม่ค่อยได้รับรู้ เพิ่งมารู้ตอนงานปักษ์ใต้ ดีไซน์วีค แล้วเขาบรรยายเกริ่นเรื่องมรดกโลกเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง รวมถึงเรื่องการรื้อสร้างใหม่ถ้าบ้านเราพังเราต้องสร้างตามแบบบ้านที่ทางเทศบาลกำหนดไว้ แล้วตัวเทศบัญญัติที่ออกมาเนี่ยได้มีส่วนร่วมกับประชาชนหรือไม่”

ลุงเขี้ยวกล่าวด้วยว่าเขาเกิดและอาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่าสงขลาตามที่เทศบาลได้บัญญัติให้เป็นเขตเมืองเก่า แต่เพิ่งรู้ว่าเมืองเก่าสงขลามีการผลักดันให้เป็นมรดกโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ลุงเขี้ยวจึงเกิดความสงสัยว่าขั้นตอนและกระบวนการในการผลักดันนี้มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

การผลักดันให้เมืองเก่าสงขลาเป็นมรดกโลกจึงเป็นกระบวนการที่ต้องการการมีส่วนร่วมและความเข้าใจจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่น นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือภาครัฐ การรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองควบคู่ไปกับการยอมรับความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่มีความยั่งยืน คือหัวใจสำคัญของการเดินหน้า การสร้างเวทีสำหรับการสนทนา การสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์ และการเคารพในความหลากหลายของวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง หากเมืองเก่าสงขลาสามารถทำเช่นนี้ได้ ความฝันที่จะเป็นมรดกโลกก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: