อัลกอริทึมกำลังป้อนอะไรให้เราดูบ้างในฟีด? | มนุษย์ออนไลน์ ปี 2 EP.3

กองบรรณาธิการ TCIJ 2 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 956 ครั้ง

ข่าวการเมืองไม่ขึ้นหน้าฟีด มองเห็นคอนเทนต์จากเพจที่เคยติดตามน้อยลง เกิดอะไรขึ้นกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย นโยบายจำกัดการแนะนำเนื้อหาการเมืองทำให้ความหลากหลายของคอนเทนต์ออนไลน์น้อยลงหรือเปล่า

พูดคุยกับ 'อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล' ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวใน "มนุษย์ออนไลน์ ปี 2 EP.3 : อัลกอริทึม & ความหลากหลายคอนเทนต์ออนไลน์"

อัลกอริทึม & ความหลากหลายคอนเทนต์ออนไลน์ | มนุษย์ออนไลน์ ปี 2 EP.3

อัลกอริทึมกำลังป้อนอะไรให้เราดูบ้างในฟีด? | มนุษย์ออนไลน์ ปี 2 EP.3

ข่าวการเมืองหายไปจากหน้าจอ? ความหลากหลายของเนื้อหา บนหน้าฟีดที่เราไม่ได้เลือก

ในช่วงที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่าในหน้าฟีด จะมีเนื้อหาที่เป็นข่าวน้อยลง โดยเฉพาะข่าวการเมือง เมื่อดูในข้อบังคับชุมชนของเฟสบุ๊ค จะเห็นว่าทางแพลตฟอร์มตั้งใจจะลดการมองเห็นของเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเมืองลงไป แน่นอนว่าผู้ให้บริการมีสิทธิในการออกแบบนโยบายด้านแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่จะเป็นการลดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนหรือไม่? 

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตอบคำถามด้วยการชวนขบคิดถึงนิยาม ว่าเป็นแพลตฟอร์มถือว่าเป็น “สื่อ” หรือไม่ ซึ่งหากในความหมายเดียวกับสำนักข่าวต่าง ๆอาจถือว่าไม่ใช่สื่อ เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาเอง หรืออาจเป็นสื่อในแบบที่ ทำหน้าที่เป็นเพียงสื่อกลางให้คนต่างๆ นำเนื้อหาเข้ามาใส่ไว้ได้ แล้วแพลตฟอร์มทำหน้าที่เพียงส่งต่อข้อมูลเหมือนบริษัทขนส่งเท่านั้น

การใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟสบุ๊ค เมื่อผู้ใช้นำเนื้อหาลงไปในแพลตฟอร์ม จะไม่ได้มีการระบุผู้รับที่ชัดเจน จึงมีความคล้ายคลึงกับ สื่ออย่างโทรทัศน์ วิทยุ ที่ทำหน้าที่ผู้กระจายเนื้อหา แต่ต่างกันที่แพลตฟอร์มไม่ได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาเองเหมือนผู้ประกอบสื่ออย่างการโทรทัศน์ โดยรูปแบบการกระจายเนื้อหาของแพลตฟอร์มในอดีต จะส่งเป็นการส่งเนื้อหาไปให้กับคนที่เป็นผู้ติดตามเท่านั้น ดังนั้นหน้าฟีดเราจะมีเฉพาะเนื้อหาจากเพื่อนหรือเพจที่ติดตามอยู่เท่านั้น ภายหลังมาจึงมีระบบ commendation system ที่แนะนำเนื้อหาที่ไกล้เคียงกันกับสิ่งที่เราตามอยู่

ดังนั้นจึงถือได้ว่าแพลตฟอร์มทำหน้าที่เกินไปจากความเป็นสื่อกลางไปบ้างแล้ว ทำหน้าที่เปรียบได้เหมือน Curator  หรือ ภัณฑารักษ์ เป็นผู้สรรหาเนื้อหา ที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองชอบ ในแง่หนึ่งเป็นข้อดีที่ทำเราสามารถได้เข้าถึงเนื้อหาใหม่ๆ มากขึ้น แต่ก็มีความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งที่ตามมา อย่างก่อนหน้านี้ที่มีการเรียกร้องให้แพลตฟอร์มเซนเซอร์เนื้อหาบางอย่างที่อันตราย โดยผู้ให้บริการได้ใช้เหตุผลที่ว่าแพลตฟอร์มเป็นเพียงตัวกลาง ที่ส่งข้อมูลระหว่างสองฝ่ายเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่อยู่ในแพลตฟอร์ม ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่นในไทยมี พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 15 ที่ระบุถึงความรับผิดของตัวกลาง ที่ยกเว้นความผิดให้กับผู้ให้บริการที่พิสูจน์ได้ว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตหรือเลือกเนื้อหาที่มีความผิดนั้น

“ในแง่ความคุ้มครองทางกฎหมายมันก็เริ่มไม่ชัดเจนแล้ว เพราะดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มที่บอกว่าเป็นสื่อกลาง จริงๆ มันก็มีการกรองอยู่ หรือมันก็แนะนำบางอย่าง พูดให้สุดๆ มันก็ยัดเยียดบางอย่างให้เราดู”

เมื่อกุมภาพันธุ์ที่ผ่านมาทาง Meta ได้ออกมาประกาศว่าแพลตฟอร์มที่อยู่ในเครือจะลดการแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เนื้อด้านอื่นๆ ก็จะยังมีการแนะนำเหมือนเช่นเดิม เท่ากับว่าในฟีดจะมีสัดส่วนเนื้อการเมืองลดลงอย่างมาก หากเราติดตามเพจการเมืองอยู่ 10 เพจ และอื่นๆ อีก 10 เพจ เท่ากับว่าต่อไปเราจะเห็นเนื้อหาการเมืองแค่จาก 10 เพจนี้เท่านั้น แต่เนื้อหาอื่นๆ จะถูกแนะนำเข้ามาจากอีกกว่าหลายร้อยเพจ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว เนื้อหาการเมืองจะเหลือจำนวนน้อยมาก ซึ่งหลายคนไม่รู้ว่าเราสามารถเข้าไปปรับการตั้งค่าในแพลตฟอร์ม ไม่ให้มีการลดสัดส่วนเนื้อหาการเมืองได้

ในแง่ดีเพราะแพลตฟอร์มอาจมองว่า ที่ผ่านมาเนื้อทางการเมืองในโซเชียลมีเดียมีข่าวปลอมเยอะ และมีผลต่อทางสังคมสูงกว่าข่าวปลอมให้เนื้อหาประเภทอื่น  รวมไปถึงเพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทแพลตฟอร์มหากมีประเด็นความขัดแย้งต่างๆเกิดขึ้น แต่ก็อาจทำให้หลายคนพลาดเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองหรือสังคมไปได้

“ปัญหาอีกอย่างนึงคือพวกเรากันเอง พึงพาสื่อสังคมมากเกินไปในการรับข่าวสาร” อาทิตย์ มองว่าแน่นอนแพลตฟอร์มควรจะปรับปรุง แต่คนทั่วๆ ไปก็ไม่ควรพึ่งพาข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์เพียงแหล่งเดียว เมื่อก่อนคนทั่วไปมักติดตามข่าวสารจากหลายแหล่ง จากทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ที่ต้องแอคทีฟให้การเลือกสรรหาเนื้อหา ในปัจจุบันกลับเป็นการรอรับสื่อที่ถูกป้อนมาให้จากสื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียว ปัจจุบันเราคาดหวังว่าในหน้าจอเดียวของเฟสบุ๊ค หรือติ๊กต่อกจะมีทุกอย่างที่เราอยากได้  มันก็แปลกๆ โอเคแพลตฟอร์มมันก็ไม่ได้เพอร์เฟคต์ แต่วิธีการรับข่าวสารของเรามันก็มีปัญหาอยู่เหมือนกัน

ซึ่งสถานการณ์นี้มาจากพฤติกรรมการรับสื่อของเรา ที่ทำให้สื่อรูปแบบอื่นๆ เริ่มหายไป เหลือแต่เพียงสื่อสังคมออนไลน์

ระบบการเซนเซอร์เพี้ยนๆ ของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการ ทำไมจึงแก้ไม่ได้เลย 

อาทิตย์กล่าวว่า จริงๆ แล้วการเซ็นเซอร์คัดกรองจากแพลตฟอร์มมีมาก่อนแล้ว การคัดกรองมักจะเป็นการทำตั้งแต่มีการโพสต์ เช่นเมื่อโพสต์ลงไปแล้วแพลตฟอร์มจะบอกทันที่ว่าเนื้อหาของเราผิดกฎ ผู้ใช้งานก็รับรู้การเซนเซอร์นั้นทันที การเซนเซอร์ที่เพิ่มเข้ามาในปัจจุบันเป็นที่การเซนเซอร์ทางด้านผู้รับข้อมูล เช่นอนุญาตให้โพสต์ลงแพลตฟอร์มได้ แต่ผู้ได้เห็นเนื้อหานั้นจะมีน้อยลงมาก การเซนเซอร์แบบนี้ทำให้ผู้โพสต์ไม่รู้ตัว ทำให้เนื้อบางอย่างรับรู้ได้ในวงจำกัด ส่งผลถึงการรับรู้ข่าวสารในภาพรวม

ไม่นานมานี้มีการพบว่าคำบางคำที่เกี่ยวกับการพนันถูกแพลตฟอร์มเซนเซอร์ไม่ให้โพสต์ อย่างเช่นชื่อ “อาร์เน่ สล็อต” ผู้จัดการคนใหม่ของสโมสรฟุตบอล ลิเวอร์พูล เนื่องจากอัลกอริทึมเข้าใจว่าหมายถึง สล็อตที่เป็นการเล่นพนัน แต่เรากลับเห็นโฆษณาการพนันจริงๆ อยู่เต็มไปหมดบนหน้าฟีด “อันนี้มันมีปัญหาเพราะลิเวอร์พูลเป็นทีมบอลเล็กๆ” อาทิตย์ หยอกล้อ โดยอธิบายอย่างจริงจังต่อ ว่าหากตัดประเด็นว่าการพนันเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ออกไป การพนันหลายประเภทในไทยถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากมีการโพสต์โฆษณาการพนันผ่านแพลตฟอร์ม เมื่อถูกตรวจพบหรือมีคนรายงาน ผู้บริการก็จะทำการลบออกให้เป็นกำกับตามหลัง

ความแตกต่างจากผู้ใช้งานหรือสำนักข่าวทั่วๆ ไป คือเว็บพนันเหล่านี้มีทรัพยากรที่มากกว่า เมื่อถูกแพลตฟอร์มบล๊อคก็สามารถสร้างเว็บใหม่ขึ้นซื้อโฆษณาได้เรื่อยๆ ดังนั้นวิธีการกำกับตามหลังในลักษณะใช้ไม่ได้ผลกับเว็บพนันเหล่านี้ ความย้อนแย้งอยู่ที่เนื้อหาที่ไม่น่าจะผิดอย่างชื่อผู้จัดการทีมฟุตบอลกลับถูกลบ อาทิตย์ เชื่อว่าผู้ให้บริการอย่าง Meta มีความสามารถที่จะทำให้อัลกอริทึมจัดการเรื่องได้ดีขึ้น เพราะมี Ai ที่ฉลาดขึ้นมากและสามารถรับรองภาษาไทย แต่ต้องใช้เงินทุนทรัพยากรจำนวนมาก ในการจัดการกับข้อมูลมาหาศาล จึงไม่คุ้มกับทางแพลตฟอร์มจะใช้มากรองเนื้อหา

“สุดท้ายมันกลับไปเรื่องราคา ถ้ามันไม่มีแรงจูงใจหรือว่าแรงกดดันที่มากพอ ที่ทำให้แพลตฟอร์มรู้สึกว่าเขาจะต้องจ่ายมากกว่านี้ เขาก็จะจ่ายแค่นี้” อาทิตย์ ยกตัวอย่างว่าแรงจูงใจคือเช่น หากติ๊กต่อมีระบบแนะนำหรือคัดกรองเนื้อที่ไม่ดีพอ แล้วคนแห่ย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่นกันหมด หรือมีประเทศไหนที่ออกกฎหมายว่าหากแพลตฟอร์มไม่มีการคัดกรองออกเนื้อหาที่มีความเสี่ยงออกไป จะต้องเสียเงินค่าปรับจำนวนมาก ถึงจะเป็นแรงจูงใจทำให้ผู้ให้บริการยอมจ่ายเงินพัฒนาระบบอัลกอริทึมให้ดีขึ้น 

Echo chamber ไม่ได้อยู่แค่ในแพลตฟอร์ม แต่ยังมีอีกอัลกอริทึมหนึ่งในหัวของเรา

อีกประเด็นนึงที่มีการถกเถียงว่าอัลกอริทึมของสื่อสังคมออนไลน์สร้างเอคโคแชมเบอร์ (Echo chamber/ห้องสะท้อนเสียง) ให้เราหรือไม่? เช่นในกรณีของ "อิมาน เคลิฟ" นักชกหญิงจากแอลจีเรีย ในโอลิมปิก ที่ถูกแพร่กระจายเรื่องราวว่าเธอเป็นผู้ชาย ไปทั่วโลกสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทียังไม่ข้อพิสูจน์ใดใดในเรื่องนี้

อาทิตย์ มองว่าแน่อนที่จะตอบได้อย่างง่ายว่าสื่อสังคมออนไลน์นั้นสร้างเอคโคแชมเบอร์ขึ้นมา ทางแก้จึงเป็นอย่างที่กล่าวไปขั้นต้น คือการรับข่าวสารจากแหล่งอื่นที่หลากหลาย แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายในปัจจุบัน ที่การเปลี่ยนการรับข่าวสารแหล่งอื่น มีทั้งต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา

“ผมแค่จะบอกว่าต่อให้แพลตฟอร์มมันพัฒนาอัลกอริทึมให้ดีแค่ไหนก็ตามเอคโคแชมเบอร์ก็ไม่หายไป มันยังมีอีกอัลกอริทึมหนึ่ง ที่อยู่ในหัวเรา ที่เราเลือกว่าจะอยู่กับใครแล้วสบายใจ เราอยากจะฟังแต่ข้อมูลแบบที่เราเชื่อ” อาทิตย์อธิบายว่า แพลตฟอร์มีส่วนสำคัญในการสร้างเอคโคแชมเบอร์ในระดับสังคม แต่การแก้เพียงแค่อัลกอริทึมตัวแพลตฟอร์มไม่สามารถให้เอคโคแชมเบอร์หายไป เพราะจริง ๆพฤติกรรมของเราเองที่ทำให้เกิดเอคโคแชมเบอร์ขึ้นมา จากการเลือกคบหาเฉพาะเพื่อนที่มีความคิดตรงกัน แม้แต่อัลกอริทึมก็สร้างเอคโคแชมเบอร์ขึ้นมาจากการเรียนรู้พฤติกรรมของเรา ที่มักจะตอบสนองต่อเนื้อหาที่ไปทางเดียวกับความคิดเรา และเลี่ยงการโต้ตอบกันเนื้อหาที่ไม่ตรงกับความคิดเรา

ในอีกแง่หนึ่งสื่อสังคมออนไลน์อาจสร้างเอคโคแชมเบอร์น้อยกว่าสื่อรูปแบบเก่าเสียด้วยซ้ำ อย่างคนที่อยู่กรุงเทพก็จะซื้อหนังสือพิมพ์ ที่พูดถึงแต่เรื่องของเมืองหลวง ไม่สามารถหาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในต่างจังหวัดที่ขายแต่ในท้องถิ่นมาอ่านได้ แต่กับแพลตฟอร์มอย่างเฟสบุ๊คเรายังพอจะมีเนื้อหาจากสื่อท้องถิ่นเข้าในหน้าฟีดของเราได้บ้าง “อย่างน้อยในแง่พื้นที่มันทำให้ข่าวสารมันข้ามพื้นที่กันอยู่ แต่เรื่องมุมมองการเมืองฝั่งซ้ายฝั่งขวามันก็มีเอคโคแชมเบอร์อยู่ ซึ่งผมก็นึกไม่ออกว่าจะจัดการยังไง ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการรับข่าวสารของเรา ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เรียกร้องลำบาก”

ในมุมมองของอาทิตย์คิดว่าเราสามารถเรียกร้องกับแพลตฟอร์มได้ เฉพาะเรื่องที่มีความเสียหายรุนแรงเท่านั้นอย่างเช่นเนื้อที่มีความสี่ยง สร้างความอันตรายต่อสาธารณะ แต่การจะเรียกร้องให้แพลตฟอร์มนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะดูจะไม่ใช่สิ่งที่แพลตฟอร์มต้องรับผิดชอบ “ถึงทำได้มันก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่าง ซึ่งทำใมแพลตฟอร์มจะต้องจ่ายด้วยละ ซึ่งมันเป็นเรื่องรสนิยมเรา ใช้เหตุผลอะไรไปบังคับให้เขาต้องจ่าย”

โมเดลธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ ที่รายได้แปรผันไปตามจำนวนการดู จำนวนการเข้าถึงต่างๆ ผู้ประกอบต้องทำยังไงก็ได้ให้เนื้อในแพลตฟอร์มมีการเข้าถึงหรือโต้ตอบเยอะ ก็ต้องเลือกเนื้อหาที่เป็นที่นิยมขึ้นมาให้เราเห็นก่อน มากกว่าจะเรียงเนื้อหาตามเวลาเหมือนกันสื่อสังคมออนไลน์ยุคแรกๆ ในเมื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดของบริษัทคือการทำกำไรสูงสุด แพลตฟอร์มก็จำเป็นต้องเลือกเช่นนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากต้องการแพลตฟอร์มที่ให้คุณค่ากับเรื่องความหลากหลายของเนื้อหา ต้องหาแพลตฟอร์มที่มีโมเดลธุรกิจในรูปแบบอื่น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: