SCB EIC ประเมินแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 มี.ค. 2568 มีผลกระทบเบื้องต้นต่อเศรษฐกิจไทยวงจำกัด ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แนะภาครัฐประสานความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยเพื่อเร่งรัดการชดเชยความเสียหาย ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูดบริเวณตอนกลางของประเทศเมียนมา ส่งแรงสั่นสะเทือนกระจายไปยังหลายประเทศรวมถึงไทย สร้างความเสียหายต่ออาคารจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ นับเป็นความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่ไทยเคยเผชิญมา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้น ณ วันที่ 1 เม.ย. 2568 ว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบจะกระจุกตัวในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง
ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วในระยะสั้น สะท้อนจากตัวเลขการยกเลิกห้องพักประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศภายใน 2 วันหลังเกิดเหตุ ตามข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทย โดยการยกเลิกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะที่สมาคมสายการบินประเทศไทยรายงานว่าการจองที่นั่งโดยสารรายวันลดลงเฉลี่ย 40%-60% ในช่วง 2 วันหลังเกิดเหตุ นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สิงคโปร์และแคนาดา ได้ออกประกาศเตือนด้านความปลอดภัยแก่พลเมืองที่จะเดินทางมาไทย
SCB EIC คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน เม.ย. จะลดลงราว 12% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งลดลงมากกว่าการลดลงตามฤดูกาลปกติในเดือนเมษายนที่ราว 6% และต้องใช้เวลาฟื้นตัวให้กลับสู่ภาวะปกติประมาณ 3 เดือน ผลกระทบนี้อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 2568 ลดลงจากประมาณการเดิมราว 4 แสนคน และสูญเสียรายได้ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท
ผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์
ตลาดคอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบโดยตรงแม้จะไม่มีอาคารถล่ม โดย SCB EIC คาดว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2568 จะอยู่ที่ 8.5 หมื่นหน่วย หดตัว 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% สาเหตุหลักมาจาก
1. กลุ่มที่มีแผนจะโอนกรรมสิทธิ์หรือซื้อคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มชะลอการตัดสินใจออกไป เนื่องจากต้องการความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และรอการซ่อมแซมความเสียหายของตัวอาคารและพื้นที่ส่วนกลาง
2. กลุ่มนักลงทุนอาจชะลอการลงทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับราคาขายต่อของคอนโดมิเนียม และการย้ายออกของผู้เช่าที่มีความกังวล
การเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปี 2568 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยหน่วยเหลือขายสะสมคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2568 ยังอยู่ในระดับสูงราว 74,000 หน่วย
ผลกระทบต่อภาคก่อสร้าง
พื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงถึงขั้นหยุดชะงัก ทำให้กิจกรรมก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในปี 2568 ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างอาจได้รับอานิสงส์จากความต้องการซ่อมแซมอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่เสียหาย
ความสามารถในการรองรับภัยพิบัติของสิ่งปลูกสร้างจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ว่าจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญมากขึ้น โดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างจะเผชิญความเข้มงวดจากผู้ว่าจ้างมากขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประมูลงาน การก่อสร้าง ไปจนถึงการตรวจรับงาน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคก่อสร้าง
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
SCB EIC ระบุว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจคือการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน โดยภาครัฐควรดำเนินการดังนี้
1. เร่งช่วยเหลือ - ประสานความร่วมมือกับบริษัทประกันภัยเพื่อเร่งรัดการชดเชยความเสียหาย ออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ
2. เรียกความเชื่อมั่น - เร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโรงแรม ที่อยู่อาศัยและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอาคารสูงอย่างละเอียด พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่เสี่ยงภัย และสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว โปร่งใสและเชื่อถือได้
รายงานระบุว่า "แม้เราจะควบคุม After shock ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้ แต่นโยบายสื่อสารที่ชัดเจนจะช่วยลด After shock ทางความรู้สึกของประชาชน และช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจตามมาได้"
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ