ข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2024 โดย GIJN

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 1349 ครั้ง


Global Investigative Journalism Network (GIJN) แนะนำข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมในภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2024 | ที่มาภาพ: GIJN

เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2024 Global Investigative Journalism Network (GIJN) ได้เผยแพร่รายงาน "Digital Slavery, Nickel Downstreaming, and Timber Grabbing: 2024’s Best Investigative Stories in Southeast Asia" ซึ่งเป็นการแนะนำ ข่าวสืบสวนยอดเยี่ยมในภูมิภาคอาเซียน ประจำปี 2024 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...

ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงระอุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเมียนมาและกัมพูชา เปิดช่องให้เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติฉวยโอกาสจากความไร้เสถียรภาพ ก่อคดีไซเบอร์สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง นักข่าวสืบสวนในภูมิภาคได้เจาะลึกปมใหญ่ที่ซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่ง นั่นคือ "ทาสดิจิทัล"

"โรงงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์" ที่มักตั้งอยู่ตามแนวชายแดน เช่น พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ได้ล่อลวงคนหนุ่มสาวนับพันด้วยการหลอกว่ามีงาน ก่อนที่พวกเขาจะตกเป็นทาสยุคใหม่ภายใต้การควบคุมของแก๊งอาชญากรรมระดับโลก การสืบสวนพบว่าชาวอินโดนีเซียและประเทศเพื่อนบ้านนับหมื่นคนตกเป็นเหยื่อ ถูกจับเป็นตัวประกันและบังคับให้ทำงานหลอกลวงเหยื่อออนไลน์ สหประชาชาติประเมินว่ามีผู้คนกว่า 120,000 คนติดอยู่ในค่ายแสกมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเมียนมาและกัมพูชา

ปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นวิกฤตสำคัญของภูมิภาค สำนักข่าว Rappler เปิดโปงสาเหตุทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเมืองที่อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมดินถล่มคร่าชีวิต 27 ศพในฟิลิปปินส์ ขณะที่ในอินโดนีเซีย การสืบสวนร่วมกันระหว่าง Jaring สมาชิกของ GIJN และนิตยสาร Tempo เปิดโปงการทุจริตในอุตสาหกรรมประมงที่มีข้อสงสัยเกี่ยวโยงถึงครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐ และทีมข่าว Narasi ตีแผ่การฟอกเขียว (greenwashing) ในนโยบายการแปรรูปนิกเกิลที่รัฐบาลสนับสนุน

อนาคตยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก โดยเฉพาะในอินโดนีเซียที่ประธานาธิบดีคนใหม่สร้างความกังวลให้กับเครือข่ายภาคประชาสังคม จากนโยบายที่ดูเหมือนจะเป็นปฏิปักษ์ต่อเสรีภาพสื่อและการแสดงออก

รายงานสืบสวนประจำปีนี้สะท้อนให้เห็นว่าอาชญากรรมข้ามพรมแดนในภูมิภาคมีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของนักข่าวสืบสวนในการเปิดโปงความจริง ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้น การใช้เครื่องมือดิจิทัลที่ทันสมัย และการนำเสนอด้วยภาพที่สร้างผลกระทบ

อินโดนีเซีย — Border Hell: The Online Gambling Mafia and Digital Slavery in Asia


ที่มาภาพ: YouTube/Deduktif

วิกฤตแรงงานทาสของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อน แม้มีเยาวชนอินโดนีเซียนับหมื่นคนตกเป็นเหยื่อ แต่สื่อในประเทศกลับแทบไม่นำเสนอข่าวนี้ ซ้ำร้ายด้วยท่าทีเพิกเฉยของรัฐบาลในการจัดการปัญหา ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น

สารคดีเชิงสืบสวนโดยสำนักข่าว Deduktif เจาะลึกการทำงานของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่อยู่เบื้องหลังแก๊งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองชเวก๊กโก ตามแนวชายแดนเมียนมา-ไทย ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการพนันออนไลน์ การค้ามนุษย์ และการฉ้อโกง เครือข่ายนี้มีข้อสงสัยว่าเชื่อมโยงกับนักการเมือง องค์กรติดอาวุธ กองทัพเมียนมา แก๊งอาชญากรรมจีน และนักธุรกิจชั้นนำในหลายประเทศ

ทีมสืบสวนได้สืบค้นกระบวนการล่อลวงเหยื่อ และพิสูจน์พบศูนย์บัญชาการของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ซ่อนตัวอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่ง นอกจากสัมภาษณ์อดีตเหยื่อแล้ว ยังติดตามพิกัดของศูนย์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จัดทำแผนผังตัวการสำคัญ และเชื่อมโยงเส้นทางการเงินของขบวนการได้ทั้งหมด

รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียย้ำว่า หน่วยงานยังคงพยายามช่วยเหลือชาวอินโดนีเซียที่ติดอยู่ในวังวนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้กลับบ้าน โดยในเดือน ต.ค. 2024 สามารถช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อ 12 คนที่ติดอยู่ตามแนวชายแดนเมียนมา-ไทยให้กลับประเทศได้สำเร็จ และกำลังอยู่ในกระบวนการช่วยเหลืออีก 69 คนให้เดินทางกลับ

สารคดีชิ้นนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในเทศกาลภาพยนตร์อินโดนีเซีย (FFI) ประจำปี 2024 ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติระดับประเทศ

เมียนมา - Scam Factories


ที่มาภาพ: DW

ทีมสืบสวนจากสถานีโทรทัศน์ Deutsche Welle (DW) ของเยอรมนี ได้เจาะลึกปรากฏการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ใช้แรงงานทาสดิจิทัลหรือทาสไซเบอร์ ผ่านการลงพื้นที่สืบสวนร่วมกับผู้รอดชีวิตที่หลบหนีออกมาได้และนักเคลื่อนไหว จนเปิดโปงส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจและองค์กรระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินงานของ "เคเค ปาร์ค" ค่ายกักขังแสกมขนาดใหญ่ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา

DW รายงานว่า เคเค ปาร์ค ได้ลักลอบนำผู้คนนับพันจากทั่วโลกเข้ามา และบังคับให้ทำงานวันละถึง 17 ชั่วโมง ภายใต้การข่มขู่ด้วยอาวุธปืน การทรมาน หรือการฆาตกรรม เพื่อหลอกลวงให้ผู้คนในยุโรป สหรัฐฯ และจีน หลงเชื่อลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีปลอม

จากการสืบสวน DW พบหลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างเคเค ปาร์ค กับเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยการติดตามเส้นทางการเงินจากข้อมูลของเหยื่อหลายราย นำไปสู่กระเป๋าเงินคริปโทที่ใช้เก็บเงินจากการหลอกลวง เมื่อสืบย้อนกลับพบว่ากระเป๋าเงินดังกล่าวเชื่อมโยงกับนักธุรกิจชาวจีนที่ตั้งฐานในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักธุรกิจต่างชาติที่มีความสัมพันธ์กับองค์กรอาชญากรรมจีน

อินโดนีเซีย — Illegal Fishing in Eastern Indonesia


ที่มาภาพ: Jaring

สำนักข่าวไม่แสวงผลกำไร Jaring ร่วมกับนิตยสารรายสัปดาห์ Tempo เปิดโปงการกระทำน่าสงสัยในอุตสาหกรรมประมงทางตะวันออกของอินโดนีเซีย พื้นที่ซึ่งแทบไม่เคยถูกสื่อนำเสนอ ทีมสืบสวนใช้คำให้การจากผู้เสียหายและชาวประมงท้องถิ่น ประกอบกับข้อมูลการระบุตัวตนเรือ การติดตาม ข้อมูลเจ้าของ และภาพถ่ายดาวเทียม จนสามารถระบุตำแหน่งของเรือผิดกฎหมายที่ยังคงลอยลำอยู่ในทะเลอาราฟูรา ระหว่างออสเตรเลียและเกาะนิวกินี ทั้งที่เคยถูกลงโทษในข้อหาใช้แรงงานทาสยุคใหม่และไม่มีเอกสารที่จำเป็น

การสืบสวนยังพบว่าญาติของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมีความเชื่อมโยงทางธุรกิจกับบริษัทประมงที่เป็นเจ้าของเรือซึ่งเคยถูกลงโทษหนักในคดีประมงผิดกฎหมาย เมื่อทีมสืบสวนสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ได้รับคำตอบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประมงหรือธุรกิจของญาติแต่อย่างใด

อินโดนีเซีย — Nickel Downstreaming in Weda Bay


ที่มาภาพ: Narasi

ขณะที่ความต้องการนิกเกิลในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รัฐบาลอินโดนีเซียก็เดินหน้านโยบาย "ดาวน์สตรีมมิ่ง" หรือการแปรรูปนิกเกิลในประเทศ หวังผลักดันให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ระดับโลก นโยบายนี้ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกนิกเกิลและรายได้ประเทศอย่างก้าวกระโดด

แต่เบื้องหลังนโยบายที่ถูกโฆษณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด กลับซ่อนต้นทุนมหาศาลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ทีมสืบสวนจากสำนักข่าว Narasi ลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เผยให้เห็นผลกระทบร้ายแรงจากการแปรรูปนิกเกิลที่เวดาเบย์ จังหวัดมาลูกูเหนือ

พื้นที่ป่าถูกทำลายมากขึ้นทุกปีเพื่อเปิดทางให้อุตสาหกรรมนิกเกิล แม่น้ำซาเกีย เส้นเลือดใหญ่ของชุมชน กลายเป็นสีขุ่นและปนเปื้อนโลหะหนักรวมถึงสารอันตรายอื่นๆ ซึ่งมีข้อสงสัยอย่างหนักว่าเกิดจากกิจกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินยังก่อให้เกิดภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน

ตัวแทนบริษัทเหมืองแร่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อมลพิษในแม่น้ำ โดยชี้แจงว่าไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใดๆ บริเวณริมน้ำหรือใกล้แม่น้ำ และยืนยันว่ามีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอทั้งจากห้องปฏิบัติการภายในและห้องปฏิบัติการอิสระ

อินโดนีเซีย — Road Projects Scandal in Lampung


ที่มาภาพ: Konsentris/IndonesiaLeaks

การร่วมมือระหว่างสำนักข่าวในจาการ์ตาภายใต้แพลตฟอร์ม IndonesiaLeaks และสำนักข่าวอิสระ Konsentris จากจังหวัดลำปุง ได้เปิดโปงความจริงเบื้องหลังวิกฤตถนนพังในจังหวัดลำปุง ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ที่แม้แต่รถยนต์ประจำตำแหน่งของประธานาธิบดียังเคยติดหลุมขนาดใหญ่

ทีมสืบสวนได้ไล่เรียงเอกสารประมูลนับพันฉบับและสืบค้นแหล่งข้อมูลอย่างละเอียด จนพบว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาลถูกจัดสรรให้กับบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับนักการเมือง นักธุรกิจ หรือนักข่าวที่มีชื่อเสียง รวมถึงบริษัทที่ไม่เปิดเผยความเป็นเจ้าของที่แท้จริง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาล การจัดซื้อจัดจ้าง และข้อมูลบริษัทที่เปิดเผยต่อสาธารณะ พบว่าในช่วงปี 2563-2565 มีโครงการถนนถึง 1,001 โครงการ มูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 4,000 ล้านบาท) แต่โครงการเหล่านี้มักซ่อมแซมได้ไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด เช่น มาตรฐานยางมะตอยหรือซีเมนต์

นอกจากนี้ยังพบการ "ยืมธง" หรือการที่บริษัทใช้ชื่อหรือพนักงานของบริษัทอื่นในการยื่นประมูล ซึ่งส่อเค้าถึงการผูกขาดในวงการก่อสร้าง

ฟิลิปปินส์ — The Teduray Tragedy


ที่มาภาพ: Shutterstock

สำนักข่าว Rappler เปิดโปงปัจจัยทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมที่อยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมดินถล่มที่คร่าชีวิตชาวเตดูเรย์ 27 คน ในมากินดาเนาเดลนอร์เต ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเดือน ต.ค. 2023 ผ่านการสืบสวนเชิงลึกและสารคดี

ย้อนกลับไปในปี 2020 ครอบครัวชาวเตดูเรย์ ชนพื้นเมืองในพื้นที่ราว 300 ครอบครัว ถูกบังคับให้ย้ายจากบ้านริมทะเลในเขตกูซิองไปยังพื้นที่อพยพบริเวณเชิงเขามินานดาร์ ก่อนที่ฝนตกหนักจากพายุโซนร้อนแปงจะก่อให้เกิดดินถล่มครั้งใหญ่ ทั้งที่ชาวเตดูเรย์ต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินบรรพบุรุษมาตั้งแต่ปี 2005 และหลังจากพวกเขาถูกไล่ที่ กลับมีรีสอร์ทหรูเอกชนสามแห่งผุดขึ้นบนชายฝั่งที่มีข้อพิพาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นของตระกูลนักการเมืองที่มีอิทธิพล

การสืบสวนที่ใช้เวลาหลายเดือนของ Rappler พบว่า การอพยพย้ายถิ่นครั้งนี้ไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่มีใบอนุญาตการย้ายถิ่นฐาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าไม่เคยถูกปรึกษาหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการ แหล่งข่าวในชุมชนเปิดเผยว่าพวกเขาได้รับจดหมายนิรนามสั่งให้ย้ายออก พร้อมเงินชดเชยจำนวนน้อยนิดและข้าวสาร

Rappler ยังรายงานว่า ตามข้อมูลจากรัฐบาล รีสอร์ทเอกชนทั้งสามแห่งไม่มีสัญญาเช่าที่จำเป็นตามกฎหมาย แม้ Rappler จะพยายามติดต่อเจ้าของรีสอร์ทหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด

มาเลเซีย — Timber Grab: The Truth Behind Pahang Oil Palm Plantation


ที่มาภาพ: Malaysiakini

Malaysiakini สมาชิกของ GIJN และเจ้าภาพร่วม GIJC25 ร่วมกับ Pulitzer Center’s Rainforest Investigations Network ตีแผ่ความจริงเบื้องหลังสวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในผืนป่าบริสุทธิ์ติดกับพื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ การตัดไม้เพื่อทำสวนปาล์มไม่เพียงคุกคามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือ แต่ยังส่งผลกระทบและสร้างมลพิษต่อแหล่งน้ำของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมรายหนึ่งถึงกับระบุว่านี่คือ "สวนปาล์มน้ำมันที่มีการจัดการแย่ที่สุดในมาเลเซีย"

จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านป่าไม้และเกษตรกรรม ภาพถ่ายดาวเทียม และตัวอย่างดิน พบว่าการตัดไม้ทำลายป่าเป็นไปอย่าง "ไร้ระเบียบ" ทิ้งให้พื้นที่สวนปาล์มกลายเป็นหย่อมๆ และแห้งแล้ง ซ้ำร้ายยังถูกช้างป่าบุกทำลายโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มต่ำจนน่า "ขัน"

การสืบสวนของ Malaysiakini ใช้การนำเสนอข้อมูลด้วยภาพที่น่าสนใจ อธิบายให้เห็นเศรษฐศาสตร์ของการผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ต้องใช้เวลาถึง 4 ปีกว่าต้นปาล์มจะให้ผลผลิต ทำให้กำไรเกิดขึ้นช้า ด้วยเหตุนี้และปัจจัยอื่นๆ จึงไม่แปลกที่สวนปาล์มมักหยุดชะงักหรือล้มเหลว โดยอ้างเรื่อง "ความขัดแย้งกับสัตว์ป่า" แต่ผู้พัฒนาโครงการกลับหันไปขายไม้มีค่าที่ตัดมาแทน ทีมสืบสวนยังพบว่า 95% ของที่ดินสวนปาล์มในปะหังถูกพัฒนาโดยบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองหรือราชวงศ์ รายงานนี้เรียกร้องให้รัฐบาลสอบสวนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอนุมัติสวนปาล์มและเข้มงวดการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2024 Malaysiakini ได้ติดตามการสืบสวนเมื่อเดือน เม.ย. 2024 โดยเชื่อมโยงให้เห็นว่าธนาคารชั้นนำหลายแห่งยังคงปล่อยกู้ก้อนโตให้ผู้พัฒนาสวนปาล์ม แม้โครงการจำนวนมากจะล้มเหลว สร้างคำถามต่อความน่าเชื่อถือและความเป็นอิสระของธนาคารเหล่านี้

อินโดนีเซีย — Unmasking Anti-Rohingya Hate Campaigns


ที่มาภาพ: Narasi

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2024 เรือที่บรรทุกผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาล่มนอกชายฝั่งอาเจะห์ตะวันตก คร่าชีวิตผู้โดยสาร 67 คนจากทั้งหมด 142 คน ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการอพยพทางเรือจากเมียนมาและบังกลาเทศ เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของข่าวลวงและคำพูดสร้างความเกลียดชังที่แพร่กระจายในโซเชียลมีเดีย

สารคดีสืบสวนของสำนักข่าว Narasi เผยให้เห็นว่า "ความเกลียดชังที่ถูกจัดตั้ง" ในส่วนความคิดเห็นนำไปสู่ "การกระทำจริง" เช่น การขับไล่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาออกจากที่พักพิงในอาเจะห์ ทีมสืบสวนรวบรวมเนื้อหานับพันชิ้นที่พูดถึงประเด็นโรฮิงญาในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้ง X อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และโดยเฉพาะติ๊กต็อก พบว่าโพสต์และวิดีโอเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญที่มีการจัดตั้ง โดยมีอินฟลูเอนเซอร์ทั้งที่มีผู้ติดตามน้อยและมากเข้าร่วม นอกจากนี้ยังพบการใช้บอทสร้างการมีส่วนร่วมและความคิดเห็นจำนวนมหาศาล

Narasi ยังสืบค้นพบว่านักการเมืองฉวยใช้ประเด็นผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเพื่อสร้างคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียในเดือน ก.พ. 2024 โดยคำกล่าวของปราบาโว ซูเบียนโต ผู้สมัครประธานาธิบดีในขณะนั้น ที่พูดถึงการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของชาติเหนือผู้ลี้ภัย สามเดือนก่อนเหตุเรือล่ม ถูกขยายผลอย่างกว้างขวางในติ๊กต็อกและ X โดยบัญชีที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มสนับสนุนอดีตนายพลผู้นี้ เมื่อ Narasi พยายามติดต่อยืนยันรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทีมหาเสียงของปราบาโว-กิบราน กลับถูกปฏิเสธหรือไม่ได้รับการตอบกลับ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: