ครบรอบ 2 ปี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่การบังคับใช้กฎหมายยังเต็มไปด้วยข้อท้าทาย - กรณีพลทหารกิตติธรคือคดีเดียวที่เข้าสู่กระบวนการศาล ขณะที่กรณีอุ้มหายไม่มีความคืบหน้า และล่าสุดเกิดเหตุส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนละเมิด มาตรา 13 - ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่เอื้อต่อการละเมิด พร้อมเพิ่มความโปร่งใสในการควบคุมตัว เพื่อนำไปสู่สังคมปลอดการทรมานและการบังคับสูญหาย
เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ และเป็นที่รู้จักในหมู่เจ้าหน้าที่ องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ซึ่งกว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ ต้องใช้เวลาในการผลักดันถึง 15 ปี ผ่านอุปสรรคและข้อท้าทายมากมาย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (CED) ที่ไทยได้ให้สัตยาบันและลงนามรับรองมาเป็นเวลายาวนาน
การใช้กฎหมายที่เต็มไปด้วยความหวังฉบับนี้ต้องเผชิญกับข้อท้าทายและอุปสรรคอย่างไร และท่ามกลางอุปสรรคเหล่านี้ จะทำอย่างไรให้การใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหายบรรลุผล? แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ), กลุ่มด้วยใจ และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จึงได้จัดงาน “Echoes of Hope: ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง” เนื่องในโอกาสครอบรอบ 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พร้อมจัดเวทีเสวนา เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงประเด็นเรื่องข้อจำกัดและข้อท้าทายจากมุมมองที่หลากหลาย
2 ปีที่ผ่านมา มีแต่ “ความว่างเปล่า”
ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย มีเพียง “คดีพลทหารกิตติธร” เพียงคดีเดียวเท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการศาล
ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2566 พลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เสียชีวิตหลังจากการฝึกทหารในค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย ด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด หลังจากนั้น ภรรยาและครอบครัวของพลทหารกิตติธรได้เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ป้องกันการทรมาน จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเห็นว่า การฝึกและลงโทษทหารเกณฑ์ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ฝ่ายทหารที่เป็นคู่กรณีพยายามยื่นเรื่องต่อศาล ให้พิจารณาย้ายคดีไปที่ศาลทหาร แทนศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นศาลพลเรือน ทว่าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาลได้เลื่อนการพิจารณาประเด็นนี้ออกไปก่อน
ไม่ใช่แค่ความคืบหน้ากรณีทรมานเท่านั้นที่ผู้เสียหายต้องรอคอยต่อไป กรณีการบังคับสูญหายก็แทบจะเรียกได้ว่า “ไม่มีความคืบหน้า” แม้ในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ. จะระบุไว้ว่าการบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องตามหาตัวผู้สูญหายจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด
“การทราบความจริงเป็นสิทธิของเหยื่อ ในขณะที่การปกปิดความจริงก็จะเป็นเหมือนกับคำสาปที่ทำให้เหยื่อต้องพันธนาการตัวเองอยู่กับความคลุมเครือ การไม่รู้ชะตากรรม แล้วก็ต้องอยู่กับความหวาดกลัว”
“สำหรับดิฉัน สองปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้กฎหมาย มีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีข่าวคราวจากหน่วยงานใดๆ ในการตามหาคนหาย ไม่เคยมีคำมั่นสัญญา ไม่ให้ความหวัง” อังคณากล่าวในฐานะญาติของผู้สูญหาย
เช่นเดียวกับกัญญา ธีรวุฒิ แม่ของสยาม ธีรวุฒิ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศเวียดนาม ที่เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ลูกชายหายตัวไป เจ้าหน้าที่ไม่ได้ช่วยตามหา แต่คอยมาเฝ้าจับตาดูที่บ้านของเธอแทน
“แม่ไปยื่นเรื่องขอให้สยามเป็นบุคคลสาบสูญ ท่านก็บอกว่ายังอยู่ อ้าว! อยู่ที่ไหน ไม่เอามาให้เราล่ะ” กัญญากล่าว
ด้านพรพิมล ทนายความผู้รับผิดชอบคดีของสยาม ก็กล่าวเสริมว่า “เคสของสยาม ธีรวุฒิ เราก็ได้พาแม่ไปร้องที่ศูนย์ป้องกันการทรมานฯ ตามมาตรา 7 เรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหาย เราไปร้องแล้วหลังจาก พ.ร.บ. นี้บังคับใช้ ล่าสุดเราได้รับหนังสือจากทางอัยการเรียบร้อยแล้ว เขาส่งมาบอกเราว่า กรณีของสยาม ธีรวุฒิ ยุติเรื่องการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ เหตุเพราะว่าไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันเพียงพอว่าบุคคลที่จับตัวไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของไทย”
ความสำเร็จของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย
สำหรับความสำเร็จของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายนั้น สมชายมองว่า มาตรการในการป้องกันส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการติดกล้องประจำตัว การจัดทำรายงานบันทึกการจับกุม ซึ่งส่งผลให้การร้องเรียนการซ้อมทรมานและการอุ้มหายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น
ด้านพรพิมลกล่าวว่า “เราในฐานะคนที่ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มาตลอด เราไม่ได้ร้องเฉพาะที่กรุงเทพฯ นะคะ เราร้องหลายๆ จังหวัดด้วยซ้ำ เราคิดว่าบังคับได้จริง แต่ทุกมาตราไหม อีกเรื่องหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติตามแนวทางหลักเกณฑ์เดียวกันไหม อีกเรื่องหนึ่ง”
พรพิมลสรุปว่า แม้ตัวเลขกรณีทรมานจะน้อยลง และไม่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานเพิ่มเติม แต่เธอพบว่าเจ้าหน้าที่มีการกระทำทรมานที่แยบยลมากขึ้น และสามารถหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายได้มากขึ้น เพราะฉะนั้น องค์กรภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องร้องเรียนจำเป็นจะต้องรู้เท่าทันการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐให้มากขึ้น
“พ.ร.บ. ใช้ได้จริงไหม เรายืนยันว่าใช้ได้ แต่เต็มกำลังไหม เราตอบให้ไม่ได้ แต่เราคิดว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง คงไม่มีการรับฟ้องคดีในศาลอาญาทุจริต คงไม่นำไปสู่การสืบพยานในชั้นศาลเป็นปีจนถึงวันนี้ และเราก็เชื่อในศักยภาพของศาลไทย เราก็จำเป็นที่จะต้องเชื่อว่าศาลไทยจะปกป้อง คุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมกับญาติของเราได้ต่อไป” พรพิมลกล่าว
“ส่งกลับอุยกูร์” ประเด็นท้าทายประสิทธิภาพของ พ.ร.บ.
การทบทวนรายงานสถานการณ์การทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ครั้งที่ 2 ของประเทศไทย ในที่ประชุมคณะกรรมการ CAT สมัยที่ 81 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 คณะกรรมการได้ชื่นชมหลักการห้ามผลักดันกลับซึ่งสะท้อนอยู่ในมาตรา 13 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย โดยมีข้อเสนอว่า บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกกระทำทรมาน หรือปฏิบัติที่โหดร้ายฯ ไม่ควรถูกส่งกลับ และควรมีสิทธิรายบุคคลในการมีโอกาสพูดคุยกับศาลและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมถึงเหตุที่ไม่ควรส่งกลับ รวมถึงสิทธิในการอุทธรณ์ หากมีคำสั่งให้ส่งกลับ โดยจะต้องไม่มีการดำเนินการส่งกลับแบบรวบรัด
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางดึกวันที่ 27 ก.พ. 2568 ปรากฏว่ามีการส่งตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กลับไปยังประเทศจีน โดยพฤติการณ์การส่งตัวกลับนั้นมีลักษณะที่พยายามปกปิดไม่ให้บุคคลอื่นทราบ ทั้งการนำผ้าสีดำมาปิดรอบคันรถ และการปิดทางขึ้นทางด่วน เพื่อไม่ให้รถคันอื่นตาม กรณีดังกล่าวถือว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย โดยเฉพาะมาตรา 13 ได้ถูกทำลายโดยกลไกของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง และทำให้เห็นว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ทั่วถึงและยังไม่สามารถช่วยป้องกันการส่งกลับได้
อังคณาระบุว่า “รัฐไม่เคยเกรงกลัวในการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง ทั้งๆ ที่มีเสียงเรียกร้องคัดค้านมาโดยตลอด ขณะที่นายกฯ พูดว่าเขาไปโดยสมัครใจ ฉันก็อยากจะท้าทายว่า นายกฯ รู้ได้อย่างไร นอกจากที่จะไม่ให้ความยุติธรรม นอกจากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ยังฉ้อฉล ให้ข้อมูลที่ไม่จริงออกสู่สังคม ซึ่งดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิดพลาดและบกพร่องอย่างมากของรัฐ”
ด้านสมชาย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย กล่าวว่า ที่จริงแล้วคณะกรรมการชุดของเขาต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐบาล ว่าการกักตัว การส่งกลับไปนั้นชอบด้วยกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่หรือไม่ ประธานคณะกรรมการ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กลับไปนั่งร่วมแถลงข่าวกับรัฐมนตรีกลาโหม และพยายามให้เหตุผลซึ่งดูแล้วไม่น่าจะรับฟังได้ในการส่งกลับชาวอุยกูร์
“แน่นอนว่าแต่ละคนนั้นอาจจะมีเหตุผลและความเข้าใจที่แตกต่างกัน แต่ในฐานะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนั้น เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องทัศนะส่วนบุคคลครับ แต่เป็นภาระหน้าที่และภารกิจที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยมีอยู่ ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น” สมชายกล่าว
ด้านสุภัทรา ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพยายามทำทุกอย่างที่ทำได้ แม้ขณะนั้นจะยังไม่มีการยืนยันเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน แต่ทางคณะกรรมการก็ออกหนังสือแสดงความกังวลถึงนายกรัฐมนตรี และหารือกันว่าในการประชุมสัปดาห์ถัดไปจะหยิบยกเอาประเด็นนี้มาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสมัครใจกลับ รวมทั้งประเด็นเรื่องประเทศที่สามที่ต้องการรับตัวชาวอุยกูร์ เป็นต้น
สังคมปลอดการทรมานและการบังคับสูญหาย มีหวังแค่ไหน?
ในการการทบทวนรายงานสถานการณ์การทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยคณะกรรมการ CAT เมื่อ พ.ศ. 2567 คณะกรรมการได้มีข้อเสนอแนะหลักๆ ดังนี้
1. เพิ่มความโปร่งใสในการควบคุมตัว โดยให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และควรอำนวยให้องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวและเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มขึ้น โดยประเทศไทยควรเข้าเป็นภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (OPCAT) อันจะเป็นมาตรการป้องกันการทรมานที่สำคัญ
2. ประเทศไทยจะต้องยุติวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด และอาชญากรรมเช่นการทรมาน การกระทำที่โหดร้ายฯ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ต้องไม่มีอายุความอีกต่อไป
3. ประเทศไทยควรยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากฎหมายพิเศษเหล่านี้เอื้อให้เกิดความเสี่ยงต่อการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้ายฯ และการอุ้มหาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหาย อนุสัญญาหลายฉบับรวมถึงอนุสัญญา CAT และ CED
4. คณะกรรมการ CAT เสนอแนะให้ปิดสถานที่ควบคุมตัวไม่ทางการภายใต้กฎหมายพิเศษ และให้สิทธิผู้ต้องขังพบญาติและทนายความอย่างโปร่งใส อีกทั้งศาลจะต้องไม่รับฟังข้อมูลที่ได้รับมาจากการใช้การทรมานเป็นหลักฐาน
“ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ทำอย่างไร จะทำให้กระดาษใบนี้มีผลในการปฏิบัติ” สมชายเปิดประเด็นอีกครั้ง ถึงแนวทางที่จะช่วยให้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ "ที่ผ่านมาสองปีนี้ เรายังทำน้อยไปนะ เราต้องการนักกฎหมาย ต้องการองค์กรอื่นๆ ที่ลงมือปฏิบัติมากกว่านี้ การเผยแพร่ องค์กรทำหน้าที่แล้ว การฝึกอบรมมี แต่ไม่พอ มีดจะให้มันคมต้องใช้บ่อยๆ ผมเชื่อว่า เมื่อเราใช้ไปมันจะฟ้องเอง ว่ากลไกของรัฐที่บอกว่าแก้ปัญหาให้ประชาชน เขาทำจริงหรือไม่ เขายกคำร้องเราโดยมีเหตุผลสมควรหรือเปล่า เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์แน่นอน ถ้าไม่มีเหตุผลสมควร ซึ่งครั้งต่อไปไม่แน่ครับ เขาอาจจะรับก็ได้ แต่ถ้าไม่มีการฟ้อง ไม่มีการยกคำร้อง สังคมไม่ตื่นตัว”
“ผมคิดว่าที่สำคัญก็คือพวกเราทุกคน องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหาย ประชาชนทั่วไป ต้องอย่ารีรอที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ขอให้พยายามต่อไป ยื่นคำร้อง แจ้งความ ติดตาม ทำการรณรงค์ต่อไป เราเชื่อว่าความหวังและความสำเร็จจะเกิดขึ้น”
นอกจากนี้ อังคณายังกล่าวถึงสิทธิในการรักษาความทรงจำของเหยื่อว่า
“หลายคนพยายามที่จะทำให้เขาลืม หลายคนพยายามที่จะขัดขวาง พยายามที่จะสอดแนมไม่ให้มีการจัดงานรำลึกต่างๆ ซึ่งดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐพยายามทำลายความทรงจำของเหยื่อ ถ้าเราไม่ลืม การดิ้นรนต่อสู้ของเราก็ยังอยู่ แต่ถ้าเมื่อไรที่เราลืม และเรายอมให้ความกลัวเข้ามาครอบงำ เมื่อนั้นเราก็จะไม่สามารถที่จะทำอะไรเพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มีคนหาย และหาความจริงให้กับคนที่หายไปแล้วได้อีก”
“ดิฉันเชื่อว่าการทำความจริงให้ปรากฏ การนำคนผิดมาลงโทษ จะเป็นการคืนความเป็นธรรม และจะเป็นการยุติการบังคับสูญหายในสังคมอย่างยั่งยืน” อังคณาทิ้งท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ