สบยช. จับมือ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางนำร่อง 'โปรแกรมชุมชนบำบัด' ปรับพฤติกรรมผู้ติดยาก่อนคืนสู่สังคม

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 237 ครั้ง

สบยช. จับมือ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางนำร่อง 'โปรแกรมชุมชนบำบัด' ปรับพฤติกรรมผู้ติดยาก่อนคืนสู่สังคม

ยาเสพติดก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อบุคคล ครอบครัว เศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติ จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ พบว่าปี 2567 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดทั่วประเทศกว่า 2.88 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด แม้ระหว่างคุมขังจะได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยและบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพตามกระบวนการของกรมราชทัณฑ์ แต่ผลลัพธ์ยังพบการกระทำผิดซ้ำ โดยปี 2567 มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดที่รับการปล่อยตัวภายใน 1 ปี โดยร้อยละ 10 กระทำผิดซ้ำและกลับเข้าต้องโทษ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี และรองประธานโครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงมอบหมายให้สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังเสพติด จนเกิดเป็นโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรูปแบบชุมชนบำบัดในทัณฑสถาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Recovery for the Better Life Program) โดยร่วมมือทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง นำร่องโปรแกรมและใช้เป็นต้นแบบให้แก่ทัณฑสถานอื่นที่คุมขังผู้ต้องขังคดียาเสพติด

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวว่า โปรแกรม Recovery for the Better Life Program คือการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้บริการตามความต้องการที่จำเป็นของผู้ป่วย ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณและสังคม โดยมีกระบวนการปรับแนวคิด เปลี่ยนเจตคติผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งการเสพติดนับเป็นโรคเรื้อรังทางสมอง โปรแกรมนี้จะช่วยให้ผู้เสพติดรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ความตระหนักถึงปัญหาอันเกิดจากการใช้ยาเสพติดได้ด้วยตนเอง พร้อมเข้าสู่กระบวนการลด ละ เลิกใช้ยาเสพติดได้ด้วยความสมัครใจ สู่การดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ในครอบครัว สังคมได้ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ

ทั้งนี้ สบยช. นำแนวคิด “ชุมชนบำบัด” ตามแนวคิดทฤษฎีพฤติกรรมและเรียนรู้ทางสังคม สร้างสังคมจำลองที่นำผู้ที่มีปัญหาใช้ยาเสพติดมาอยู่รวมกัน ดูแลซึ่งกัน เสมือนเป็นครอบครัว เป็นการเรียนรู้ทางสังคม เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลสู่การเปิดโอกาสสู่การเรียนรู้การแก้ไขและจัดการอารมณ์ของตนเองอย่างเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ เป็น “ห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ใช้ชีวิตที่ถูกที่ควร” ช่วยให้บุคคลแก้ปัญหาในชีวิตตนได้ เห็นคุณค่าตนเอง ไม่กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ กลับไปเป็นคนดีของสังคมอย่างเต็มศักยภาพ โดยโปรแกรม Recovery for the Better Life Program ที่นำร่อง ณ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางนี้ ได้สร้างสังคมจำลอง นำผู้ต้องขังคดียาเสพติด 100 ราย และอาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อส.รจ.) อีก 21 คน เข้าร่วม โดย สบยช. จัดทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และผู้ช่วยเหลือคนไข้ เป็นพี่เลี้ยงร่วมดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรมการฟื้นฟูฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน

นพ.สรายุทธ์ กล่าวว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพ แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเริ่มแรก ฝึกการปรับตัวเข้ากับระบบการฟื้นฟูฯ มีกิจกรรมปรับแนวความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม ใช้เวลา 2 สัปดาห์ 2.ระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดฝึกความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก และปรับพฤติกรรมด้วยทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เรียนรู้สิ่งดีๆ และสิ่งที่ทำผิดพลาดผ่านกิจวัตรประจำวัน โดยกระตุ้นเตือนผ่านกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนให้เป็นนิสัย ใช้เวลา 12 สัปดาห์

3.ระยะกลับสู่สังคม ฝึกความรับผิดชอบและทำงานกับบุคคลอื่น ฝึกคิดให้เป็นระบบและวางแผนการดำเนินชีวิต ใช้เวลา 4 สัปดาห์ และ 4.บ้านกึงวิถี ฝึกทำงานร่วมกับบุคคลอื่นนอกสถานที่ ฝึกความรับผิดชอบ เรียนรู้สังคมภายนอกที่ไม่ใช้ยาเสพติด เผชิญและแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง ใช้เวลา 4 สัปดาห์


ด้าน นายเผด็จ หริ่งรอด ผู้อำนวยการทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง กล่าวว่า ผู้ต้องขังคดียาเสพติด แบ่งประเภทเป็นผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติด ตามแบบประเมินของกรมราชทัณฑ์ ผู้มีคะแนนเกิน 27 คะแนนขึ้นไปถือว่าเป็นผู้ติด ประมาณการณ์ได้ว่าเป็นผู้ป่วยตามความหมายของกระทรวงสาธารณสุข และนำเข้าสู่ระบบฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยวิธีการชุมชนบำบัด แต่หากคะแนนไม่ถึงจะประเมินให้เป็นผู้ใช้ หรือผู้เสพ ซึ่งจะฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่นต่อไป โดยผู้ติดยาเสพติดจะมีลักษณะที่เสพยาเสพติดมาอย่างยาวนานจนเกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสังคม โปรแกรมนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนในภาพรวม ทั้งปรับปรุงพฤติกรรม อารมณ์ ฝึกให้มีความคิด ให้ความรู้ และท้ายที่สุดคือการเพิ่มทักษะก่อนจะปล่อยกลับคืนสู่สังคม โดยมีเป้าหมายให้กลับมาเป็นคนเดิมก่อนติดยา

"โดยความร่วมมือนี้ สบยช. ได้เข้ามาพัฒนาโปรแกรมที่กรมราชทัณฑ์มีอยู่ เพิ่มความเข้มข้นและขยายเวลาโปรแกรมจาก 4 เดือน เป็น 6 เดือน เบื้องต้นได้นำผู้ต้องขังจำนวน 100 คน มาเข้าโปรแกรมนี้ โดยคัดจากผู้ต้องขังที่ต้องโทษนานแต่เหลือเวลาจำคุกอีกไม่เกิน 3 ปีจะพ้นโทษ และกลุ่มที่ศาลสั่งจำคุกไม่เกิน 3 ปี เพื่อเตรียมพร้อมก่อนปล่อยตัว โดยจะขยายผลนำไปใช้ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษประจำภูมิภาค เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานบำบัดพิเศษปทุมธานี ซึ่งเป็นเรือนจำเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพติด และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางก็จะเป็นที่ศึกษาดูงานสำหรับเรือนจำทั่วไปที่จะดำเนินการตามโปรแกรมนี้" นายเผด็จ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดจะมีงบประมาณเฉพาะตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 โดย สปสช. สนับสนุนเพียงการให้สารเมทาโดนระยะยาวกับผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น (โอปิออยด์) และอนุพันธ์ของฝิ่นที่สมัครใจ โดยมีหน่วยบริการที่มีสิทธิในการเบิกจ่ายยาเมทาโดนได้เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล นอกจากนี้ สปสช. เห็นความสำคัญของเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรชุมชน ที่มีประสบการณ์และศักยภาพดูแลผู้ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานฟื้นฟูฯ ที่รับรองจาก สบยช. อาทิ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพบ้านพระเมตตา จ.เชียงใหม่ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพปอเนาะเกาะศรีบอยา จ.กระบี่ และสถานพักฟื้นวัดถ้ำกระบอก จ.สระบุรี เป็นต้น ซึ่งหากมีความเข้มแข็งจนดำเนินงานได้ตามมาตรฐานและได้รับรองจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สปสช. จะเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณาให้องค์กรภาคประชาชนดังกล่าว เป็นสถานบริการเพิ่มเติมตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

เช่นเดียวกับทัณฑสถานที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่มีรูปแบบบริการคล้ายกับองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านนี้ มี สบยช. รับรองมาตรฐาน มองว่าสามารถเสนอให้เป็นหน่วยบริการตามมาตรา 3 ได้เช่นกัน ซึ่งจะได้รับงบสนับสนุนจาก สปสช. โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอและเสนอตั้งงบประมาณปี 2569

ทั้งนี้ โปรแกรมดังกล่าวเริ่มเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2567 และหลังจาก 1 เดือน พบว่าผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจระดับมาก มีเสียงสะท้อนในทางบวก เช่น มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น รู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น ปรับอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ทำให้ใจเย็นลง มีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักหน้าที่ และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองและครอบครัว มีความยับยั้งชั่งใจในการกลับไปใช้ยามากขึ้น เกิดสัมพันธภาพที่ดีกับสมาชิกอื่น ๆ มีความสามัคคี ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และได้รับความรู้ต่าง ๆ จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของสมาชิก

"กัน" หนึ่งในผู้ต้องขังคดียาเสพติด กล่าวว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้หลังจากเข้าร่วมโปรแกรม Recovery for the Better Life Program คือการเป็นผู้ฟังที่ดี การเรียนรู้ที่จะอยู่เป็นกลุ่มอย่างมีความสุขและไม่ก่อความเดือดร้อน จากเดิมที่เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูด ก็มีความกล้าแสดงออก กล้าเปิดใจและรู้จักคนเพิ่มขึ้น เมื่อมีเพื่อนเพิ่มขึ้น เวลามีปัญหาอะไรก็สามารถปรึกษาปัญหากับคนอื่นได้อีกหลายคน

ขณะที่ "เจตน์" อีกหนึ่งผู้ต้องขังที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมที่โปรแกรมนี้กำหนดขึ้น ช่วยปรับพฤติกรรมหลายอย่าง ได้เรียนรู้ตัวเองและเรียนรู้จากคนอื่น รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนาด้านความคิด จากที่เคยคิดลบก็เริ่มคิดบวก ไม่ได้มองสภาพแวดล้อมในเรือนจำในทางลบเสียหมด อีกทั้งยังรู้สึกว่าได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนในอนาคต ทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบมากขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: