อาคารของคุณปลอดภัยแค่ไหน? มจธ. แนะตรวจอาคารเบื้องต้น ลดเสี่ยงระยะยาว

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 เม.ย. 2568 | อ่านแล้ว 6 ครั้ง

อาคารของคุณปลอดภัยแค่ไหน? มจธ. แนะตรวจอาคารเบื้องต้น ลดเสี่ยงระยะยาว

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แนะนำวิธีตรวจอาคารเบื้องต้นหลังแผ่นดินไหว 28 มี.ค. 2568 โดยเฉพาะอาคารก่อนปี 2550 ที่มีความเสี่ยงมากกว่า แม้พบว่าส่วนใหญ่มีความเสียหายระดับ "สีเขียว" ที่ไม่กระทบการใช้งาน ผู้เชี่ยวชาญแนะใช้คู่มือจากกรมโยธาธิการฯ ในการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยอุปกรณ์พื้นฐาน ก่อนเรียกวิศวกรโยธา พร้อมย้ำว่าอาคารที่สร้างตามมาตรฐานปัจจุบันมีความปลอดภัยเพียงพอ ส่วนอาคารเก่าควรพิจารณาเสริมความแข็งแรง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รายงานว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ซึ่งแรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร โดยเฉพาะอาคารสูงที่มีผู้อยู่อาศัยและทำงานจำนวนมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดการอบรมหัวข้อ “กรณีศึกษาจากการตรวจอาคารจากแผ่นดินไหว, ข้อกฎหมาย และแนวทางการตรวจสอบ” เพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบความเสียหายของอาคารเบื้องต้นหลังเกิดแผ่นดินไหว รวมถึงการใช้คู่มือการสำรวจความเสียหายที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้นในปี 2560

รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมด้านแผ่นดินไหว อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า อาคารที่ก่อสร้างตามมาตรฐานในปัจจุบัน มีการออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งานที่ถูกประเภท ยังคงมีความปลอดภัยเพียงพอในสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

“หากเป็นอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานปัจจุบัน ระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ ไม่น่าจะสร้างความเสียหายมากกับโครงสร้างของตัวอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ หรือหากจะมีความเสียหายเกิดขึ้น อาจจะเกิดเล็กน้อยกับที่เป็นโครงสร้างหลัก หรือ เกิดความเสียหายในส่วนงานสถาปัตยกรรม เช่น การแตกร้าวของผนัง การแตกร่อนของปูน หรือการแยกตัวของผนังจากเสา ซึ่งแม้ไม่อันตรายถึงขั้นต้องอพยพออกจากอาคาร แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรได้รับการตรวจสอบและซ่อมแซมโดยเร็ว”

แต่ในกรณีของอาคารที่ก่อสร้างมาก่อนปี 2550 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มประกาศใช้กฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอย่างเป็นทางการ หรืออาคารที่ไม่ได้ก่อสร้างตามมาตรฐานในปัจจุบัน ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายที่ส่งผลต่อโครงสร้างหลักมีมากกว่า ทั้งนี้เพราะวัสดุและการออกแบบก่อสร้างที่ไม่ได้คิดถึงแรงสั่นสะเทือนในระดับเดียวกับปัจจุบัน ซึ่งก็อาจมีผลต่อความมั่นคงของอาคารในระยะยาว โดยเฉพาะหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต

สิ่งที่ควรปฏิบัติเป็นอย่างแรกหลังแผ่นดินไหวผ่านไป คือ การสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นของอาคารต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ตัวอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวได้รับการแก้ไขหรือซ่อมแซมให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอาคารหลังนั้นยังมีความปลอดภัยต่อการพักอาศัยหรือใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีกลุ่มวิศวกรอาสาเข้ามาช่วยในการตรวจสอบและประเมินอาคารที่ได้รับความเสียหาย แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบอาคารในกรุงเทพและปริมณฑลที่มีกว่าหมื่นอาคารอย่างครบถ้วนได้

คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่จัดทำโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 ที่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบอาคารประเภทต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถนำมาใช้การตรวจสอบความเสียหายของอาคารหรือห้องของตนในเบื้องต้นได้

“ในคู่มือเล่มนี้มีการระบุจุดที่ควรสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น โดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานอย่างตลับเมตร ไม้บรรทัด และเครื่องวัดระดับน้ำ ไปสำรวจตามจุดต่างๆ ในอาคารตามที่คู่มือระบุไว้ ซึ่งจะสามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่าโครงสร้างหลักของอาคารได้รับเสียหายหรือไม่ ถือเป็นการ “คัดกรอง” เบื้องต้น และลดภาระในการตรวจสอบอาคารด้วยวิศวกรอาสาได้เป็นอย่างมาก เพราะหากสำรวจขั้นต้นแล้วไม่พบความเสี่ยง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การสำรวจแบบละเอียดโดยวิศวกรโยธา ที่ต้องมีการใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร” รศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. กล่าวเสริม

รศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการเป็นวิศวกรอาสาในการตรวจสอบอาคารสูงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา พบว่าความเสียหายในอาคารที่เข้าไปตรวจเกือบทั้งหมดจะอยู่ใน “ระดับสีเขียว”

“ระดับ ‘สีเขียว’ หมายถึงมีเพียงความเสียหายเล็กน้อยที่ไม่กระทบต่อการใช้งาน เช่น รอยร้าวบางจุดที่ผนัง หรือพื้นโก่งงอเล็กน้อย และยังไม่พบร่องรอยของความเสียหายที่โครงสร้างหลัก อย่าง เสา คาน หรือจุดต่อระหว่างองค์ประกอบหลักของอาคาร ทั้งนี้ อาคารในระดับ ‘สีเขียว’ สามารถใช้งานได้ตามปกติหลังจากเคลียร์เศษวัสดุหรือผนังที่หลุดร่อนแล้ว แตกต่างจากอาคารในระดับ ‘สีเหลือง’ ที่มีรอยแตกร้าวชัดเจนในส่วนของโครงสร้าง หรือมีชิ้นส่วนอาคารที่อาจร่วงหล่นใส่ผู้ใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการห้ามใช้งานบางส่วนและต้องตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติม”

สำหรับแนวทางการเตรียมพร้อมหรือหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทั้งระหว่างและหลังเกิดแผ่นดินไหวของประชาชนทั่วไปนั้น รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า การออกแบบก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานปัจจุบัน สามารถช่วยป้องกันหรือลดความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้นหากเจ้าของโครงการให้ความสำคัญกับเรื่องแผ่นดินไหว มีการออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้อง รวมถึงภาครัฐมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ประชาชนในตึกนั้นเกิดความมั่นใจมากขึ้น ส่วนตึกหรืออาคารที่สร้างก่อนประกาศใช้กฎหมายควบคุมการออกแบบอาคาร พ.ศ.2550 สามารถให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบ เพื่อยืนยันความปลอดภัยอาคาร รวมถึงการใช้การเสริมแรงให้อาคารเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและลมได้ดีขึ้น หากมีความจำเป็น

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ที่ https://shorturl.at/MclFd

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: