'อันวาร์-ทักษิณ' จิ๊กซอร์ สันติภาพชายแดนใต้? และการพัฒนาอาเซียน?

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 3 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 622 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวดังทั้งไทยและมาเลเซียโดยเฉพาะชายแดนใต้ การที่นายกรัฐมนตรีดาโต๊ะสรีอันวาร์ อิบรอฮีม (คนชายแดนใต้มุสลิมจะอ่านว่า อิบรอฮีม มิใช่ อิบราฮิม ตามสื่อไทย) กำลังตั้งทีมที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียในปีหน้า หนึ่งในนั้นคืออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรีตัวจริงทางพฤตินัย) ในช่วงที่นางสาวแพทองธาร ชิณวัตรนายกรัฐมนตรีไทยเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการในขณะที่วันที่ 22 ธันวาคม 2567 สื่อมาเลย์ก็ยังรายงานอีกว่า มีกำหนดจะพบกับประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ของอินโดนีเซีย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ในวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่เกาะลังกาวี (ติดจังหวัดสตูล) เพื่อหารือในประเด็นยุทธศาสตร์ในภูมิภาคและพัฒนาการของอาเซียน ซึ่งปรากฎว่า วันที่ 27 ธ.ค. 2567 นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมรูปคู่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้พบกับนายทักษิณ เพื่อนที่ดี ไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 จริงโดยไม่ได้ระบุสถานที่ [อ้างอิงจากเพจ https://www.facebook.com/share/p/1EjeWRJASB]

ข้อตกลงไทย-มาเลเซียทำคู่กัน ระหว่างกระบวนการสันติภาพกับการพัฒนา

ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอันวาร์ อิบรอฮีม กับประชาสังคมชายแดนใต้ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเสียอีก

“การพูดคุยสันติภาพต้องควบคู่กับความยุติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะการศึกษาที่ต้องทำคู่กัน” นี่คือคำกล่าวของอันวาร์ อิบรอฮีม

นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชิณวัตรกล่าวถึง “บทบาทของมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย โดยประเทศไทย ให้ความสำคัญของการฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคง ต้องผ่านกระบวนการพูดคุยและการพัฒนา โดยหวังว่ากระบวนการพูดคุยจะเริ่มต้นใหม่ได้ในเร็วๆ นี้ ภายหลังการตั้งหัวหน้าคณะฝ่ายไทย และเชื่อมั่นว่ามาเลเซียจะให้การสนับสนุนไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ OIC ด้วย”ในแถลงข่าวต่อสื่อนั้นหน่วยงานมั่นคงทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมข้ามชาติที่เร่งด่วน เช่น การค้ามนุษย์และยาเสพติด การ เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการหลอกลวงทางออนไลน์

โดยปีหน้าประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ครั้งที่ 56 (56th General Border Committee (GBC) และคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคง ครั้งที่ 2 (2nd meeting of the joint working committee on security cooperation (JWC-SC)) นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการค้า ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2570 ซึ่งการค้าชายแดน มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของการค้าทวิภาคี โดยเชื่อว่าการอำนวยความสะดวกและการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนจะเป็นปัจจัยสำคัญ จึงเห็นควรเดินหน้าผลักดันหาข้อสรุปต่อบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดนโดยเร็ว ขณะที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ยินดีที่โครงสร้างพื้นฐานข้ามพรมแดนระหว่างกัน 2 โครงการ ได้แก่ ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ และสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก มีความคืบหน้าไปมากซึ่งจะเสร็จตามกำหนด โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายประเทศจะมีโครงการทางรางเพื่อเชื่อมโยงในภูมิภาคได้อย่างไร้รอยต่อ และสนับสนุนโครงการริเริ่มด้านโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เช่น รถไฟขนส่งสินค้า ASEAN Express (ASEAN Express trains) อีกด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องในปีหน้า (ปี 2568 ) ที่มาเลเซียจะเป็นประธานอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “Inclusivity and Sustainability” ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มาเลเซีย มาดานี Malaysia Madani” ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนในทุกมิติ พร้อมเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทย“ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต่อไปนี้ กระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ นั้น ต้องทำคู่ขนานไปพร้อมๆ กันระหว่างการพูดคุยสันติภาพกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับคนพื้นที่ระหว่างชายแดนทั้งสองประเทศ รวมทั้งสามเหลี่ยมเศรษฐกิจถึงอินโดนีเซีย หรือเรียกชื่อเป็นทางการว่า

“แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (IMT-GT)” ดังนั้น การพบของผู้นำตัวจริงทั้งสามประเทศที่ลังกาวี จึงมีนัยยะ สำคัญ กับ IMT-GT สำหรับ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT – GT) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้เห็นชอบการผลักดันการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในลักษณะไตรภาคีเพื่อเร่งรัดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจในพื้นที่ส่วนภูมิภาคที่ยังด้อยพัฒนาบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ภาคเหนือของมาเลเซีย และภาคใต้ของไทย ซึ่งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ก่อนที่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศจะให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม พ.ศ. 2537

แผนงาน IMT – GT เน้นความร่วมมือในหลากหลายสาขา ได้แก่ ด้านการค้าและการลงทุน, ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, ด้านการท่องเที่ยว, ด้านระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเชื่อมต่อการขนส่ง, ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ ด้านการผลิตและให้บริการฮาลาล โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การพัฒนาในเขตจังหวัดพื้นที่ทางตอนใต้ โดยเน้นบทบาทของภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

หัวใจกระบวนการสันติภาพอยู่ที่ การปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation)

ผู้เขียนเคยได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย ไปร่วมเวทีเสวนา “Peaceful Coexistence Strengthening The Malaysia-Thailand Relationship” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีตัวแทนนักวิชาการ ประชาสังคมชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 50 คนร่วมเสวนาในประเด็นกระบวนสันติภาพชายแดนใต้เพื่อให้ได้สันติภาพอย่างครอบคลุมยั่งยืนในประเด็นสังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การพัฒนา และการศึกษา โดยจะร่วมออกแบบการปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation)

ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ นายอันวาร์ อิบรอฮีม กรุณาบรรยายพิเศษ ประมาณครึ่งชั่วโมง โดยท่านเน้นถึงกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้นั้น “สันติภาพต้องควบคู่กับความยุติธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะการศึกษาที่ต้องทำคู่กัน”

ในขณะเดียวกันต้องครอบคลุมต่อทุกภาคส่วนไม่ว่าผู้เห็นต่าง รัฐ ประชาชนในพื้นที่ไม่ว่ามุสลิม และพุทธ สตรี เยาวชน ผู้นำศาสนา นักธุรกิจ เรียกได้ว่าทุกผู้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมกับจะต้องเตรียมความพร้อมทุกด้านไม่ว่าสังคม ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา และการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับพื้นที่ ในขณะเดียวกันสังคมพหุวัฒนธรรมก็สำคัญ โดยเฉพาะอิสลามให้ความสำคัญกับหลักอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้หลักการอิสลามและมนุษยธรรมสากล

หลังจากท่านบรรยายเสร็จมีการแบ่งกลุ่มเสวนาหาทิศทางและโจทย์เพื่อใช้องค์ความรู้ดังกล่าวในการแก้ปัญหาและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเซลังงอร์ มาเลเซีย (UNISEL) ร่วมกับนักวิชาการชายแดนใต้/ปาตานี การปรึกษาหารือกับประชาชน (Public Consultation) จึงเป็นหัวใจสำคัญแต่ก็เป็นโจทย์ความท้าทายสู่สันติภาพเทรนด์ใหม่ที่จะถูกขับเคลื่อนสมัยอันวาร์กับรัฐบาลสมัยนางสาวแพทองธาร ที่มีนายทักษิณ นายกรัฐมนตรีตัวจริง คอยวางเกมส์ ซึ่งหน่วยความมั่นคงในพื้นที่นำโดยแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตั้งคณะทำงานชุดใหม่ (ในพื้นที่เรียกว่า คพท.)สานต่อโดยจะเปิดเวทีสาธารณะกับประชาชนทุกภาคส่วน (รวมทั้งผู้เขียน) ดังที่ท่านให้นโยบายเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่โรงแรมซีเอสปัตตานี กล่าวคือ พลโทไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะหัวหน้าคณะประสานงานระดับพื้นที่ เป็นประธานการประชุมคณะประสานงานระดับพื้นที่ชุดใหม่ (คพท.) ทั้ง 9 กลุ่มอาชีพภาคประชาชน ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 จังหวัดร่วมประชุมพบปะเพื่อขับเคลื่อนงานการสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข ได้เปิดเผยว่า

“การประชุมครั้งนี้เน้นการสะท้อนปัญหาจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม การแก้ปัญหาให้กับสมาชิกคณะขับเคลื่อนระดับพื้นที่ด้วย ถ้าติดขัดปัญหาหรือมีอุปสรรค เพราะบางพื้นที่เป็นเรื่องเสี่ยง และเรื่องยากในการเข้าทำงาน โดยต้องเน้นการสื่อสารที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ และผลักดันให้จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับคืนสู่ความสงบสุขอย่างถาวร เหตุการณ์ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ และมีการพัฒนาการ ปรับการทำงานของกลุ่มคิดต่าง หรือกลุ่มขบวนการ อย่างไรก็ตามต้องใช้วิธีแก้ปัญหาสันติวิธี ใช้หลายภาคส่วนมาช่วยแก้ การสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชน ทุกภาคส่วน ต้องให้วาระเวทีนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มากที่สุด“

ดร.ดุลยารัตน์ บูยูโส๊ะ ประธานคณะขับเคลื่อนสันติสุขระดับพื้นที่ กล่าวว่า ”การดำเนินงานขับเคลื่อนสันติสุขมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาได้จัดเวทีสาธารณะถึง 250 เวที มีประชาชนเข้าร่วม 44,450 คน โดยมีตัวชี้วัดว่า 72.79% ของผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมและเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติสุข และนอกจากนี้ ยังมีโครงการ "Part to Peace" ที่ช่วยขยายเสียงจากเวทีสาธารณะไปสู่การพิจารณาในระดับรัฐสภา ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม ในปีต่อไป การทำงานยังต้องมุ่งเน้นการแก้จุดอ่อน เช่น การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการสร้างเครือข่ายสันติภาพผ่านนวัตกรรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนสันติสุขในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

นายมุฮำหมัดอายุป ปาทาน อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ สะท้อน ว่า ”เวทีสาธารณะทีลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนที่มาผ่านมา ถือว่า ยังไม่มากพอ ดังนั้นเสนอให้ทำเวทีให้มากกว่า คลอบคลุมที่ภาคส่วน ทุกพื้นทuj นอกจากนี้การปรึกษาหารือสาธารณะกับประชาชน เป็น หนึ่งในสามของ JCPP หรือ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็น ได้เห็นชอบใน 3 หลักการ คือ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง นับว่าเป็นความหวังสร้างสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

การปรึกษาหารือสาธารณะกับประชาชน มิใช่ คพท. องค์กรเดียวที่ทำ ยังองค์กรภาคประชาสังคมและภาควิชาการอื่นๆอีกที่ทำ เช่นกลุ่มด้วยใจและเครือข่าย ได้สะท้อนว่า “กลุ่มด้วยใจและเครือข่ายฯได้ไปทำกระบวนการหารือสาธารณะ และได้ข้อเสนอที่มาจากชุนชนและออนไลน์ซึ่งกระบวนการสันติภาพที่ต้องมีทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้กระบวนการปรึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยตลอดทั้งกระบวนการ จนได้ข้อเสนอจากชุมชนมา เกี่ยวกับประเด็นที่ถูกพูดถึงบนโต๊ะเจรจา ทั้ง 8 ประเด็น ได่แก่ ความปลอดภัยมั่นคง วัฒนธรรม การรับรองอัตลักษณ์ การศึกษา สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจและการพัฒนา รูปแบบการปกครอง และกระบวนการยุติธรรม” [อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการหารือสาธารณะ ในโครงการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้]

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: