นับตั้งแต่ปี 2563 มีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อยกว่าสามร้อยคดี เกินกว่าครึ่งเป็นคดีที่มาจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ซึ่งจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นต่อนักกิจกรรมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้มีพื้นที่บนหน้าข่าวหรือเป็นที่รู้จักมากนัก
เนื้อหาของการโพสต์เหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการแชร์ต่อเฉย ๆ การเล่าเรื่อง การวิพากษ์วิจารณ์ หรือโพสต์เนื้อหาที่มีความขำขัน หลายกรณีเป็นคดีฟ้องทางไกล ทำให้ผู้ถูกดำเนินคดีประสบความยากลำบากในการต่อสู้คดีและเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ นอกจากคดี ม.112 แล้ว ยังมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และอื่นๆ ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอาจต้องพบเจอจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนโลกออนไลน์
การดำเนินคดีเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร คดีเหล่านี้มีความผิดปกติอย่างไร และหากเราเป็นผู้ถูกดำเนินคดี เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ประชาไทชวนคุยกับ 'พูนสุข พูนสุขเจริญ' ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในพอดแคส "มนุษย์ออนไลน์ ปี 2 EP.6 : แค่โพสต์ ก็อาจโดนคดี! การฟ้องคดีแสดงออกบนโลกออนไลน์"
กระแสการชุมนุมจางหาย คดีการเมืองยังคงดำเนินไปบนโลกออนไลน์
พูนสุข พูนสุขเจริญ อธิบายว่า การฟ้องคดีจากภาครัฐไม่ได้มีแค่ในการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น แต่ก็เกิดขึ้นจากโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา จะเห็นว่าในช่วงหนึ่งปีกว่ามานี้ แทบไม่มีการชุมนุมแล้ว แต่ก็ยังมีคดีทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดทุกเดือน สถิตินับตั้งปี 2563 ถึงปัจจุบันมีคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 205 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไป 202 คน ซึ่งไม่ค่อยมีคนสนใจเรื่อง พ.ร.บ. คอม เพราะมักจะถูกใช้ฟ้องพ่วงไปกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ 116 ในส่วนคดี 112 ตั้งแต่ปี 2563 มีถึง 304 คดี เกินกว่าครึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์
ซึ่งคนที่ถูกดำเนินคดีจากการ โพสต์ แชร์ คอมเมนท์ บนโลกออนไลน์ มีหลากหลาย ไม่ใช้แค่แกนนำ หรือนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น แล้วเวลาที่คดีเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนทั่วไป มักจะดำเนินไปเงียบ ๆสังคมไม่รับรู้ เพราะคนที่โดนคดีไม่รู้ว่ามีองค์กรที่คอยช่วยเหลือเรื่องคดีอยู่ หรือไม่รู้ว่าจะเข้าถึงการช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ทำให้กว่าทางศูนย์ทนายฯ รู้ว่ามีคดีเกิดขึ้น ก็เมื่อมีข่าวออกมา หรือจำเลยอยู่ในเรือนจำไปแล้ว หลายครั้งได้ข้อมูลว่ามีคดีเกิดขึ้น จากฝ่ายคนที่เป็นผู้กล่าวหา ดังนั้นจำนวนคดีอาจมีมากกว่านี้ โดยที่เราไม่สามารถรู้ได้
เนื่องจากคดี ม.112 เป็นคดีทางการเมือง จึงมีพลเมืองแอคทิฟ ที่อยู่ฝั่งซึ่งเรียกว่าตัวเองว่า “คนรักสถาบัน” ก่อนหน้านี้ จะสามารถเห็นการทำงานของกลุ่มอย่าง “ศชอ.” ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ “ศปปส.” ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ที่มีการจัดอบรมสร้างเครือข่าย สอนการเก็บข้อมูลแคปเจอร์ข้อความ แล้วนำไปแจ้งความคดี ม.112 ซึ่งจะเห็นว่ามีการทำเป็นขบวนการชัดเจน
แต่ช่วงปีที่ผ่านมาสองกลุ่มนี้ได้ลดบทบาทลงไปมาก แต่มีกลุ่ม “ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน” ที่มีการจดทะเบียนตั้งเป็นสมาคมมีบทบาทขึ้นมาแทน มีกระบวนการณ์จัดตั้งให้คนที่อยู่ในจังหวัดไกลๆ อย่างพัทลุง นราธิวาส ไปฟ้องคดี ซึ่งพวกเขาไม่สนว่าคนที่ถูกดำเนินคดีอาศัยอยู่ที่ไหน
จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “คดีทางไกล” ที่จำเลยถูกตั้งใจฟ้องในพื้นที่ห่างไกลจากผู้ลำเนา โดยผู้ฟ้องอ้างว่าเขาได้อ่านข้อความที่จังหวัดนั้น จึงไปแจ้งความ
พูนสุข เล่าถึงความลำบากของจำเลยในคดีทางไกล ว่าเพียงแค่ถูกดำเนินคดีปกตินั้นก็เป็นภาระมากอยู่แล้ว เสียทั้งเวลา และการเดินทาง ยิ่งเป็นคดีทางไกล ยิ่งจะใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นอีก อย่างจำเลยเป็นคนลำพูน แต่ถูกฟ้องที่นราธิวาส มีเที่ยวบินรอบเดียวต่อวัน ก็ต้องไปเตรียมตัวก่อน 1 วัน ขึ้นศาลเสร็จก็ต้องนอนรอเดินทางกลับอีก 1 คืน หากท้ายที่สุดจำเลยถูกพิพากษาจำคุก อย่างกรณีคุณ อุดม ที่อยู่ปราจีนบุรี และคุณกัลยา ที่มีภูมิลำเนาที่ภาคเหนือ เป็น 2 ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่ถูกจำคุกที่นราธิวาส “การเข้าถึงของญาติยิ่งจะอยากลำบากกันไปใหญ่ ที่จะเดินทางไปเยี่ยม ยิ่งทำให้ผู้ต้องหารู้สึกโดดเดียวมากกว่าเดิม” พูนสุข กล่าว
การที่คดีจากโลกออกไลน์เกิดขึ้นได้ง่ายนั้น เพราะเนื่องจากมาตรา 112 ถูกกำหนดให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งเป็นความผิด ที่ทำให้ใครก็ได้สามารถไปกล่าวโทษ ยิ่งการมีกลุ่มจัดตั้งที่เรียกตัวว่าเป็นคนที่รักสถาบัน ทำให้ยิ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคดีหมิ่นประมาทปกติ ที่ต้องเป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่จะดำเนินคดีได้
ภายใต้ระบบกฎหมายที่บิดเบี้ยว แค่โพสต์ตั้งคำถาม แชร์มุขตลก เขียนแคปชั่นวิจารณ์ ก็ติดคุกได้
ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อธิบายต่อว่า เนื้อหาที่ถูกนำไปดำเนินคดีมีทุกรูปแบบตั้งแต่คำก่นด่า การวิพากษ์วิจารณ์ สเตตัสที่เป็นเหตุ เป็นผล มีข้อมูลรับรอง อย่างสเตตัสที่กล่าวถึงการนำเข้าวัคซีน ไปจนถึงการพูดถึงสิ่งที่ได้ผลกระทบในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งข้อความตลก มีม ในโลกออนไลน์ก็ถูกดำเนินคดีด้วย อย่างกรณีของน้ำ วารุณี ที่โพสต์มีมตลก เป็นรู้พระแก้วมรกตใส่ชุดเดรสสีม่วง ที่เป็นแบรนด์ SIRIVANNAVARI ซึ่งมีนายหลวงอยู่ในภาพด้วย แล้วเขียนแคปชั่น แก้วมรกต X SIRIVANNAVARI กลายเป็นถูกตัดสินให้ผิดทั้งมาตรา 112 และข้อหาหมิ่นศาสนา
“ถามว่าจำเป็นต้องเอาคนๆหนึ่งไปขังคุกปีครึ่ง เพราะว่าภาพนั้นจริงหรือ มันมีใครที่ศรัทธาศาสนาน้อยลง มีใครที่ศรัทธาสถาบันกษัตริย์น้อยลงเพราะภาพนั้นจริงๆหรือป่าว” พูนสุขกล่าว
แน่นอนสถานการณ์ปัจจุบันเรามีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ง่าย แต่เราก็สามารถระมัดระวังตัวได้ ถึงอย่างไรก็ไม่ควรเป็นการโทษผู้ถูกดำเนินคดีว่า ไม่ระมัดระวัง หรือเลือกที่จะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้เอง แต่ปัญหาคือกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ที่ถูกใช้ปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก
พูนสุข เปรียบเทียบการดำเนินคดี 112 ของเจ้าหน้าที่ เหมือนการถือเผือกร้อน ที่เมื่อตำรวจรับเรื่องมา ต้องรีบส่งต่อโดยไม่มีการกลั่นกรอง ในการหมิ่นประมาททั่วไป มีตัวบทที่ระบุว่าถ้าการวิจารณ์นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ จะมีการยกเว้นโทษ แต่ในกรณีของคดี 112 ไม่มีตัวบทแบบนี้ยกเว้นไว้ให้
ยกตัวอย่างว่า ในช่วงโควิด-19 บริษัทเอ สัญญาว่าจะนำเข้าวัคซีน แต่สุดท้ายไม่สามารถนำเข้ามาได้ ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวัน เราในฐานะประชาชนที่ควรจะได้รับวัคซีน เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์บริษัทเอได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่าประโยชน์สาธารณะ
แต่กลับกันถ้าบริษัทเอ มีผู้ถือหุ้นเป็นพระมหากษัตริย์หรือบุคคลตามที่มาตรา 112 คุ้มครองไว้ จะกลายเป็นว่าไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ทันที ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เปลี่ยนแค่ตัวบุคคล
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ใช้ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ แต่ใช้ “ความเชื่อ” ลงโทษ
นอกจาก 112 แล้วยังมีความผิดตามตัวบทอื่นอีก อย่างเช่นกรณีของ เอกชัย หงส์กังวาน ที่ถูกฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการที่โพสต์ถึงเรื่องประสบการณ์ทางเพศในเรือนจำ ซึ่งเป็นการที่เอา พ.ร.บ.คอมฯ ที่ควรจะใช้จัดการกับแพลตฟอร์มมาใช้ ในการควบคุมเนื้อหา เช่นเรื่องความมั่นคง สถาบันฯ ไปจนถึงเรื่องเพศ ซึ่งสิ่งที่เอกชัยโพสต์ในเฟซบุ๊ค ก็เป็นการเล่าเรื่องแบบสารคดีทั่วไป ไม่ได้มีความลามก หรือมีเด็กที่เข้ามาเกี่ยวข้องที่ควรจะเป็นความผิด
ซึ่ง พ.ร.บ.คอมนั้นถูกนำมาบังคับใช้ ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการปกป้องการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เช่นไม่ให้มีการแฮ็ก ป้องกันความเป็นส่วนตัว หรือป้องกันปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แต่กลับถูกนำไปใช้กับคดีหมิ่นประมาท ซึ่งแม้จะมีแก้ไขตัดตัวบทออกไม่ให้ใช้ลักษณะนั้นแล้ว แต่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างตำรวจก็ยังเอามาใช้ในกับคดี ม.112 อยู่
อีกปัญหาหนึ่งของคดีที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ คือการพิสูจน์พยานหลักฐาน ในหลายคดีที่พยานหลักฐานมีปัญหา มีความไม่น่าเชื่อถือ ไม่สามารถพิสูจน์ในทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ได้แน่ชัด เว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ แต่ศาลมักจะใช้คำว่า “เชื่อได้ว่า” จำเลยเป็นผู้กระทำ
“พอมันเป็นคดีคอมพิวเตอร์คุณก็ควรจะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ว่ามันระบุตัวตนได้ยังไง ไม่ใช้พิสูจน์ด้วยความเชื่อของศาล ที่ศาลเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในลักษณะนี้” พูนสุขกล่าว อย่างเช่นคดี “อากง” ผู้ต้องหาที่ต้องเสียชีวิตในเรือนจำ จากการถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความ SMS หมิ่นสถาบัน ซึ่งตามคำพิพากษาบอกว่า พยานหลักฐานระบุได้ไม่แน่ชัดว่าอากงเป็นคนส่ง แต่ศาลก็เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนกระทำจริง
หากติดตามเรื่องคดีความทางการเมือง จะพบว่า ช่วงปี 2561-2563 ฝ่ายรัฐมีความพยายามจะไม่ใช่มาตรา 112 แต่ช่วงนั้น พ.ร.บ.คอมยังถูกใช้จัดการกับผู้วิจารณ์สถาบันอยู่ เนื่องจากปัญความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามมาด้วยปัญหาทางกฎหมายว่า ถ้าหากจะลงโทษ พ.ร.บ.ลักษณะนี้ได้ ควรจะต้องลงโทษในฐานความผิดด้านความนั่นคงตามกฎหมายอื่น ก่อนถึงจะทำได้ แต่กลับไม่ฟ้องกฎหมายความมั่นคงอื่นเลย ฟ้องแต่ พ.ร.บ.คอม เพียงฐานความผิดเดียว
จะป้องกันและรับมืออย่างไร หากถูกฟ้องคดีแสดงออกบนโลกออนไลน์
“เวลาจะโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นอะไร ต่อให้จำกัดคนแค่ไหน เราต้องตระหนักเสมอว่านั่นคือโพสต์สาธารณะ ต่อให้คุณมีเพื่อนแค่ห้าคนสิบคน มันก็สาธารณะอยู่ดี” พูนสุขกล่าว การป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือการตระหนักว่าความเห็นของเราอยู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจจะไปถึงคนที่เกลียดรออยู่แล้ว หรือคนที่เป็นกลุ่มคนรักสถาบัน
เมื่อตระหนักเรื่องความเป็นสาธารณะแล้ว ในลำดับต่อมาการแสดงความคิดเห็นควรอยู่บนเส้นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อย่างการตั้งคำถามไม่ใช่การหมิ่นประมาท หรือการยืนยันข้อเท็จก็มีโอกาสสู้ในทางกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงแม้แต่ตั้งคำถามก็สามารถถูกดำเนินคดีได้ ในส่วนการด่าทอนั้นมีทางต่อสู้ทางกฎหมายน้อยกว่า
ในส่วนที่หากเป็นฝ่ายที่ถูกฟ้องดำเนินคดี เมื่อมีการคำร้องถึงตำรวจหลังจากผ่านกระบวนการต่างๆ แล้ว จะมีการส่งหมายเรียกหรือหมายจับมาถึงเรา ต้องดูว่าเป็นหมายเรียกอะไร หมายเรียกพยานหรือหมายเรียกผู้ต้องหา บางคดีของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นการออกหมายเรียกพยาน ให้เราไปให้ข้อมูล เช่นว่าโพสต์ที่ถูกกล่าวหาเป็นของเราหรือไม่ ท้ายที่สุดเราถูกดำเนินคดีเอง ดังนั้นแม้จะเป็นหมายเรียกพยานก็ควรจะมีทนายไปด้วย
ถ้าหากถูกหมายเรียกผู้ต้องหา ควรหาข้อมูลก่อนเช่นโทรถามกับตำรวจว่าเป็นโพสต์ไหนที่ถูกกล่าหาว เพื่อเตรียมหาข้อมูลเพิ่ม หรือหาว่ามีโพสต์อื่นของเราที่สุ่มเสี่ยงอีกไหม และติดต่อให้ทนายไปพบเจ้าหน้าที่ด้วย
ส่วนกรณีที่ถูกหมายจับจะไม่มีการแจ้งล่วง ต้องถ้ามีเพียงแต่หมายจับอย่างเดียว ไม่มีหมายค้นตำรวจจะไม่สามารถเข้ามาในบ้านได้ ถ้าดูตามข่าวจะเห็นตำรวจมักจะนำหมายจับมาตอนเช้า ที่เราเพิ่งตื่นนอน ตั้งสติไม่ทัน จำเป็นต้องดูด้วยว่าหมายค้นเพื่อจับกุม หรือหมายค้นเพื่อหาพยานหลักฐาน ถ้าเป็นหมายค้นเพื่อจับกุมอย่างเดียวตำรวจจะไม่สามารถเอาสิ่งของเราไปได้ หากมีการยึดมือถือเรา แม้จะมีหมายค้นระบุไว้ แต่การเข้าถึงข้อมูลในมือถือต้องได้รับความยินยอมจากเรา หากเป็นหมายค้นคอมพิวเตอร์ หรือมือถือ ที่ต้องการใช้พาสเวิร์ด ต้องมีหมายจากทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโลยี (บก.ปอท.) โดยตรงเท่านั้น
เมื่อมีตำรวจมาที่หน้าบ้าน สิ่งที่ทำควรจะเป็นการโทรหาทนาย แล้วตรวจเช็คเอกสาร จึงให้ตำรวจเข้ามาในจำนวนที่สมเหตุผล เช่นหากอยู่คนเดียวก็ควรจะให้ตำรวจเข้ามาแค่ 1-3 คนเป็นต้น แล้วจึงตรวจค้นไปทีละจุดไปพร้อมกันกับเรา เพราะหากเข้ามามากเกิน เราไม่สามารถดูได้ครบ ว่าตำรวจค้นหรือยึดอะไรไปบ้าง
หากถูกจับกุมไปแล้ว พูนสุขอธิบายว่า ต้องคิดเสมอว่าเรามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ขอให้การในชั้นศาล หรือให้การเป็นหนังสือภายก็ย่อมได้ ส่วนถ้าหากต้องการรับสารภาพ ควรทำในชั้นศาล หลังจากปรึกษากับทนายความ ได้เห็นพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนก่อนจึงตัดสินใจ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ