- พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. ในรอบก่อนเดือน ก.พ. 29 จังหวัด พรรคละ 11 จังหวัดเท่ากันนั้น พรรคเพื่อไทยใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม จำนวน 5 จังหวัด ส่วนพรรคภูมิใจไทยใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม จำนวน 4 จังหวัด
- การเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 68 ซึ่งจะมีเพียง 47 จังหวัดนั้น พบว่ามีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. รวม 192 คน แบ่งเป็นชาย 156 คน หญิง 36 คน โดยจังหวัดที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. มากที่สุดคือ สงขลา จำนวน 9 คน ในขณะที่สิงห์บุรี มีเพียง 1 คน
- หากนำผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ทั้ง 192 คน มาจัดกลุ่ม จะพบว่าเป็น นายก อบจ. คนเดิม 42 คน นักการเมืองท้องถิ่น 49 คน นักการเมืองระดับชาติ 41 คน หน้าใหม่ 60 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 10 คน
- พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นสองพรรคที่ได้นายก อบจ. รอบแรก 29 จังหวัดก่อนหน้านี้ ยังคงใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม เป็นหลักในการลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. รอบวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ โดยพรรคเพื่อไทยใช้ผู้สมัครนายก อบจ. เดิมมากที่สุด 11 คน พรรคภูมิใจไทย ใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม 10 คน
ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2563 ซึ่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 มีกำหนดข้อห้ามให้ข้าราชการการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งช่วยผู้สมัครได้ ทำให้พรรคการเมืองไม่อาจลงมาสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งของนายก อบจ. ได้อย่างเต็มกำลัง เพราะอาจจะสุ่มเสี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ขณะที่ปัจจุบัน ข้อห้ามดังกล่าวได้มีการแก้ไขใหม่ ทำให้พรรคการเมืองลงมาช่วยหาเสียงได้อย่างเปิดเผยและเต็มกำลัง แต่ถึงอย่างนั้นในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ในรอบก่อนเดือน ก.พ. 29 จังหวัดที่ผ่านมา ก็มีเพียงพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนที่ประกาศส่งผู้สมัครในนามพรรคอย่างเป็นทางการ ในขณะเดียวกันผู้สมัครนายก อบจ. บางจังหวัด แม้พรรคการเมืองจะไม่ได้ประกาศส่งลงสมัครอย่างเป็นทางการ แต่ทว่าในทางการเมืองก็เป็นที่รับรู้กันว่ามีความสัมพันธ์กับพรรคใด ทั้งการสนับสนุนจาก สส. ในพรรค หรือจากความสัมพันธ์ที่เคยมีมาในอดีต เช่นเดียวกับการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้
Rocket Media Lab ชวนสำรวจผู้สมัคร นายก อบจ. ว่าเป็นใครมาจากไหน มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอย่างไรบ้าง
เลือกตั้ง นายก อบจ. ทำไมบางจังหวัดเลือกไปแล้ว บางจังหวัดต้องเลือกวันที่ 1 ก.พ.68
การเลือกตั้ง อบจ. กำหนดวันเลือกตั้งทั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ไว้วันที่ 1 ก.พ. 2568 แต่ถึงอย่างนั้นในวันที่ 1 ก.พ. 2568 จะมีเพียง 47 จังหวัดเท่านั้นที่จะมีการเลือกตั้ง นายก อบจ. พร้อมกับ ส.อบจ. เนื่องจาก 29 จังหวัดมีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้จากการที่นายก อบจ. ลาออกก่อนหมดวาระ 26 จังหวัด และจากคำวินิจฉัยของศาลและมติ กกต. อีก 3 จังหวัด
พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด กำหนดให้นายก อบจ. มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง หากลาออกต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน หากครบวาระต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน โดยเริ่มนับระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนับแต่วันเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ในขณะที่ ส.อบจ. มีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปีเช่นเดียวกัน หากลาออกต้องมีการเลือกตั้งซ่อมภายใน 60 วัน หากครบวาระต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ความแตกต่างระหว่าง นายก อบจ. กับ ส.อบจ. อยู่ที่วาระในการทำงานของ ส.อบจ. นับตามอายุที่เหลืออยู่ของสภา อบจ.
นั่นหมายความว่าหาก นายก อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งใหม่ อายุงานของนายก อบจ. คนใหม่จะเท่ากับ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้งใหม่ แต่หาก ส.อบจ. ลาออก แล้วมีการเลือกตั้งซ่อม อายุงานของ ส.อบจ. ใหม่จะเหลือเท่ากับอายุงานที่เหลืออยู่ของสภา อบจ. จากการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ซึ่งคือ 20 ธันวาคม 2563 การเลือกตั้ง อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ จึงเหลือเพียงการเลือกตั้ง นายก อบจ. 47 จังหวัด และ ส.อบจ. 76 จังหวัด
โดยนับจากการเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ปรากฏว่ามีนายกฯ อบจ. ลาออก หรือถูกให้ออกด้วยเหตุผลอื่นและมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ไปก่อนหน้าวันที่ 1 ก.พ. 2568 ไปแล้ว 29 จังหวัด แยกเป็น
ปี 2565 จำนวน 2 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด
ปี 2566 จำนวน 2 จังหวัด คือ สระแก้ว และกาญจนบุรี
ปี 2567 จำนวน 25 จังหวัด คึอ ปทุมธานี* เลย นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท พระนครศรีอยุธา พะเยา ชัยภูมิ พิษณุโลก ราชบุรี ชุมพร ยโสธร ระนอง อุทัยธานี ขอนแก่น สุโขทัย สุรินทร์ นครศรีธรรมราช เพชรบุรี อุดรธานี กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
โดยในกรณีของ อบจ. ปทุมธานีนั้น ในปี 2567 มีการเลือกตั้งไปแล้วถึง 2 ครั้ง ทั้งจากการลาออกก่อนหมดวาระของคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่งผู้ที่ชนะเลือกตั้งคือชาญ พวงเพ็ชร์ แต่ต่อมาชาญ พวงเพ็ชร์ ก็ถูกใบเหลืองจาก กกต. จึงทำให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง โดยผู้ที่ชนะการเลือกตั้งก็คือ คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 29 จังหวัด รอบก่อน 1 ก.พ. 68 ใครมาวิน
ใน 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ไปแล้วก่อนวันที่ 1 ก.พ. 68 พบว่าอดีตนายก อบจ. ที่ลาออกหรือถูกให้ออกไปนั้นกลับมาลงสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. อีกครั้ง 21 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ระนอง ราชบุรี สุโขทัย สุรินทร์ อ่างทอง อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
ในขณะที่อีก 8 จังหวัดแม้นายก อบจ. คนเดิมจะไม่ได้กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ก็มีเครือข่ายของตนหรือคนของพรรคลงสมัครแทน คือ กาญจนบุรี ชัยนาท ตาก พะเยา ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว และอุดรธานี
จากผลการเลือกตั้งในกลุ่ม 29 อบจ. รอบแรกที่มีการเลือกนายก อบจ. ไปแล้วก่อนวันที่ 1 ก.พ. 68 พบว่านายก อบจ. เดิมที่ลาออกและลงสมัครรับเลือกตั้งได้กลับเข้ามาเป็นนายก อบจ. อีกครั้ง 14 จังหวัด คือ กำแพงเพชร ชุมพร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธา พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยโสธร ราชบุรี สุโขทัย อ่างทอง อุทัยธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
ในขณะที่อีก 7 จังหวัด เป็นเครือข่ายนายก อบจ. เดิม ทั้งเครือญาติหรือมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน คือ กาญจนบุรี ชัยนาท ตาก พะเยา สระแก้ว และอุดรธานี
และ 8 จังหวัด ที่เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองโดยนายก อบจ. เดิมหรือเครรือข่ายที่ส่งลงสมัครแทนแพ้การเลือกตั้ง คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช ปทุมธานี ระนอง สุรินทร์ และร้อยเอ็ด
นอกจากนั้นหากพิจารณานายก อบจ. ใหม่ใน 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งก่อนหน้าวันที่ 1 ก.พ. 68 จากความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคการเมือง ทั้งจากการที่พรรคประกาศส่งลงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ โดยอาศัยการชี้วัดจากความสัมพันธ์ในอดีตจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น การสังกัดพรรคการเมือง, การเคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคการเมืองนั้น, มีคู่สมรส บุตร ญาติ อยู่ในพรรคการเมืองนั้น, เป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นๆ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียงเลือกตั้ง เงินทุน ฯลฯ หรือมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในพรรคนั้นๆ อย่างใกล้ชิด อันเป็นวิถีทางที่สื่อมวลชนหลายสำนักใช้กันในการนำเสนอข่าว จะพบว่า
เพื่อไทย ชนะการเลือกตั้ง 11 จังหวัด คือ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น พะเยา พิษณุโลก ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี โดยใน 11 จังหวัดนี้เพื่อไทยประกาศส่งผู้สมัคร 6 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด สุโขทัย อุดรธานี และอุบลราชธานี
ภูมิใจไทย ชนะการเลือกตั้ง 11 จังหวัด คือ ชัยภูมิ ตาก นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ระนอง เลย สุรินทร์ อ่างทอง และอุทัยธานี
พลังประชารัฐ ชนะการเลือกตั้ง 3 จังหวัด คือ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และสระแก้ว
รวมไทยสร้างชาติ ชนะเลือกตั้ง 3 จังหวัด คือ ชัยนาท ชุมพร และเพชรบุรี
กล้าธรรม ชนะเลือกตั้ง 1 จังหวัด คือ ราชบุรี
นอกจากนั้น หากพิจารณาเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ทางการเมืองของนายก อบจ. จากการเลือกตั้งในรอบแรก 29 จังหวัดนี้ กับการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งที่ผ่านมาในปี 2563 โดยอาศัยข้อมูลการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองของ Rocket Media Lab ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ที่ได้รับการเลือกตั้งคนใด ในจังหวัดใด มีการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองบ้าง จะพบว่ามีผู้สมัครนายก อบจ. ที่ได้รับการเลือกตั้ง ที่มีการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใน 8 จังหวัด ด้วยกันคือ
นพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ. ชุมพร จากพรรครวมพลังประชาชาติไทย เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ
สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ. นครสวรรค์ จากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคภูมิใจไทย
คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ. ปทุมธานี จากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคภูมิใจไทย
มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ. พิษณุโลก จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคเพื่อไทย
ชัยยะ อังกินันทน์ นายก อบจ. เพชรบุรี จากพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ
มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ. สุโขทัย จากพรรคพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคเพื่อไทย
สุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ. อ่างทอง จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคภูมิใจไทย
เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ. อุทัยธานี จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นพรรคภูมิใจไทย
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทย ซึ่งชนะการเลือกตั้งนายก อบจ. ในรอบแรก 29 จังหวัด พรรคละ 11 จังหวัดเท่ากันนั้น พรรคเพื่อไทยใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม จำนวน 5 จังหวัดคือ พิษณุโลก ยโสธร สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี โดยนอกจากจะเป็นนายก อบจ. เดิม ยังถือเป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ อีกด้วย เช่น อุบลราชธานี นอกจากนี้ในจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ที่ได้รับเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยยังมาจากการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 2 จังหวัดคือ พิษณุโลกและสุโขทัย
ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้นใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม จำนวน 4 จังหวัดคือ นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และอุทัยธานี (ในที่นี้ ไม่ได้นับปทุมธานี เพราะดูจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แม้คำรณวิทย์จะเป็นนายก อบจ. มาก่อนหน้านั้นก็ตาม) นอกจากนายก อบจ. เดิม ยังมีการใช้ผู้สมัครที่เป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ อีกด้วย เช่น ชัยภูมิ ตาก สุรินทร์ หรือเลย นอกจากนี้ในจำนวนผู้สมัครนายก อบจ. ที่ได้รับเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทยยังมาจากการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 4 จังหวัดคือ นครสวรรค์ ปทุมธานี อ่างทอง และอุทัยธานี
เลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 ผู้ลงสมัครนายก อบจ. ทั้ง 47 จังหวัด เป็นใครมาจากไหน
การเลือกตั้งนายก อบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 68 ซึ่งจะมีเพียง 47 จังหวัดนั้น พบว่ามีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ใน 47 จังหวัด รวม 192 คน แบ่งเป็นชาย 156 คน หญิง 36 คน โดยจังหวัดที่มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. มากที่สุดคือ สงขลา จำนวน 9 คน ในขณะที่สิงห์บุรี มีเพียง 1 คน และหากแยกเป็นภาคจะพบว่า
ภาคเหนือ มีการเลือกตั้ง 7 จังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 21 คน แบ่งเป็น ชาย 16 คน หญิง 5 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการเลือกตั้ง 11 จังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 59 คน แบ่งเป็น ชาย 43 คน หญิง 16 คน
ภาคกลาง มีการเลือกตั้ง 11 จังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 42 คน แบ่งเป็น ชาย 35 คน หญิง 7 คน
ภาคตะวันตก มีการเลือกตั้ง 1 จังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 คน เป็น ชายทั้งสองคน
ภาคตะวันออก มีการเลือกตั้ง 6 จังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 23 คน แบ่งเป็น ชาย 19 คน หญิง 4 คน
ภาคใต้ มีการเลือกตั้ง 11 จังหวัด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 45 คน แบ่งเป็น ชาย 41 คน หญิง 4 คน
หากนำผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ทั้ง 192 คน มาจัดกลุ่ม จะพบว่าเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 42 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 49 คน
นักการเมืองระดับชาติ 41 คน
หน้าใหม่ 60 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 10 คน
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า หากการเลือกตั้งนายก อบจ. 29 จังหวัดก่อนวันที่ 1 ก.พ. 68 มีนายก อบจ. คนเดิมลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง 21 จังหวัด และได้รับเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้งถึง 14 จังหวัด หรือคิดเป็น 66.67% ในการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 68 นี้ จาก 47 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. มีนายก อบจ. คนเดิม กลับมาลงเลือกตั้งถึง 42 จังหวัดด้วยกัน โดย 5 จังหวัดที่นายก อบจ. คนเดิมไม่กลับมาลงเลือกตั้งอีกครั้ง คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สงขลา สมุทปราการ และอำนาจเจริญ
แต่ถึงอย่างนั้น พบว่า จำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. มากที่สุดมาจาก ‘หน้าใหม่’ ซึ่งมีถึง 60 คน โดยมีประวัติที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งนักธุรกิจ ทนายความ นักเคลื่อนไหว อดีตข้าราชการ ฯลฯ โดยในจำนวนนี้พบว่า มี 10 คนที่เป็นเครือญาตินักการเมือง เช่น ชลธี นุ่มหนู ผู้สมัครนายก อบจ. เบอร์ 3 จังหวัดตราด ซึ่งเป็นน้องชายของ ศักดินัย นุ่มหนู สส. ตราด พรรคประชาชน หรืออับดุลลักษณ์ สะอิ ผู้สมัครนายก อบจ. เบอร์ 2 นราธิวาส ซึ่งมีนายซาการียา สะอิ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย เป็นพี่ชาย
รองลงมาก็คือ นักการเมืองท้องถิ่น 49 คน ซึ่งก็คือ อดีตผู้สมัครนายก อบจ. จากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ หรืออดีตนายก อบจ. ที่ไม่ใช่ครั้งล่าสุด อดีตนายก อบต. หรือตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติ 41 คน ซึ่งก็คือ อดีต สส. หรืออดีตผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. รวมไปถึง สว. อีกด้วย
โดยเมื่อแยกประเภทของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 47 จังหวัดเป็นรายภาค ได้ดังนี้
ภาคเหนือ เลือกตั้งนายก อบจ.7 จังหวัด
นายก อบจ. คนเดิม 7 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 5 คน
นักการเมืองระดับชาติ 4 คน
หน้าใหม่ 5 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 1 คน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลือกตั้งนายก อบจ. 11 จังหวัด
นายก อบจ. คนเดิม 10คน
นักการเมืองท้องถิ่น 8 คน
นักการเมืองระดับชาติ 18 คน
หน้าใหม่ 23 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 3 คน
ภาคกลาง เลือกตั้งนายก อบจ. 11 จังหวัด
นายก อบจ. คนเดิม 10 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 11 คน
นักการเมืองระดับชาติ 6 คน
หน้าใหม่ 15 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 3 คน
ภาคตะวันตก เลือกตั้งนายก อบจ. 1 จังหวัด
นายก อบจ. คนเดิม 1 คน
หน้าใหม่ซึ่งเป็นเครือญาตินักการเมือง 1 คน
ภาคตะวันออก เลือกตั้งนายก อบจ. 6 จังหวัด
นายก อบจ. คนเดิม 4 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 11 คน
นักการเมืองระดับชาติ 3 คน
หน้าใหม่ 5 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 1 คน
ภาคใต้ เลือกตั้งนายก อบจ. 11 จังหวัด
นายก อบจ. คนเดิม 10 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 14 คน
นักการเมืองระดับชาติ 10 คน
หน้าใหม่ 11 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเครือญาตินักการเมือง 1 คน
พรรคไหน ใช้ผู้สมัครแบบไหนในการลงสมัครนายก อบจ.
จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายก อบจ. ใน 47 จังหวัด จำนวน 192 คน เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคการเมือง ทั้งจากการที่พรรคประกาศส่งลงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการและจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์จะพบว่า
เพื่อไทย จากพรรคประกาศ 15 คน จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 14 คน รวม 29 คน
ประชาชน พรรคประกาศ 17 คน จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 8 คน รวม 25 คน
ภูมิใจไทย จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 19 คน
พลังประชารัฐ จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 12 คน
ประชาธิปัตย์ จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 7 คน
รวมไทยสร้างชาติ จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 6 คน
พรรคอื่นๆ โดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอีก 11 คน เช่น พรรคกล้าธรรมในจังหวัด นราธิวาส ชาติไทยพัฒนาในจังหวัดสุพรรณบุรี และพรรคอื่นๆ ที่เป็นพรรคประกาศอีก 1 คน คือ บุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ ผู้สมัครนายก อบจ. ศรีสะเกษ เปิดตัวกับพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่เหลือคืออิสระ ไม่พบความสัมพันธ์ 82 คน
จากนั้น เมื่อพิจารณาเป็นรายพรรคจะพบว่า
เพื่อไทย 29 คน จากพรรคประกาศ 15 คน จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 14 คน โดยแยกเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 11 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 7 คน
นักการเมืองระดับชาติ 7 คน
หน้าใหม่ 4 คน
ภูมิใจไทย จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 19 คน โดยแยกเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 10 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 3 คน
นักการเมืองระดับชาติ 3 คน
หน้าใหม่ 3 คน
พลังประชารัฐ จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 12 คน โดยแยกเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 4 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 1 คน
นักการเมืองระดับชาติ 7 คน
หน้าใหม่ 0 คน
รวมไทยสร้างชาติ จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 6 คน โดยแยกเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 3 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 2 คน
นักการเมืองระดับชาติ 1 คน
หน้าใหม่ 0 คน
ประชาชน 25 คน จากพรรคประกาศ 17 คน และจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 8 คน โดยแยกเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 1 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 6 คน
นักการเมืองระดับชาติ 5 คน
หน้าใหม่ 13 คน
ประชาธิปัตย์ 7 คน
นายก อบจ. คนเดิม 4 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 2 คน
หน้าใหม่ 1 คน
ประชาชาติ 4 คน
นายก อบจ. คนเดิม 2 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 1 คน
หน้าใหม่ 1 คน
กล้าธรรม 3 คน
นายก อบจ. คนเดิม 1 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 1 คน
หน้าใหม่ 1 คน
ชาติไทยพัฒนา 3 คน
นายก อบจ. คนเดิม 1 คน
นักการเมืองระดับชาติ 2 คน
เสรีรวมไทย 1 คน
นักการเมืองระดับชาติ 1 คน
ไทยศรีวิไลย์ 1 คน
หน้าใหม่ 1 คน
อิสระ 82 คน โดยแยกเป็น
นายก อบจ. คนเดิม 5 คน
นักการเมืองท้องถิ่น 26 คน
นักการเมืองระดับชาติ 16 คน
หน้าใหม่ 35 คน
จากข้อมูลพบว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. จากพรรคประกาศ 15 คน และจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 14 คน รวม 29 คน ใช้ผู้สมัครนายก อบจ. เดิมมากที่สุด 11 คน และยังพบว่าใน 29 คนนี้เป็นบ้านใหญ่ 14 คน นอกจากนั้นยังพบว่ามาจากการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 5 คน จากพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาชน (คณะก้าวหน้า) และชาติไทยพัฒนา
พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 19 คน ใช้ผู้สมัครนายก อบจ. เดิมมากที่สุด 10 คน และยังพบว่าใน 19 คน เป็นบ้านใหญ่ 9 คน นอกจากนั้นยังพบว่ามาจากการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 3 คน จากพรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอิสระ
พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 12 คน ใช้ผู้สมัครนักการเมืองระดับชาติมากที่สุด และยังพบว่าเป็นบ้านใหญ่ 5 คน มาจากนายก อบจ. เดิม เพียง 4 คน
พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. จากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 6 คน ใช้ผู้สมัครนายก อบจ. เดิม 3 คน และเป็นบ้านใหญ่ 4 คน นอกจากนั้นยังพบว่ามาจากการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 3 คน จากพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชาติ และภูมิใจไทย
พรรคประชาชน ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. จากพรรคประกาศ 17 คน และจากการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ 8 คน ใช้ผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด 13 คน มาจากนายก อบจ. คนเดิม ซึ่งยังพบว่าเป็นบ้านใหญ่ในพื้นที่นั้น 1 คน คือ อบจ. นครนายก นอกจากนั้นยังพบว่ามีการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 3 คน จาก เพื่อไทยและภูมิใจไทย
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นสองพรรคที่ได้นายก อบจ. รอบแรก 29 จังหวัดก่อนหน้านี้มากที่สุด ยังคงใช้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม เป็นหลักในการลงสมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. รอบวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ โดยส่วนมาก นายก อบจ. เดิม ก็มักจะพ่วงมาด้วยสถานะของบ้านใหญ่ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ด้วย ซึ่งจากการเลือกตั้งนายก อบจ. รอบแรก 29 จังหวัดที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีนายก อบจ. เดิม ลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 21 จังหวัด และมี 14 จังหวัดที่ นายก อบจ. คนเดิม ได้รับการเลือกตั้งกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งเดิม การได้ผู้สมัครที่เป็นนายก อบจ. เดิม ในการเลือกตั้งรอบวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ จึงถือว่ามีโอกาสสูงที่จะสามารถคว้าเก้าอี้กลับมาได้ โดยวัดผลจากการเลือกตั้งก่อน 1 ก.พ.
นายก อบจ. เดิมที่ลงสมัครอีกครั้ง เปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ กับการเลือกตั้งในปี 2563 จะพบว่า มีผู้สมัครที่ยังมีความสัมพันธ์กับพรรคเดิม 40 คน โดยเป็นนายก อบจ. เดิม 26 คน นักการเมืองท้องถิ่น 9 คน นักการเมืองระดับชาติ 4 คน และหน้าใหม่ 1 คน
และมีผู้สมัครที่เปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง 21 คน โดยเป็นนายก อบจ. เดิม 16 คน และนักการเมืองท้องถิ่นอีก 5 คน เช่น วิทยา คุณปลื้ม ผู้สมัครนายก อบจ. ชลบุรี ที่เมื่อครั้งการเลือกตั้ง อบจ. ในปี 2563 มีความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ ในขณะที่เมื่อการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ตระกูลคุณปลื้มย้ายกลับมามีความสัมพันธฺ์กับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ประกาศว่าวิทยา คุณปลื้ม เป็นตัวแทนจากพรรคในการลงสมัคร แต่จากการที่ตระกูลคุณปลื้มประกาศย้ายกลับมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ก็ทำให้สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้
โดยในนายก อบจ. เดิม 16 คน ที่มีการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง พบว่า เปลี่ยนย้ายไปลงอิสระมากที่สุด 4 คน (เนื่องจากพรรคที่เคยลงสมัครส่งคนอื่นลงและไม่พบความสัมพันธ์กับพรรคอื่น) รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคภูมิใจไทย 3 คน รวมไทยสร้างชาติ 3 คน พรรคกล้าธรรม 1 คน พรรคประชาชน 1 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
ส่วนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น อีก 5 คนที่มีการเปลี่ยนย้ายความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง พบว่าเปลี่ยนย้ายไป พรรคประชาชน 2 คน พรรคเพื่อไทย 2 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
อ้างอิง:
รายชื่อผู้สมัคร นายก อบจ. จาก อบจ. 47 จังหวัด
เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้สมัครนายก อบจ. กับพรรคการเมือง จากฐานข้อมูลการเลือกตั้ง นายก อบจ. 63 ของ Rocket Media Lab และข้อมูลที่ปรากฏในสื่อ
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-pao-3
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ