- ในงบประมาณรายจ่ายของ อบจ. จะพบว่างบในหมวดของอุตสาหกรรมและโยธาสูงที่สุด คิดเป็น 32.53% ใช้ไปกับการก่อสร้าง ซ่อมแซมปรับปรุง ขยายต่อเติม ฯลฯ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน อาคาร เสาไฟฟ้า ประปา ท่อระบายน้ำ ฯลฯ
- จากข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2565-2568 ของ อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศพบงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ทั้งหมด 55,686,358,177 บาท จำนวน 24,084 โครงการ โดยจังหวัดที่มีงบส่วนนี้มากที่สุดคือชลบุรี 7,243,087,590 บาท หรือคิดเป็น 13.01%
- จากงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ทั้งหมด 55,686,358,177 บาท ทั้ง 4 ปี พบว่าโครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือ คือโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนน 39,600,591,263 บาท หรือคิดเป็น 71.11%
- จากงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคทั้ง 4 ปีของ อบจ. 76 จังหวัด จำนวน 24,084 โครงการ พบว่าครอบคลุมพื้นที่ตำบล 86.51% ของ อบจ. ทั่วประเทศ โดยมี 9 จังหวัดที่ครอบคลุม 100% คือกำแพงเพชร ขอนแก่น ตราด ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุดรธานี และจังหวัดที่ครอบคลุมพื้นที่น้อยที่สุดคือสมุทรปราการ เพียง 16%
อำนาจหน้าที่ของ อบจ. ก็คือการจัดการบริการสาธารณะภายในจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย การศึกษา สาธารณสุข ไปจนถึงการสังคมสงเคราะห์และการเกษตร หากพิจารณาการใช้งบประมาณแยกตามหมวดการใช้งบของ อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด ในงบประมาณปี 2567 จะพบว่า
- อุตสาหกรรมและโยธา 22,846,269,817 บาท หรือคิดเป็น 32.53%
- การศึกษา 13,555,527,818 บาท หรือคิดเป็น 19.3%
- บริหารงานทั่วไป 10,676,796,337 บาท หรือคิดเป็น 15.2%
- สาธารณสุข 7,244,285,408 บาท หรือคิดเป็น 10.31%
- งบกลาง 7,244,285,408 หรือคิดเป็น 8.67%
- ศาสนา วัฒนธรรม และนันทนาการ 3,964,899,609 บาท หรือคิดเป็น 5.65%
- เคหะและชุมชน 1,597,771,973 บาท หรือคิดเป็น 2.27%
- การเกษตร 1,268,691,240 บาท หรือคิดเป็น 1.81%
- รักษาความสงบภายใน 1,190,384,605 บาท หรือคิดเป็น 1.65%
- สร้างความเข้มแข็งของชุมชน 1,006,573,465 บาท หรือคิดเป็น 1.43%
- สังคมสงเคราะห์ 620,976,934 บาท หรือคิดเป็น 0.88%
- การพาณิชย์ 167,854,745 บาท หรือคิดเป็น 0.24%
โดยหนึ่งในหน้าที่ของ อบจ. ก็คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นบริการสาธารณะต่างๆ ผ่านการใช้งบประมาณการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการใช้งบประมาณของ อบจ. ในหมวดของอุตสาหกรรมและโยธา เป็นหมวดที่ใช้งบประมาณสูงที่สุด ซึ่งก็คือการก่อสร้าง ซ่อมแซมปรับปรุง ขยายต่อเติม ฯลฯ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน อาคาร เสาไฟฟ้า ประปา ท่อระบายน้ำ ฯลฯ นัยหนึ่งการที่งบประมาณในหมวดนี้มีสูงที่สุดอาจเป็นเพราะการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหมวดอุตสาหกรรมและโยธาเป็นส่วนที่ต้องใช้เงินอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นเพราะงบประมาณในส่วนงานก่อสร้างจากหมวดอื่นๆ ทั้งหมวดการศึกษา สาธารณสุข แม้แต่การรักษาความสงบภายใน หากเป็นงานก่อสร้าง งบประมาณในส่วนนั้นก็จะมาอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่างบการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหมวดอุตสาหกรรมและโยธาของ อบจ. จะเป็นตัวบอกได้ว่า อบจ. ใช้งบประมาณไปทำอะไรบ้าง ในส่วนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของบริการสาธารณะที่ อบจ. รับผิดชอบ
อบจ. ไหนมีงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธามากที่สุด น้อยที่สุด
จากการรวบรวมข้อมูลของ Rocket Media Lab จากข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2565-2568 ของ อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของ อบจ. สุพรรณบุรี และมุกดาหาร ซึ่งยังไม่ผ่านการพิจารณา) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2563 เป็นผู้ร่างและใช้งบประมาณในวาระการทำงาน 4 ปีตามกฎหมาย พบว่า จากงบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ทั้งหมด 55,686,358,177 บาท จำนวน 24,084 โครงการ 10 จังหวัดที่มีงบมากและน้อยที่สุดคือ
มากที่สุด
- ชลบุรี 7,243,087,590 บาท หรือคิดเป็น 13.01%
- สมุทรปราการ 2,397,464,800 บาท หรือคิดเป็น 4.31%
- ขอนแก่น 2,381,336,000 บาท หรือคิดเป็น 4.28%
- นครปฐม 2,025,503,331 บาท หรือคิดเป็น 3.64%
- ระยอง 2,010,126,700 บาท หรือคิดเป็น 3.61%
- นครศรีธรรมราช 1,986,578,000 บาท หรือคิดเป็น 3.57%
- สุราษฎร์ธานี 1,615,207,000 บาท หรือคิดเป็น 2.90%
- นครราชสีมา 1,563,977,000 บาท หรือคิดเป็น 2.81%
- สระบุรี 1,562,019,200 บาท หรือคิดเป็น 2.81%
- พระนครศรีอยุธยา 1,543,784,800 บาท หรือคิดเป็น 2.77%
น้อยที่สุด
- *จันทบุรี 49,217,000 บาท หรือคิดเป็น 0.09%
- แม่ฮ่องสอน 84,036,500 บาท หรือคิดเป็น 0.15%
- หนองบัวลำภู 129,236,312 บาท หรือคิดเป็น 0.23%
- อุตรดิตถ์ 131,639,400 บาท หรือคิดเป็น 0.24%
- เลย 132,924,954 บาท หรือคิดเป็น 0.24%
- สมุทรสงคราม 146,657,780 บาท หรือคิดเป็น 0.26%
- สิงห์บุรี 147,619,400 บาท หรือคิดเป็น 0.27%
- น่าน 153,434,400 บาท หรือคิดเป็น 0.28%
- นครนายก 158,009,800 บาท หรือคิดเป็น 0.28%
- แพร่ 160,625,360 บาท หรือคิดเป็น 0.29%
*ในกรณีของ อบจ. จันทบุรี ที่มีงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา น้อยที่สุดในประเทศนั้น เนื่องจากว่าอบจ. จันทบุรี มีการบรรจุงบปรมาณโครงการการก่อสร้างที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น โดย อบจ. จันทบุรีบรรจุงบประมาณโครงการก่อสร้างไว้ใน 2 ลักษณะคือการจัดซื้อวัสดุสำหรับก่อสร้างในหัวข้อค่าวัสดุ และค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหัวข้อค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ในขณะที่ข้อบัญญัติงบประมาณของจังหวัดอื่น งบประมาณโครงการก่อสร้างทั้งหมดจะอยู่ในค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหัวข้อค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพียงที่เดียว โดยในการทำข้อมูลชุดนี้ของ Rocket Media Lab พิจารณาเฉพาะงบประมาณในโครงการค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหัวข้อค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างเท่านั้น จึงอาจทำให้จำนวนโครงการและงบประมาณรวมของ อบจ. จันทบุรี น้อยกว่าความเป็นจริง
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า อบจ. ที่มีงบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคมากที่สุดส่วนใหญ่เป็น อบจ.ในจังหวัดขนาดใหญ่ในแต่ละภาค และในเขตปริมณฑล แต่ก็มีจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ใน 10 อันดับแรกที่มีงบโยธามากที่สุดคือพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
หากพิจารณาเป็นรายภาค จะเห็นว่า อบจ. จังหวัดในภาคกลางมีงบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภครวมกัน 4 ปีมากที่สุด 16,215,780,812 บาท คิดเป็น 29.12% ของงบประมาณโยธาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าภาคกลางมีจำนวนจังหวัดมากที่สุด รองลงมาก็คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12,044,780,414 บาท คิดเป็น 21.63% ตามมาด้วยภาคตะวันออก 11,684,928,270 บาท คิดเป็น 20.98% จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกแม้จะมีเพียงแค่ 7 จังหวัด แต่มีงบประมาณสูงเป็นอันดับสามเลยทีเดียว ตามมาด้วยภาคใต้ 9,003,857,390 บาท คิดเป็น 16,17% ภาคตะวันตก 3,569,334,552 บาท คิดเป็น 6.41% และภาคเหนือน้อยที่สุด 3,167,676,739 บาท คิดเป็น 5.69%
งบก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคของ อบจ. นำไปใช้ทำอะไรมากที่สุด
เมื่อนำงบในส่วนค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค หมวดอุตสาหกรรมและโยธาของ อบจ. จาก 76 จังหวัด ทั้ง 4 ปี มาจัดประเภทตามโครงการที่ปรากฏในข้อบัญญัติงบประมาณ สามารถแบ่งได้เป็น 10 ประเภท คือ
- ถนน หมายถึง ถนน ถนน คสล. ถนนลูกรัง ถนนคอนกรีต ถนนหินคลุก ถนนประเภทต่างๆ การบุกเบิกสร้างถนน
- การจราจร หมายถึง งานจราจรที่เกี่ยวกับการอำนวยความปลอดภัย รวมถึงที่กั้นเพื่ออำนวยความปลอดภัย งานปรับปรุงบริเวณจุดเสี่ยงอันตรายทางแยก ป้ายสัญญาณไฟ ราวกันตก โครงการทางเท้า และเครื่องหมายจราจร โดยไม่รวมการทำถนน
- อาคารและสิ่งปลูกสร้าง หมายถึง อาคารต่างๆ อาคารอเนกประสงค์ อาคารสถานีขนส่ง ท่าเทียบเรือ เตาเผาขยะ บ่อน้ำพุร้อน เมรุเผาศพ ห้องน้ำ ห้องน้ำในสนามกีฬา ห้องน้ำสาธารณะ ห้องน้ำโรงเรียน/ห้องน้ำ อบจ. ศาลาที่พักต่างๆ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างภายในอาคาร เช่น รั้ว รั้วโรงเรียน รั้วโรงพยาบาล รั้วภายใน อบจ. โรงจอดรถ ลานคอนกรีต ลานอเนกประสงค์ สนามกีฬา สนามหญ้าเทียม ลานกีฬา อัฒจันทร์ หลังคา สวนสาธารณะ
- สิ่งก่อสร้างอื่นๆ หมายถึง สิ่งก่อสร้างนอกเหนือจากโครงสร้างอาคาร เช่น ซุ้ม ป้าย ป้ายชื่อสนามกีฬา ป้ายโรงพยาบาล ป้ายต่างๆ ในที่สาธารณะ
- ไฟฟ้า หมายถึง ระบบไฟฟ้า เสาไฟฟ้า ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ เสารับสัญญาณอัจฉริยะ ต่อเติม CCTV
- ประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค หมายถึง ระบบประปา การสร้างท่อประปาเพื่อสาธารณูปโภค ระบบน้ำบาดาล ระบบน้ำเพื่อการเกษตร สร้างหอสูบน้ำ อาคารสูบน้ำ หอส่งน้ำถังสูงเพื่อเกษตรและชลประทาน สร้างระบบกักเก็บน้ำผิวดินด้วยถังไฟเบอร์กลาส รวมถึงกว๊านที่ใช้น้ำทั้ง การอุปโภค บริโภคและการเกษตร
- การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม หมายถึง รางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำเพื่อระบายน้ำเสียและน้ำท่วม ท่อระบายน้ำริมถนน ท่อ คสล. ท่อลอดเหลี่ยม ท่อเหลื่ยมคอนกรีตเสริมข้างลำห้วย รวมถึงเขื่อน ฝาย อาคารป้องกันตลิ่ง คันกั้นน้ำ พนังกั้นดิน คลองส่งน้ำและการเรียงหินยาแนว
- สะพาน หมายถึง สะพานประเภทต่างๆ สะพานข้ามลำน้ำ สะพานข้ามลำห้วย สะพาน คอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนประกอบของสะพาน เช่น คอสะพาน
- โครงการที่ทำมากกว่า 1 ประเภทงาน หมายถึง โครงการที่ทำมากกว่าหนึ่งประเภทงาน เช่น ปรับปรุงถนนคอนกรีตเสริมเหล็กและวางท่อระบายน้ำ ก่อสร้างป้ายชื่อและรั้วโรงเรียน
- อื่นๆ หมายถึง ค่าชดเชยสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) และโครงการที่ไม่ทราบประเภทการทำงานแน่ชัด เช่น โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคภายในศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
จากนั้นเมื่อพิจารณา งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ทั้งหมด 55,686,358,177 บาท ในแต่ละโครงการรวมทั้ง 4 ปี พบว่าโครงการที่ใช้มีการงบประมาณมากที่สุดคือ
- ถนน 39,600,591,263 บาท หรือคิดเป็น 71.11%
- อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 6,047,821,491 บาท หรือคิดเป็น 10.86%
- ไฟฟ้า 2,419,499,283 บาท หรือคิดเป็น 4.34%
- ประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค 2,409,126,510 บาท หรือคิดเป็น 4.33%
- การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 2,148,637,750 บาท หรือคิดเป็น 3.86%
- สะพาน 1,558,716,600 บาท หรือคิดเป็น 2.80%
- โครงการที่ทำมากกว่า 1 ประเภทงาน 656,840,120 บาท หรือคิดเป็น 1.18%
- สิ่งก่อสร้างอื่นๆ 228,423,500 บาท หรือคิดเป็น 0.41%
- การจราจร 138,651,940 บาท หรือคิดเป็น 0.25%
- อื่นๆ 478,049,720 บาท หรือคิดเป็น 0.86%
แต่หากพิจารณาโครงการต่างๆ โดยแยกจากรูปแบบของงานก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่ทำ ซึ่งแบ่งออกเป็น ก่อสร้าง, ปรับปรุง/ช่อมแซม และขยาย/ต่อเติม จะพบว่างบก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคตลอดทั้ง 4 ปี ทั้งหมด 55,686,358,177 บาท ของ อบจ. นั้น เป็นการนำมาใช้เพื่อ
- ก่อสร้าง 27,396,636,254 บาท หรือคิดเป็น 49,20%
- ปรับปรุง/ซ่อมแซม 24,307,039,324 บาท หรือคิดเป็น 43.65%
- ขยาย/ต่อเติม 3,810,792,099 บาท หรือคิดเป็น 6.84%
- โครงการที่ทำมากกว่า 1 รูปแบบ 164,205,500 บาท หรือคิดเป็น 0.29%
- อื่นๆ 7,685,000 บาท หรือคิดเป็น 0.01%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า งบก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคส่วนมากของ อบจ. ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นำไปใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนน ซึ่งมากกว่ากว่างบในโครงการอื่นๆ ที่เหลือรวมกันทั้งหมด ในขณะที่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของงานจะพบว่า เป็นการก่อสร้างขึ้นใหม่เกือบครึ่งหนึ่ง และเป็นการปรับปรุง/ซ่อมแซมในสัดส่วนเกือบเท่ากัน
โครงการในงบก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคของ อบจ. ทำอะไร ทำยังไง ทำที่ไหน
เมื่อนำงบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา ทั้งหมด 55,686,358,177 บาท ในแต่ละโครงการรวมทั้ง 4 ปีของ อบจ. ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มาพิจารณาเป็นรายหมวดตามที่แยกไว้ ตามลำดับจำนวนงบที่ใช้ ในอันดับหนึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน 39,600,591,263 บาท นั้นพบว่าเป็นโครงการในรูปแบบการปรับปรุง/ซ่อมแซมมากที่สุด 22,240,883,58 บาท หรือคิดเป็น 56.16% รองลงมาคือการก่อสร้าง 16,922,137,224 บาท หรือคิดเป็น 42.73% ตามมาด้วยการขยาย/ต่อเติม 384,922,20 บาท หรือคิดเป็น 0.97% และโครงการที่ทำมากกว่า 1 รูปแบบ 52,648,250 บาท หรือคิดเป็น 0.14%
เมื่อพิจารณาการใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนในระดับพื้นที่จะพบว่า ภาคกลางเป็นภาคที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนมากที่สุด 11,808,764,480 บาท หรือคิดเป็น 29.82% ของงบเกี่ยวกับถนน รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,193,849,726 บาท หรือคิดเป็น 28.27% ตามมาด้วยภาคใต้ 6,231,223,750 บาท หรือคิดเป็น 15.74% ภาคตะวันออก 5,674,286,200 บาท หรือคิดเป็น 14.33% ภาคตะวันตก 2,402,684,177 บาท หรือคิดเป็น 6.07% ภาคเหนือ 2,290,482,550 บาท หรือคิดเป็น 5.78%
จากงบประมาณที่เกี่ยวกับถนน ทั้งหมด 39,600,591,263 บาท อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนมากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ขอนแก่น 2,328,290,000 บาท คิดเป็น 5.88%
- ชลบุรี 2,144,895,000 บาท คิดเป็น 5.42%
- นครศรีธรรมราช 1,707,625,700 บาท คิดเป็น 4.31%
- ระยอง 1,687,823,200 บาท คิดเป็น 4.26%
- นครปฐม 1,592,845,000 บาท คิดเป็น 4.02%
- นครราชสีมา 1,436,644,000 บาท คิดเป็น 3.63%
- พระนครศรีอยุธยา 1,369,586,900 บาท คิดเป็น 3.46%
- สระบุรี 1,348,276,000 บาท คิดเป็น 3.40%
- สมุทรปราการ 1,153,276,000 บาท คิดเป็น 2.91%
- ประจวบคีรีขันธ์ 1,147,144,300 บาท คิดเป็น 2.90%
อันดับสอง โครงการที่เกี่ยวข้องกับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 6,047,821,491 บาท นั้นพบว่าเป็นโครงการในรูปแบบการก่อสร้างมากที่สุด 4,606,212,810 บาท คิดเป็น 76.17% รองลงมาก็คือ ปรับปรุง/ซ่อมแซม 1,212,990,281 บาท คิดเป็น 20.05% ขยาย/ต่อเติม 206,516,900 บาท คิดเป็น 3.42% และโครงการที่ทำมากกว่า 1 รูปแบบ 22,101,500 บาท คิดเป็น 0.36%
เมื่อพิจารณาการใช้งบก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ในระดับพื้นที่จะพบว่าภาคตะวันออกมากที่สุด 2,342,325,59 คิดเป็น 38.73% ของงบเกี่ยวกับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รองลงมาคือภาคกลาง 1,624,592,890 บาท คิดเป็น 26.87% ภาคใต้ 1,151,043,340 บาท คิดเป็น 19.03% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 431,308,550 บาท คิดเป็น 7.13% ภาคเหนือ 267,045,271 บาท คิดเป็น 4.42% และภาคตะวันตก 231,305,850 บาท คิดเป็น 3.82%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับอาคารและสิ่งปลูกสร้าง 6,047,621,491 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ชลบุรี 2,113,527,990 บาท คิดเป็น 34.95%
- สมุทรปราการ 901,088,800 บาท คิดเป็น 14.90%
- สุราษฎร์ธานี 421,557,000 บาท คิดเป็น 6.97%
- ภูเก็ต 238,914,040 บาท คิดเป็น 3.95%
- อุดรธานี 140,649,800 บาท คิดเป็น 2.33%
- ยะลา 134,265,200 บาท คิดเป็น 2.22%
- สระบุรี 129,975,000 บาท คิดเป็น 2.15%%
- สมุทรสาคร 105,903,400 บาท คิดเป็น 1.75%
- กาญจนบุรี 104,890,000 บาท คิดเป็น 1.73%
- ระนอง 95,756,000 บาท คิดเป็น 1.58%
อันดับสามโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า 2,419,499,283 บาท พบว่าเป็นโครงการในรูปแบบการขยาย/ต่อเติมมากที่สุด 2,232,651,259 บาท คิดเป็น 92.28% รองลงมาก็คือ ก่อสร้าง 109,618,900 บาท คิดเป็น 4.53% และปรับปรุง/ซ่อมแซม 77,229,124 บาท คิดเป็น 3.19%
เมื่อพิจารณาการใช้งบก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าในระดับพื้นที่ จะพบว่าภาคกลางมากที่สุด 865,880,940 บาท คิดเป็น 35.79% ของงบเกี่ยวกับไฟฟ้า รองลงมาคือภาคตะวันตก 734,619,425 บาท คิดเป็น 30.36% ภาคตะวันออก 353,066,000 บาท คิดเป็น 14.59% ภาคใต้ 247,788,150 บาท คิดเป็น 10.24% ภาคเหนือ 116,635,368 บาท คิดเป็น 4.82% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 101,509,400 บาท คิดเป็น 4.20%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับไฟฟ้า 2,419,499,283 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- เพชรบุรี 333,585,425 บาท คิดเป็น 13.79%
- อ่างทอง 264,892,000 บาท คิดเป็น 10.95%
- สุโขทัย 224,306,000 บาท คิดเป็น 9.27%
- สงขลา185,157,000 บาท คิดเป็น 7.65%
- ชลบุรี 169,517,000 บาท คิดเป็น 7.01%
- ราชบุรี 146,723,000 บาท คิดเป็น 6.06%
- ประจวบคีรีขันธ์ 142,486,000 บาท คิดเป็น 5.89%
- พิษณุโลก 118,160,000 บาท คิดเป็น 4.88%
- ระยอง 112,837,000 บาท คิดเป็น 4.66%
- อุตรดิตถ์ 93,170,000 บาท คิดเป็น 3.85%
อันดับสี่ โครงการที่เกี่ยวข้องกับประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค 2,409,126,510 บาท พบว่าเป็นโครงการในรูปแบบการก่อสร้างมากที่สุด 1,531,886,030 บาท คิดเป็น 63.59% รองลงมาคือขยาย/ต่อเติม 850,462,040 บาท คิดเป็น 35.30% ปรับปรุง/ซ่อมแซม 22,038,440 บาท คิดเป็น 0.92% และโครงการที่ทำมากว่า 1 รูปแบบ 4,740,000 บาท คิดเป็น 0.19%
เมื่อพิจารณาการใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคในระดับพื้นที่ จะพบว่าภาคตะวันออกมากที่สุด 2,062,110,900 บาท หรือคิดเป็น 85.60% ของงบเกี่ยวกับประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค รองลงมาคือภาคกลาง 128,770,540 บาท หรือคิดเป็น 5.35% ภาคใต้ 95,728,250 บาท หรือคิดเป็น 3.97% ภาคเหนือ 88,889,900 บาท หรือคิดเป็น 3.69% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24,627,320 บาท หรือคิดเป็น 1.02%และภาคตะวันตก 8,999,600 บาท หรือคิดเป็น 0.37%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค 2,409,126,510 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ชลบุรี 2,060,029,100 บาท คิดเป็น 85.51%
- สมุทรปราการ 90,000,000 บาท คิดเป็น 3.74%
- สุราษฎร์ธานี 41,031,000 บาท คิดเป็น 1.70%
- ลำปาง 37,707,000 บาท คิดเป็น 1.57%
- ปัตตานี 24,930,000 บาท คิดเป็น 1.03%
- แม่ฮ่องสอน 24,164,000 บาท คิดเป็น 1.00%
- สุโขทัย 22,746,000 บาท คิดเป็น 0.94%
- ลำพูน 18,144,900 บาท คิดเป็น 0.75%
- นครศรีธรรมราช 13,258,000 บาท คิดเป็น 0.55%
- ขอนแก่น 12,930,000 บาท คิดเป็น 0.54%
อันดับห้า โครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 2,148,637,750 บาท พบว่าเป็นโครงการในรูปแบบการก่อสร้างมากที่สุด 1,998,399,800 บาท คิดเป็น 93.01% รองลงมาก็คือ ปรับปรุง/ซ่อมแซม 142,687,95 คิดเป็น 6.64% และขยาย/ต่อเติม 7,550,00 คิดเป็น 0.35%
เมื่อพิจารณาการใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมในระดับพื้นที่ จะพบว่า ภาคกลางมากที่สุด 1,090,816,500 คิดเป็น 50.77% ของงบเกี่ยวกับการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม รองลงมาคือภาคตะวันออก 518,089,900 บาท คิดเป็น 24.11% ภาคเหนือ 208,695,700 บาท คิดเป็น 9.71% ภาคใต้ 193,615,800 บาท คิดเป็น 9.01% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 75,021,450 บาท คิดเป็น 3.49% และภาคตะวันตก 62,398,400 คิดเป็น 2.90%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 2,148,637,750 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- สมุทรสาคร 352,249,500 บาท คิดเป็น 16.39%
- ชลบุรี 349,143,200 บาท คิดเป็น 16.25%
- นครปฐม 279,641,000 บาท คิดเป็น 13.01%
- สมุทรปราการ 223,100,000 บาท คิดเป็น 10.38%
- ระยอง 155,575,000 บาท คิดเป็น 7.24%
- พระนครศรีอยุธยา 77,941,000 บาท คิดเป็น 3.63%
- ลำพูน 56,268,300 บาท คิดเป็น 2.62%
- สุราษฎร์ธานี 52,249,000 บาท คิดเป็น 2.43%
- สุโขทัย 50,619,500 บาท คิดเป็น 2.36%
- ลำปาง 47,162,000 บาท คิดเป็น 2.19%
อันดับหก โครงการที่เกี่ยวข้องกับสะพาน 1,558,716,600 บาท นั้นพบว่าเป็นโครงการในรูปแบบการก่อสร้างมากที่สุด 1,500,380,600 บาท คิดเป็น 96.26% รองลงมาก็คือ การปรับปรุง/ซ่อมแซม 48,496,000 บาท คิดเป็น 3.11% และการขยาย/ต่อเติม 9,840,000 บาท คิดเป็น 0.63%
เมื่อพิจารณาการใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสะพานในระดับพื้นที่ จะพบว่า ภาคใต้มากที่สุด 691,636,000 บาท คิดเป็น 44.37% ของงบเกี่ยวกับสะพาน รองลงมาคือภาคตะวันออก 294,072,100 บาท คิดเป็น 18.87% ภาคกลาง 292,138,100 บาท คิดเป็น 18.74% ภาคเหนือ 155,321,400 บาท คิดเป็น 9.96% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 89,464,000 บาท คิดเป็น 5.74% และภาคตะวันตก 36,085,000 คิดเป็น 2.32%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสะพาน 1,558,716,600 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ฉะเชิงเทรา 209,924,000 บาท คิดเป็น 13.468%
- นครศรีธรรมราช 196,349,000 บาท คิดเป็น 12.60%
- สุราษฎร์ธานี 150,298,000 บาท คิดเป็น 9.64%
- สงขลา 123,020,000 บาท คิดเป็น 7.89%
- เชียงราย 57,780,000 บาท คิดเป็น 3.707%
- ตรัง 57,390,000 บาท คิดเป็น 3.68%
- นครปฐม 51,648,000 บาท คิดเป็น 3.31%
- พระนครศรีอยุธยา 46,727,000 บาท คิดเป็น 3.00%
- กระบี่ 44,864,000 บาท คิดเป็น 2.878%
- ลำปาง 36,123,000 บาท คิดเป็น 2.32%
อันดับแปด โครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ 228,423,500 บาท พบว่าเป็นโครงการในรูปการก่อสร้าง 181,308,500 บาท คิดเป็น 79.37% รองลงมาก็คือการปรับปรุง/ซ่อมแซม 29,740,000 บาท คิดเป็น 13.02% ขยาย/ต่อเติม 15,375,000 บาท คิดเป็น 6.73% และโครงการที่มีมากกว่า 1 รูปแบบ 2,000,000 บาท คิดเป็น 0.88%
เมื่อพิจารณาการใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ในระดับพื้นที่ จะพบว่า ภาคใต้มากที่สุด 177,222,000 บาท คิดเป็น 77.58% ของงบเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ รองลงมาคือภาคตะวันออก 15,445,000 บาท คิดเป็น 6.76% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13,861,000 บาท คิดเป็น 6.07% ภาคตะวันตก 12,212,000 บาท คิดเป็น 5.35% ภาคเหนือ 6,383,500 บาท คิดเป็น 2.79% และภาคกลาง 3,300,000 บาท คิดเป็น 1.44%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ 228,423,500 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- สุราษฎร์ธานี 170,714,000 บาท คิดเป็น 74.74%
- ชลบุรี 11,687,000 บาท คิดเป็น 5.12%
- อุดรธานี 7,000,000 บาท คิดเป็น 3.06%
- ตาก 6,880,000 บาท คิดเป็น 3.01%
- ลำพูน 4,020,000 บาท คิดเป็น 1.76%
- ระนอง 3,558,000 บาท คิดเป็น 1.56%
- ตราด 3,000,000 บาท คิดเป็น 1.31%
- ประจวบคีรีขันธ์ 3,000,000 บาท คิดเป็น 1.31%
- สมุทรสาคร 3,000,000 บาท คิดเป็น 1.31%
- หนองบัวลำภู 2,400,000 บาท คิดเป็น 1.05%
อันดับเก้า โครงการที่เกี่ยวข้องกับการจราจร 138,151,940 บาท พบว่าเป็นการขยาย/ต่อเติมมากที่สุด 91,453,200 บาท คิดเป็น 66.32% รองลงมาก็คือ ปรับปรุง/ซ่อมแซม 42,301,740 บาท คิดเป็น 30.51% และการก่อสร้าง 4,397,000 บาท คิดเป็น 3.17%
เมื่อพิจารณาการใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ในระดับพื้นที่ จะพบว่าภาคตะวันตกมากที่สุด 58,239,10 บาท คิดเป็น 42% ของงบเกี่ยวกับการจราจร รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34,327,240 คิดเป็น 24.76% ภาคใต้ 22,000,000 บาท คิดเป็น 15.87% ภาคตะวันออก 17,437,000 บาท คิดเป็น 12.58% ภาคเหนือ 4,208,600 บาท คิดเป็น 3.40% และภาคกลาง 1,940,000 บาท คิดเป็น 1.40%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจราจร 138,151,940 บาท มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- เพชรบุรี 31,500,000 บาท คิดเป็น 22.72%
- อำนาจเจริญ 29,433,240 บาท คิดเป็น 21.23%
- ตาก 26,739,100 บาท คิดเป็น 19.285%
- สตูล 15,500,000 บาท คิดเป็น 11.18%
- ชลบุรี 12,367,000 บาท คิดเป็น 8.919%
- ระนอง 3,500,000 บาท คิดเป็น 2.52%
- สงขลา 3,000,000 บาท คิดเป็น 2.16%
- ตราด 2,970,000 บาท คิดเป็น 2.142%
- เชียงราย 2,505,600 บาท คิดเป็น 1.807%
- ฉะเชิงเทรา 2,100,000 บาท คิดเป็น 1.515%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า อบจ. ที่มีงบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภครวมสูงสุดนั้น มักจะอยู่ในอันดับต้นๆ ของงบโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนและงบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นสองประเภทที่ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคมากที่สุด รวมกันแล้ว 81.97% ในขณะที่เมื่อพิจารณาในประเภทอื่นๆ จะเห็นว่า อบจ. ที่ติดใน 10 อันดับแรกจะกระจายตัวกันไป ขณะที่หากพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่าภาคตะวันออกและภาคกลางนั้นมักจะอยู่อันดับต้นๆ เสมอในเกือบทุกประเภท ขณะที่ภาคตะวันตกนั้นมักจะอยู่รั้งท้ายในเกือบทุกประเภท
ก่อสร้างอะไรมากที่สุด ซ่อมอะไรมากที่สุด ขยายอะไรมากที่สุด
หากพิจาณาจากการแบ่งประเภทของรูปแบบโครงการจะพบว่า งบในการก่อสร้าง 27,396,636,254 บาท นั้น เป็นงบที่ถูกใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนมากที่สุด 61.77% รองลงมาคือ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 16.81% และการระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม 7.29%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เป็นการก่อสร้างมากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ชลบุรี 3,294,970,960 บาท คิดเป็น 12.03%
- สุราษฎร์ธานี 1,433,456,000 บาท คิดเป็น 5.23%
- สมุทรปราการ 1,243,100,000 บาท คิดเป็น 4.54%
- ประจวบคีรีขันธ์ 1,088,915,800 บาท คิดเป็น 3.97%
- นครราชสีมา 1,069,582,800 บาท คิดเป็น 3.90%
- ระยอง 1,049,793,800 บาท คิดเป็น 3.83%
- นครศรีธรรมราช 968,040,000 บาท คิดเป็น 3.53%
- ขอนแก่น 926,011,400 บาท คิดเป็น 3.38%
- สมุทรสาคร 729,505,500 บาท คิดเป็น 2.66%
- นครปฐม 707,665,331บาท คิดเป็น 2.58%
ในขณะที่รูปแบบการปรับปรุง/ซ่อมแซม 24,307,039,324 บาทนั้น พบว่าเป็นงบที่ถูกใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับถนนมากที่สุดเช่นเดียวกัน 91.50% รองลงมาก็คือ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 4.99% และโครงการที่ทำมากกว่า 1 รูปแบบ 1.66%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เป็นการปรับปรุง/ซ่อมแซมมากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ชลบุรี 2,861,794,530 บาท คิดเป็น 11.77%
- ขอนแก่น 1,440,044,600 บาท คิดเป็น 5.92%
- นครปฐม 1,317,838,000 บาท คิดเป็น 5.42%
- สมุทรปราการ 1,154,364,800 บาท คิดเป็น 4.75%
- พระนครศรีอยุธยา 1,099,307,900 บาท คิดเป็น 4.52%
- นครศรีธรรมราช 1,013,221,700 บาท คิดเป็น 4.17%
- สระบุรี 861,505,800 บาท คิดเป็น 3.54%
- ระยอง 807,573,400 บาท คิดเป็น 3.32%
- ฉะเชิงเทรา 764,398,580 บาท คิดเป็น 3.14%
- บุรีรัมย์ 753,906,000 บาท คิดเป็น 3.10%
และรูปแบบขยาย/ต่อเติม รวม 3,810,792,099 บาท พบว่าเป็นงบที่ถูกใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้ามากที่สุด 58.59% รองลงมาก็คือ ประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 22.32% และถนน 10.11%
อบจ. ที่ใช้งบในโครงการที่เป็นการขยาย/ต่อเติม มากที่สุด 10 อันดับแรกคือ
- ชลบุรี 1,086,322,100 บาท คิดเป็น 28.51%
- เพชรบุรี 365,085,425 บาท คิดเป็น 9.58%
- อ่างทอง 274,062,000 บาท คิดเป็น 7.19%
- สงขลา 270,957,000 บาท คิดเป็น 7.11%
- สุโขทัย 218,370,000 บาท คิดเป็น 5.73%
- ระยอง 151,477,000 บาท คิดเป็น 3.97%
- ราชบุรี 147,063,000 บาท คิดเป็น 3.86%
- ตาก 106,686,100 บาท คิดเป็น 2.80%
- พิษณุโลก 99,520,000 บาท คิดเป็น 2.61%
- อุตรดิตถ์ 93,660,000 บาท คิดเป็น 2.46%
งบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคของ อบจ. ถูกนำไปใช้ในพื้นที่ครอบคลุมตำบลในจังหวัดมากน้อยแค่ไหน
อบจ. แม้จะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับบน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบเป็นของตัวเอง พื้นที่ในการทำงานต่างๆ ของ อบจ. ล้วนทับซ้อนกับ อบต. และเทศบาล โดยเฉพาะเทศบาลตำบล เมื่อนำงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคในหมวดอุตสาหกรรมและโยธาทั้ง 4 ปี ของ อบจ. 76 จังหวัด จำนวน 24,084 โครงการ มาพิจารณาว่าแต่ละโครงการในแต่ละ อบจ. เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลใด และครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดหรือไม่ พบว่าในระยะเวลา 4 ปี ของการทำงานของ อบจ. ซึ่งมีโครงการในส่วนของงบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ในหมวดอุตสาหกรรมและโยธา จำนวน 24,084 โครงการนั้นครอบคลุมพื้นที่ 86.51% ของ อบจ. ทั่วประเทศ
หากพิจารณาเป็นรายภาค จะพบว่า
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุม 95.71%
ภาคเหนือ ครอบคลุม 90.19%
ภาคตะวันตก ครอบคลุม 84.73%
ภาคใต้ ครอบคลุม 83.56%
ภาคกลาง ครอบคลุม 76.62%
ภาคตะวันออก ครอบคลุม 73.39%
หากพิจาณาเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่ใช้ค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่
1. กำแพงเพชร ครอบคลุม 100.00%
1. ขอนแก่น ครอบคลุม 100.00%
1. ตราด ครอบคลุม 100.00%
1. ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุม 100.00%
1. พะเยา ครอบคลุม 100.00%
1. ยโสธร ครอบคลุม 100.00%
1. หนองบัวลำภู ครอบคลุม 100.00%
1. อำนาจเจริญ ครอบคลุม 100.00%
1. อุดรธานี ครอบคลุม 100.00%
10. ชัยภูมิ ครอบคลุม 99.19%
ในขณะที่จังหวัดที่ใช้ค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคครอบคลุมพื้นที่น้อยที่สุด 10 อันดับแรกได้แก่
- สมุทรปราการ ครอบคลุม 16.00%
- จันทบุรี ครอบคลุม 18.42%
- เพชรบูรณ์ ครอบคลุม 32.48%
- นราธิวาส ครอบคลุม 46.75%
- แม่ฮ่องสอน ครอบคลุม 48.89%
- นนทบุรี ครอบคลุม 53.85%
- ปทุมธานี ครอบคลุม 58.33%
- ภูเก็ต ครอบคลุม 58.82%
- กระบี่ ครอบคลุม 60.38%
- สุพรรณบุรี ครอบคลุม 65.45%
เมื่อพิจารณาจำนวนตำบลที่ระบุว่าจะมีโครงการเกิดขึ้นกับจำนวนตำบลทั้งหมดของแต่ละจังหวัด พบว่า งบประมาณ ปี 2565-2568 ของ อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด (ยกเว้นปี 2568 ของ อบจ.สุพรรณบุรีและมุกดาหารที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา) มี 9 จังหวัดที่ใช้งบค่าก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ครอบคลุมพื้นที่ตำบลในจังหวัด 100% คือ กำแพงเพชร ขอนแก่น ตราด ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุดรธานี
ขณะที่เมื่อพิจารณาจากค่ามัธยฐานจะพบว่ามีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 90.44% ดังนั้น จะมีอยู่ 38 จังหวัดที่ต่ำกว่าค่ามัธยฐานในการกระจายตัวของโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของ อบจ. คือ สมุทรปราการ จันทบุรี เพชรบูรณ์ นราธิวาส แม่ฮ่องสอน นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต กระบี่ สุพรรณบุรี ราชบุรี อุตรดิตถ์ นครนายก ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ปัตตานี อ่างทอง ปราจีนบุรี ชัยนาท น่าน สมุทรสงคราม สระแก้ว ระนอง สมุทรสาคร สระบุรี สตูล อุทัยธานี ลพบุรี สุรินทร์ สงขลา เลย เพชรบุรี ยะลา นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี นครพนม กาญจนบุรี และสกลนคร
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังจะต้องพิจารณาต่อไปว่าการที่ อบจ. ในจังหวัดที่มีก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดน้อย เป็นเพราะสาเหตุใด ยกตัวอย่างเช่น อบจ. สมุทปราการ ที่ครอบคลุมเพียง 16% จะพบว่า ในปี 2567 อบจ. สมุทรปราการมีโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคเพียง 4 โครงการ รวมเป็นเงิน 1,153,875,500 บาท เช่น โครงการปรับปรุงถนนทางหลวงหมายเลข 303 ตอนพระสมุทร เจดีย์-ป้อมพระจุลจอม ใกล้ตําบลพระสมุทรเจดีย์ เชื่อมตําบลแหลมฟ้าผ่า อําเภอพระสมุทรเจดีย์ ช่วงที่ 3 ความยาว 1,590 เมตร งบประมาณ 766,830,000 บาท จะเห็นว่าส่วนมากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณสูง จึงอาจทำให้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด
ในขณะที่ขอนแก่น ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 100% ในปี 2567 งบประมาณรวม 578,164,000 บาท มีทั้งสิ้น 1,045 โครงการ โดยโครงการที่มีงบการก่อสร้างมากที่สุดในปีนั้นคือ โครงการปรับปรุงถนนลาดยางแบบแอสฟิลต์คอนกรีต บ้านป่าแดง หมู่ที่ 5 ตำบลคอนฉิม – บ้านหนองทุ่ม หมู่ที่ 8 ตำบลใหม่นาเพียง อำเภอแวงใหญ่ รวมระยะทางยาว 2,450 เมตร กว้าง 5 เมตร งบประมาณ 8,870,000 บาท
ดังนั้น ความแตกต่างของขนาดของโครงการและงบประมาณที่ใช้ จึงอาจจะทำให้ความครอบคลุมพื้นที่ของโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคของแต่ละ อบจ. แตกต่างกันไป
ความเห็นจากนักวิชาการ
จากประเด็นที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า
“เราอาจจะไม่ต้องไปตั้งธงว่า อบจ. ทุก อบจ. มีแนวโน้มที่จะทุจริต แต่เราต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำมันคุ้มค่าหรือเปล่า ลงไปถูกส่วนหรือเปล่า ถูกพื้นที่หรือเปล่า เรามักจะมองว่าถนนเป็นผู้ร้าย แต่จริงๆ ถนนมันคือการพัฒนารูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ถนนไปที่ไหนพื้นที่ตรงนั้นก็จะเจริญ คำถามคือ จะทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม ถนนมันตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ จริงหรือเปล่า นอกจากทำถนนแล้วในอีก 4 ปี เขาจะจัดสรรสัดส่วนของงบประมาณอย่างไร
“เวลาพูดเรื่อง อบจ. อย่าดูแต่ว่า อบจ. มีเงินเยอะ เราต้องตรวจสอบการใช้เงิน แต่เราควรไปดูว่า อบจ.มีหน้าที่อะไร และตรวจสอบการทำงานในพื้นที่ได้ไหม มากกว่าให้ สส. เอาไปพูดในสภาส่วนกลาง แต่ระบบการตรวจสอบในพื้นที่มันควรอยู่ในพื้นที่ ในการพูดถึงปัญหาระดับจังหวัด อย่าไปจำกัดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ อบจ. อบจ. ทำอะไรไม่ได้ เวที อบจ. มันควรจะสามารถทำให้ทุกคนพูดเรื่องในจังหวัดได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าในวันนี้จะทำได้หรือไม่ อะไรที่เกิดขึ้นในจังหวัด ควรจะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะตรวจสอบได้ ผู้ว่าฯ ก็ต้องตอบคำถามได้ ไม่ใช่ให้ อบจ. ต้องไปรายงานตัวกับผู้ว่าฯ หรือมองว่ามันเป็นคนละส่วนกัน
“เราต้องส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดฟังก์ชันว่า ผู้บริหารท้องถิ่นนอกจากจะต้องตอบคำถามสภาฯ แล้ว ต้องตอบคำถามกับเครือข่ายของประชาชนด้วย เพราะฉะนั้น ระบบการตรวจสอบโดยประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะตอนนี้ สภา อบจ. เป็นองค์กรเดียวที่จะตรวจสอบการทำงานของ อบจ. แต่ถ้า ส.อบจ. และนายก อบจ. มาจากกลุ่มเดียวกันหมด ก็อาจจะตรวจสอบกันไม่ได้”
ในขณะที่ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นว่า
“ที่จริงเรื่องการใช้งบประมาณมาสร้างถนน ของ อบจ. มันต้องไปดูที่โครงสร้างใหญ่ด้วย เพราะคนที่คุมเรื่องการจัดสรรงบ คือสำนักงบประมาณ คำถามคือ เวลาคุณตัดงบประมาณท้องถิ่นกับส่วนกลาง คุณไม่เอามาพิจารณาร่วมกันเหรอว่า ถนนที่สร้างโดยกรมทางหลวงชนบทในจังหวัดนั้นๆ เท่าไหร่แล้ว แล้วท้องถิ่น หรือ อบจ. ก็มาเสนอทำอีก มันซ้ำซ้อนกันไปหมด หรือท้องถิ่้นเสนอ แล้วไปตัดส่วนกลางก็ได้
“ในส่วนของการตรวจสอบการใช้งบประมาณนั้น ต้องเพิ่มสองจุด คือ สภา อบจ. ซึ่งเป็นฟังก์ชันหลักให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และในระยะยาวก็ต้องทำให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า กลไกนี้มันเป็นกลไกที่ต้องคานอำนาจกันในการพิจารณางบประมาณ เพราะคนจะเข้าใจว่า นายก อบจ. กับ ส.อบจ. เป็นทีมเดียวกันจากตอนที่หาเสียงว่าต้องเป็นพวกเดียวกันอยู่แล้วเพื่อเข้าไปช่วยกันทำงาน แต่จริงๆ สภาเป็นตัวถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหาร
“นอกจากนี้ ยังอาจจะต้องไปเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางตรงของประชาชนอีกที โดยการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม ต้องใส่กลไกนี้เข้าไป เช่น งบประมาณกี่เปอร์เซนต์ที่จะให้ประชาชนมาออกแบบ สภามีหน้าที่ให้การรับรองอย่างเดียวตามความเห็นของประชาชน แล้วก็ต้องสร้างประชาชนที่มีความตื่นตัวด้วยนะ ไม่ใช่ประชาชนจัดตั้ง มาหนุนผู้บริหารอีกที
“และ อบจ. เองก็ต้องมองไปข้างหน้า ด้วยการมีแผนยุทธศาสตร์อีกด้วย ที่จริงยุทธศาสตร์ อบจ. มีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่ามันมีสองระบบ คือ แผนของ อบจ. และแผนพัฒนาตำบล อำเภอ ขึ้นถึงระดับจังหวัด ซึ่งเจ้าภาพอยู่ที่ผู้ว่าฯ มันก็เลยกลายเป็นว่าหนึ่งจังหวัดมีสองแผน แผนของ อบจ. เลยเป็นแผนปฏิบัติการใช้งบของตัวเองมากกว่าจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของจังหวัดจริงๆ เพราะผู้ว่าฯ ก็จะเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐส่วนกลาง ซึ่งจะมีงบกระทรวงต่างๆ ลงมา แต่ก็จะไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะแขนขามือไม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ส่วนกลางไม่ได้ใกล้ชิดกับประชาชนเท่า อบจ. หรือส่วนท้องถิ่น
“เพราะฉะนั้น อบจ. ก็จะทำงานในแบบ Quick Win มากกว่า ต้องเห็นผลภายใน 4 ปี ไม่มีโครงการแบบระยะยาวเท่าไหร่ มันต้องไปรื้อว่าเจ้าภาพหลักในการทำยุทธศาสตร์จังหวัด ควรจะย้ายมาอยู่ที่ อบจ. ไหม ในฐานะผู้แทนที่ประชาชนเลือกตั้งมา ส่วนตัวแทนราชการส่วนกลาง ผู้ว่าฯ หรือส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ ควรจะเป็นตัวเสริม หรือเอานโยบายส่วนกลางที่มองภาพใหญ่มาเชื่อมมากกว่า แต่ตอนนี้มันกลับด้านกันอยู่”
อ้างอิง
ข้อบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2565-2568 ของ อบจ. 76 จังหวัด (ยกเว้นปี 2568 ของ อบจ.สุพรรณบุรี และมุกดาหารที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา)
ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-pao-3/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ