สช.-ภาคี ถกทิศทางจัดการ ‘ภัยพิบัติ’ ต่อยอด ‘มติสมัชชาสุขภาพ’ ดึงชุมชน-ท้องถิ่นรับมือโลกเดือด

กองบรรณาธิการ TCIJ 21 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 164 ครั้ง

สช. ระดมภาคีเครือข่ายเปิดเวทีแลกเปลี่ยน หารือข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อจัดการ “ภัยพิบัติ” ดึงบทบาทความสำคัญชุมชน-ท้องถิ่นมีส่วนร่วม ต่อยอด “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2554” พร้อมพัฒนาข้อเสนอผ่าน “สมุดปกแดง” ลายแทงใหม่นโยบายภัยพิบัติ หวังรัฐบาลรับไปผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ออกแบบการกระจายอำนาจ ให้ชุมชน-ท้องถิ่นร่วมรับมือภาวะภัยพิบัติยุคโลกเดือด | ภาพประกอบสร้างโดย AI (DALL·E) ผ่าน OpenAI

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมแลกเปลี่ยนการดำเนินงานและให้ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการจัดการภัยพิบัติ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินงานและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการจัดการภัยพิบัติ พร้อมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนในประเด็นต่างๆ โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมทั้งทาง on-site และผ่านระบบ online

ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เปิดเผยว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มถี่ขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น อย่างประเทศไทยเองในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยขึ้นหลายจังหวัด ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนไปจนถึงภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้ทาง สช. และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ เกิดข้อห่วงกังวลและมองถึงแนวทางการรับมือในเรื่องนี้


ผศ.พงค์เทพ กล่าวว่า ย้อนกลับไปช่วงปี 2554 หลังจากที่ประเทศไทยเกิดมหาอุทกภัยขึ้น ได้มีการมองถึงวิธีคิดเรื่องการจัดการภัยพิบัติ ที่หากปล่อยให้ภาครัฐดำเนินการเพียงลำพังย่อมทำได้ยาก จึงจำเป็นจะต้องเกิดการจัดการร่วมกัน โดยดึงบทบาทภาคส่วนชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย จึงเกิดเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2554 เรื่อง การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความเห็นชอบและเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบในวันที่ 29 พ.ค. 2555 พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ผศ.พงค์เทพ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากที่เกิดมติดังกล่าวแล้ว แม้ว่าการดำเนินงานจะมีความก้าวหน้าไปส่วนหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าการจัดการภัยพิบัติในวันนี้ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และข้อเสนอหลายเรื่องก็ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นที่เราจะต้องกลับมาทบทวนข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ร่วมกันอีกครั้ง ขณะเดียวกันในช่วงเดือนหน้าที่กำลังจะมีกิจกรรม ครม. สัญจรในพื้นที่ภาคใต้ ภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ก็จะมีการเสนอประเด็นในเรื่องของการจัดการภัยพิบัติเข้าไปอยู่ในวาระด้วยเช่นกัน

นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สช. กล่าวว่า สำหรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เรื่อง การจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้รับฉันทมติร่วมกันเมื่อกว่า 13 ปีที่ผ่านมา มีสาระสำคัญที่ต้องการให้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน พร้อมให้ความสำคัญกับการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนมีข้อเสนอในการจัดตั้งกลไกและระบบงบประมาณสนับสนุน รวมไปถึงการวิจัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครภาคพลเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจากที่มีมติสมัชชาสุขภาพฯ ดังกล่าวแล้วก็ได้เกิดความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนไปแล้วส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีการทบทวนและปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยมุ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการจัดทำคู่มือประชาชนในการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าของแต่ละจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดตั้งระบบเฝ้าระวัง ติดตาม เตือนภัย ไปจนถึงสนับสนุนการเตรียมความพร้อมรับมือในระดับชุมชน เป็นต้น
ขณะที่ ดร.เพ็ญ สุขมาก ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติภัยพิบัติต่างๆ ในประเทศไทยช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าอุทกภัยเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน รองลงมาคือสึนามิ อัคคีภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ที่เคยมีอย่างมติสมัชชาสุขภาพฯ แม้จะช่วยให้บางอย่างขับเคลื่อนไปได้ แต่บางอย่างก็ยังมีข้อจำกัด ทำให้ทางเครือข่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาคีต่างๆ ได้ร่วมกันทำการศึกษาทบทวนปัญหาและความท้าทาย ก่อนสรุปออกมาเป็น สมุดปกแดง ลายแทงใหม่นโยบายภัยพิบัติ ที่เป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทยให้พร้อมรับมือภัยพิบัติในภาวะโลกเดือด

ดร.เพ็ญ กล่าวว่า หลังจากที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันถกแถลง พร้อมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในหลายครั้ง จึงได้ออกมาเป็นสมุดปกแดงฉบับนี้ ที่มีการให้กรอบทิศทางนโยบายใน 3 ด้าน คือ 1. กระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น 2. ส่งเสริมการมีส่วนร่วม สร้างหุ้นส่วนการพัฒนาทุกภาคส่วน 3. บูรณาการข้อมูล และแผนการดำเนินการครอบคลุมภัยพิบัติทุกระยะ เพื่อลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยและยั่งยืน พร้อมเสนอให้รัฐบาลกำหนดภัยพิบัติเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายฉบับนี้ ที่มีการให้ข้อเสนอนโยบายเอาไว้อีกหลากหลายข้อ ทั้งข้อเสนอนโยบายในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

สำหรับเวทีการประชุมแลกเปลี่ยนในวันนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมที่ประกอบไปด้วยตัวแทนหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกันถึงการกระจายอำนาจให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการภัยพิบัติที่มากขึ้น การกำหนดแผนงานที่ให้ผู้ปฏิบัติได้เข้ามามีส่วนร่วม การแก้ไขระเบียบข้อกฎหมายที่ติดขัด การบูรณาการข้อมูลรวมถึงทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆ การจัดตั้งกองทุนและระบบงบประมาณสนับสนุน เป็นต้น

ด้าน นพ.วรัญญู สัตยวงศ์ทิพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายมีการพูดถึงในวันนี้ คือบทบาทความสำคัญของชุมชน การรวบรวมศักยภาพและความสามารถของผู้คน องค์กร มูลนิธิต่างๆ เข้ามาช่วยในการรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ เช่นเดียวกับการมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Commander) เมื่อเกิดภัยพิบัติ ดังตัวอย่างเหตุการณ์เช่น ภัยพิบัติสึนามิ หรือทีม 13 หมูป่าติดถ้ำหลวง ที่สะท้อนถึงความสำคัญของการมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ในระดับชาติ

“แต่ไม่ว่าเราจะจัดการกับเหตุการณ์ได้เก่งเพียงใด แต่การป้องกันสาธารณภัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า อย่างเหตุการณ์สึนามิถ้าหากเรามีระบบการป้องกันหรือเตือนภัยที่ดี ก็คงจะลดความเสียหายไปได้มาก หรือเหตุการณ์ถ้ำหลวงถ้าหากมีการปิดถ้ำตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์นี้ ฉะนั้นการป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ข้อจำกัดในเรื่องของระบบงบประมาณ การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ ที่จะเข้ามาใช้ในการป้องกันก็ยังมีข้อจำกัด และเป็นสิ่งที่จะต้องหาทางออกร่วมกันต่อไป” รองเลขาธิการ คสช. กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: