อบจ.ชายแดนใต้: ซื้อสิทธิขายเสียงผิดหลักศาสนาและกฎหมาย อีกทั้งเป็นมะเร็งร้ายสู่สังคมมุสลิม

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 10 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 1311 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ทุกท่าน

การรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิกสภา อบจ.ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 23-27 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นสัปดาห์ของการเปิดรับสมัคร ได้สิ้นสุดลงแล้ว มีทั้งคนเก่าบ้านใหญ่ บ้านใหม่ และวัยรุ่นคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะนายกอบจ.ปัตตานี “นายชารีฟุดดีน สารีมิง”และน.ส.อาซีซะห์ แดะ สตรีคนรุ่นใหม่ซึ่งนี่น่าจะเป็นสตรีคนแรกจากจังหวัดชายแดนใต้ กล้าลง ชิงนายกอบจ.นราธิวาส จากแชมป์เก่าผู้อาวุโสบ้านใหญ่อย่างนายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อย่างไรก็แล้วแต่แม้ชายแดนใต้จะมีวิถีวัฒนธรรมด้านศาสนาเข้มแข็ง ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง แต่ผลวิจัยสรุปชัดเจนว่า ชายแดนใต้ มีการซื้อสิทธิขายเสียงไม่แพ้ที่อื่นๆ อีกทั้งพยายามเลี่ยงบาลีให้ผู้นำศาสนา ออกคำวินิจฉัย ว่า เป็นเงิน ฮาดิยะห์ หรือให้ จึงไม่ผิดหลักศาสนา 

ดังนั้นจึงไม่แปลกจึงมีกลุ่ม นักวิชาการศาสนารุ่นใหม่ จับมือ กับภาคประชาสังคม รวมทั้งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ออกรณรงค์ เช่น #ร่วมรณรงค์การเมืองชายแดนใต้ปลอดซื้อเสียงและฮาดียะห์ #ฮาดียะห์=ซื้อเสียง
#การเมืองบริสุทธิ์คืออิบาดะห์ (ศาสนบัญญัติที่ศาสนาสนับสนุน) #การเมืองสีเทาคือมะซียัต (การทรยศต่อพระเจ้า) #ซื้อสิทธิขายเสียงผิดหลักศาสนาและกฎหมาย #การรับเงินซื้อเสียงเสมือนรับประทานหมู

เงินซื้อเสียงชายแดนใต้ใช้หลักศาสนาเลี่ยงบาลี เพื่อไม่ให้ผิดหลักศาสนา

การเลือกตั้งครั้งนี้หรือทุกครั้งที่ผ่านมามีข้อถกเถียงเงินที่นักการเมืองให้ว่าผิดหลักศาสนาหรือไม่ โดยพยายามให้ผู้นำศาสนาเป็นเครื่องมือ เลี่ยงบาลี แทนที่จะเป็นเงินซื้อเสียงในศัพท์วิชาการศาสนาใช้คำว่า ริชวะห์ (สินบน) แต่เลี่ยงบาลีเป็นฮิบะห์และฮาดิยะห์หรือศอดาเกาะ “ดือเกาะฮฺ แปลว่าเงินบริจาค ฟังแล้วดูหล่อหน่อย”

ผู้รู้ศาสนาอิสลามชายแดนใต้หลายคนไม่ว่า ดร.วิสุทธิ บิลล่าเต๊ะ อดีตนักวิชาการจากสำนักจุฬาราชมนตรี ดร.อับดุลเลาะห์ อาบูบากา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด อดีตคณบดีอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาตอนีรวมทั้งนักวิชาการอิสลามหลายคนจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นราธิวาสราชนครินทร์ กลับมีการแชร์คลิปบรรยายศาสนาของผู้รู้บางท่าน ในพื้นที่ ว่า เงินที่ให้ช่วงเลือกตั้งหากไม่ได้ตั้งเงื่อนไข เป็นเงิน ฮิบะฮ์หรือฮาดียะห์รับได้ ดังนั้นผู้เขียนขอชี้แจงว่า หากเป็น เงินฮิบะฮ์หรือฮาดียะห์ในแง่วิชาการเป็นอย่างไร?

ฮิบะฮ์ เป็นภาษาอาหรับแปลว่า “การยกให้” หมายถึงการมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในขณะท่ีผู้มอบยังมีชีวิตอยู่ให้แก่ผ้อื่นูโดยไม่มีส่ิง แลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในความหมายนี้เช่นกันกับฮาดียะห์ คำว่า ฮาดียะห์ เป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึงการมอบสินน้ำใจหรือ ของขวัญ ในหลักการอิสลามโดยทั่วไปสนับสนุน อันเนื่องมาจากมีวัจนศาสดา (ฮะดีษ) มากมายสนับสนุนเช่น
- การมอบสินน้ำใจให้แก่ผู้อื่นจะทำให้ความเป็นศัตรูหายไป (ฮะดีษติรฺมีซี และอะฮฺหมัด)
- การให้สิ่งใดแก่ผู้อื่นจะทำให้อัลลอฮฺเพิ่มริสกีให้เรา (ฮะดีษอิบนุอาดี)
- การมอบของขวัญซึ่งกันและกันจะทำให้ความรักใคร่เพิ่มพูนขึ้น (ฮะดีษฏ็อบรอนี)

อย่างไรก็แล้วแต่ศาสนฑูตมุฮำหมัดห้ามให้ฮาดียะฮฺ กับบุคคลเหล่านี้ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียต่อคู่กรณี เช่น ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่เก็บซะกาต

“เมื่อครั้งที่คนงานจัดเก็บซะกาตคนหนึ่งของท่านนบี​ (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม)​ รับเงินจำนวนหนึ่งมา​แล้วอ้างว่าเป็นเงินที่เจ้าของทรัพย์ให้ตนโดยเสน่หานั้น​ ท่านนบีได้ยืนขึ้นบนมิมบัร​ และถามเชิงตำหนิว่า​ หากเขาอยู่ที่บ้านเฉย​ ๆ​ ไม่ใช่คนจัดเก็บซะกาต​ จะมีใครไปมอบเงินดังกล่าวให้หรือไม่​ ?”

ปัจจุบันที่ชายแดนใต้ การซื้อสิทธิขายเสียงในหลากหลายรูปแบบพัฒนาตามยุคสมัยโดยเฉพาะยุคออนไลน์ซึ่งผิดทั้งกฎหมายไทยและอิสลามซึ่งเป็นที่ดีใจในฐานะครูสอนศาสนาที่เห็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ 3 ซานาวีย์ของโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาออกมารณรงค์ต่อเรื่องนี้

นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้เลือกผู้สมัครที่มีคุณสมบัติที่ศาสนากำหนด และล่าสุดเมื่อ 9 มกราคม 2568 บาบอฮุสณีย์ บินหะยีคอเนาะ ผู้จัดการโรงเรียนศาสนบำรุง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ออกมาสะท้อนว่า “ซื้อสิทธิ์ขายเสียง โดยพยายามเลี่ยงบาลี แทนที่จะเป็นเงินซื้อเสียงในศัพท์วิชาการศาสนาใช้คำว่า ริชวะห์ (สินบน) แต่เลี่ยงบาลีเป็นฮิบะห์และฮาดิยะห์หรือศอดาเกาะ การให้ สินน้ำใจ หรือพยายามให้สินน้ำใจโดยให้ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เยาวชนและประชาชนละหมาดฮายัตขอพรให้ได้รับชัยชนะการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าผู้นำศาสนา ผู้นำการศึกษา ผู้นำชุมชนไม่รีบออกมาต่อต้าน มันจะเป็นมะเร็งร้ายที่คอยกัดกินสังคมมุสลิมเอง (หมายเหตุชมคลิปได้ที่นี่)

การซื้อสิทธิขายเสียงผิดทั้งกฎหมายไทยและอิสลาม

สำหรับการกระทำที่ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียงตามกฎหมาย 1. การซื้อเสียง คือ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วผู้สมัคร หรือหัวคะแนนนำเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมาเสนอให้ สัญญาว่าจะให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และรวมถึงการจัดเลี้ยง เพื่อลงคะแนน หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครใด 2. การขายเสียง คือ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เรียกรับหรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากผู้สมัคร หรือหัวคะแนน เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน เลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครใด การซื้อสิทธิขายเสียงเป็น การกระทำความผิดกฏหมาย ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งผู้ที่ซื้อเสียง และผู้ขายเสียงต้องรับโทษตามกฏหมาย

ในขณะที่ตามทรรศนะอิสลามและหลักศาสนาถือว่าเป็นบาปอย่างมหันต์ เป็นส่วนของการรับสินบน (ในหลักศาสนาเรียกว่า al-Rishwah) ตามที่พระเจ้าได้ทรงห้ามในคัมภีร์อัลกุรอ่าน (ซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 41) ในขณะศาสนฑูตมุฮัมมัดได้วัจนไว้ความว่า อัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ที่ให้และรับสินบน (บันทึกโดยอิหม่ามตุรมีซีย์) ซึ่งสอดคล้องกับการวินิฉัยของ ปราชญ์มุสลิมทั่วโลก เช่นอัลอัซฮัร ประทศอียิปต์ สำนักวินิจฉัยปราชญ์โลกมุสลิม

ดังนั้น เพื่อเป็นคู่มือแด่ทุกคน ทั้งผู้เลือกตั้งและผู้ถูกเลือกตั้งได้นำหลักและคุณสมบัติของผู้นำตามศาสนธรรมที่พระเจ้าได้ดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอ่านและวัจนศาสนฑูตมุฮัมมัดมาเป็นกรอบในการพิจารณาดังนี้

1. ผู้นำต้องมีศาสนธรรม ความรู้ ความสันทัด ความสามารถในการในบทบาทหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้ว มิใช่ด้วยเหตุผลการสืบทอดและความร่ำรวย (ซูเราะห์ อัล-บะก่อเราะห์ อายะห์ที่ 247)

2. ผู้นำต้องมีความยุติธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงาน ผู้นำเมื่อมีการบิดพลิ้วก็จะต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำ จำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ ดังดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกุรอ่านความว่า แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงมีบัญชาแก่พวกเจ้าให้พวกเจ้ามอบความไว้วางใจ (ให้รับผิดชอบการงานหรือตำแหน่งหน้าที่ใดๆ) แก่ผู้ทรงสิทธิของมัน และเมื่อพวกเจ้าทำการตัดสินในระหว่างมนุษย์ พวกเจ้าจงตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงเป็นการดียิ่งที่พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าในสิ่งนั้น แท้จริงอัลลอฮ์ทรงได้ยิน อีกทั้งทรงมองเห็น (ซูเราะห์ อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 58)

3. ตำแหน่งผู้นำและอำนาจการที่ได้รับนั้นคือ อามานะห์ (ความไว้วางใจ) อย่างหนึ่งที่กลุ่มชนได้มอบความไว้วางใจ มอบภารกิจอันทรงเกียรติให้ท่านรับผิดชอบ เพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้ทรงวัจนแก่ท่านอบี ซัรรีน (สหายศาสดา) ความว่า อำนาจการที่ได้รับนั้นคืออามานะห์ และในวันกิยามัต (สิ้นโลก) มันจะมีแต่ความอัปยศและความเสียใจ เว้นเสียแต่ผู้ที่นำมันมาด้วยความชอบธรรมและดำเนินการตามภาระที่มีอยู่ (บันทึกโดยมุสลิม)

4. อย่าบิดพลิ้วต่อประชาชนผู้มอบความไว้วางใจ ดังดำรัสของอัลลอฮฺในอัลกุรอ่านความว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าบิดพลิ้วต่ออัลลอฮฺและศาสดา และอย่าบิดพลิ้วต่อความไว้วางใจ (ที่ผู้อื่นมอบแก่) พวกเจ้า ทั้งๆ ที่พวกเจ้าก็รู้ดี (ซูเราะห์ อัล-อัมฟาล อายะห์ที่ 27)

5. ทุกคนต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบเพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้ทรงวัจนความว่า พวกเจ้าทุกคนเป็นผู้รับผิดชอบ และพวกเจ้าทุกคนต้องถูกสอบถาม จากความรับผิดชอบในบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแล

6. ให้ความสำคัญกับผู้ที่ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน เพราะประชาชนทั่วไปยังคงมีอำนาจอยู่ในการปกครองและตรวจสอบผู้ที่เขาเลือกไปเป็นตัวแทนของเขาด้วย

การเรียกร้องสู่ความดีปราบปรามความชั่วเป็นสิทธิของทุกๆคนในสังคม และสิทธิในการที่จะตรวจสอบพฤติกรรมของพวกเขา เพราะท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ได้ทรงวัจนความว่า ผู้ใดก็ตามในหมู่พวกท่านได้เห็นความผิดใดๆ ก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยมือ (หมายถึงอำนาจถ้ามี) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (หมายถึงตักเตือนคัดค้าน) หากเขาไม่มีความสามารถก็จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (หมายถึงการเกลียดความผิดนั้น) และนั่นคือความศรัทธาที่อ่อนแอที่สุด บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม

ดังนั้น วันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2568 นั้นอนาคตของตำบลและชุมชนอยู่ในมือท่าน อย่าให้อำนาจเงิน ความเป็นเครือญาติ และการทุจริตทุกประเภทอยู่เหนือความถูกต้องที่อยู่ภายใต้หลักคุณธรรมและจริยธรรม.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: