นักเศรษฐศาสตร์มอง AI จีนเพิ่มแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาด AI สหรัฐฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.พ. 2568 | อ่านแล้ว 1421 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์มอง AI จีนเพิ่มแข่งขัน ลดอำนาจผูกขาด AI สหรัฐฯ นวัตกรรม AI ก้าวหน้าเร็วขึ้น การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์พลิกธุรกิจอุตสาหกรรมโลก ไทยต้องปรับตัวเร็วรับความท้าทาย | ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI โดย DALL·E

2 ก.พ. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า หลังจากมีการเปิดตัว DeepSeek เอไอสัญชาติจีนเขย่าวงการเอไอโลกด้วยด้วยต้นทุนต่ำมาก ต่อไปก็คงมีเอไอจีนต้นทุนต่ำเปิดตัวตามเพิ่มเติมขึ้นมาอีก รวมทั้งเอไอของสหรัฐฯและยุโรปต้นทุนต่ำด้วย ปรากฎการณ์นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ทั้งภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ใช้ทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ในราคาถูกลงมาก เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอโลก ลดอำนาจผูกขาดเอไอสหรัฐอเมริกา

ทำให้โครงสร้างตลาดของธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอเคลื่อนตัวจากอำนาจผูกขาดโดยยักษ์ใหญ่ไฮเทคเอไอสหรัฐฯ สู่ โครงสร้างตลาดที่มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น แต่ยังคงสภาพการแข่งขันน้อยรายอยู่ดีเพราะอุตสาหกรรมเอไอใช้เงินลงทุนสูง การแข่งขันจะผลักดันให้นวัตกรรมเอไอก้าวหน้าเร็วขึ้น ก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม ราคาหุ้นและมูลค่าตลาดของบริษัท 7 นางฟ้าอาจปรับลดลงเนื่องจากกำไรจะลดลงจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ฟองสบู่ของราคาหุ้นเกี่ยวกับเอไอจึงมีโอกาสแตกได้เช่นเดียวกับที่เคยเกิดภาวะฟองสบู่แตกของธุรกิจดอทคอมเมื่อปี พ.ศ. 2543 ภาวการณ์เก็งกำไรเกินควรในหุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เนตเมื่อปี พ.ศ. 2540-2543 นั้น เป็นฟองสบู่ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นล้นเกินต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีว่าจะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทในตลาดหุ้นแนสแดก NasDaq ไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด โดยมองข้ามพื้นฐานการลงทุนไป การก่อตัวของฟองสบู่จนถึงการแตกตัวของฟองสบู่ครั้งนั้นใช้เวลา 3 ปี แต่ ฟองสบู่เอไอคงต้องติดตามดูว่าจะใช้เวลานานกว่าหรือไม่

"แน่นอนที่สุดว่า เทคโนโลยีเอไอจะทำให้ผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมสูงขึ้น แต่แรงงานทักษะต่ำจะว่างงานมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำอาจเพิ่มขึ้นหากไม่มีการออกแบบระบบสวัสดิการเสียใหม่ให้สอดรับกับยุคเอไอ การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ของนวัตกรรมเอไอจะพลิกผันธุรกิจอุตสาหกรรมโลก ไทยต้องปรับตัวให้เร็วเพื่อรับความท้าทาย ไทยในฐานะผู้ซื้อและใช้บริการต้องคิดอย่างจริงจังมากขึ้นว่า เราจะพัฒนา ต่อยอดและสร้างใหม่จากเทคโนโลยีเอไอที่มีอยู่อย่างไร และควรศึกษา ความสำเร็จและบทเรียนจากจีน" รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) จากนวัตกรรมใหม่ๆทางด้านเอไอจะพลิกธุรกิจอุตสาหกรรมโลก ไทยต้องปรับตัวเร็วรับความท้าทาย การแข่งขันเพิ่มขึ้นธุรกิจอุตสาหกรรมเอไอเป็นประโยชน์ต่อไทยในฐานะผู้ซื้อและใช้บริการ เราควรนำการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหล่านี้มาเป็นฐานในการพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนควรให้ความสำคัญต่อการลงทุนทางการวิจัยและพัฒนา การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) เป็นภาวะปรกติของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน กระบวนการก่อเกิดการทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ เกิดจาการที่ผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly profit) สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อำนาจผูกขาดนี้อยู่กับกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทคของสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของผู้อื่น หรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่างๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ การทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction)

"เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โอกาสใหม่รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ เอไอของจีนอย่าง DeepSeek ทำให้ต้นทุนในการเข้าถึงเอไอถูกลงด้วยการใช้ระบบ Open Source ที่เป็นระบบเปิด การใช้ระบบเปิด Open source มีการเปิดเผย Code และ รายละเอียดทางเทคนิค สิ่งนี้จะช่วยดึงดูดนักพัฒนาและนักวิจัยที่มีความสามารถจากทั่วโลกมาร่วมพัฒนานวัตกรรมให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก รวมทั้งช่วยสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาเอไอที่มีพลวัตและเติบโตอย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญ คือ DeepSeek ได้ปล่อยโมเดล DeepSeek-R1 เป็น Open Source พร้อมเปิดรายงานเชิงเทคนิคออกมาเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้องค์กรสามารถนำไปใช้ต่อยอดกันในเชิงพาณิชย์ได้" รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ (DEIIT-UTTC) ประเมิน ระบบ open-source นั้นมีข้อได้เมื่อเปรียบเทียบระบบปิด อย่างเช่น Open-Source software นั้น หลายๆ ท่านเคยใช้ แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่มักมองว่า open-source software เป็น "ของฟรี" เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงประเด็นของปรัชญา open-source จึงขออธิบายโดยเปรียบเทียบ open-source software กับ "ศาลา" เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น เช่นการไปนอน "ศาลาวัด" โดยไม่เสียเงิน "ศาลา" นั้นมีขนาดเดียว คนผ่านทางทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ทุกคนสามารถใช้ศาลาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องจ่ายเงิน และไม่มีใครอ้างกรรมสิทธิ์ใน "ศาลา" เพื่อจะห้ามคนอื่นไม่ให้ใช้ แต่เมื่อเราใช้ "ศาลา" แล้ว เราก็มีหน้าที่ร่วมกันที่จะเก็บกวาดพื้นที่ที่เราใช้ ถือเป็นหน้าที่ร่วมกันของผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ ถ้าเราใช้ห้องน้ำ เราก็ต้องทำความสะอาดห้องน้ำให้เรียบร้อย กวาดพื้นและเทขยะก่อนที่เราจะจากไป ถ้าหน้าศาลามีตู้รับบริจาค เราก็อาจบริจาคไปตามกำลังทรัพย์ เพื่อให้ศาลานี้ยังอยู่และมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ต่อไป และในโอกาสหน้าหากเราเดินทางมาในพื้นที่นี้อีก เราก็จะได้ใช้บริการพักผ่อนอีกเช่นกัน ตามที่กล่าวมาข้างต้น open-source software จึงเหมือน "ศาลา" ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ Open-Source Software ได้เต็มที่ แต่ทุกคนก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแล "ซอฟท์แวร์สาธารณะ" ตามกำลังที่มีเช่นเดียวกัน

"ข้อดีของระบบ Open Source Software ช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวสูงขึ้น สามารถใช้ระบบ Open Source Software ได้อย่างรวดเร็ว Open Source Software มีค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่ามากกว่า ใช้เงินลงทุนต่ำ สามารถเริ่มจากระบบเล็กๆ ก่อน และเพิ่มขยายภายหลังได้ เหมาะสำหรับองค์กรที่มีเงินลงทุนไม่มาก Open Source Software มีความปลอดภัยของข้อมูลมากกว่า Open Source Software สามารถดึงดูดพนักงาน IT ที่มีความสามารถสูงได้ ข้อดีของ ระบบ Open Source Ai ก็มิได้แตกต่างไปจาก Open Source Software และ คาดการณ์ว่า ต่อไป เอไอสหรัฐฯก็จะมีการพัฒนาบนระบบเปิด Open Source มากขึ้น" รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึง การวางแผนออก Stablecoin ของรัฐบาล ว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลฯ (DEIIT-UTTC) มองว่า Stablecoin Sandbox เป็นการทดลองใช้ คริปโตมูลค่าคงที่ในพื้นฐานจำกัด จะเป็นการทดสอบเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินดิจิทัลสำหรับอนาคต แต่การดำเนินการควรอยู่ในการกำกับของแบงก์ชาติด้วย Stablecoin คือ คริปโตเคอเรนซี่ที่ตรึงมูลค่าไว้กับสิ่งที่มูลค่าภายนอกที่สังคมเชื่อมั่นและยอมรับ การตรึงไว้กับสิ่งที่มีมูลค่าเพื่อแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของมูลค่าตลาดของคริปโตเคอเรนซี่ที่มีราคาขึ้นลงอย่างรุนแรง และ เหวี่ยงไปมา ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ในฐานะ “เงิน” ที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน โดย Stablecoin หรือ เหรียญคริปโตที่มีมูลค่าค่อนข้างคงที่นี้มีการซื้อขายและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปัจจุบันมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ตลาด Stablecoin หากต้องการนำมาใช้เป็นทางเลือกในฐานะเงินดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นเพียงสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อการลงทุน

การเป็นเงินดิจิทัลทางเลือกต่างหากจาก เงินเฟียต (Fiat Money) ซึ่งเป็นเงินที่ถูกกำหนดมูลค่าและออกโดยธนาคารกลาง เงินเฟียตถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการโดยอำนาจของธนาคารกลางและรัฐบาล ตัวอย่างของเงินเฟียต เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยน เงินยูโร เงินบาท เป็นต้น เป็นเงินที่ถูกสร้างโดยระบบการเงินแบบรวมศูนย์ ส่วนบรรดาสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ รวมทั้งคริปโตเคอเรนซี่สร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีบล็อคเชนไม่ได้มีการกำกับควบคุมโดยอำนาจรัฐ เป็นระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ มีการเก็บข้อมูลธุรกรรมและดำเนินการทางการเงินด้วยวิธีการทางดิจิทัลและการเข้ารหัส หากจะมีการออก Stablecoin โดยรัฐบาลก็ควรให้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในฐานะผู้กำกับนโยบายการเงินและควบคุมปริมาณเงินในระบบมีส่วนร่วมสำคัญในการกำกับดูแลด้วย Stablecoin สามารถพัฒนาออกมาใช้ได้สี่ลักษณะ ดังนี้ หนึ่ง Fiat-Collateralized Stablecoins, สอง Commodity-backed Stablecoins Commodity นี้อาจเป็น ทองคำ น้ำมันหรือสินแร่อื่นๆที่มีค่าก็ได้ เช่น Tether Gold เป็นคริปโตที่ใช้ทองคำหนุนหลัง สาม Crypto-Collateralized Stablecoins เช่น Dai Stablecoin หนุนหลังโดยดอลลาร์สหรัฐฯ และ คริปโต Ethereum สี่ Algorithmic Stablecoin เช่น Luna Token ที่มูลค่าลดลงกว่า 80% ในวันเดียว TerraUSD ปรับตัวลงแรง 60% ภายในวันเดียว Stablecoin แบบนี้มีความเสี่ยงสูงมาก ใช้วิธีการควบคุมอุปทานของเหรียญโดยเหรียญจะมีหรือไม่มีอะไรหนุนหลังก็ได้ เมื่อมีภาวะวิกฤติ มูลค่าอาจดิ่งลงอย่างรวดเร็วได้

"อย่างไรก็ตาม ความริเริ่มในทางนโยบายของกระทรวงการคลังในพัฒนา Stablecoin ในพื้นที่จำกัด โดยจะออกพันธบัตรหนุนหลัง Stablecoin ที่ออกมาเป็น ความริเริ่มทางนโยบายที่น่าสนใจ และ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญการเตรียมการสำหรับโลกการเงินที่จะก้าวสู่ความเป็นการเงินแบบดิจิทัลมากขึ้นตามลำดับ การใช้ Government Stablecoin เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาต่อไปว่า จะมีส่วนช่วยทำให้ ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพจากปริมาณเงินที่ไหลเวียนเพิ่มขึ้นในระบบหรือไม่ นอกจากนี้ การใช้ Government Stablecoin ในระบบเทคโนโลยี Blockchain เมื่อมีการปล่อยเงินเข้าสู่ระบบแล้ว สามารถออกแบบให้เงินหมุนเวียนเฉพาะในบางพื้นที่ได้ เป็นเหมือน Local Currency ของท้องถิ่นนั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องมี การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมตามที่ ตนตั้งขอสังเกตเอาไว้ และ ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ควรร่วมมือกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจและเป็นการเตรียมการสำหรับอนาคตระบบการเงินแบบกระจายศูนย์มากขึ้น" รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

รศ.ดร. อนุสรณ์ ให้ความเห็นสถานการณ์มลพิษทางอากาศในไทย ว่า รัฐบาลต้องจัดงบอุดหนุนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้มีการเผาในภาคเกษตรเขตภาคเหนือในช่วงสองเดือนข้างหน้าและดำเนินการป้องกัน ฝุ่นพิษ PM2.5 ภาคเหนือที่มักจะเกิดปัญหาหมอกควันพิษรุนแรงในเดือนมีนาคมและเมษายนช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากต้องใช้มาตรการต่างๆทุกทาง และการเจรจาเพื่อไม่ให้มีการเผาทางการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหยุด ลดหรือบรรเทาควันพิษข้ามพรมแดน สัปดาห์หน้า มลพิษทางอากาศจะยังอยู่ในระดับสูงในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จึงควรยืดมาตรการ Work from Home ลดการเดินทาง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวต่อไป เปลี่ยนรถสาธารณะเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ตรวจรถควันดำอย่างจริงจัง ติดตั้งเครื่องกรองอากาศขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีการเจรจาแออัดและแหล่งชุมชน

งานวิจัยธนาคารโลกระบุ จำนวนผู้เสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 5.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 26,260 ล้านดอลลาร์หรือ 8.9 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2566 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ Attavanich (2019) ได้คำนวณมูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากมลพิษทางอากาศโดยอาศัย Subjective Well-Being บ่งชี้ว่า ฝุ่น PM2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาทเมื่อ 6 ปีที่แล้ว คือ ปี พ.ศ. 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด หลังจากนั้น สถานการณ์ฝุ่นควันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 ไม่ได้ดีขึ้นเลย เป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำลายสุขภาพ ทำลายชีวิต ทำลายเศรษฐกิจ ที่สังคมไทยต้องร่วมกันแก้ไขโดยด่วน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

AI  

Like this article:
Social share: