งานวิจัยโดยกลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาประสบการณ์ผู้ใช้บริการการเงินผ่านแอปพลิเคชัน 400 คน พบ 'วิกฤตหนี้สินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน' คือรากเหง้าของปัญหา 'เหยื่อแอปฯ เงินกู้' ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย พบแอปเงินกู้เถื่อนในไทยมีความเชื่อมโยงกับการล่มสลายของธุรกิจ P2P Lending ในจีน นักวิจัยแนะสร้างและส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินที่เป็นทางการ | ที่มาภาพ: กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย - ISSIE
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับแบรนด์สมาร์ทโฟน OPPO และ realme ที่ได้ทำการติดตั้งแอปพลิเคชันล่วงหน้า “Fineasy” และ “สินเชื่อความสุข” ซึ่งเป็นแอปฯ สินเชื่อที่ไม่มีการแจ้งต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนที่ต่อมาทั้ง 2 แบรนด์จะออกแถลงการณ์ขอโทษพร้อมดำเนินการถอดทั้ง 2 แอปฯ ออกนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์แอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมายที่กำลังระบาดในสังคมไทย
ในรายงานการวิจัย 'การศึกษาสภาพปัญหาแอปพลิเคชัน เงินกู้ผิดกฎหมายในประเทศไทย' โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ กลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2567 ได้ทำการศึกษารูปแบบผลกระทบของแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยการทำการสำรวจประสบการณ์ผู้ที่ใช้บริการการเงินผ่านแอปพลิเคชัน จำนวน 400 คน ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบกึ่งโครงสร้างผู้มีประสบการณ์กู้ยืมเงินจากแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมายและผู้ที่เคยทำงานให้แอปพลิเคชันรวม 9 คน เจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแล และทำการประชุมกลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อผลสำรวจและข้อค้นพบเบื้องต้น เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้
'วิกฤตหนี้สินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน' รากเหง้าของปัญหา
สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือการเติบโตของแอปพลิเคชันเงินกู้นอกระบบ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเงินไทยที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาและผู้คนต้องการความช่วยเหลือทางการเงินมากที่สุด งานวิจัยพบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนทั่วประเทศ
ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นจากร้อยละ 81.7 ของ GDP ในปี 2562 เป็นร้อยละ 94.1 ในปี 2564 เป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้คือความทุกข์ยากของประชาชนที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้รายได้ลดลงแต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น
งานวิจัยพบว่า การขาดการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ และความต้องการทางการเงินที่เร่งด่วน เป็นสาเหตุสำคัญของการก่อหนี้นอกระบบ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การกู้ยืมเงินจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ไปจนถึงการกู้ยืมเงินจากนายทุนที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
แม้ว่าภาครัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขยายบริการทางการเงินในระบบให้ครอบคลุมมากขึ้น อาทิ การเสนอบริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น เช่น พิโกไฟแนนซ์ และการพัฒนาบริการทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะการกู้ยืม อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านรายได้และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า
'เหยื่อแอปฯ เงินกู้' ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
งานวิจัยพบว่า ผู้ใช้บริการแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมายส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี พวกเขามักเป็นพนักงานบริษัทที่มีเงินเดือนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กที่ขาดเงินทุนหมุนเวียน และผู้รับจ้างอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน
ผู้ใช้บริการเหล่านี้มักจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูครอบครัว ความจำเป็นทางการเงินที่เร่งด่วนทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงที่จะใช้บริการแอปพลิเคชันเหล่านี้
จากการศึกษาพบว่า เมื่อเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องเผชิญกับการทวงหนี้ที่รุนแรงและผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการโทรข่มขู่ การประจานผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้กระทั่งการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ใช้บริการหลายคนรู้สึกว่าตนเองไม่มีทางออก บางรายถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย
ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยยังพบพฤติกรรมของผู้ใช้บริการบางกลุ่มที่ตั้งใจกู้เงินโดยไม่คืน โดยใช้วิธีการสร้างตัวตนปลอม เปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคล และกู้เงินจากหลายแอปพลิเคชันในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมายก็รู้เท่าทันและตอบโต้พฤติกรรมนี้ด้วยการจำกัดวงเงิน
งานวิจัยได้วิเคราะห์สาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย โดยระบุว่าการขาดการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบเป็นปัจจัยหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีหลักประกัน
ด้านการกำกับดูแล พบว่าการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวดเพียงพอ ผู้กระทำผิดใช้วิธีการซับซ้อนในการหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม เช่น การเปลี่ยนชื่อแอป หรือย้ายฐานข้อมูลไปต่างประเทศ การควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลในประเทศไทยยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น แม้จะมีหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่มีบทบาทในการกำกับดูแล
ปัจจัยที่ทำให้คนหันไปใช้บริการแอปเงินกู้ผิดกฎหมายประกอบด้วยปัจจัยผลักดัน เช่น ความจำเป็นทางการเงินเร่งด่วน การขาดแหล่งเงินทุนในระบบ และปัจจัยดึงดูด เช่น ขั้นตอนการสมัครที่ง่ายและรวดเร็ว การโฆษณาที่ล่อลวง งานวิจัยเสนอให้แก้ไขปัญหาโดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน
แอปพลิเคชันเงินกู้ไม่ใช่แค่ปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤตทางสังคมที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในระบบการเงินไทย การแก้ปัญหานี้จึงต้องทำอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่การป้องกัน การแก้ไข ไปจนถึงการเยียวยา หากปล่อยให้ปัญหานี้ลุกลามต่อไป สังคมไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
นักวิจัยชี้แอปเงินกู้เถื่อนในไทยมีความเชื่อมโยงกับการล่มสลายของธุรกิจ P2P Lending ในจีน
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยกลุ่มวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสมานฉันท์และเศรษฐกิจถ้วนถึงแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับประชาไทว่า จากการศึกษาพบว่าแอปเงินกู้เถื่อนมีสองรูปแบบหลัก รูปแบบแรกคือพวกที่เป็นมิจฉาชีพ หลอกว่าจะให้เงินกู้และเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้าโดยไม่มีการปล่อยกู้จริง พวกนี้จะอ้างว่าต้องจ่ายค่าดำเนินการ ค่าประกัน หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ก่อน แล้วจะโอนเงินกู้ให้ แต่พอได้เงินค่าธรรมเนียมไปแล้วก็เชิดหนีหรือตัดการติดต่อไปเลย
รูปแบบที่สองคือพวกที่ปล่อยกู้จริง แต่ดำเนินการผิดกฎหมายแทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่การประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า ไปจนถึงการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายด้วยวิธีการที่โหดร้าย ทั้งการข่มขู่ คุกคาม และละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล พวกนี้วงจรหนี้ที่เอาเปรียบผู้กู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อรรคณัฐ ระบุว่าอีกประเด็นที่น่าสนใจคือพบว่าแอปเงินกู้เถื่อนเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการล่มสลายของธุรกิจ P2P Lending ในจีน เพราะเราเห็นการขยายตัวของแอปเงินกู้ผิดกฎหมายพวกนี้ ภายหลังหลังจากที่จีนเข้มงวดกับธุรกิจ P2P Lending จนทำให้อุตสาหกรรมนี้ล่มสลายไป ผู้ประกอบการจำนวนมากได้นำแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่มีอยู่มาดัดแปลงและขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเทศไทย
"พวกเขาใช้โครงของแอปที่มีมาปรับให้เป็นภาษาไทย ทำให้ดูเป็นทางการและน่าเชื่อถือมากขึ้น มีหน้าตาคล้ายแอปของสถาบันการเงินจริง และมีกลยุทธ์การกระจายแอปที่ซับซ้อน บางส่วนสามารถเล็ดลอดเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มที่เป็นทางการอย่าง App Store และ Play Store ได้ โดยอาจแอบแฝงมาในรูปแบบแอปประเภทอื่น หรือปลอมแปลงข้อมูลผู้พัฒนา ที่น่ากังวลคือ เมื่อถูกตรวจพบและถูกลบออกจากสโตร์ พวกเขาก็เปลี่ยนไปใช้วิธีส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดไฟล์ APK โดยตรงผ่าน SMS หรือแชทแอป หรือแอบแฝงลิงก์ไว้ในโฆษณาตามเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคแยกแยะได้ยากว่าอะไรถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย และยิ่งเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์หรือการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัว" อรรคณัฐ กล่าว
ในประเด็นที่ว่าทำไมหน่วยงานกำกับดูแลถึงจัดการกับปัญหานี้ได้ยากนั้น อรรคณัฐชี้ว่ามันมีความซับซ้อนหลายระดับครับ หนึ่งคือตัวแอปมักจะใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการหลบเลี่ยงการตรวจจับ เช่น การย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปต่างประเทศ การเปลี่ยนชื่อแอปบ่อยๆ หรือการใช้เทคนิคทางกฎหมายเลี่ยงการเรียกเก็บดอกเบี้ย เช่น แปลงเป็นค่าธรรมเนียมรูปแบบต่างๆ สองคือปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเงิน ที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ทำให้มีความต้องการสินเชื่อนอกระบบอยู่เสมอ แม้จะรู้ว่าเสี่ยง คนก็ยังต้องใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือก
แนะสร้างและส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินที่เป็นทางการ
อรรคณัฐ กล่าวต่อไปว่า ในด้านการแก้ปัญหานั้น เราคงต้องเรียนรู้ปรากฎการณ์ผ่านงานวิจัย และจากกรณีศึกษาการจัดการปัญหาคล้ายๆ กันของที่อื่นควบคู่ไปกับปัญหาที่เป็นบริบทเฉพาะของเรา คือต้องมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดแต่ก็ต้องสร้างทางเลือกให้ประชาชนด้วย การแก้ปัญหาต้องทำพร้อมกันหลายด้าน
ด้านหนึ่งต้องเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการประสานงานระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ และความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ทั้งเพลย์สโตร์ แอปสโตร์ และโซเชียลมีเดีย ในการกลั่นกรองและระงับแอปที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการสกัดกั้นการโฆษณาและการแจกจ่ายลิงก์ดาวน์โหลดผ่านช่องทางต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความรู้ประชาชนถึงอันตรายของการดาวน์โหลดแอปจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
อีกด้านต้องพัฒนาระบบการเงินให้ทั่วถึงและยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในระดับสถาบันการเงินกระแสหลักและระดับชุมชน เราต้องส่งเสริมทั้งนวัตกรรมทางการเงินสมัยใหม่ อย่าง P2P Lending ที่ได้มาตรฐานและอยู่ภายใต้การกำกับดูแล หรือสินเชื่อรายย่อยที่ใช้เทคโนโลยีในการประเมินความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันการเงินชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ หรือสหกรณ์ ที่มีความยืดหยุ่นและเข้าใจบริบทของคนในพื้นที่ และระบบการเงินระดับฐานรากอื่นๆ สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ เราไม่ควรโทษว่าเป็นความผิดของผู้กู้ที่ขาดความรู้เท่าทัน แต่ต้องมองว่านี่คือปัญหาเชิงระบบ ที่คนจำนวนมากขาดความยืดหยุ่นและทางเลือกทางการเงิน
"เราต้องสร้างและส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลายที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนที่เข้าไม่ถึงระบบการเงินที่เป็นทางการ ขณะเดียวกัน เราต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลของการกู้เงินจาปแอปผิดกฎหมาย ควรต้องมีการประชาสัมพันธ์กลไกการทำงานและทวงหนี้ของแอปเหล่านี้ด้วย ข้อมูลจากการวิจัยชี้ชัดว่า แอปเหล่านี้ไม่เคยส่งคนมาทวงถึงบ้านจริงๆ แต่พวกเขาใช้วิธีสร้างความอับอายผ่านการประจานในโซเชียลมีเดียและการคุกคามคนรอบข้าง อีกเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจคือในระยะหลังมีผู้กู้ที่เข้าใจรูปแบบการทำงานและการทวงหนี้ของแอปพวกนี้และรวมกลุ่มกัน แลกเปลี่ยนข้อมูล และตั้งใจกลับไปกู้แล้วไม่คืน โดยคิดว่าเป็นการแก้แค้น แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการต่อวงจรให้ธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้ดำเนินต่อไปได้ เพราะต้องมีการเลี้ยงยอด กู้และจ่ายคืนพร้อมดอกโดยหวังว่าเมื่อแอปติดกับและให้ยอดกู้สูงขึ้นก็จะไม่คืน ซึ่งแอปก็รู้ทันและไม่ปล่อยยอดให้กู้ยอดสูงๆ คือให้แค่ยอดต่ำๆ เมื่อจ่ายคืนเพราะต้องการเลี้ยงยอดแค่ 1-2 ก็ไม่ให้กู้ต่อ ก็เท่ากับว่าผู้ตั้งใจกู้ไม่คืนนั้นได้เสียรู้จ่ายคืนทั้งเงินต้นดอกเบี้ยที่มีอัตราสูงให้แอปไปแล้ว" อรรคณัฐ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ