โทษประหารชีวิตในปี 2567: จำนวนการประหารชีวิตสูงที่สุดหลังปี 2558

กองบรรณาธิการ TCIJ 11 เม.ย. 2568 | อ่านแล้ว 416 ครั้ง


จำนวนการประหารชีวิตทั่วโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่หลังปี 2558 โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตมากกว่า 1,500 คนใน 15 ประเทศในปี 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานประจำปีเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลก

- อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียมีจำนวนการประหารชีวิตคิดเป็น 91% ของการประหารชีวิตทั้งหมด
- รัฐใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธต่อผู้ประท้วงและกลุ่มชาติพันธุ์
- การประหารชีวิตในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จำนวนการประหารชีวิตทั่วโลกสูงที่สุดนับตั้งแต่หลังปี 2558 โดยมีผู้ถูกประหารชีวิตมากกว่า 1,500 คนใน 15 ประเทศในปี 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในรายงานประจำปีเกี่ยวกับการใช้โทษประหารชีวิตทั่วโลก

จาก “รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตใน ปี 2567” พบว่ามีการบันทึกการประหารชีวิต 1,518 ครั้งในปี 2567 ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดหลังปี 2558 (ที่มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 1,634 ครั้ง) โดยส่วนใหญ่เกิดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 ถือว่าเป็นปีที่สองติดต่อกันที่จำนวนประเทศที่ประหารชีวิตยังคงอยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

จำนวนที่บันทึกไว้ไม่รวมถึงผู้คนหลายพันคนที่เชื่อว่าถูกประหารชีวิตในจีน ซึ่งยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก เช่นเดียวกับเกาหลีเหนือและเวียดนาม ซึ่งเชื่อว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปาเลสไตน์และซีเรีย ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่สามารถยืนยันตัวเลขในพื้นที่และประเทศดังกล่าวได้

อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของจำนวนการประหารชีวิต โดยทั้งสามประเทศรวมกันมีจำนวนการประหารชีวิตสูงถึง 1,380 ครั้ง อิรักมีจำนวนการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า (จากอย่างน้อย 16 ครั้งเป็นอย่างน้อย 63 ครั้ง) ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า (จาก 172 ครั้งเป็นอย่างน้อย 345 ครั้ง) ส่วนอิหร่านประหารชีวิตมากกว่าปีก่อน 119 ครั้ง (จากอย่างน้อย 853 ครั้งเป็นอย่างน้อย 972 ครั้ง) ซึ่งคิดเป็น 64% ของจำนวนการประหารชีวิตที่ทราบทั้งหมด

แอกแนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า โทษประหารชีวิตเป็นวิธีการลงโทษที่น่ารังเกียจและไม่ควรมีอยู่ในโลกปัจจุบัน แม้ว่ายังมีความลับปกคลุมกระบวนการนี้ในบางประเทศที่เราคาดว่ามีการประหารชีวิตหลายพันครั้ง แต่เห็นได้ชัดว่าประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตนั้นโดดเดี่ยวมากขึ้น ด้วยจำนวน 15 ประเทศที่มีการประหารชีวิตในปี 2567 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นปีที่สอง นี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงจากการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“อิหร่าน อิรัก และซาอุดีอาระเบียมีส่วนทำให้จำนวนการประหารชีวิตพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อปีที่แล้ว โดยมีการประหารชีวิตเป็น 91% ของจำนวนการประหารชีวิตที่ทราบทั้งหมด ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและคร่าชีวิตผู้คนจากข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดและการก่อการร้าย”

5 ประเทศที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในปี 2567 ได้แก่ จีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และเยเมน

รัฐใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธ

ตลอดปี 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่าผู้นำบางประเทศใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธ โดยอ้างว่าเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน

ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของจำนวนการประหารชีวิตหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มีการประหารชีวิต 25 ครั้ง (เทียบกับ 24 ครั้งในปี 2566) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ในปี 2567 ได้กล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าโทษประหารชีวิตเป็นมาตรการปกป้องประชาชนจาก “พวกข่มขืน ฆาตกร และสัตว์ประหลาด” คำพูดที่ลดทอนความเป็นมนุษย์เช่นนี้ส่งเสริมความเข้าใจผิดว่าโทษประหารชีวิตมีผลในการยับยั้งอาชญากรรม

ในบางประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โทษประหารชีวิตถูกใช้เพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เห็นต่าง ผู้ชุมนุมประท้วง ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และชนกลุ่มน้อย

“ผู้ที่กล้าท้าทายอำนาจรัฐต้องเผชิญกับบทลงโทษที่โหดร้ายที่สุด โดยเฉพาะในอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งโทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้เพื่อปิดปากผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาพูด”

“ในปี 2567 อิหร่านยังคงใช้โทษประหารชีวิตในการลงโทษผู้ที่ท้าทายระบอบสาธารณรัฐอิสลามระหว่างการชุมนุมประท้วง “สตรี ชีวิต และเสรีภาพ” (Woman Life Freedom) โดยมีผู้ถูกประหารชีวิต 2 ราย รวมถึงเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หลังจากถูกตัดสินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและถูกทรมานเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพ การกระทำดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าทางการพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อกระชับอำนาจ”

ซาอุดีอาระเบียใช้โทษประหารชีวิตในการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและชนกลุ่มน้อยชีอะห์ที่สนับสนุนการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลระหว่างปี 2554 ถึง 2556 ในเดือนสิงหาคม 2567 ทางการซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตอับดุลมาจีด อัล-นิมร์ ด้วยข้อหาเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์ แม้ว่าหลักฐานในศาลระบุเพียงแค่การเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงก็ตาม

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกประกาศความตั้งใจในการรื้อฟื้นการประหารชีวิต ในขณะที่กองทัพของบูร์กินาฟาโซประกาศว่าจะนำโทษประหารชีวิตมาใช้ในคดีอาญาทั่วไป

การเพิ่มขึ้นของจำนวนการประหารชีวิตในคดียาเสพติด

กว่า 40% ของการประหารชีวิตในปี 2567 ถูกดำเนินการอย่างมิชอบด้วยกฎหมายในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ภายใต้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การใช้โทษประหารชีวิตต้องถูกจำกัดไว้สำหรับ "ความผิดอาญาร้ายแรง" ซึ่งการตัดสินประหารชีวิตผู้คนในคดียาเสพติดไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์นี้

"การประหารชีวิตในคดียาเสพติดเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ และในเวียดนาม แม้ว่าจะไม่สามารถยืนยันได้ ในหลายบริบทพบว่าการตัดสินประหารชีวิตในคดียาเสพติดส่งผลกระทบอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาสทางสังคม ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักฐานว่าโทษประหารชีวิตช่วยลดการค้ายาเสพติดได้"

"ผู้นำที่สนับสนุนโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติดกำลังเสนอแนวทางที่ไร้ประสิทธิภาพและมิชอบด้วยกฎหมาย ประเทศที่กำลังพิจารณานำโทษประหารชีวิตมาใช้ในคดียาเสพติด เช่น มัลดีฟส์ ไนจีเรีย และตองกา ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกเรียกร้องให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลางของนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดของประเทศ"

พลังของการรณรงค์

แม้ว่าจำนวนการประหารชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่การประหารชีวิตเกิดขึ้นในเพียง 15 ประเทศเท่านั้น ซึ่งนับเป็นจำนวนน้อยที่สุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน ในปัจจุบันมี 113 ประเทศแล้วที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท และรวมเป็นทั้งหมด 145 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว

ในปี 2567 ซิมบับเวลงนามบังคับใช้กฎหมายที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับคดีอาญาทั่วไป และเป็นครั้งแรกที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติมากกว่าสองในสามเห็นชอบกับข้อมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 10 เกี่ยวกับข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต การปฏิรูปโทษประหารชีวิตในมาเลเซียยังนำไปสู่การลดจำนวนผู้ที่เสี่ยงต่อการถูกประหารชีวิตลงมากกว่า 1,000 ราย

นอกจากนี้ โลกยังได้เห็นพลังของการรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิต ฮากามาดะ อิวาโอะ ซึ่งใช้ชีวิตเป็นนักโทษประหารชีวิตเกือบห้าทศวรรษในญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน 2567 ศาลตัดสินให้เขาพ้นผิดในคดีฆาตกรรมหมู่ การรณรงค์เช่นนี้ยังคงดำเนินการต่อไป จนในเดือนมีนาคม 2568 ร็อกกี้ ไมเออร์ส ชายผิวดำที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในรัฐแอละแบมา แม้จะพบข้อบกพร่องร้ายแรงในกระบวนการพิจารณาคดีก็ตาม แต่จากการเรียกร้องของครอบครัว ทีมกฎหมาย คณะลูกขุนเดิม นักกิจกรรมในพื้นที่ และประชาคมระหว่างประเทศ ในที่สุดเขาได้รับการอภัยโทษ

"เมื่อผู้คนให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิต สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง แม้จะยังมีผู้นำบางส่วนที่พยายามใช้โทษประหารชีวิตเป็นอาวุธ แต่กระแสกำลังเปลี่ยนไป อีกไม่นานนัก โลกจะปลอดจากเงามืดของการประหารชีวิต" แอกแนสกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: