นักวิจัย มจธ. ชี้อุตสาหกรรมไทยเตรียมรับผลกระทบ หลัง พ.ร.บ. Climate Change เริ่มบังคับใช้

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มี.ค. 2568 | อ่านแล้ว 2391 ครั้ง

นักวิจัย มจธ. ชี้อุตสาหกรรมไทยเตรียมรับผลกระทบ หลัง พ.ร.บ. Climate Change เริ่มบังคับใช้

นักวิจัย มจธ. ระบุ อุตสาหกรรมไทยเตรียมรับผลกระทบ หลัง พ.ร.บ. Climate Change เริ่มบังคับใช้ จากงานวิจัยพบมีเพียงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลุ่มพลังงาน และสถาบันการเงิน ที่มีความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน Climate Change ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ยังไม่เห็นความสำคัญ เพราะมองว่าเป็นเรื่องการลงทุนและภาระที่เพิ่มขึ้น พร้อมย้ำ ธุรกิจใดไม่เร่งปรับตัวในการจัดการความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต

เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค. 2568 ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ และอาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยมีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ความท้าทายคือ อุตสาหกรรมไทยจะสามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas-GHG) ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับข้อตกลงนี้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ.Climate Change กำลังมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมไทย

โครงการวิจัย “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในอุตสาหกรรมไทย” นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาตัวแบบมาตรวัดทางสถิติที่ใช้วัดระดับความพร้อมในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจาก Climate Change นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนำเสนอนโยบายเชิงวิชาการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพ.ศ. 2565 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิฯให้ทุนวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences) จากเดิมที่มีเพียงทุนวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

“เราเป็นโครงการแรกที่ได้รับทุนวิจัยอาซาฮี เพื่องานวิจัยทางด้านสังคมเกี่ยวกับสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการศึกษาในบริบทของการผสนผสานระหว่างการบริหารธุรกิจกับวิทยาศาสตร์ งานวิจัยนี้ใช้เวลา 2 ปี (พ.ศ.2565-2567) เก็บข้อมูลจาก 200 บริษัท ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยแม้จะรับรู้เรื่อง Climate Change แต่ยังให้ความสนใจน้อยมาก แม้ไทยจะตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 แต่ภาคเอกชนกลับยังไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือให้ความสำคัญมากนัก เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน หลายบริษัทมองว่า Climate Change ไม่ได้กระทบธุรกิจของพวกเขาโดยตรง

แต่ปัจจุบันภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับ Climate Change มากขึ้น เนื่องจากประเด็นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของงบการเงินของบริษัทจาก พ.ร.บ.ลดโลกร้อน หรือ พ.ร.บ.Climate Change ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ทำให้อุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มปรับตัวเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายในองค์การจากภัยพิบัติต่างๆ อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฝุ่น PM2.5 ฯลฯ แต่พบว่ามีเพียงอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยตรง เช่น อุตสาหกรรมน้ำมันและพลังงาน (oil and gas industry) และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความพร้อมในการจัดการความเสี่ยง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ อีกทั้งยังเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีทรัพยากรพร้อมลงทุน และมีนวัตกรรม ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการเกษตรและบริการ ยังคงมีความพร้อมต่ำ เพราะมองว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและเป็นภาระจากงานประจำ แม้อุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่จะตระหนักถึงความสำคัญของ Climate Change แต่ยังขาดความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ” ผศ.ดร.ปฏิภาณ กล่าว

รองคณบดีฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยง Climate Change มากขึ้นอย่างมีนัยยะ คือ สถาบันการเงิน ที่มีการปรับตัวในช่วงสองปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงนี้นำสู่การต่อยอดงานวิจัย โดยนำ Machine Learning ที่พัฒนาขึ้นมาประยุกต์ใช้ในการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ (Climate Risk Disclosure) ในรายงานประจำปีของสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมสีเขียว การนำเครื่องมือทางคณิตศาสตร์มาช่วยตรวจสอบการ Greenwashing หรือการอ้างว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการดำเนินการจริง จะช่วยจำแนกอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตาม มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย (Thailand Taxonomy) ขณะนี้โครงการกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

“ต้นแบบมาตรวัดที่ใช้วิเคราะห์การจัดการความเสี่ยง Climate Change ในอุตสาหกรรมไทย เป็นโมเดลทางสถิติที่ใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์มาช่วยวัดระดับความพร้อม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Climate Adaptation (เรื่องการปรับตัว) และ Climate Mitigation (เรื่องการบรรเทาผลกระทบ หรือการลดสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพื่อจัดระดับกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบของคลัสเตอร์ที่มีความพร้อมต่ำ กลาง หรือ สูง ซึ่งงานวิจัยนี้เราจะเห็นช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่ไทยตั้งไว้เรื่อง Carbon Neutrality และ Net Zero กับความเป็นจริงในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของความพร้อมและการเปิดเผยข้อมูล ถ้าวันนี้อุตสาหกรรมยังไม่พร้อม ก็อาจทำให้เป้าหมายที่ไทยวางไว้ไม่เกิดขึ้นจริง แล้วภาครัฐจะต้องมีมาตรการหรือนโยบายเพิ่มเติมเพื่อผลักดันเรื่องนี้หรือไม่” ผศ.ดร.ปฏิภาณ กล่าว

งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยมีความตระหนักถึง Climate Change มากขึ้น แต่ยังขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน ภาครัฐจะต้องมีมาตรการทั้งบังคับและจูงใจควบคู่กัน พร้อมกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจนเพียงจุดเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ควรบรรจุ Climate Change ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝั่งและสร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ‘เพราะสิ่งที่หลายประเทศพยายามแก้ปัญหาแต่ยังไม่มีประเทศใดรับมือได้อย่างสมบูรณ์ บางประเทศเลือกย้ายฐานการผลิตแทนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง แม้แต่ประเทศฟินแลนด์ หรือนอร์เวย์’ ฉะนั้น นอกจากผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากไม่เร่งลงมือทำในวันนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะยิ่งล่าช้าออกไป และในอนาคตอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับตัวกับการจัดการความเสี่ยง Climate Change ก่อน ย่อมมีความได้เปรียบมากกว่า นี่คือข้อเสนอแนะนโยบายเชิงวิชาการจากงานวิจัย

ผศ.ดร.ปฏิภาณ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ทำให้เห็นว่าการบริหารความเสี่ยงขององค์กรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องคำนึงและมองถึงปัญหาระดับโลกด้วย ทุนวิจัยจากอาซาฮีถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้การจัดการความเสี่ยง Climate Change ได้รับการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง และดึงดูดความสนใจจากแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลให้นำไปต่อยอดการวิจัยต่อกับสถาบันการเงิน

“และสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายจากการศึกษาเรื่อง climate change ลึกๆ ยอมรับว่าการจัดการเรื่อง Climate Change เป็นเรื่องยาก และอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้เรื่องของก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero หากไม่ได้รับการความร่วมมือจากทั่วโลก เพราะหากแก้ปัญหาด้วยการย้ายไปผลิตในประเทศอื่นหรือทดแทนด้วยการรับซื้อคาร์บอนเครดิต ก็ไม่ได้ทำให้การปล่อยก๊าซลดลง จึงเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศทั่วโลกซึ่งถือเป็นเรื่องยาก เพราะก๊าซคาร์บอนฯ ที่ปล่อยออกมาจะไปส่งผลกระทบในอีก 30-40 ปีข้างหน้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบมากกว่าคือประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตมากกว่าหากเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา ทำให้เกิดคำถามจากหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียว่าทำไมต้องให้ประเทศเขาทำ Net Zero แต่อย่างไรก็ตาม การจะเข้าสู่ net zero ได้นั้น คงไม่ใช่ประเทศใด ประเทศหนึ่งทำ แต่ะควรเกิดจากความร่วมมือของทุกประเทศ แต่ประเทศที่พร้อมกว่าอาจรุดหน้าไปก่อนได้และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดยปัจจัยสู่ความสำเร็จแรกที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Net-Zero ได้นั้นคือผู้นำที่ต้องมีความชัดเจนเพื่อให้องค์กรทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง มิเช่นนั้นเป้าหมายคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ที่ตั้งไว้ จะไม่มีทางเป็นจริง”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: