รายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2567 โดย IQAir เผยประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 9 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอันดับที่ 45 จาก 138 ประเทศทั่วโลก ดีขึ้นจากปีก่อนที่อยู่อันดับ 36 แต่ค่าเฉลี่ย PM2.5 ยังสูงถึง 19.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐาน WHO 3.96 เท่า เชียงใหม่ครองแชมป์เมืองมลพิษสูงสุดของไทย กรีนพีซวิจารณ์รัฐแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่จัดการผู้ก่อมลพิษตัวจริง
ตามรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปี 2567 โดย IQAir ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 จาก 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ในอันดับที่ 5 นอกจากนี้ ในการจัดอันดับระดับโลกครอบคลุม 138 ประเทศ ภูมิภาค และดินแดนต่างๆ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 แสดงถึงคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 36
แม้ว่าในปี 2567 ประเทศไทยจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นโดยสามารถปรับตัวขยับขึ้นมา 1 อันดับในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเลื่อนขึ้นถึง 9 อันดับในการจัดอันดับระดับโลกที่ครอบคลุมประเทศ ภูมิภาค และดินแดนต่างๆ แต่เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 เทียบกับค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ระดับสีส้ม ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีผลกระทบต่อสุขภาพที่น่ากังวล โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง โดยมีการตรวจพบค่า PM2.5 ที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ WHO กำหนดไว้ถึง 3.96 เท่า
รายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปีฉบับที่ 7 ของ IQAir ได้เปิดเผยสถานการณ์ที่น่าวิตกเกี่ยวกับประเทศ อาณาเขต และภูมิภาคที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในปี 2567 สำหรับการศึกษาครั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านคุณภาพอากาศของ IQAir ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศกว่า 40,000 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมพื้นที่ 8,954 แห่ง ในทั้งหมด 138 ประเทศ ดินแดน และภูมิภาค
ข้อค้นพบหลักรายงานคุณภาพอากาศโลก 2567
● มีเพียงร้อยละ 17 ของเมืองทั่วโลกเท่านั้น ที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่า หรืออากาศดีกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก
● 7 ประเทศที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลก (WHO) (ค่าเฉลี่ยรายปี 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ได้แก่ ออสเตรเลีย, บาฮามาส, บาร์เบโดส, เอสโตเนีย, เกรเนดา, ไอซ์แลนด์ และนิวซีแลนด์
● ทั้งหมด 126 ประเทศและภูมิภาค (คิดเป็นร้อยละ 91.3) จาก 138 แห่ง มีคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีสูงเกินค่าแนะนำของ WHO ที่กำหนดไว้ที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
● เมือง Byrnihat ในอินเดีย เป็นเขตเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในปี 2567 มีคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 128.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อินเดีย เป็นที่ตั้งของ 6 ใน 9 เมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในระดับโลก
ข้อค้นพบหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
● คุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉลี่ยรายปี 2567 ดีขึ้นกว่าปี 2566 แม้ว่าปัญหาฝุ่นพิษข้ามพรมแดน และสภาพอากาศจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังคงส่งผลกระทบจะยังเป็นปัจจัยสำคัญอยู่ก็ตาม
● อินโดนีเซียยังคงเป็นประเทศที่มีมลพิษมากที่สุดในภูมิภาค โดยอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก แม้ว่าระดับ PM2.5 จะลดลงเพียงเล็กน้อย
ข้อค้นพบหลักในประเทศไทย
● ประเทศไทยมีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 45 ของโลก และอันดับที่ 6 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปีที่ 19.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ถึง 3.96 เท่า
● กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่เป็นอันดับที่ 42 ของเมืองที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดของโลก มีปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี 18.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
● ในปี 2567 เดือนมีนาคม – เมษายน เป็นช่วงที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุด โดยจังหวัดเชียงใหม่มีค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 รายเดือนเรียงตามลำดับอยู่ที่ 71.6 และ 76.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินมาตรฐานค่าแนะนำของ WHO มากกว่า 10 เท่าซึ่งหมายถึงระดับมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ
● ในประเทศไทยมีการจัดลำดับเมืองที่มีมลพิษใน 6 เมือง เรียงตามลำดับ ปริมาณฝุ่นพิษ PM2.5 เฉลี่ยรายปี ได้แก่ เชียงใหม่ (26.4) แม่ริม (25.2) ขอนแก่น(23.7) นครราชสีมา (21.5) กรุงเทพฯ (18.9) และหาดใหญ่ (14.3)
รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและป่าไม้ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นที่พื้นที่ภาคกลางหรือภาคเหนือ ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและควบคุมคนตัวเล็ก ๆ เช่น ห้ามใช้ไฟ-เผาเด็ดขาด ห้ามขับรถ ทำงานที่บ้าน แต่ทั้งนี้กลับไม่ลงมาตรการควบคุมไปที่บริษัทเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตและฟอสซิลผู้ก่อมลพิษ ทางออกที่เป็นรูปธรรมของปัญหาฝุ่นพิษคือการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยนโยบายรัฐ และความกล้าหาญของรัฐในการเอาผิดต่อบริษัทอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมอยู่เหนือสุขภาพของคนไทย”
ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังคงแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ปลายเหตุเป็นหลัก โดยมักเน้นมาตรการระยะสั้น เช่น คำสั่งห้ามเผาเด็ดขาด (Zero Burn) ลดใช้ยานพาหนะ โดยมีประกาศให้ขึ้นรถไฟฟ้า-ขสมก. ฟรีเป็นเวลา 7 วัน หรือการประกาศให้ประชาชนลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง มากกว่าการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา แม้ว่าจะมีการออกมาตรการควบคุม เช่น การจำกัดการเผาพื้นที่เกษตรกรรม การรณรงค์ใช้พลังงานหมุนเวียน และการผลักดันมาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดขึ้น แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงหละหลวม ขาดการติดตามผลอย่างจริงจัง ไม่มีแผนระยะยาวแบบบูรณาการทุกภาคส่วน แต่กลับเน้นการควบคุมการก่อมลพิษและผู้ได้รับผลกระทบที่ปลายเหตุ ส่งผลให้ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างยังคงเกิดขึ้นซ้ำทุกปี
ภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่ต้นเหตุของแหล่งกำเนิด PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม โดยควรกำหนดนโยบายที่ชัดเจน จัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ และยกระดับประเด็นนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต้องเป็นไปอย่างเร่งด่วนและมีประสิทธิภาพ โดยต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์และสุขภาพของประชาชนเหนือผลประโยชน์ของกลุ่มทุนภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการเข้าถึงอากาศที่สะอาดถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ดาวน์โหลดรายงานคุณภาพอากาศโลกปี 2567 และข่าวประชาสัมพันธ์ของ IQAir ได้ที่นี่
เกี่ยวกับโครงการ Schools4Earth สามารถดูได้ที่นี่
เกี่ยวกับ IQAir
IQAir เป็นบริษัทเทคโนโลยีคุณภาพอากาศในสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งเสริมให้ บุคคล องค์กร และชุมชน ใช้ข้อมูลปรับปรุงคุณภาพอากาศ การทำงานร่วมกัน และเทคโนโลยีการแก้ปัญหา
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ