แนะนโยบายเศรษฐกิจไทยต้องครอบคลุม 8 ด้าน รับมือ 'ระเบียบโลกใหม่'

กองบรรณาธิการ TCIJ 17 มี.ค. 2568 | อ่านแล้ว 28 ครั้ง

นักเศรษฐศาสตร์มองรัฐบาลทรัมป์รุกจัดระเบียบโลกใหม่ แนะนโยบายเศรษฐกิจไทยต้องครอบคลุม 8 ด้าน รับมือความท้าทายและโอกาสจากระเบียบโลกใหม่ จากเสรีนิยมใหม่ฐานคิดชุดนโยบาย “ฉันทามติวอชิงตัน” เป็น "อนุรักษ์นิยมใหม่" หรือ "ฉันทามติวอชิงตันใหม่" ฐานคิดชุดนโยบายประชานิยมฝ่ายขวา เจรจาสันติภาพยูเครน กดราคาพลังงานลง เงินเฟ้อต่ำ

เมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2568 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทรัมป์เพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง พลังงาน และความมั่นคงชัดเจนขึ้นตามลำดับ ระเบียบโลกหลังยุคสงครามเย็นภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่อันเป็นฐานของชุดนโยบายฉันทามติวอชิงตันกำลังถูกปรับเปลี่ยนด้วยชุดนโยบายของอนุรักษ์นิยมใหม่หรือฉันทามติวอชิงตันใหม่ของรัฐบาลทรัมป์อันเป็นฐานของชุดนโยบายประชานิยมฝ่ายขวา แรกเริ่มเดิมทีความเป็นโลกาภิวัตน์ของฉันทามติวอชิงตันนั้นมีมิติทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ประกอบไปด้วย ไปด้วยชุดความคิดและนโยบายอยู่ห้ากลุ่มด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่กลุ่มที่หนึ่งนโยบายว่าด้วยวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) กลุ่มที่สองนโยบายว่าด้วยการสนับสนุนโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน (Borderless Globalization) และ การเปิดเสรี (Liberalization Policy) อันหมายถึง การเปิดเสรีทางด้านการค้า การเงิน การลงทุน กลุ่มที่สามชุดนโยบายว่าด้วยการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการเพิ่มบทบาทของเอกชนในกิจการภาครัฐ (Privatization) กลุ่มที่สี่ชุดนโยบายว่าด้วยการลดการควบคุมและการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ (Deregulation) การควบคุมหรือกำกับมากเกินไปทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นและยังเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกด้วย กลุ่มที่ห้า คือ ชุดนโยบายว่าด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (Property Rights) ต้องการให้มีการกำหนดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้ชัดเจนและปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการปกป้องสิทธิดังกล่าวเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนและการสะสมทุนอันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของระบบทุนนิยมแต่เมื่อย่างเข้าสู่ทศวรรษ 2540-2550 แล้ว ฉันทามติวอชิงตันได้ขยายพรมแดนไปสู่ประเด็นทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ตลอดจนถึงความเป็นประชาธิปไตยและการปรับเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย (Democratization) มาตรฐานเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นและน่าจะกลายเป็นฉันทามติร่วมกันของโลกในลักษณะที่เป็นมาตรฐานอย่างเดียวกัน มาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน ธรรมาธิบาลและการปรับเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย ถูกชูให้เป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายต่างประเทศเข้มข้นมากขึ้นในยุครัฐบาลโอบามาและรัฐบาลโจ ไบเดน แต่สิ่งนี้กำลังถูกทบทวนให้เป็น “ฉันทามติวอชิงตันแบบใหม่” ในยุครัฐบาลทรัมป์ ที่มีแนวคิดแบบชาตินิยมมากขึ้น เน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มากกว่า บทบาทของสหรัฐฯในฐานะผู้พิทักษ์คุณค่าแบบประชาธิปไตย

การประกาศถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก การถอนออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยสิ่งแวดล้อม การระงับการให้งบประมาณหน่วยงานอย่าง US Agency for International Development (USAID) และ National Endowment for Democracy (NED) เพื่อแก้ปัญหาฐานะทางการคลังของสหรัฐอเมริกาแต่ทำให้บทบาทของสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก สหรัฐอเมริกากำลังปรับเปลี่ยนสถาบันของรัฐบาลอย่างพลิกโฉมและลดขนาดลงด้วยหน่วยงานตั้งใหม่ DOGE ที่ Elon Musk เป็นหัวหน้าหน่วยงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาล อเมริกากำลังประกาศว่าองค์กรระดับโลกต่างๆ กำลังหมดความสำคัญลงถ้าไม่มีสหรัฐอเมริการ่วมอยู่ด้วย หากจะดำเนินการต่อประเทศอื่นๆต้องร่วมรับผิดชอบทางด้านงบประมาณสนับสนุนมากกว่านี้ ไม่ใช่สหรัฐฯเป็นเจ้าภาพใหญ่อยู่เพียงผู้เดียวทั้งที่ประเทศมีภาระหนี้สินจำนวนมาก ขาดดุลการค้าและขาดดุลงบประมาณมหาศาล ข้อเสนอของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการผนวกกรีนแลนด์ ปานามา และแคนาดา ถูกมองว่าเป็นจักรวรรดินิยมแบบ “ลัทธิมอนโร”

นโยบายต่อยุโรปและนาโต้ของสหรัฐฯกำลังเปลี่ยนแปลงไป ชะลอการสนับสนุนยูเครนเพื่อให้เกิดการเจรจาโดยสันติภาพที่มีสหรัฐฯเป็นเจ้าภาพใหญ่ ไม่ใช่ยุโรปหรือนาโต้ อำนาจและบทบาทของสหภาพยุโรปจะลดลง ง่ายต่อการบริหารจัดการเจรจาแบบทวิภาคีกับประเทศขนาดเล็กในยุโรป การเริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพยูเครนช่วยกดราคาพลังงานลดลง รัสเซียสามารถกลับมาส่งออกพลังงานได้ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจะถูกยกเลิกไป เพิ่มอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกเพิ่มเพียง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอุปสงค์น้ำมันโลกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 103.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ตัวเลขการคาดการณ์ของ เจพี มอร์เกน) เงินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยดังกล่าว

อีลอน มัสก์ และ เครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมไฮเทค กำลังรื้อสร้างระบบรัฐการเดิมที่มีโครงสร้างใหญ่โตด้วยปัญญาประดิษฐ์เพื่อทำให้บริหารจัดการภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น ความมีประสิทธิภาพนี้เป็นไปเพื่อใครเป็นสิ่งที่ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถาม เพราะการรื้อสร้างทิ้งปัญหาทางสังคมด้วยการปลดคนออกจำนวนมาก

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจต้องครอบคลุม 8 ด้านภายใต้ความผันผวนเศรษฐกิจโลกจากการจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้รัฐบาลทรัมป์ มีดังต่อไปนี้

1. การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) คือ การผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น และคุณภาพสูงขึ้นหรือเพิ่มมาตรฐานการครองชีพให้สูงขึ้น ในทางทฤษฎีอธิบายโดยใช้เส้นเป็นไปได้ในการผลิต (Production Possibility Curve or Frontier) นั่นคือ การทำให้เส้นเป็นไปได้ในการผลิตขยายออกไปทางขวา มีการอัตราการขยายตัวสูงขึ้นอันนำมาสู่ความก้าวหน้าและความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ แนวคิดการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับการท้าทายโดยสำนักคิดเศรษฐศาสตร์ทางเลือกว่า จริงๆ แล้วแนวคิดนี้นำมาสู่ความสุขและคุณภาพที่แท้จริงของมนุษย์หรือไม่ แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อมา จึงให้ความสำคัญกับ “คุณภาพชีวิต” และ ให้ “มนุษย์” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนามากขึ้น รวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องมีความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีความสมดุล

2. ภาวะการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) นั่นคือ สามารถหางานให้ประชาชนทุกคนทำได้ตามขีดความสามารถและศักยภาพปกติของแรงงาน ภาวะการจ้างงานเต็มที่หมายถึงระบบเศรษฐกิจมีอัตราการว่างงานเท่ากับอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ (Natural Rate of Unemployment) เท่านั้น ภาวการณ์มีการทำงานของประชาชนในระบบเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

3. ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) คือสามารถทำให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดได้ หรือตอบสนองความต้องการได้สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่

4. เสถียรภาพของระดับราคา (Price-level stability) ต้องไม่ให้เกิดความผันผวนทางด้านราคามากเกินไปอันนำมาสู่ความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลีกเลี่ยงไม่ให้ระดับราคามีการเคลื่อนไหวรวดเร็ว พยายามไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเงินฝืด

5. มีเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ (Economic freedom) มีหลักประกันว่าองค์กรธุรกิจ แรงงาน และผู้บริโภคมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยที่เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย สิ่งที่นี้เป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานของประชาธิปไตยทางการเมืองที่มั่นคง

6. การกระจายรายได้ ทรัพย์สินและความมั่งคั่งที่เป็นธรรม (Equitable distribution of income/Asset/Wealth) พัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการกระจายตัวของรายได้ ทรัพย์สิน ความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม การพัฒนาหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องไม่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นมากเกินไป

7. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic security) ให้สมาชิกของสังคมเกิดความมั่นคงในการดำรงชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันในการมีงานทำ สร้างระบบที่มีการดูแลผู้ป่วย ผู้ทุพพลภาพ ผู้ถูกเลิกจ้าง หรือผู้ที่ไม่สามารถหางานทำได้ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จัดตั้งและพัฒนาระบบสวัสดิการทางสังคมตลอดจนบริการทางการศึกษาและระบบสาธารณสุข

8. การสร้างดุลยภาพต่อภายนอกด้วยดุลการชำระเงินที่เหมาะสม (Balance of Payment) หาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการก่อให้เกิดดุลการค้าและดุลบริการหรือดุลบัญชีเดินสะพัดที่เหมาะสมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกหรือเกิดดุลยภาพของธุรกรรมทางการค้า การเงินและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยขณะนี้ไทยยังมีสถานะของดุลการชำระเงินที่แข็งแรงมาก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: