จับตา: เมื่อมีอาการ ตกขาว ควรทำอย่างไร?

กองบรรณาธิการ TCIJ 19 ม.ค. 2568 | อ่านแล้ว 31 ครั้ง


สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ตกขาว เป็นภาวะปกติที่มีได้ในผู้หญิงทุกคน แต่หลายคนกังวล คิดไปต่าง ๆ นานา คิดว่าเป็นอาการผิดปกติหรือไม่ ซึ่งตกขาวมีหลายประเภททั้งตกขาวปกติ และตกขาวที่ผิดปกติ อาการแบบไหนนะที่จะบ่งบอกว่าตกขาวผิดปกติ วันนี้ อย. มีคำตอบ

‘ตกขาว’ เกิดจากเซลล์เยื่อเมือกที่ผนังด้านในของช่องคลอดสร้างน้ำเมือกที่มีลักษณะคล้ายแป้ง

ละลายน้ำหรือแป้งเปียก ไม่มีกลิ่นเหม็น โดยน้ำเมือกนี้จะช่วยหล่อลื่นช่องคลอด ขับสิ่งแปลกปลอม ฆ่าเชื้อโรค และปรับสมดุลความเป็นกรด-ด่างในช่องคลอด ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามปกติจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่วนลักษณะของการตกขาวที่ผิดปกตินั้น สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

  1. ตกขาวมีลักษณะเป็นมูกข้น และมีปริมาณมากขึ้นจนผิดสังเกต
  2. ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ เช่น กลิ่นเหม็น หรือกลิ่นคาว
  3. ตกขาวมีสีเปลี่ยนไป เช่น สีเหลือง สีเขียว หรือสีเทา
  4. ตกขาวมีเลือดปน
  5. มีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น มีไข้ ปวดท้อง คัน หรือแสบร้อนบริเวณช่องคลอด

สาเหตุของตกขาวที่ผิดปกติมีหลายอย่างด้วยกัน โดยสาเหตุหลักมักมาจากการติดเชื้อในช่องคลอด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต เป็นต้น ซึ่งอาการและยาที่ใช้รักษา ได้แก่

- ตกขาวจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการ เช่น มีอาการคันตกขาวมีสีเทา สีเหลืองเข้ม เหลืองเขียว จนถึงเขียว หรือตกขาวมีกลิ่นเหม็นเหมือนกลิ่นคาวปลา

ยาที่ใช้สำหรับช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีทั้งแบบรับประทาน และยาเหน็บ เช่น Metronidazole และ Clindamycin

- ตกขาวจากการติดเชื้อรา มีอาการ เช่น ตกขาวมีลักษณะเหมือนแป้งเปียก หรือคันบริเวณปากช่องคลอด

ยาที่ใช้สำหรับช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อรา มีทั้งแบบรับประทาน ยาเหน็บ และยาทาช่องคลอด  เช่น Fluconazole และ Clotrimazole

- ตกขาวจากการติดเชื้อปรสิต มีอาการ เช่น ตกขาวมีสีเขียวเป็นฟอง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น มีอาการแสบร้อนและคันทั้งบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด

ยาที่ใช้สำหรับช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อปรสิต Trichomonas vaginalis มีทั้งแบบรับประทาน และยาเหน็บ เช่น Metronidazole

การใช้ยาเหน็บช่องคลอดสำหรับรักษาอาการตกขาวผิดปกตินั้นไม่เป็นอันตรายอย่างที่คิด สามารถปฏิบัติได้ไม่ยากตามขั้นตอนนี้

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. แกะยาออกจากซอง จุ่มน้ำเล็กน้อยประมาณ1-2 วินาที จะช่วยให้เม็ดยานิ่มลื่นขึ้น

เพื่อให้สอดเข้าช่องคลอดได้ง่าย

  1.  ท่าที่ใช้เหน็บ คือ นอนหงาย ชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นมา แยกขาเล็กน้อย
  2.  ค่อย ๆ ใช้นิ้วมือดันยาเข้าช่องคลอดให้ลึกที่สุด โดยหันด้านที่มีลักษณะมนกว่าเข้า
  3.  นอนค้างประมาณ 15 นาที เพื่อให้ยาไม่ไหลออกมาจากช่องคลอด

 การติดเชื้อในช่องคลอดสามารถป้องกันได้ โดยการทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดสุราและบุหรี่ หรือปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ไม่ใส่กางเกงในรัดเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแผ่นบางติดต่อกันทุกวัน หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด

หากสังเกตพบความผิดปกติของตกขาวไม่ว่าจะลักษณะใดก็ตาม  ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกร เพื่อพิจารณารักษาด้วยยาอย่างเหมาะสม

 

Ref.

https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/1940

https://oryor.com/media/infoGraphic/media_printing/1109

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7/

https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/june-2020/leukorrhea

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: