ระวังทุนใหญ่จีนจะยิ่งเพิ่มปัญหาชายแดนใต้ หากปล่อยให้กฎหมาย SEC ผ่าน

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 20 ก.พ. 2568 | อ่านแล้ว 269 ครั้ง


รัฐบาลไทยควรตระหนักถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะคนรากหญ้าซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยควรออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน ป้องกันไม่ให้ธุรกิจจีนเข้ามาผูกขาดตลาด และลดผลกระทบด้านลบต่อ ชาวบ้าน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ไทย ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งวางมาตรการรองรับ โดย SMEs ไทยจำนวนมากอาจต้องปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

ดังนั้นทางออกของไทยอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างการดึงดูดการลงทุนจีนเฉพาะสีขาว (เท่านั้น) กับการปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และ SMEs รัฐบาลควรออกมาตรการที่เป็นรูปธรรม เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ พวกเขา ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และกำหนดกฎข้อบังคับที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งท้ายสุดจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความมั่นคงของชุมชน ไม่เพิ่มปัญหาใต้ แต่กลับพัฒนาชายแดนใต้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามสโลแกนของ ศอ.บต.ที่วางเป้าหมายและกำลังขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ โดยเฉพาะภายใต้ ”โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน“ ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง “ความมั่นคงเศรษฐกิจฐานราก” ให้เกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายสาขาอาชีพจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จชต. ในการนำองค์ความรู้ทางวิชาการสู่การปฏิบัติงานในด้านเทคนิค กระบวนการดำเนินงานเพื่อการเพิ่มผลผลิต การทำการเกษตร ปศุสัตว์ และอื่นๆ ถือเป็นการบูรณการร่วมกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน

อยากให้รัฐบาลตระหนักถึงความมั่นคงของชุมชน ความมั่นคงทางวัฒนธรรม ความมั่นคงทางทรัพยากรของไทยให้มากกว่าความมั่นคงของนายทุนจากต่างประเทศและนายทุนที่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ไม่ยั่งยืนโดยยึดโมเดลคนจีนกับมลายูมุสลิมในพื้นที่ร่วมออกแบบพัฒนาไปด้วยกันเหมือนบรรพบุรุษตามที่นายชุมศักดิ์ได้สะท้อนและสอดคล้องกับข้อเสนอแนะทางวิชาการ เพื่อการประคับประคองและปฏิรูปเศรษฐกิจชายแดนใต้ นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และสันติภาพที่กินได้ในที่สุด

จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า ปัญหานโยบายเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมาคือมุ่งสร้างเขตเศรษฐกิจหลัก เน้นพื้นที่มีศักยภาพ แต่ละเลยพื้นที่ยากจน ถ้าหากข้อตกลงทางเศรษฐกิจ (economic deal) ที่รัฐไทยทํากับคนจีน คือเปิดกว้างให้จีนพัฒนา เศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐเก็บภาษีและค่าเช่าเศรษฐกิจแล้ว

ที่สำคัญกว่านั้นหากปล่อย กฎหมาย SEC ผ่านชายแดนใต้ จะถูกยึดโดยทุนใหญ่

สำหรับร่าง พ.ร.บ. SEC หรือ ชื่อเต็มคือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ร่าง พ.ร.บ. SEC กำลังถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดย คุณอนุทิน ชาญวีรกุล และ คุณสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้งสองคนได้เสนอร่างคนละร่างที่มีเนื้อหาเหมือนกัน และ ปัจจุบันผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านระบบกฎหมายกลาง และ ประเมินผลกระทบกฎหมายไปแล้ว (อ่านเพิ่มเติมฉบับเต็ม) 

ทำไม? อย่างไร?

ภาคประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกต ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีสาระสำคัญที่พรรคการเมือง ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น เมื่อสรุปใจความแล้วพบว่า อย่างน้อยห้า ข้อดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เท่ากับเป็นการซื้อ-ขายภาคใต้ เพราะในท้ายที่สุดแล้วทั้ง 67 มาตรา ที่ถูกเขียนขึ้นในร่างกฎหมาย คือการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงที่ดินของประชาชน ใช้อำนาจเปลี่บยแปลงผังเมือง ใช้อำนาจยกเลิกที่ดิน ส.ป.ก. ใช้อำนาจยกเลิกที่ดินราชพัสดุ ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินของประชาชน 10 ล้านคนในภาคใต้

2. พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้อำนาจการแก้กฎหมาย และบัญญัติกฎหมายใหม่ได้ หมายความว่า เมื่อไรก็ตามที่พื้นที่หนึ่งสามารถบัญญัติกฎหมายเองได้ โดยไม่ต้องผ่านกลไกนิติบัญญัติของประเทศไทย เท่ากับว่ากำลังสถาปนารัฐอิสระขึ้นมาบนแผ่นดินภาคใต้ ซึ่งในคำประกาศของเครือข่ายฯ ใช้คำว่า “การทำเช่นนี้เป็นหลักการเหยียบคนใต้ให้จมดิน”

3. การบัญญัติว่าไม่ต้องทำตามกฎหมายไทยทุกฉบับ ไม่ว่ามีกฎหมายใดก็สามารถแก้ได้ทุกฉบับ

4. อำนาจในการให้สิทธิพิเศษ ที่ระบุอยู่ในมาตรา 8 ยังหยิบยื่นกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ต่างชาติถือครอง ได้โดยไม่ต้องปฎิบติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการที่ดิน ในขณะที่ประชาชนคนไทย ยากลำบากในเรื่องการไม่มีที่ดิน

5. อำนาจการกำหนดการพัฒนา ภาคใต้มีประชากร 10 ล้านคนอาศัยอยู่ มีกระบวนการทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลระหว่างการเกษตร การท่องเที่ยว การประมง และภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยมองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะแปรพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัด (รวมทั้งชายแดนใต้เช่นกัน) ไปเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกชนิด และมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ชนิดที่จะต้องผลักดันให้ได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: