ตัวแทนเครือข่ายภาคประสังคมภาคเหนือ ยื่นหนังสือขอความชัดเจนแนวทางควบคุมการเผาในพื้นที่ หลัง รมว.มหาดไทย มีข้อสั่งการห้ามเผาทุกกรณี ชี้ควรมีดำเนินการภายใต้ทิศทางและมาตรการบริหารจัดการไฟ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงรุก มีการยอมรับเรื่องการใช้ “ไฟจำเป็น” และควบคุมการเผา โดยให้ชุมชน หน่วยงานป่าไม้ และท้องถิ่นสามารถขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยผ่านระบบ Fire-D ได้ | ที่มาภาพ: สภาลมหายใจเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2568 สภาลมหายใจเชียงใหม่แจ้งว่า จากกรณีที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้มีการแถลงข่าวภายหลังการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) และมีข้อสั่งการลงวันที่ 30 ม.ค. 2568 โดยทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยใน 3 เดือนนี้ต้องไม่มีการเผาป่า เผาในที่โล่งแจ้ง เผาซากผลผลิตทางการเกษตร พร้อมประกาศ “มือเผา” ห้ามเผาทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น โดยกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบ single command ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะ 17 จังหวัดภาคเหนือได้ประกาศเขตเป็นพื้นที่ห้ามเผา หากพบการฝ่าฝืนจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
นายเดโช ไชยทัพ จากสมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ ตัวแทนเครือข่ายภาคประสังคมที่ประกอบด้วยสภาลมหายใจเชียงใหม่ สมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า ได้ยื่นหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยในวันนี้ นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มารับเรื่องการยื่นหนังสือดังกล่าว โดยเนื้อหาของ จม.ระบุว่าการยื่นหนังสือนี้เพื่อขอความชัดเจนแนวทางการดำเนินงานเรื่องข้อสั่งการของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เขตควบคุมการเผาและมาตราการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่
เนื้อความในจม.ระบุว่า “ด้วย จังหวัดเชียงใหม่ได้มีประกาศเรื่อง กำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเขตควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยมีหลักการสำคัญคือให้ทุกพื้นที่ดำเนินการ กำหนดเขตการบริหารจัดการเชื้อเพลิง สามารถบริหารจัดการเชื้อเพลิงทางการเกษตรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และพื้นที่ป่าที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า และพื้นที่ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการหยุดยั้งการลุกลามของไฟตามหลักวิชาการ โดยต้องทำแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงระดับอำเภอ และให้นำข้อมูลลงทะเบียนในระบบจองจัดการเชื้อเพลิงในระบบ Fire-D ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองระดับอำเภอ หรือระดับตำบล พิจารณาอนุญาตก่อนดำเนินการพร้อมทั้งให้จัดทำแนวกันไฟและควบคุมไฟมิให้ลุกลาม และรายงานผลการดำเนินงานในระบบ Fire-D ทุกครั้ง ลงวันที่ 29 พ.ย. 2567 (ตามอ้างถึง 1)
ต่อมาได้มีข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในเรื่องยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ลงวันที่ 30 ม.ค. 2568 โดยมีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการไฟป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิง ดังนี้ (ตามอ้างถึง 2)
ข้อ 2 เรื่องมาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด
2.1 การจัดการไฟในพื้นที่ป่า ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ บูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการลาดตระเวน ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด จุดเฝ้าระวังในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ กำหนดห้วงเวลาจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ป่าในช่วงเวลาที่เหมาะสม
2.2 การจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งกำหนดมาตรการตัดสิทธิ์ในการรับความช่วยเหลือหรือชดเชยจากภาครัฐ ในกรณีที่มีการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม
ข้อ 4 เรื่องมาตรการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น
4.1 ให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด ใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สั่งการหน่วยงานยกระดับการดำเนินงานอย่างเข้มข้นในทุกมาตรการ ออกประกาศกำหนดการควบคุมเผาล่วงหน้าและบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายในการห้ามเผาอย่างเคร่งครัด และเด็ดขาดฯ
จากข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่มุ่งให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดในการควบคุมไฟป่า เพื่อป้องกันการลักลอบการเผา ซึ่งประกาศจังหวัดเชียงใหม่มิได้ขัดแย้งกับข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แต่ประการใดและยังช่วยทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดตามหลักนิติธรรม เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ที่บูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน โดยดำเนินการภายใต้ทิศทางและมาตรการบริหารจัดการไฟ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา เชิงรุก มีการยอมรับเรื่องการใช้ “ไฟจำเป็น” และควบคุมการเผา โดยให้ชุมชน หน่วยงานป่าไม้ และท้องถิ่นสามารถขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิง ในกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งโดยผ่านระบบ Fire-D ได้
สภาลมหายใจเชียงใหม่ สมาคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า จึงขอให้ท่านโปรดพิจารณาดำเนินการตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่โดยเร่งด่วน เพื่อคลี่คลายปัญหาความไม่ชัดเจนเรื่องข้อสั่งการของการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและเขตควบคุมการเผา และมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการเผาของจังหวัดเชียงใหม่ว่าจะมีแนวทางในการปฏิบัติไปในทิศทางไหนให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขัดแย้งในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วมกับประชาชน
ทั้งนี้จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้โปรดพิจารณาเป็นข้อสั่งการไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อควบคุมไฟป่า โดยการบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัดอย่างเร่งด่วนภายใน 3 วัน”
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ