ข้อมูลจากรัฐบาลจีนเผยประชากรลดลง 1.39 ล้านคนในปี 2024 เหลือ 1.408 พันล้านคน ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 22% และคาดจะถึง 30% ในปี 2035 ท่ามกลางความท้าทายด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม | ที่มาภาพ: Marie Anna Lee/In Defence of Marxism
VOA รายงานว่า รัฐบาลจีนเปิดเผยเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2025 ว่า จำนวนประชากรลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน เดินตามเทรนด์หลายชาติในเอเชียตะวันออก ส่งสัญญาณเตรียมแก้โจทย์สังคมสูงวัยและการขาดแรงงาน ตามการรายงานของเอพี
ตัวเลขประชากรจีน ณ สิ้นปึ 2024 อยู่ที่ 1.408 พันล้านคน ลดลงจากปีที่แล้ว 1.39 ล้านคน อ้างอิงตามตัวเลขของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง
จำนวนประชากรสุทธิในจีนเริ่มลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษมาตั้งแต่ปี 2023 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่อินเดียแซงหน้าขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
เทรนด์ประชากรที่ดำเนินอยู่ในจีนเกิดขึ้นแล้วในหลายชาติ รวมถึงเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
เมื่อสามปีที่แล้ว จีน ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ ถูกจัดเป็นกลุ่มชาติที่ประชากรกำลังลดน้อยลง โดยเหตุปัจจัยที่หลายประเทศมีร่วมกันคือค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำงานมากกว่าการแต่งงานและมีบุตร และถึงแม้อายุขัยคนจะมากขึ้น แต่ก็ไม่มากพอที่จะทดแทนอัตราการเกิดที่ต่ำลง
จำนวนการเกิดที่ลดลง ประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่วมด้วยปัจจัยเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งการขาดแคลนแรงงาน ตลาดผู้บริโภคที่หดตัว รวมถึงยอดผู้อพยพจากภายนอกน้อย ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ที่หนักหนาสำหรับรัฐบาลและระบบสวัสดิการสังคมของจีน
ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามจูงใจให้คนมีบุตรด้วยการมอบเงินสดและช่วยเหลือค่าบ้านสำหรับครอบครัวที่มีลูกสูงสุดสามคน แต่ได้ผลเพียงชั่วคราว
จีนเคยเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านี้ การขึ้นครองอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สองและวัฒนธรรมครอบครัวแบบขยาย ทำให้ประชากรจีนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวภายในเวลาสามทศวรรษ แม้จะผ่านพ้นช่วงนโยบายก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ หรือ The Great Leap Forward และการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่คร่าชีวิตประชากรจำนวนรวมกันหลายสิบล้านคนก็ตาม
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำประเทศ จีนเริ่มดำเนินนโยบายควบคุมจำนวนประชากรที่สูงเกินกว่าจะมีทรัพยากรมาดูแล ด้วยนโยบายลูกคนเดียว ที่ให้ผู้หญิงขออนุญาตมีบุตร และการฝ่าฝืนจะต้องเผชิญโทษตั้งแต่ปรับไปจนถึงบังคับทำแท้ง
นโยบายลูกคนเดียวถูกรณรงค์อย่างมากในพื้นที่ชนบท ซึ่งยังมีค่านิยมเชิดชูบุตรชาย และยังอนุญาตให้มีบุตรสองคนได้ในทางปฏิบัติ โดยค่านิยมนี้กลายเป็นสาเหตุใหญ่ให้สัดส่วนประชากรเพศชายอยู่ที่หลายล้านคนต่อเพศหญิง 100 คน
ในรายงานประชากรล่าสุด สัดส่วนเพศชายอยู่ที่ 104.34 คน ต่อเพศหญิง 100 คน อย่างไรก็ตาม การประเมินจากกลุ่มองค์กรอิสระหลายกลุ่มคาดว่าสัดส่วนความไม่สมดุลน่าจะสูงกว่าตัวเลขของทางการ
อีกด้านหนึ่ง ชาวจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนที่ 22% ของประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะขยับไปที่ 30% ภายในปี 2035 จนมีการพูดคุยกันว่าควรขยับเพดานการเกษียณอายุขึ้นหรือไม่ ท่ามกลางภาพของสถานศึกษาบางแห่งปรับเปลี่ยนเป็นบ้านพักคนชราแทนเนื่องจากขาดแคลนนักเรียน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ