งานเสวนาให้นายกสอบตกเรื่องปลาหมอคางดำ ชี้การระบาดจริงมากกว่าที่ประมงประเมิน 5-10 เท่า

กองบรรณาธิการ TCIJ 27 มี.ค. 2568 | อ่านแล้ว 1674 ครั้ง

งานเสวนาให้นายกสอบตกเรื่องปลาหมอคางดำ ชี้การระบาดจริงมากกว่าที่ประมงประเมิน 5-10 เท่า

งานเสวนาเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำประเมินนายกสอบตกแก้ปัญหา เหตุไม่ตอบรับการตั้งกรรมการสอบสวนให้เอกชนรับผิดชอบชดใช้เยียวยา ชี้การระบาดจริงมากกว่าที่ประมงประเมิน 5-10 เท่า พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหา

27 มี.ค. 2568 เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ 19 จังหวัดได้จัดเวทีถกแถลงการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่สวนชีววิถี นนทบุรี โดยนายพานทอง ชิวค้า ตันแทนเกษตรกรจากบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ประเมินว่านายกรัฐมนตรีสอบตกในการตอบคำถามของฝ่ายค้าน โดยนายกฯตอบเพียงว่าได้เตรียมเร่งจัดงบประมาณเร่งด่วน 98 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ แต่ไม่ยอมตอบข้อเรียกร้องสำคัญอีก 3 ข้อคือ การตั้งกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนหาผู้กระทำผิด การประกาศเขตภัยพิบัติ และการให้หน่วยงานรัฐฟ้องร้องเอกชนที่เป็นต้นเหตุนำปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศ "พวกเราประเมินว่าการระบาดของปลาหมอคางดำ ไม่ได้อยู่ที่ 8-10 ล้านตันตามที่กรมประมงประเมิน แต่น่าจะมากกว่า 5-10 เท่า ดังนั้นงบประมาณที่จัดสรร 98 ล้านบาทไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดได้ เพราะการขจัดปลานี้ได้ต้องทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ใช่จับไปแค่ไม่กี่วันงบประมาณหมด ปลาหมอคางดำก็จะขยายเพิ่มขึ้นหลายเท่าในเวลาเพียงเดือนเดียว การทำแบบนี้สูญเปล่า ซ้ำรอยความล้มเหลวเดิม สิ้นเปลืองภาษีประชาชน"

นายปัญญา โตกทอง เกษตรกรจากสมุทรสงคราม ชี้ว่า การตั้งงบประมาณของกรมประมงนั้นไม่เหมาะสมและอาจรั่วไหล เช่น เมื่อซื้อปลาหมอไปแล้ว 60 ล้านยังมีค่าทำน้ำหมักอีก 22 ล้าน ทั้งๆที่ควรได้เงินกลับมาจากการเอาปลาไปใช้ประโยชน์ การกำหนดราคาปลาหมอและปลาอีกง ตลอดจนงบซื้อกากชาก็ตั้งสูงกว่าที่ราคาเกษตรกรซื้อโดยตัวเอง

"พวกเรายืนยันข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่นายกฯตอบเพียงข้อเดียว คือ 1) ตั้งกรรมการสอบสวนอิสระหาผู้กระทำผิด 2) กำจัดปลาหมอคางดำให้เป็นศูนย์โดยเพิ่มงบประมาณให้ครอบคลุมปริมาณปลาที่ระบาด แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและจังหวัดที่มีตัวแทนเกษตรกรกึ่งหนึ่งเป็นกรรมการ 3) เร่งรัดให้มีการประกาศเขตภัยพิบัติทันที ซึ่งตอนนี้มีการประกาศเฉพาะกทม.เพียงแห่งเดียว มิหนำซ้ำประกาศไปแล้ว 6 เดือนเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินเยียวยาเลย 4) ยืนยันให้หน่วยงานรัฐร่วมกันฟ้องบริษัทเอกชนดังกรณีเรือน้ำตาลล่มตามที่ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอในการอภิปรายในสภา" นายปัญญากล่าว

ด้านนาย สุรกิจ ละเอียดดี เกษตรกรจากพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักอยากให้เร่งนำเงินเยียวยาจากงบภัยพิบัติมาช่วยเหลือประชาชนด่วน เพราะหลายคนสูญเสียที่ดิน สูญเสียบ้าน เอาเงินไปจ่ายหนี้ แม้จะได้รับความช่วยเหลือไม่เกิน 5 ไร่ ได้ค่าชดเชย 50,000-60,000 บาทต่อรายก็ยังดี

"จริงๆแล้วเกษตรกรแต่ละรายได้รับความเสียหายย้อนหลังเฉลี่ยกว่า 1.7 ล้านบาท รัฐบาลควรจ่ายชดเชยแก่เกษตรกร ในฐานะที่รัฐเป็นคนอนุญาตให้เอกชนน้ำเข้าและไม่กำกับดูแลให้ดี แล้วค่อยไปฟ้องเรียกจากเอกชนที่เป็นตัวการก่อการระบาด"

ส่วนนายนิวัติ ธัญญะชาติ จาก จ.จันทบุรี กล่าวว่าเครือข่ายฯ ยังเตรียมการดำเนินการตามกระบวนการทางศาลและปกครองด้วย โดยหลังจากนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดเพชรบุรีจะดำเนินการฟ้องศาลแพ่ง และจะมีการพิจารณาฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ละเลยหรือให้ข่าวบิดเบือนเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนและไม่ดำเนินการแก้ปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการเรื่องนี้จากปปช.ตามที่ได้ร้องเรียนไว้ก่อนหน้านี้

เครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด แถลงสรุปว่าจะมีการยื่นหนังสือเรียกร้องดังกล่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมยื่นเสนอรายชื่อของผู้ที่เหมาะสมเป็นกรรมการทั้งสองชุดต่อนายกรัฐมนตรี และขอให้ดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ และถ้าหากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวใหญ่กว่าเดิมอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: