- งบด้านบุคลากร ของ อบจ. เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากปีงบประมาณ 2567 และ 2568 จะพบว่างบด้านบุคลากรมีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยจากปี 2567 งบบุคลากรรวมของทั้ง 76 อบจ. อยู่ที่ 17,460,189,428 บาท ในขณะที่ ปี 2568 อยู่ที่ 26,807,626,972 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่า 9,347,437,544 บาท
- เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของงบบุคลากรของ อบจ. ในจังหวัดที่มีงบบุคลากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านบาท จะพบว่า อบจ. ขอนแก่น เป็น อบจ. ที่มีการเพิ่มงบบุคลากรสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 649,944,400 บาท จากงบบุคลากรในปี 2567 จำนวน 649,514,200 บาท เป็น 1,299,458,600 ในปี 2568
- หากพิจารณาว่า อบจ. ใด มีงบด้านบุคลากร ปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนสูงสุด โดยสูงกว่า 100% เมื่อเปรียบเทียบกับงบบุคลากรในปี 2567 จะพบว่า อบจ. นราธิวาส มีสัดส่วนงบบุคลากรเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยสูงถึง 408.80 % จาก 3,991,600 บาท ในปี 2567 เป็น 357,892,700 บาท ในปี 2568
- ในบรรดา อบจ. ที่มีงบด้านบุคลากรจากปี 2567 ถึงปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนสูงสุด โดยสูงกว่า 100% จาก 17 อบจ. มี 16 อบจ. เพิ่มขึ้นจากแผนงานสาธารณสุข อันดับหนึ่งคือ อบจ. นราธิวาส งบบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จากปี 2566 จำนวน 3,991,600 บาท เป็น 357,892,700 บาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 8,866% โดยงานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคืองานบริการสาธารณสุขและงานสาธารณสุขอื่น
- อบจ. ขอนแก่น เป็น อบจ. เดียวที่งบบุคลากรเพิ่มขึ้นในแผนงานบริหารงานทั่วไป ในส่วนงานบริหารงานคลังมากที่สุด โดยในปี 2567 งบบุคลากรส่วนงานบริหารการคลังอยู่ที่ 147,969,600 บาท ในขณะที่ปี 2568 อยู่ที่ 769,732,900 บาท หรือเพิ่มขึ้นสูงถึง 621,763,300 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 420%
จากข้อมูลข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า งบประมาณรายจ่ายมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี และในบางจังหวัดมีจำนวนงบประมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยหนึ่งในประเภทงบที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุด คืองบด้านบุคลากร โดยเฉพาะจากปีงบประมาณ 2567 และ 2568 จะพบว่างบด้านบุคลากรมีการเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยจากปี 2567 งบบุคลากรรวมของทั้ง 76 อบจ. อยู่ที่ 17,460,189,428 บาท ในขณะที่ ปี 2568 อยู่ที่ 26,807,626,972 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงกว่า 9,347,437,544 บาท
เมื่อพิจารณาการเพิ่มขึ้นของงบบุคลากรของ อบจ. ในจังหวัดที่มีงบบุคลากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 ล้านบาท จะพบว่า อบจ. ขอนแก่น เป็น อบจ. ที่มีการเพิ่มงบบุคลากรสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 649,944,400 บาท จากงบบุคลากรในปี 2567 จำนวน 649,514,200 บาท เป็น 1,299,458,600 ในปี 2568 รองลงมาก็คือ อบจ. ร้อยเอ็ด เพิ่มขึ้น 432,503,480 บาท อบจ. ปัตตานี เพิ่มขึ้น 398,023,900 บาท อบจ. นราธิวาส เพิ่มขึ้น 359,649,500 บาท อบจ. มหาสารคาม เพิ่มขึ้น 355,493,000 บาท อบจ. ชลบุรี เพิ่มขึ้น 335,231,510 บาท อบจ. นครราชสีมา เพิ่มขึ้น 317,424,700 บาท อบจ. สุพรรณบุรี เพิ่มขึ้น 307,071,460 บาท สกลนคร เพิ่มขึ้น 305,924,862 บาท อบจ. พิจิตร เพิ่มขึ้น 303,786,400 บาท อบจ. ศรีสะเกษ เพิ่มขึ้น 287,677,660 บาท อบจ. กาญจนบุรี เพิ่มขึ้น 255,427,377 บาท อบจ. สุราษฎร์ธานี เพิ่มขึ้น 216,406,790 บาท
แต่หากพิจารณาว่า อบจ. ใด มีงบด้านบุคลากร ปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนสูงสุด โดยสูงกว่า 100% เมื่อเปรียบเทียบกับงบบุคลากรในปี 2567 จะพบว่า อบจ. นราธิวาส มีสัดส่วนงบบุคลากรเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยสูงถึง 408.80 % จาก 3,991,600 บาท ในปี 2567 เป็น 357,892,700 บาท ในปี 2568 รองลงมาก็คือ ปัตตานี 279.51% พิจิตร 233.82 % ร้อยเอ็ด 226.85% อำนาจเจริญ 180.37% สุพรรณบุรี 178.35% มุกดาหาร 172.52% น่าน 160.72% กาญจนบุรี 135.48% หนองบัวลำภู 129.77% ยะลา 111.94% พะเยา 110.75 % สกลนคร 110.54% จันทบุรี 102.71 % ราชบุรี 102.40 % เพชรบูรณ์ 101.11 % และขอนแก่น 100.07 %

จากนั้น เมื่อพิจารณาต่อไปว่าในแต่ละ อบจ. แผนงานใดและในส่วนงานใดที่มีงบบุคลากรเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับแผนงานอื่นๆ จะพบว่า ในบรรดา อบจ. ที่มีงบด้านบุคลากรจากปี 2567 ถึงปี 2568 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนสูงสุด โดยสูงกว่า 100% จำนวน 17 อบจ. นั้น มี 16 อบจ. เพิ่มขึ้นจากแผนงานสาธารณสุข ในส่วนงานที่แตกต่างกันไป ซึ่งก็คือ อบจ. นราธิวาส งบบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้น จากปี 2566 จำนวน 3,991,600 บาท เป็น 357,892,700 บาทหรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 8,866% โดยงานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคืองานงานบริการสาธารณสุขและงานสาธารณสุขอื่น ซึ่ง อบจ. นราธิวาส มี รพ.สต. 110 แห่ง
รองลงมาก็คือสกลนคร มุกดาหาร น่าน กาญจนบุรี ยะลา ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ปัตตานี พิจิตร สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ พะเยา หนองบัวลำภู จันทบุรี และราชบุรี โดยงบบุคลากรเพิ่มขึ้นในแผนงานสาธารณสุขทั้งหมด
ในขณะที่มี 1 อบจ. นั่นก็คือ อบจ. ขอนแก่น เพิ่มขึ้นในแผนงานบริหารงานทั่วไป ในส่วนงานบริหารงานคลังมากที่สุด โดยในปี 2567 งบบุคลากรส่วนงานบริหารการคลังอยู่ที่ 147,969,600 บาทในขณะที่ปี 2568 อยู่ที่ 769,732,900 บาทหรือเพิ่มขึ้นสูงถึง 621,763,300 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 420% และขอนแก่นเป็นเพียง อบจ. เดียวที่มีการเพิ่มขึ้นของงบบุคลากรในแผนงานบริหารงานทั่วไป ในส่วนงานบริหารงานคลัง ในขณะที่ อบจ. อื่นๆ นั้นงบบุคลากรเพิ่มขึ้นในแผนงานสาธารณสุขทั้งหมด
งบบุคลากรในแผนงานสาธารณสุข เพิ่มขึ้นเพราะการโอนย้าย รพ.สต. มาให้ อบจ. ดูแล
แนวความคิดการโอนย้ายสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาล ทั่วไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาจากแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และแผนปฏิบัติ การกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ด้านการถ่ายโอนภารกิจ ซึ่งกำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาล ทั่วไปให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไปตั้งอยู่ เขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ต้องถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ซึ่งหมายถึง องค์การ บริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด และกรุงเทพมหานคร
โดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการถ่ายโอนสถานีอนามัย (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี) ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 27 แห่งในปีพ.ศ. 2551 จำนวน 19 แห่งในปีพ.ศ. 2555 จำนวน 4 แห่งในปีพ.ศ. 2557 จำนวน 1 แห่ง ในปีพ.ศ. 2559 จำนวน 6 แห่งในปีพ.ศ. 2562 และจำนวน 8 แห่งในปี พ.ศ. 2563 รวมทั้งสิ้น 64 แห่ง จากจำนวนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,787 แห่งทั่วประเทศ
โดยในส่วนของ อบจ. นั้นพบว่า ได้มีราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา และเริ่มมีการถ่ายโอนให้ อบจ. ในปี 2566 มี รพ.สต.ถ่ายโอนจำนวน 3,263 แห่ง 49 อบจ. ซึ่งมี 6 อบจ.ที่มีการรับถ่ายโอน 100% ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร, จังหวัดหนองบัวลำภู, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดขอนแก่น, จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนอบจ.ที่ไม่รับถ่ายโอนรวม 27 อบจ. ต่อมาในปี 2567 มี รพ.สต.ถ่ายโอนจำนวน 931 แห่ง มีการรับถ่ายโอนเพียง 62 อบจ. ไม่รับถ่ายโอน 14 อบจ.
โดยในการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ. นั้นมีการถ่ายโอนบุคลากรด้วย โดยในปี 2566 พบว่ากลุ่มพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างทั่วไป จำนวน 4,982 คน และกลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ/พนักงานราชการ มีจำนวน 4,982 คน รวมบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนไป อบจ. คือ 16,735 คน ในปี 2567 กลุ่มพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้างทั่วไป จำนวน 2,632 คน และกลุ่มข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ/พนักงานราชการ มีจำนวน 3,656 คน รวมบุคลากรที่ประสงค์จะถ่ายโอนไป อบจ. คือ 6,288 คน
ดังนั้นในช่วงปี 2566 – 2567 จะพบว่ามีบุคลากรจากกระทรวงสาธารณสุขถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้การทำงานของ อบจ. กว่า 23,023 คน
จากข้อมูลดังกล่าว จึงทำให้เห็นความสอดคล้องกับตัวเลขงบบุคลากร ในแผนงานสาธารณสุข ของ อบจ. ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก มาจากภาระกิจการโอนย้าย รพ.สต. มาให้ อบจ. นั่นเอง ซึ่งนอกจากจะมีการโอนย้ายบุคลากรตามมาแล้ว ยังมีการปรับอัตรากำลังบุคลากรด้านสาธารณสุขให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อีกด้วย จึงทำให้ต้องมีการเพิ่มงบประมาณในส่วนของบุคลากรในแผนงานสาธารณสุข ของ อบจ. เพิ่มมากขึ้นไปอีก
อบจ. ขอนแก่น อบจ. หนึ่งเดียวที่เพิ่มงบบุคลากรในส่วนงานบริหารการคลัง กว่า 600 ล้านบาท ว่าแต่งานบริหารการคลังทำอะไร
ในบรรดา 17 อบจ. ที่มีการเพิ่มงบบุคลากรมากกว่า 100% มี 1 อบจ. ที่เพิ่มงบบุคลากรในแผนงานที่แตกต่างจาก อบจ. อื่นๆ นั่นก็คือ อบจ. ขอนแก่น โดยในปี 2567 มีงบบุคลากร 649,514,200 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 1,299,458,600 บาท ในปี 2568 โดยงบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ในแผนงานบริหารทั่วไป ส่วนงานบริหารการคลัง ซึ่งเพิ่มจากในปี 2567 จากงบ 147,969,600 บาท เป็น 769,732,900 บาท ในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นสูงถึง 621,763,300 คิดเป็นเพิ่มขึ้น 420%
สำหรับบุคลากรในด้านการคลังขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้น จะสังกัดในกองคลัง โดยจะถูกระบุในแผนงานงานบริหารงานทั่วไปหมวดงานบริหารงานคลัง โดยมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นดังนี้ อาทิ นักบริหารงานการคลัง นักวิชาการเงินและบัญชี นักวิชาการจัดเก็บรายได้ เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เจ้าพนักงานธุรการ ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ(พนักงานจ้าง) ทั้งนี้แต่ละ อบจ. ไม่ได้มีการบุคลากรในส่วนนี้เหมือนกันทุก อบจ. แต่จะมีความใกล้เคียงกัน
โดยในหลักการแล้ว งานดังกล่าวมีหน้าที่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับ งานการจ่ายเงิน การรับเงิน การจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และการพัฒนารายได้ งานสรุปผล สถิติการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม งานนำส่งเงินการเก็บรักษาเงินและเอกสารทางการเงิน งานการตรวจสอบใบสำคัญ ฎีกาทุกประเภท งานการจัดทำบัญชี งานตรวจสอบบัญชีทุกประเภท งานเกี่ยวกับเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน เงินบำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นๆ งานจัดทำหรือช่วยจัดทำงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ งานเกี่ยวกับสถานะการเงินการคลัง งานการจัดสรรเงินต่างๆ งานทะเบียนคุมเงินรายได้และรายจ่ายต่างๆ งานควบคุมการเบิกจ่ายเงิน งานทำงบทดลองประจำเดือนและประจำปี งานบริการข้อมูล สถิติ ช่วยเหลือให้คำแนะนำทางวิชาการด้านการเงิน การคลัง การบัญชี โดยในเอกสารมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และ ประกาศ อบจ. ขอนแก่น เรื่อง รับสมัครสรรหาและเลือกสรรบุคลากรเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ สังกัด อบจ.ขอนแก่น ระบุหน้าที่ของแต่ละตำแหน่ง ดังนี้
นักบริหารงานการคลัง : ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานระดับสำนัก ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะงานเกี่ยวกับการวางแผน บริหารจัดการจัดระบบงานอำนวยการ สั่งราชการ มอบหมาย ควบคุม กำกับ แนะนำ ตรวจสอบ โดยรวมถึงวางแผนงาน/โครงการ หรือแผนการปฏิบัติงาน รวมทั้งเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ ของหน่วยงานเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน วางแผนในการจัดทำแผนที่ภาษี จัดหาพัสดุ การเบิกจ่ายเงินประจำไตรมาส เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ให้มีพัสดุเพียงพอต่อการใช้งาน และการจ่ายเงินเป็นไปตามงบประมาณ รายจ่ายประจำปี จัดระบบงานและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานให้สอดคล้องกับภารกิจ ติดตามและประเมินผลงานของเจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชา
นักวิชาการเงินและบัญชี : มีลักษณะงานที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการเงิน การงบประมาณ การบัญชีทั่วไปของส่วนราชการ การศึกษา วิเคราะห์ ติดตามประเมินผล การใช้จ่ายเงิน การวิเคราะห์ฐานะ ทางการเงินและบัญชี การวิเคราะห์งบประมาณ การพัฒนาระบบงานคลัง ตรวจสอบความถูกต้องของการลงบัญชีประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ ยังมีการจัดทำบัญชี รวบรวมข้อมูล และรายงานการเงินของส่วนราชการ จัดทำและจัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงาน ศึกษาวิเคราะห์ผลการใชจ่ายเงินงบประมาณ ดูแลการรับและจายเงิน สถานะทางการเงิน ถ่ายทอดความรู้ด้านการเงินและบัญชี แก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา
นักวิชาการจัดเก็บรายได้ : ทำหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และเสนอแนะทางการปรับปรุง การจัดเก็บภาษีต่าง ๆ วิธีการ จัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ และรายได้อื่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การตรวจรับแบบแสดง รายการคำร้องหรือคำขอของผู้เสียภาษีและค่าธรรมเนียม ปรับปรุงแบบแสดงรายการ คำร้อง คำขอของผู้เสียภาษีให้เหมาะสม รับชำระเงิน เขียนใบเสร็จรับเงินและลงบัญชี จัดทำทะเบียนและรายการต่าง ๆ เก็บรักษาหลักฐานการเสียภาษี ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่น ๆ ออกหมายเรียกและหนังสือเชิญพบ ตรวจสอบ และประเมินภาษีการเก็บรักษา และนำส่งเงินเป็นต้น
เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี : มีหน้าที่เกี่ยวกับงานที่ค่อนข้างยากเกี่ยวกับการเงิน การงบประมาณและการบัญชีทั่วไปของส่วนราชการ เช่น การตรวจสอบ หลักฐาน ใบสำคัญคู่จ่ายเงิน ลงบัญชี ทำรายงาน การบัญชี รวบรวมรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการขอจัดตั้งงบประมาณ รายรับ-รายจ่ายประจำปี ทำหนังสือชี้แจง โต้ตอบ ด้านงบประมาณ พิจารณาจัดสรร งบประมาณรายจ่าย และ ปฏิบัติหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง ประสานงานในระดับกลุ่ม รวมถึงให้คำแนะนำ ตอบปัญหา ชี้แจงเกี่ยวกับงานการเงินและบัญชี แก่เจ้าหน้าที่แก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไป (ทำหน้าที่ในงานบริการประชาชนโดยตรง) โดยการให้คำแนะนำ ตอบปัญหา ชี้แจงเกี่ยวกับงานการเงินและบัญชี แก่เจ้าหน้าที่ระดับรองลงมา หน่วยงานราชการ เอกชน และประชาชนทั่วไป
เจ้าพนักงานธุรการ : ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการและงานสารบรรณ การร่าง โต้ตอบ บันทึก ย่อเรื่อง ตรวจทานหนังสือ การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ในทรัพย์สินของทางราชการ การดำเนินการเกี่ยวกับพัสดุ ครุภัณฑ์ การตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงรายการและเก็บรักษาเอกสารสำคัญของทางราชการ การดำเนินการเกี่ยวกับงานบริหารบุคคล การรวบรวมข้อมูลหรือ จัดเตรียมเอกสาร การเตรียมการประชุมและจดบันทึกรายงานการประชุม ผลิตเอกสารต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำในเบื้องต้นแก่บุคลากร ประชาชน ผู้ที่มาติดต่อ และ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ติดต่อประสานงาน ให้บริการข้อมูลแก่ผู้มาติดต่อราชการ (ทำหน้าที่ในงานบริการประชาชนโดยตรง)
ผู้ช่วยนักวิชาการเงินและบัญชี (พนักงานจ้าง) : ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานด้านการจัดทำบัญชี เอกสารรายงานความเคลื่อนไหวทางการเงินทั้งเงินในและเงินนอกงบประมาณ เงินทุนหมุนเวียน เพื่อแสดงสถานะทางการเงิน รวบรวมข้อมูลและรายงานการเงินของหน่วยงาน ดูแลการรับและการจ่ายเงิน ตรวจสอบเอกสารสำคัญการรับจ่ายเงิน งานวิชาการเงิน การคลัง พัสดุการบริหารการเงิน การจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้ และการงบประมาณที่ไม่ยากภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ ให้คำแนะนำปรึกษาในเบื้องต้น แก่หน่วยงานราชการ หรือประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการเงิน การคลัง การพัสดุ การบริหารเงินตรา การบริหารหนี้สาธารณะ และงบประมาณ สำรวจและจัดเก็บข้อมูล ปรับปรุง หรือจัดทำฐานข้อมูล หรือระบบสารสนเทศ เกี่ยวกับการเงิน การคลัง การพัสดุ การบริหารเงินตรา การบริหารหนี้สาธารณะ และการงบประมาณ เพื่อการ ประมวล วิเคราะห์ และการนำเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แผนงาน/โครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับงานการเงิน การคลัง การพัสดุ การบริหารเงินตรา การบริหารหนี้สาธารณะ และการงบประมาณ (ทำหน้าที่ในงานบริการประชาชนโดยตรง)
ผู้ช่วยนักวิชาการคลัง (พนักงานจ้าง) : ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถทางวิชาการในการทำงานปฏิบัติงานเกี่ยวกับ งานวิชาการเงิน การคลัง พัสดุการบริหารการเงิน การจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้ และการงบประมาณ ที่ไม่ยากภายใต้การกำกับ แนะนำ ตรวจสอบ ให้คำแนะนำปรึกษาในเบื้องต้น แก่หน่วยงานราชการ หรือประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการเงิน การคลัง การพัสดุ การบริหารเงินตรา การบริหารหนี้สาธารณะ และการงบประมาณ สำรวจและจัดเก็บข้อมูล ปรับปรุง หรือจัดทำฐานข้อมูล หรือระบบสารสนเทศ เกี่ยวกับการเงิน การคลัง การพัสดุ การบริหารเงินตรา การบริหารหนี้สาธารณะ และการงบประมาณ เพื่อการประมวล วิเคราะห์ และการนำเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แผนงาน/โครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการเกี่ยวกับงานการเงิน การคลัง การพัสดุ การบริหารเงินตรา การบริหารหนี้สาธารณะ และการงบประมาณ (ทำหน้าที่ในงานบริการประชาชนโดยตรง)
ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ (พนักงานจ้าง) : ปฏิบัติงานด้านงานธุรการและงานสารบรรณ ซึ่งมีลักษณะที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการร่าง โต้ตอบ บันทึก ย่อเรื่อง ตรวจทานหนังสือ การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารสิทธิ์ในทรัพย์สินของทางราชการ การดำเนินการเกี่ยวกับพัสดุ ครุภัณฑ์ การตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลง รายการและเก็บรักษาเอกสารสำคัญของทางราชการ การดำเนินการเกี่ยวกับงานบริหารบุคคล การรวบรวมข้อมูลหรือจัดเตรียมเอกสาร การเตรียมการประชุม และการจดบันทึกรายงานการประชุม ผลิตเอกสารต่างๆ รวมถึงให้คำปรึกษาและแนะนำในเบื้องต้นแก่บุคลากร ประชาชน ผู้ที่มาติดต่อ และ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ติดต่อประสานงาน ให้บริการข้อมูลแก่ผู้มาติดต่อราชการ (ทำหน้าที่ในงานบริการประชาชนโดยตรง)
ผู้ช่วยนักวิชาการคอมพิวเตอร์ (พนักงานจ้าง) : ทำหน้าที่ติดตั้งหรือบำรุงรักษาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ วิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนาและบริหารจัดการ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการประมวลผลข้อมูลในระบบงานต่างๆ ภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยจัดทำคู่มือระบบและคู่มือผู้ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ ดำเนินการฝึกอบรมหรือถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนการใช้ระบบงานที่พัฒนาแก่
เจ้าหน้าที่ผู้ใช้งาน ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ใช้เมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยในการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์
พนักงานขับรถยนต์ (พนักงานจ้าง) : ทำหน้าที่ขับรถยนต์ บำรุงรักษา ทำความสะอาดรถยนต์ และแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการใช้รถยนต์
ซึ่ง อบจ. ขอนแก่นมีตำแหน่งที่บรรจุในกองคลัง ดังนี้
- ผู้อำนวยการกองคลัง
- ฝ่ายเร่งรัดและจัดเก็บรายได้ ซึ่งประกอบไปด้วย นักบริหารการคลังระดับต้น นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ นักวิชาการการเงินและบัญชีปฏิบัติการ เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน ผู้ช่วยนักวิชาการคลัง (2) ผู้ช่วยนักวิชาการการเงินและบัญชี พนักงานขับรถ (2) พนักงานจ้างเหมาบริการ (4)
- ฝ่ายบริหารการคลัง ซึ่งประกอบไปด้วย นักบริหารการคลังระดับต้น นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ (2) เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน (2) เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน (2) ผู้ช่วยนักวิชาการคอมพิวเตอร์ ผู้ช่วยวิชาการคลัง ผู้ช่วยเจ้าพนักงานธุรการ (2) พนักงานจ้างเหมาบริการ
- ฝ่ายการเงินและบัญชี ซึ่งประกอบไปด้วย นักบริหารการคลังระดับต้น นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ (2) นักวิชาการคลังชำนาญการ นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ (2) เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน (4) เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน (2) เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน ผู้ช่วยนักวิชาการเงินและบัญชี (3) พนักงานจ้างเหมาบริการ
- ฝ่ายระเบียบการคลัง ซึ่งประกอบไปด้วย นักบริหารการคลังระดับต้น นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ (2) เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน ผู้ช่วยนักวิชาการเงินและบัญชี พนักงานจ้างเหมาบริการ
นอกจากนี้จากข้อมูลแผนพัฒนาบุคลากร 3 ปี ประจำปีงบประมาณ 2567 – 2569 องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ก็จะพบว่ากรอบอัตรากำลังของบุคลากรกองคลังก็จะอยู่ที่ 54 คน ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลเจ้าหน้าที่ในส่วนของงานกองคลังในเว็บไซต์ อบจ. ขอนแก่น โดยมีการวางกรอบอัตราตำแหน่งที่ขาดว่าจะต้องใช้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า ไว้ที่ 58 คน
อ้างอิง
- ข้อบัญญัติงบประมาณ ปี 2567-2568 ของ อบจ. 76 จังหวัด
- แผนพัฒนาบุคลากร 3 ปี ประจำปีงบประมาณ 2567 – 2569 องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
- แนวทางการดําเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยสํานักงานคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสํานักงานปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี
- มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด
- ประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นเรื่อง รับสมัครสรรหาและเลือกสรรบุคลากรเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ดูข้อมูลที่ งบบุคลากร อบจ. 2568 [ข้อมูลดิบ]
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ