ชูโรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว จ.เชียงใหม่ เป็นโมเดลส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด

กองบรรณาธิการ TCIJ 31 มี.ค. 2568 | อ่านแล้ว 1240 ครั้ง

รายงานพิเศษจากสื่อ Energy News Center ชี้ 'โรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว' อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็น 1 ใน 25 โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่ควรได้รับการทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อให้เป็นโมเดลตัวอย่างในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นรอบโรงไฟฟ้าให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2568 Energy News Center รายงานว่านายนันทนิษฏ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชม โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว ของ พพ. ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่  โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ เป็น 1 ใน 25 โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ พพ. ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ที่ถูกเลือกให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ

สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว สร้างขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5  ที่สมัยนั้น พพ.ยังเป็นสำนักงานพลังงานแห่งชาติ โดยเป็นการสร้างเขื่อนคอนกรีตสูง 73 เมตร ความยาวสันเขื่อน 164 เมตร และอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 20.6 ล้านลูกบาศก์เมตร  เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 4.6 เมกะวัตต์  โดยส่งน้ำผ่านอุโมงค์น้ำยาว 1,146 เมตร สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเข้าระบบสายส่งจำหน่ายขนาด 22 กิโลโวลต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

บรรยากาศบนสันเขื่อนมองเห็นพื้นที่การเเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากน้ำที่ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า

โดยงบประมาณการลงทุนก่อสร้างโครงการ ประมาณ 359 ล้านบาท แต่นับตั้งแต่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ มาตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2531  จนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 หรือ เกือบ 37 ปี มีไฟฟ้าที่จำหน่ายไปรวม 229 ล้านกิโลวัตต์ ที่อัตราค่าไฟฟ้าตามสัญญา 1.09 บาทต่อหน่วย คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 250 ล้านบาท ซึ่งหากมองเฉพาะตัวโครงการจะเห็นว่ายังไม่สามารถได้รับผลตอบแทนที่คุ้มกับการลงทุน 

อย่างไรก็ตามในแง่ประโยชน์ของโครงการโดยภาพรวมนั้น นายนันทนิษฏ์ วงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว นั้นเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สะอาด ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้เกิดการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดมลพิษ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการนั้นทดแทนการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ปีละ 2.75 ล้านลิตร ทำให้ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ปีละ  19.5 ล้านบาท และมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในพื้นที่โดยรอบที่ได้ใช้น้ำจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรมที่มีการสร้างระบบชลประทานรองรับด้วย 

ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาว นั้นใช้เจ้าหน้าที่ดูแล 12 คน และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ในโรงไฟฟ้าและความเป็นไปได้ที่จะติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ ในอ่างเก็บน้ำ กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ ที่จะต้องใช้งบประมาณ อีก 150 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้าให้สามารถมีเงินที่นำมาใช้เพื่อการพัฒนาชุมชนในบริเวณรอบโรงไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม 

Energy News Center ซึ่งลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่มาวพร้อมกับคณะผู้บริหารจากกระทรวงพลังงาน รายงานว่า  อัตราค่าไฟฟ้าของโครงการที่ขายเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ที่ อัตรา 1.09 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ครัวเรือนในชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทั้ง 4 ตำบลคือตำบลม่อนปิ่น ตำบลสันทราย ตำบลเวียงและตำบลแม่สูน ยังใช้ไฟฟ้าในอัตราราคาปกติเท่ากันกับคนในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ ที่อัตราเฉลี่ย 4.15 บาทต่อหน่วย จึงไม่ได้รู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากโครงการในแง่ของค่าไฟฟ้า หรือเงินที่ถูกบวกเพิ่มในค่าไฟฟ้าเพื่อมาใช้ในการพัฒนาชุมชน โดยได้รับประโยชน์เพียงเรื่องน้ำในการเกษตรกรรมเท่านั้น 

จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาหามาตรการดูแลชุมชนรอบโรงไฟฟ้าหรือปรับปรุงทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าที่ต่ำเกินไป เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ พพ. ที่มีอยู่ในพื้นที่ สามารถดูแลตัวเองและส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่ ด้านต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนได้  โดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณจากภาครัฐอีก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: