เวทีวิชาการสารเคมีปี 68 เปิดเผยประเทศไทยนำเข้าสารเคมีลดลง 46% เตือนการเผาพืชเกษตรเพิ่มความเป็นพิษ PM2.5 อึ้งยังตรวจเจอสารพิษตกค้างในห้างมากกว่าตลาด แถมตรารับรองออร์แกนิคของรัฐยังพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานเพียบ
จากการเปิดเผยของนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการ มูลนิธิชีววิถีระบุว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยแบนสารเคมีกำจัดวัชพืช พาราควอต จำกัดการใช้ไกลโฟเซต และแบนสารเคมีกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอสเมื่อปี 2563 ปรากฎว่าประเทศไทยนำเข้าสารเคมีลดลงจากระดับเฉลี่ย 119 ล้านกิโลกรัม เหลือเพียง 64 ล้านกิโลกรัม/ปี หรือลดลงมากถึง 46 % ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรในพืชสำคัญที่บางฝ่ายเคยระบุว่าจะลดลงจากผลของการแบน กลับเพิ่มขึ้น โดยจากการเปรียบเทียบข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและสนง.คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในช่วงก่อนการแบนในปี 2559/60 และหลังการแบนในปี 2565/66 พบว่า ในปาล์มน้ำมันผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของอ้อยเพิ่มขึ้น 5.04% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 8.96% และปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น 12.31% มีเฉพาะมันสำปะหลังที่ผลผลิตลดลงเล็กน้อยในระดับไม่มีนัยสำคัญคือลดลงเพียง 0.1% เท่านั้น ทั้งนี้เมื่อคำนวณจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2566 พบว่าในพืชหลัก 4 ชนิดดังกล่าว เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมากถึงปีละ 22,153 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในเวทีวิชาการดังกล่าว ศ.พวงรัตน์ แก้วล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยการสำรวจงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง PM2.5 กับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยพบว่า การเผาชีวมวลที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้นจะมีการปลดปล่อยสารกลุ่ม PAHs (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นกว่าชีวมวลทั่วไป โดยมีการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในฝุ่นละอองรวม (TSP-Total Suspened Particles), PM10 และ PM2.5 เช่น อะทราซีน และอนุพันธ์,ไดยูรอน, ลินูรอน, คลอร์ไพริฟอส, ฟอร์โมชั่น, โพรไพซาไมด์, คาร์เบนดาซิม และ 2,4-ดี, เป็นต้น ทั้งนี้สารเหล่านี้จำนวนหนึ่งเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศชาย และรบกวนระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อ
ในขณะที่นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน ได้เปิดเผยผลผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2567 ล่าสุดโดยเก็บตัวอย่างผักและผลไม้รวม 255 ตัวอย่างในห้าง 5 แห่ง และตลาดใน 12 จังหวัด ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้าง 419 รายการ พบว่าผักและผลไม้ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน 75% ในขณะที่ในตลาดสดและห้างค่าส่งพบการตกค้างเกินมาตรฐาน 61%
นอกเหนือจากนี้ ไทยแพนยังได้สุ่มตรวจผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวนหนึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบผลการตรวจที่น่าตกใจว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand จำนวน 10 ตัวอย่าง พบการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 7 ตัวอย่าง ส่วนตรารับรอง Q GAP ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรฯ นั้นมีการพบ 4 ตัวอย่างจาก 9 ตัวอย่าง
"เพื่อให้ข้อมูลผลการเฝ้าระวังสามารถเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ขณะนี้ไทยแพนได้นำข้อมูลดังกล่าวเข้าไว้ในระบบแจ้งเตือนสารพิษตกค้างแบบเร่งด่วน Thai-RASFS (ไทยราฟ) แล้ว ประชาชนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ลิงค์ https://thairasfs.com " นางสาวปรกชล กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ